เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว กระทรวงการต่างประเทศได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับอำนาจตุลาการ นัยว่าเพื่อตอบโต้ข้อกล่าวหาของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ว่ามีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม แล้วก็คงเป็นเพราะถูกเรียกร้องจากพรรคประชาธิปัตย์ และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยให้ชี้แจงต่อนานาชาติ แถลงการณ์ดังกล่าวมี 6 ข้อ ทุกข้อเป็นความรู้ทั่วไป และหลักการทางทฤษฎีการเมือง การปกครอง และกระบวนการยุติธรรม ไม่ได้ตอบปัญหาหรือข้อกล่าวหาของอดีตนายกรัฐมนตรี และประชาชนผู้รักประชาธิปไตยและรักความยุติธรรมเลย ผมขอชี้ชัดดังนี้
ข้อที่ 1 กระทรวงการต่างประเทศแถลงว่า อำนาจตุลาการเป็น 1 ใน 3 ของอำนาจอธิปไตย นี่เป็นความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับระบอบการปกครองโดยเฉพาะประชาธิปไตย นักเรียนรัฐศาสตร์และผู้สนใจการเมืองทุกคนล้วนรู้กัน ไม่มีความหมาย ไม่มีนัย หรือไม่ได้แก้ความสงสัยต่อกระบวนการยุติธรรมใดๆ เลย แน่นอน อำนาจตุลาการเป็น 1 ใน 3 อำนาจอธิปไตย แต่อำนาจนี้ในประเทศไทยมิได้ยึดโยงกับอำนาจอธิปไตยของปวงชนเลย
ข้อที่ 2 เป็นความรู้ทางประวัติศาสตร์ แต่ไม่ถูกต้องนัก เพราะอำนาจตุลาการมีความเป็นมาและความต่อเนื่องนับร้อยปี มิใช่จากระบบกฎหมายประเพณี มาสู่ระบบกฎหมายแบบประมวล ซึ่งเป็นวิวัฒนาการของระบบกฎหมายไทย หากมาจากระบบที่ศาลที่สังกัดฝ่ายบริหาร แยกมาเป็นฝ่ายยุติธรรมหรือธรรมการ ตั้งแต่สมัยการปฏิรูประบบบริหารของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก่อนหน้านี้ ศาลทั้งหลายทั้งปวงสังกัดกรมกองของฝ่ายบริหาร เช่น ศาลกรมพระคลังข้างที่
ข้อที่ 3 กระทรวงการต่างประเทศแถลงว่า อำนาจอธิปไตยด้านนิติบัญญัติและด้านบริหาร มีการเปลี่ยนแปลงหรือการชะงักงันในประวัติศาสตร์การเมืองของไทย แต่ระบบตุลาการมีความมั่นคง ต่อเนื่อง เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายในสังคมไทยเสมอมา ข้อนี้ก็ผิด ในประวัติศาสตร์การปกครองสมัยใหม่ตั้งแต่การปฏิวัติประชาธิปไตย 2475 อำนาจอธิปไตยด้านนิติบัญญัติและด้านบริหารเปลี่ยนแปลงมาหลายครั้งจริง แล้วทุกครั้งมาจากรัฐประหารของคณะทหาร ซึ่งมายึดอำนาจจากรัฐบาล เปลี่ยนอำนาจนิติบัญญัติและบริหารที่เป็นอำนาจอธิปไตยของปวงชน มาเป็นของคณะรัฐประหาร โดยคณะรัฐประหารจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่ออกกฎหมาย ในแง่นี้ อำนาจอธิปไตยทั้ง 2 ด้านจึงไม่เคยหยุดชะงัก และแทบทุกครั้ง คณะรัฐประหารไม่เพียงแต่จะใช้อำนาจตุลาการระดับสูง เช่น หัวหน้าคณะรัฐประหารบ้าง คณะปฏิวัติบ้าง คณะปฏิรูปบ้าง มีอำนาจตัดสินลงโทษผู้กระทำความผิด เช่น ในสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทยชั่วคราว มาตรา 17 ให้นายกรัฐมนตรีสั่งลงโทษถึงขั้นประหารชีวิตได้ แต่ยังแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมหลายต่อหลายคดี ดังรู้กันในแต่ละสมัย
ข้อที่ 3 และ 4 เกี่ยวกับการคัดสรรบุคลากร หรือผู้พิพากษา ผมไม่โต้แย้ง แต่มีข้อท้วงติงว่า เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ไม่มีแต่ผู้พิพากษา หากยังมีอัยการ ตำรวจ และทนายความ ลำพังแต่ผู้พิพากษา แม้จะมีความเป็นวิชาชีพสูง มีความแตกฉานทางกฎหมาย มีจิตใจยุติธรรม และจรรยาบรรณ ก็ไม่มีหลักประกันว่าระบบตุลาการจะประสาทความยุติธรรมทุกคดี ผมเห็นด้วยว่า สังคมไทยยังเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์และความยุติธรรมของอำนาจตุลาการ แต่ในขณะเดียวกัน ผู้คนจำนวนไม่น้อยวิจารณ์ระบบตุลาการ ศาล และการตัดสินคดีความต่างๆ มากขึ้นเป็นลำดับ
ข้อที่ 5 กระทรวงการต่างประเทศชี้ว่า ระบบตุลาการไทยมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องและทันสมัย เช่น การจัดตั้งองค์การทางตุลาการเพิ่มขึ้น เช่น ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 และฉบับปี 2550 โครงสร้างใหม่เหล่านี้อยู่คู่กับฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติอย่างต่อเนื่องมากว่า 10 ปี โดยไม่มีความกังขาใดๆ แต่สำหรับประชาชนผู้รักประชาธิปไตยและความยุติธรรมส่วนใหญ่เห็นว่า ศาลเหล่านี้สร้างปัญหาต่อ 2 ฝ่ายดังกล่าวมากขึ้นทุกวัน
ข้อสุดท้าย กระทรวงการต่างประเทศแถลงว่า ศาลทั้งหลายต้องพิพากษาอรรถคดี และทำหน้าที่ของตนด้วยความยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ นี่ก็เป็นหลักการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 187
สรุป แถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศดังกล่าว เป็นแค่คำตอบของวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ ของนักศึกษานิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ปี 1 มิอาจแก้ความสงสัยของใครทั้งนอกและในประเทศได้