* พิรุธ!จัดซื้อระบบเรดาร์พันล้านวิธีพิเศษ
กรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนฯ จ่อสอยเครื่องบินรบ “กริพเพน” หลังพบความไม่ชอบมาพากลในการจัดซื้อ ยอมรับส่อเงื่อนงำทุจริต แค่เห็นยี่ห้อที่เลือกซื้อก็น่าสงสัยแล้ว ทั้งยังเข้าข่าย ม.190 ค่อนข้างชัดเจน ระบุเป็นเรื่องสำคัญต้องเร่งดำเนินการพิจารณา ขณะเดียวกันพบพิรุธ ที่กองทัพอากาศอีก การจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษระบบเรดาร์พันล้านเมืองกาญจน์ พบเอกสารที่ส่งให้พิจารณาไม่เหมือนกับชุดที่ใช้ทำสัญญาจ้าง แถมยังส่อว่าจะมีการงุบงิบเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารสัญญา ส่อเจตนาเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน รวมถึงการตั้งงบบูรณาการเกินจริงถึง 2 เท่า
* ส่องุบงิบแก้สัญญาซื้อระบบเรดาร์เอื้อเอกชน
จากประเด็นข้อกังขาในการจัดซื้อเครื่องบินรบ “กริพเพน” ของกองทัพอากาศในยุค พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข เป็นผบ.ทอ. และรักษาการประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ด้วยมูลค่า 19,000 ล้านบาท ในลักษณะงบประมาณผูกพัน 5 ปี ที่มีการอนุมัติอย่างรวดเร็วในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และมีการตั้งข้อสงสัยทั้งเรื่องของการจัดซื้อที่อ้างว่าเป็นแบบ G To G รวมไปถึงเรื่องของราคา ระยะเวลาเตรียมการ การโยกงบประมาณ ตลอดจนข้อสงสัยที่ส่อว่าอาจจะมีผู้ได้รับผลประโยชน์หลายพันล้านบาท นั้น
นายวัชระ ยาวอหะซัน ผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่าเรื่องดังกล่าวกรรมาธิการฯ ได้มีการพูดคุยกันบ้างแล้ว แต่ยังไม่ได้ลงในรายละเอียดมากนัก ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ทางกรรมาธิการฯ ให้ความสนใจ และต้องการเร่งการพิจารณา ที่ผ่านมาทางกองทัพอากาศก็ได้ส่งคนมาอธิบายเรื่องดังกล่าวแล้ว แต่ประธานฯ มองว่าเรื่องนี้มีที่มาไม่ชอบและส่อเค้าทุจริต
ในส่วนของกรรมาธิการฯ กำลังพิจารณาอยู่ว่าเรื่องดังกล่าวอยู่ในอำนาจการพิจารณาว่ามีความผิดตามมาตรา 190 หรือไม่ โดยส่วนตัวนั้นตนมองว่าหากทางกรรมาธิการฯ มีอำนาจในการพิจาณาคาดว่าอย่างไรเรื่องนี้ก็คงไม่ผ่านตามมาตรา 190 อยู่แล้ว
“ผมมองว่าเรื่องนี้มีความสำคัญมาก เพราะทราบแค่ชื่อยี่ห้อของเครื่องบินแล้ว ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเลือกซื้อยี่ห้อนี้ เพราะยี่ห้ออื่นๆ ของประเทศอื่นที่มีคุณภาพดีกว่าก็มี ซึ่งทางกรรมาธิการฯ ก็จะเร่งพิจารณาไปตามข้อเท็จจริง” นายวัชระกล่าว
ขณะเดียวกันนอกจากจะพบข้อสงสัยในการจัดซื้อเครื่องบินรบกริพเพน 6 ลำดังกล่าวแล้ว ก็ยังพบเรื่องที่มีการร้องเรียนถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่ามีความไม่ชอบมาพากลในการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการพัฒนาระบบควบคุมและแจ้งเตือนการป้องกันทางอากาศ
โดยเอกสารการร้องเรียนระบุว่ากองทัพอากาศได้รับงบประมาณเพื่อดำเนินการโครงการดังกล่าว ในปี 2549-2552 โดยมีการแยกส่วนงานออก 3 งานประกอบไปด้วย 1.งานจัดซื้อเรดาร์พร้อมการติดตั้ง ที่สถานีเรดาร์เขาใหญ่ จ.กาญจนบุรี 2.งานจัดซื้ออุปกรณ์ระบบโทรคมนาคมและระบบวิทยุ และ 3.งานจ้างบูรณาการระบบสื่อสารโทรคมนาคมและระบบวิทยุ
ในการดำเนินการเรื่องดังกล่าวมีการตั้บงคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ และคณะกรรมการมีการพิจารณาแล้วระบุว่าข้อเสนอทางเทคนิค และอุปกรณ์ที่จะนำมาใช้ตลอดจนการซ่อมบำรุงของ บริษัท Nera Telecommunications ประเทศสิงคโปร์ ให้ประโยชน์กับทางราชการสูงสุด จึงได้เลือกบริษัทดังกล่าวเข้ามาเป็นผู้ดำเนินงานที่ 1 และงานที่ 2 โดยได้รายงานผลการพิจารณาให้กรมการทหารอากาศเพื่อดำเนินการจัดซื้อ จัดจ้างโดยวิธีพิเศษ
กระทั่งวันที่ 21 กันยายน 2550 พล.อ.ต.พิริยะ ศิริบุญ เจ้ากรมสื่อสารทหารอากาศได้เป็นผู้ลงนามแทน ในการทำสัญญาจัดซื้ออุปกรณ์ระบบโทรคมนาคมและระบบวิทยุมูลค่า 850 ล้านบาท และสัญญาจ้างบูรณาการระบบสื่อสารโทรคมนาคมและระบบวิทยุอีก 145 ล้านบาท โดยมีบริษัท Nera Telecommunications เป็นคู่สัญญาทั้ง 2 งาน
ซึ่งประเด็นที่ปรากฏในเอกสารสัญญาดังกล่าว มีข้อมูลส่อว่าอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชน ส่อเจตนาทุจริต กระทำโดยปราศจากอำนาจหรือนอกอำนาจหน้าที่
ประการแรกพบว่าเอกสารที่ใช้ในการทำสัญญาต่างจากเอกสารที่มีการเสนอให้คณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษคัดเลือก และเป็นเอกสารที่ไม่มีลายมือชื่อของคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษแนบท้ายสัญญา
ประการที่สองการทำสัญญาโดยมีการเปลี่ยนแปลงต่อเติมข้อความจากที่กรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษมีการเจรจาตกลงกับผู้ขายไว้ กรมสารบรรณทหารอากาศไม่ได้แจ้งให้คณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษให้ความเห็นชอบก่อนนำเรียนผบ.ทอ. เพื่อขออนุมัติใช้ทำสัญญา ซึ่งทั้ง 2 ประการนี้ส่อเจตนาว่าอาจจะจงใจเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชน
นอกจากนี้ในประเด็นที่สาม การตั้งวงเงินจ้างบูรณาการระบบสื่อสารโทรคมนาคมและระบบวิทยุไว้สูงถึง 145 ล้านบาท ทั้งที่ปกติน่าจะมีการตั้งราคาไว้ที่ประมาณร้อยละ 5-10 ของราคาอุปกรณ์ ซึ่งมีการจัดซื้อในวงเงิน 850 ล้านบาท การจ้างงานบูรณาการระบบฯ คิดอย่างมากที่สุดร้อยละ 10 ก็ไม่ควรจะใช้งบประมาณเกิน 85 ล้านบาท แต่ทำไมจึงมีการตั้งงบไว้ถึง 145 ล้านบาท
ที่สำคัญในเวลาต่อมายังมีการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษตามสัญญาเลขที่ 56/2550 ลงวันที่ 28 กันยายน 2550 เพื่อปรับปรุงเรดาร์ Giraffe-180 เป็นเงินสูงถึง 89,987,000 บาท ทั้งที่ข้อเสนอนี้บริษัทได้กำหนดเป็นข้อเสนอพิเศษไว้อยู่แล้วและเป็นเหตุหนึ่งที่ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ดำเนินงานในเรื่องดังกล่าว
การดำเนินการดังกล่าวทั้งหมดจึงส่อเข้าข่ายความผิดเกี่ยวกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และความผิดตาม พ.ร.บ.เกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของีรัฐ