คอลัมน์ : ละครชีวิต
หนึ่งในข้อหาที่กลุ่มคนรัก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รู้สึกเจ็บปวดมากที่สุดคือ ไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
เป็นข้อหาที่ดูจะรุนแรง และบั่นทอนกำลังใจในการสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ อย่างมาก แม้จะรู้ความจริงว่า คนอย่างอดีตนายกฯ ผู้นี้ มีความจงรักภักดีต่อสถาบันอย่างหาที่สุดไม่ได้ก็ตาม
แม้กระทั่งวันที่ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัว ต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ เขายังเขียนข้อความแสดงความจงรักภักดีกลับมายังประเทศไทย
พ.ต.ท.ทักษิณ เขียนข้อความว่า “ผมและครอบครัวมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และพระราชวงศ์ทุกพระองค์อย่างหาที่สุดไม่ได้ แม้ว่ามีผู้จงใจใส่ร้ายมาโดยตลอด”
ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่า การทำลายล้างกันทางการเมือง ไม่มีเรื่องไหนที่ทำลายกันแล้วได้ผลดีที่สุด เท่ากับวิธีการนี้
เพราะเป็นการกล่าวหาที่ง่ายมาก เพียงแค่ใส่ร้ายป้ายสีศัตรูว่าไม่จงรักภักดี โดยใช้การกระทำที่อาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือไม่ได้เจตนาจะลบหลู่สถาบันมาขยายผลให้เป็นเรื่องราวใหญ่โต
ใส่สีตีข่าวให้น่าเชื่อว่าอาจจะคิดแบบนั้น แบบนี้ ประชาชนที่ไม่ได้รู้เรื่อง นั่งฟังแต่ข่าวสารทางเดียว ก็อาจเข้าใจผิดกันไปด้วย
ข้อกล่าวหานี้ โดนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยโจมตีทุกวัน โจมตีตัวต่อตัวไม่ได้ ก็จัดการกุข่าวเชื่อมโยงให้เสร็จสรรพ
พวกนี้เอาดีเข้าตัว เอาชั่วให้คนอื่น เพราะรู้ดีว่า การโจมตีเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ ถือเป็นปมที่เป็นจุดอ่อนไหวที่สุดของ พ.ต.ท.ทักษิณ
ขบวนการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยเฉพาะ นายสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นคนแรกในการใช้สัญลักษณ์ "เสื้อเหลือง-เสื้อฟ้า" ที่อาจจะบอกได้ว่า ระดมคนให้มาชุมนุมที่สะพานมัฆวานรังสรรค์มากที่สุด
แม้ข้อเท็จจริง พ.ต.ท.ทักษิณ จะออกมาแก้ข้อกล่าวหาและชี้แจงเป็นร้อยเป็นพันครั้ง รวมทั้งทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี
แต่ข้อสงสัย และข้อกังขาในความจงรักภักดี ย่อมอ่อนไหวกับความรู้สึกของคนไทยทั้งประเทศ
แม้กระทั่งเรื่องราวในอดีตที่แสนจะเก่าและยาวนาน ชี้แจงข้อกังขาจนทะลุปรุโปร่งไปแล้ว แต่ตราบใดที่นายสนธิรื้อฟื้นปมข้อสงสัยเกี่ยวกับ "ความเหมาะสม" ในพิธีทำบุญประเทศวัดพระแก้ว เมื่อ 10 เมษายน 2548
รวมถึงกรณีบทความจากคอลัมนิสต์บางคน ที่อาจโดนเชื่อมโยงไปพาดพิงเบื้องสูงแบบไม่ได้ตั้งใจ ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ก็จะกลายเป็น “ข้อด้อย” และ “บั่นทอนกำลังใจ” ของกลุ่มคนรักทักษิณอย่างมากที่สุด
ดังนั้นสิ่งต่างๆ เหล่านี้คือ “ข้อกังวล” และความเป็นห่วงจากเพื่อนร่วมอุดมการณ์เดียวกัน
ขณะที่การต่อสู้ของกลุ่มพันธมิตรฯ ในประเด็นอื่นๆ นั้น แทบจะไม่มีสิ่งใดที่คนอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มีทางสู้ได้เลย
เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังศรัทธาในความดี ความเก่ง เพราะสังคมไทยวันนี้ยังต้องการผู้นำที่เข้มแข็ง เพราะสังคมไทยเป็นผู้ตามอยู่เยอะ
สังเกตได้จากผู้นำไทยในอดีต ที่มักเป็นผู้นำที่ไม่เอาไหน ไม่กล้าคิด ไม่กล้าทำ ดังนั้นสังคมไทยยังต้องการ “ฮีโร่” ขณะเดียวกัน “ฮีโร่” ก็ต้องทำตัวดี แต่อย่าเด่น พอเด่นก็จะเป็นภัย
วันนี้ยังไม่มีใครมาเทียบเท่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เลย
เพราะข้อแตกต่างระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ กับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคใหญ่อันดับที่สองนั้น ประชาชนชั่งน้ำหนักได้ไม่ยาก
ไล่เรียงเฉพาะข้อดีของแต่ละคนนั้น นายอภิสิทธิ์เป็นนักวิชาการ เป็นคนพูดเก่ง มีบุคลิกดีและโน้มน้าวได้ดี
แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ มีความรู้ดี มีประสบการณ์สูง มีความเป็นผู้นำสูง กล้าคิด กล้าตัดสินใจ กล้าเปลี่ยนแปลง มีความตื่นตัว ศึกษาเรื่องใหม่ๆ ตลอดเวลา มีนโยบายอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม เพียงแค่นี้ก็รู้แล้วว่า ประชาชนจะตัดสินใจอย่างไร
ดังนั้น เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องเผชิญข้อกล่าวหาที่เป็น "จุดอ่อน" ซึ่งเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์
สิ่งที่ต้องกระทำคือ “อย่าปล่อยผ่าน” ให้เรื่องเงียบไปเองเหมือนกับที่คิดว่าเดี๋ยวคนก็ลืม
และขอร้องให้พันธมิตรฯ ที่คิดว่าตัวเองเก่ง หรือเหนือว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ให้ "ถอดเสื้อเหลือง–ฟ้า มาสู้กัน" ดีกว่า
เพราะแม้เราจะใส่เสื้อเหลือง–ฟ้า สู้กันแล้ว ไม่ได้ทำให้บ้านเมืองดีขึ้น แต่กลับยิ่งแย่ลงกว่าเดิม
ถ้าสู้กันตัวต่อตัวแล้วจะได้รู้ว่าใครคือของจริง ใครคือของปลอม ระหว่าง นายสนธิ ลิ้มทองกุล และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร!
ลวดหนาม