คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ
ฟัง ฯพณฯ องคมนตรี นายธานินทร์ กรัยวิเชียร กรุณากล่าวปาฐกถาเรื่อง “ความเป็นอิสระและความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้พิพากษา ทนายความ และอัยการ” ที่สำนักงานประธานศาลฎีกา เป็นผู้จัด ที่โรงแรมสยามซิตี้ เมื่อ 2 วันที่ผ่านมาแล้ว เห็นคล้อยตามอย่างยิ่ง ในการที่จะให้มีองค์กรตรวจสอบศาล ท่านว่าไว้ดังนี้
“ในอดีต กระบวนการยุติธรรมเคยทำงานผิดพลาด อย่างคดี เชอรี่แอน ดันแคน ทำให้คนบริสุทธิ์ต้องถูกขังและเสียชีวิต และไม่มีการลงโทษต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง ขอให้แง่คิดว่า ในส่วนของศาลยุติธรรม แม้รัฐธรรมนูญใหม่ให้ความเป็นอิสระแก่ผู้พิพากษา ไม่อยู่ใต้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น ผู้พิพากษาระดับต้นๆ คิดว่าแตะต้องไม่ได้ ทำให้ผู้ที่อาวุโสกว่าไม่อาจตรวจดูคุณภาพการทำงาน ผู้พิพากษาก็พิจารณาไม่ดูซ้ายดูขวา
ทั้งที่คดีในศาลเดียวกัน ลักษณะคล้ายกัน ก็ตัดสินไปคนละอย่าง ทำให้ไม่มีเอกภาพ ต่อมาทางประธานศาลฎีกาได้แก้ไขใหม่ ให้อำนาจผู้บริหารศาลมีอำนาจตรวจดูสำนวนและลงนามในคำพิพากษา แต่ยังแก้ปัญหาไม่ได้ การเลื่อนตำแหน่งยึดหลักบัญชีอาวุโสเป็นหลัก ไม่ยึดหลักคุณธรรมมาประกอบ ทำให้บางคนทำงานเช้าชามเย็นชาม ดังนั้น รัฐธรรมนูญปี 2550 ประกอบ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม คือการเลื่อนตำแหน่งให้ดูความรู้ความสามารถ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้พิพากษาเป็นสำคัญด้วย ไม่ควรยึดหลักอาวุโสในการเลื่อนชั้น ถึงเวลาที่คณะกรรมการตุลาการจะต้องเปลี่ยนและต้องเป็นกลาง
การตรวจสอบคุณภาพผู้พิพากษา ยังทำได้โดยองค์กรภายนอก และภาคประชาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 87 (3) ให้รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการตรวจสอบทุกระดับ ฝ่ายตุลาการเองก็ถูกตรวจสอบได้ มาตรา 40 (3) ให้อำนาจตรวจสอบโดยรวดเร็ว โปร่งใส ตัวอย่างเช่น ข้าราชการพลเรือนมีการตรวจสอบโดยคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม ต้องมีความอิสระ ควรมีระบบตรวจสอบศาลยุติธรรม คือน่าจะมีคณะกรรมการตรวจสอบระบบงานศาลยุติธรรม มีกรรมการมาจากบุคคลภายนอก รับข้อร้องเรียนเกี่ยวกับตัวผู้พิพากษา เช่น เรื่องรับสินบน การประพฤติดำรงตน แต่ถ้าเป็นเรื่องสำนวนคดี ต้องเป็นคดีที่เสร็จไปจากศาลแล้ว นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญให้อำนาจวุฒิสภาถอดถอนผู้พิพากษา โดยให้ประชาชน 2 หมื่นคน เข้าชื่อ หากพบว่าผู้พิพากษากระทำผิดต่อตำแหน่ง”
นี่คือสิ่งที่ ฯพณฯ องคมนตรี นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้จุดพลุขึ้นมาในบ้านเมือง เป็นช่วงจังหวะที่ดีที่สุด ท่ามกลางความกังขาของบุคคลหลายฝ่ายในขณะนี้ ในกระบวนการอำนวยความยุติธรรมในประเทศไทย ถือได้ว่าเป็นความคิดเชิงปัญญา ที่จะสามารถทำให้บ้านเมืองของเราพัฒนาไปสู่ความยุติธรรมได้
เห็นด้วยเกิน 100% ที่สังคมควรจะเปิดกว้าง ไม่ใช่กระบวนการยุติธรรมจะเวียนว่ายตายเกิดอยู่เพียงคนที่เกี่ยวข้องไม่กี่ฝ่าย เช่น ตำรวจ องค์กรอิสระ ทนาย อัยการ ศาล เพียงเท่านั้น ดังจะเห็นว่า ขนาดชื่อหัวข้อในการสัมมนายังใช้คำที่พยายามตีกรอบยึดติดอยู่ในกลุ่มบุคคล คือ “สังคมของผู้พิพากษา” ทั้งที่ควรจะใช้คำที่กว้างกว่าการตีกรอบในกลุ่มบุคคลที่คับแคบเกินไปเช่นนี้
การใช้คำว่า “สังคมของผู้พิพากษา” สะท้อนอะไรได้มากพอสมควร... หากประชาชนธรรมดา เราๆ ท่านๆ ที่อาจจะมีความรู้สึกเหมือนการถูกกันออกจากวงของกระบวนการยุติธรรมออกไป ซึ่งเราคงไม่อยากให้กระบวนการยุติธรรมกลายเป็นแดนสนธยา ที่ไม่มีใครเข้าไปก้าวล่วงถึง การเข้ามาซึ่งอำนาจ การใช้อำนาจ และภายหลังจากการใช้อำนาจ
อำนาจอธิปไตยทั้งสาม ทางประกอบไปด้วย อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ ล้วนมีที่มาจากประชาชน ดังนั้นประชาชนจึงควรที่จะได้สิทธิเสรีภาพในการเข้าไปตรวจสอบกระบวนการใช้อำนาจทั้ง 3 ทางนี้ โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ มาขวางกั้น ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีในการปาฐกถาครั้งนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยในอนาคต