* เผยพระบรมราชโองการแต่งตั้งเลขา ปปง.
พบเอกสารชี้ชัด ปปง. ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คปค.แบบเดียวกับ ป.ป.ช. ยังได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้ง พร้อมทั้งผ่านกระบวนการขั้นตอนตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างครบถ้วน แต่ทำไม ป.ป.ช. ทั้ง 9 คนยังดื้อดึงไม่เลิกรา จนเกิดเป็นคำถามว่าไม่รู้สึกละอายบ้างหรืออย่างไร ชี้ทั้งข้อกฎหมายแ ละการใช้อำนาจรัฐาธิปัตย์ ผ่านประกาศ คปค. เหมือนกันทุกประการ แต่ต่างกันที่ขั้นตอนทำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นักกฎหมายตั้งข้อสงสัย จะเป็นเพราะ ป.ป.ช. ชิงทำงานไปก่อน การโปรดเกล้าฯ ย้อนหลังจึงเป็นเรื่องมิบังควรหรือเปล่า
* นัก ก.ม.แนะอย่ายอมรับคำตัดสินของป.ป.ช.
การดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยังคงเป็นปัญหาค้างคาใจประชาชนจำนวนมาก ว่า ป.ป.ช. จะมีสถานะถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ในเมื่อมีที่มาส่อขัดรัฐธรรมนูญ และส่อว่าจะละเมิดพระราชอำนาจดังที่มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกต และมีการคัดค้านการทำงานของ ป.ป.ช. กันมาอย่างต่อเนื่อง จนมีคนนิยามว่าเป็น “ป.ป.ช.เถื่อน” นั้น
ล่าสุดยังได้พบหลักฐานที่ฟ้องความไม่ชอบธรรมของ ป.ป.ช. อีกประการหนึ่ง เมื่อพบว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะปฏิรูปการปกครอง (คปค.) แบบเดียวกัน และมีข้อกำหนดให้นับวาระการทำงานนับแต่วันที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แบบเดียวกัน แต่กลับได้รับการโปรดเกล้าฯ และผ่านกระบวนการขั้นตอนครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ
โดยที่ กฎหมาย ป.ป.ช.ปี 2542 ในมาตรา 6 กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ประกอบด้วยประธาน 1 คน และกรรมการอีก 8 คน “ซึ่งมีพระมหากษัตริย์แต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา” และในมาตรา 12 ท่อนหนึ่งระบุว่า “กรรมการมีวาระการดำรงตำแหน่งเก้าปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง...”
ขณะที่ กฎหมาย ปปง. ปี 2542 มาตรา 42 ก็มีข้อความที่ระบุถึงที่มาของเลขาธิการ ปปง. ว่า “ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขึ้นตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี โดยได้ความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาตามลำดับ” รวมทั้งในมาตรา 44 ก็ระบุเอาไว้ตอนหนึ่งว่า “มีวาระดำรงตำแหน่งสี่ปีนับตั้งแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง”
ส่วนที่ ป.ป.ช. กล่าวอ้างถึงรัฐาธิปัตย์นั้น ในความเป็นจริงแล้วในส่วนดังกล่าวที่มาของ ปปง. ก็ไม่ได้มีความแตกต่างกันแต่อย่างใด กล่าวคือ ป.ป.ช. นั้น พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ใช้อำนาจรัฐาธิปัตย์ ผ่านประกาศ คปค.ฉบับที่ 19 แต่งตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อ 20 กันยายน 2549 ส่วน ปปง. พล.อ.สนธิ ใช้อำนาจรัฐาธิปัตย์ ตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 4 และ 16 แต่ตั้งเมื่อ 30 กันยายน 2549
อย่างไรก็ตาม พบว่าทั้ง 2 องค์กรมีความแตกต่างกันในขั้นตอนการนำความกราบบังคมทูล คือ ป.ป.ช. เข้าปฏิบัติงานเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2549โดยที่ยังไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง โดยในวันที่ 26 กันยายน 2549 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ทำหนังสือถึงเลขาฯ คปค.สอบถามถึงประเด็นการนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง
ต่อมาวันที่ 30 กันยายน 2549 เลขาฯ คปค. มีหนังสือตอบข้อซักถามว่า เมื่อมี ครม.ใหม่ ควรให้ สลค.เสนอรายชื่อ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อนำความกราบบังคม วันที่ 3 พ.ย.2549 คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงทำหนังสือถึง สลค.เพื่อขอให้นำความกราบบังคมทูล กระทั่งวันที่ 14 พฤศจิกายน 2549 สลค.ได้ทำหนังสือถึงสำนักราชเลขาธิการเพื่อขอให้นำความกราบบังคมทูล และ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2549สำนักราชเลขาธิการทำหนังสือถึง สลค.บอกว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.แต่งตั้งชอบแล้ว โดยอำนาจรัฐาธิปัตย์ สุดท้ายวันที่ 20 ธันวาคม 2549 สลค. ได้ทำหนังสือถึง ป.ป.ช. แจ้งความเห็นของสำนักราชเลขาธิการ
ส่วนคณะกรรมการ ปปง. เข้าปฏิบัติงานวันที่ 29 กันยายน 2549 คณะกรรมการ ปปง. ได้ทำหนังสือถึง สลค. แจ้งมติ คปค.แต่งตั้ง เลขาธิการ ปปง. วันที่ 30 กันยายน 2549 สลค. ทำหนังสือถึงสำนักราชเลขาธิการ เพื่อขอให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
วันที่ 16 ตุลาคม 2549 ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เลขาธิการ ปปง. วันที่ 23 ตุลาคม ลงประกาศในพระราชกิจจานุเบกษามีพระบรมราชโองการฯแต่งตั้งเลขาธิการ ป.ป.ง.ให้ดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่
ทั้งนี้ก่อนหน้านั้นในรายการ “ความจริงวันนี้” นายวีระ มุสิกพงศ์ พร้อมด้วยผู้ร่วมรายการก็เคยนำมาพูดจากันแล้วว่าน่าจะมีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดที่ไม่เหมาะที่จะมีการกราบบังคมทูล เรื่องดังกล่าว
ทางด้านนายคารม พลทะกลาง แกนนำชมรมนักกฎหมายเพื่อประชาชน กล่าวว่า ในทางกฎหมาย มาตรา 12 พระราชบัญญัติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เขียนไว้ชัดเจนว่า ก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นประธาน ข้าราชการระดับสูง ที่ระบุว่าเป็นเจ้าพนักงานโดยกฎหมายอาญา ต้องมีการโปรดเกล้าฯ
แต่หากไม่มีการโปรดเกล้าฯแล้ว จึงมีการตีความว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำหน้าที่โดยถูกต้องหรือไม่ ประเด็นอยู่ที่ว่า ป.ป.ช.ปฏิบัติหน้าที่ไปแล้ว ถึงมีหนังสือจาก นายอาสา สารสิน ราชเลขาธิการสำนักพระราชวัง ให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ซึ่งป.ป.ช.เองก็ยึดตามหนังสือนี้มาโดยตลอด
นายคารม กล่าวต่อว่า อาจเป็นเพราะว่า ป.ป.ช.เข้าดำรงตำแหน่งก่อนที่จะได้รับการโปรดเกล้าฯ หากจะโปรดเกล้าฯย้อนหลังก็ไม่บังควร เพราะจะเป็นการล่วงละเมิดพระราชอำนาจ จึงกลายเป็นว่าทำอะไรไม่ได้แล้ว จึงทำหน้าที่ตามราชเลขาธิการสำนักพระราชวัง ทั้งนี้ การเข้าดำรงตำแหน่งของ ป.ป.ช.จึงเป็นการเข้าสู่ตำแหน่งโดยไม่สมบูรณ์
ทั้งนี้การที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) ไม่เข้าปฏิบัติหน้าที่โดยทันที สาเหตุเป็นเพราะว่า ปปง.ต้องรอโปรดเกล้าฯและมีการลงพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก่อน ถึงจะเข้าปฏิบัติหน้าที่โดยสมบูรณ์
ดังนั้น ป.ป.ช.ควรหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะเข้ามาเป็น ป.ป.ช.โดยไม่สมบูรณ์ เพราะ ป.ป.ช.มีอำนาจในการตัดสินคดีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการระดับสูงเยอะ พร้อมทั้งมีอำนาจมากมาย รวมทั้งมีอำนาจในการปลดนักการเมืองออกจากตำแหน่งด้วย
นายคารม กล่าวอีกว่า ในความคิดของตนการเข้าสู่ตำแหน่งโดยไม่สมบูรณ์ เข้าทำหน้าที่โดยมิชอบ ไม่ควรไปตัดสินคดี หรือว่าให้นักการเมืองหลุดพ้นจากตำแหน่ง ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับ ป.ป.ช.ตอนนี้คือหยุดปฏิบัติหน้าที่ เงินทุกอย่างที่ได้รับไปต้องคืนทั้งหมด เพราะไม่มีสิทธิ์จะได้รับ ทั้งนี้นักการเมืองคนใดที่ถูกตัดสินจาก ป.ป.ช.ควรมีการหยิบยกเรื่องดังกล่าวมาต่อสู้บ้าง
อีกทั้งปัญหาอยู่ที่ว่าพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีต ผบ.ทบ. และ อดีตประธาน คมช.ซึ่งเป็นแกนนำคณะปฏิรูปการปกครอง (คปค.) ในช่วงเกิดการรัฐประหารยังได้รับการโปรดเกล้าฯให้เข้าดำรงตำแหน่ง ทั้งที่เป็นการยึดอำนาจ เหตุใดจึงไม่ให้ ป.ป.ช.ได้รับการโปรดเกล้าฯก่อน ถึงเข้าไปปฏิบัติหน้าที่