บิดเบี้ยวไปได้เรื่อยๆ สำหรับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ทั้ง 9 คน ที่หัวเด็ดตีนขาดอย่างไร ก็ยังคงยืนยันว่าที่มาของตัวเองและพวกพ้องมีความถูกต้องชอบธรรมทุกประการทำได้แม้กระทั่งปฏิเสธถ้อยคำตามรัฐธรรมนูญ ที่เป็นกฎหมายสูงสุดในการบริหารบ้านเมืองให้เกิดความสงบสุข และเป็นระเบียบเรียบร้อยและยังส่อว่าจะเป็นการปฏิเสธพระราชอำนาจ ที่ไม่ยอมรับถ้อยคำที่ระบุไว้ชัดว่า ป.ป.ช. จะมีความสมบูรณ์ ก็ต่อเมื่อได้รับโปรดเกล้าฯ และเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ
โดยยังคงอ้าง “องค์รัฐาธิปัตย์” เสมือนว่าเป็นสิ่งที่อยู่สูงเหนือสิ่งอื่นใด ทั้งที่องค์รัฐาธิปัตย์ที่ถูกอ้างถึงเองก็ยังตระหนักดีถึงกาลเทศะ รู้จักที่ต่ำที่สูง
ที่สำคัญก็ยังผ่านการรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้รับตำแหน่ง
ซึ่งอย่างน้อยก็เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงจารีตของไทยที่ดำเนินมายาวนาน แม้ว่าในส่วนของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ จะไม่ได้ถูกกำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญก็ตาม
เฉพาะประเด็นนี้ไม่ต้องเป็นถึง ป.ป.ช. ที่มากด้วยคุณวุฒิ แต่เป็นตาสีตาสา ชาวบ้านร้านตลาดทั่วไป ก็ย่อมรู้ดี เรื่องที่ว่าด้วยสถาบันเบื้องสูงนั้น สำคัญที่สุดคือไม่มีสิ่งใดมาเสมอเหมือน ไม่มีอะไรจะสามารถมากกว่า หรือว่าทดแทนได้และเมื่อเวลาผ่านไป พฤติกรรมของ ป.ป.ช. ก็ส่อว่าจะสะท้อนความคิดอ่านได้ชัดมากขึ้น เมื่อมีเอกสารปรากฏ พอให้สันนิษฐานได้ว่าเหตุใดจึงไม่มีการโปรดเกล้าฯ ป.ป.ช. ทั้งคณะ
ในขณะที่ ปปง. ถูกตั้งขึ้นโดย คปค. แบบเดียวกัน และใน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน 2542 ก็กำหนดไว้แบบเดียวกันว่า เริ่มนับวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
ดังนั้นความน่าสนใจของ ปปง. และ ป.ป.ช. จึงน่าจะอยู่ที่ความแตกต่าง มากกว่าประเด็นอื่นใด
จะเป็นไปได้ไหมว่า เมื่อทั้ง ป.ป.ช. และ ปปง. ได้รับการแต่งตั้งจาก คปค. เหมือนๆ กัน เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2549 ซึ่งเป็นเวลาเพียง 2 วัน หลังจากการยึดอำนาจการปกครองของคณะรัฐประหาร ที่นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน
ในส่วนของ ป.ป.ช. ที่มี นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธาน พร้อมกรรมการรวมเบ็ดเสร็จ 9 คน ได้พร้อมใจกันทำงานโดยทันที เหมือนที่กรรมการ ป.ป.ช. บางคนย้ำในเวลาต่อมาว่า เริ่มต้นการทำงานตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน 2549
ซึ่งแน่นอนว่า เพียงวันเดียวหลังจากคณะรัฐประหารมีคำสั่งแต่งตั้ง ย่อมไม่สามารถดำเนินการทูลเกล้าฯ รายชื่อกรรมการทั้งหมด และไม่สามารถรับการโปรดเกล้าฯ และนำไปสู่การเข้าถวายสัตย์ฯ ได้ทันการณ์แน่
และคณะกรรมการทั้ง 9 คน ก็ยังคงเริ่มต้นทำงานไปอย่างต่อเนื่อง เสมือนว่าต้องเร่งรีบทำบางเรื่องบางราวให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว แบบเดียวกับ คตส. โดยเฉพาะ นายสัก กอแสงเรือง โฆษก คตส. และ นายแก้วสรร อติโพธิ กรรมการ คตส. ที่ขยันออกโทรทัศน์ กล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทั้งที่ในเวลานั้นยังไม่ได้เริ่มต้นทำงาน ยังไม่ได้อ่านเอกสารสักตัว
ซึ่งวิธีการที่ว่า ยังทำให้เกิดเป็นข้อกังวลสงสัยต่อเนื่องมาจนถึงขณะนี้ว่า คดีความที่ผ่านมือ คตส. ไปสู่กระบวนการศาลนั้น มีความถูกต้อง แม่นยำ และเที่ยงธรรมแค่ไหน
พูดง่ายๆ ก็คือ ไม่มั่นใจว่าคนทำสำนวนจะมีทั้งฝีมือ และมีความเป็นกลาง ในเมื่อท่าทีต่างๆ มันถูกแสดงออกมาอย่างชัดเจน
ขณะที่ย้อนกลับมาดูเส้นทางของ ปปง. ที่บอกแล้วว่าอยู่บนเงื่อนไขเดียวกันทุกประการ แต่ทำไมจึงได้รับการโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2549 ให้ พ.ต.อ.ยุทธบูล ดิสสะมาน เป็นเลขาธิการ ปปง. โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม ปีเดียวกัน
แน่นอนว่าในเมื่อทั้ง 2 องค์กรถูกตั้งขึ้นบนเงื่อนไขเดียวกัน แต่กลับปรากฏสิ่งที่ต่างกันเช่นนี้ เชื่อว่า ป.ป.ช. เองคงรู้ดีว่ามีข้อบกพร่องผิดพลาดในประการใด และเมื่อรู้แก่ใจแล้ว ก็น่าจะละอายที่ยังคงอ้างถึงองค์รัฐาธิปัตย์ไม่เลิกรา
และนั่นยังหมายถึงว่า สิ่งที่เกิดต่อเนื่องจากคำสั่ง คปค. ได้ปรากฏทั้งสิ่งที่ถูกต้องและไม่ถูกต้อง เทียบเคียงกันให้เห็นชัดเจนอยู่แล้ว
หาก ป.ป.ช. ยังมั่นใจในความถูกต้องของตัวเอง ก็น่าจะลองชี้แจงสังคมด้วยคำถามง่ายๆ ว่า แล้วทำไม ปปง. ที่มาจากพื้นฐานอันเดียวกัน จึงได้รับการโปรดเกล้าฯ รวมทั้งยังต้องตอบสังคมด้วยว่า ทำไมจึงหวงแหนเก้าอี้ ป.ป.ช. ยิ่งไปกว่าศักดิ์ศรี ยังยอมนั่งอยู่ท่ามกลางความเคลือบแคลงสงสัยของสังคม ท่ามกลางเสียงด่าทอ สาปแช่ง
ผมว่า...ไสหัวออกไปเถอะ...!!