คอลัมน์ : สิทธิประชาชน
โดย จรัล ดิษฐาอภิชัย
คงต้องยอมรับว่า สิทธิพลเมืองที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Civil right มีสิทธิอะไรบ้าง ทำไมสิทธิเหล่านั้นเป็นสิทธิพลเมือง เป็นปัญหาค่อนข้างยาก เพราะในทางทฤษฎี สิทธิมนุษยชนแบ่งแยกมิได้ หรือจะเอาสิทธิหนึ่งไปปฏิเสธอีกสิทธิหนึ่งก็ไม่ได้ ส่วนในทางประวัติศาสตร์ บรรดาเอกสารสิทธิมนุษยชนก็มิได้ระบุว่า สิทธิพลเมืองมีสิทธิอะไรบ้าง เช่น ในคำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพลเมืองของฝรั่งเศส ค.ศ.1789 สิทธิพลเมืองจะประกอบด้วยสิทธิทางการเมือง เช่น สิทธิแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน และการพิมพ์ ความเสมอภาคภายใต้กฎหมาย ได้รับศักดิ์ศรี ความเชื่อทางศาสนา สิทธิเข้าทำงานสาธารณะตามความสามารถ สิทธิการตรวจสอบการบริหารและการใช้จ่ายเงินของหน่วยงานของรัฐ สิทธิร้องทุกข์1 แม้แต่ในปฏิญญา กติกาและอนุสัญญาระหว่างประเทศของสหประชาชาติ ตั้งแต่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ค.ศ.1966 อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติทุกรูปแบบ ค.ศ.1965 อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ ค.ศ.1979 รวมถึงอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ.1989 ก็มิได้ระบุว่าอะไรเป็นสิทธิพลเมือง
แต่หากพิจารณาจากสิทธิของประชาชนจากแง่มุมที่สัมพันธ์กับรัฐ ฐานะทางเชื้อชาติและกลุ่มชนภายในรัฐ ก็พอจะพูดได้ว่าสิทธิพลเมืองประกอบด้วยสิทธิของบุคคลที่จะได้รับการยอมรับเป็นบุคคลตามกฎหมายและเสมอภาคกัน สิทธิมีสัญชาติ สิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิในครอบครัว เกียรติยศชื่อเสียงและความเป็นส่วนตัว เสรีภาพในการเดินทางและเลือกถิ่นที่อยู่ภายในรัฐ เสรีภาพในการสื่อสารถึงกัน เสรีภาพทางความคิด มโนธรรม ความเชื่อ และนับถือศาสนา และการแสดงออกของความคิดดังกล่าว เสรีภาพในประกอบอาชีพ เสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นสมาคม สิทธิในทรัพย์สิน สิทธิได้รับการศึกษา สิทธิสมัครเป็นข้าราชการ สิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสารของรัฐ สิทธิมีส่วนร่วมในการบริหารรัฐกิจ สิทธิได้รับบริการสาธารณะจากรัฐ และสิทธิร้องทุกข์และฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐ บุคคลผู้เป็นชนกลุ่มน้อยมีสิทธิในอันที่จะมีวัฒนธรรม นับถือประเพณีและประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของตนเอง
สิทธิพลเมืองเหล่านี้ ในประเทศไทยได้รับการรับรอง คุ้มครอง และค้ำประกันจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยเฉพาะที่บัญญัติในหมวด 3 ซึ่งเป็นหมวดว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ตั้งแต่มาตรา 30 บุคคลเสมอภาคกันในกฎหมาย ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน มาตรา 32 สิทธิในชีวิตและร่างกาย มาตรา 33 เสรีภาพในเคหสถาน มาตรา 34 เสรีภาพในการเดินทางและการเลือกถิ่นที่อยู่ มาตรา 35 สิทธิในครอบครัว ชื่อเสียง และความเป็นอยู่ส่วนตัว มาตรา 36 เสรีภาพในการสื่อสาร มาตรา 37 เสรีภาพในการนับถือศาสนา มาตรา 39 สิทธิบุคคลในกระบวนการยุติธรรม มาตรา 41 สิทธิในทรัพย์สิน มาตรา 43 เสรีภาพในการประกอบอาชีพ มาตรา 45 เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา มาตรา 49 -55 เสรีภาพในการศึกษา และรับการบริการทางสาธารณสุข สิทธิเด็ก คนชรา และคนพิการ สิทธิผู้ไร้ที่อยู่อาศัย มาตรา 56-62 สิทธิรับทราบข้อมูลข่าวสารของรัฐ สิทธิมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติราชการทางการปกครอง สิทธิผู้บริโภค สิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์และฟ้องส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ มาตรา 63 เสรีภาพในการชุมนุม มาตรา 65 เสรีภาพรวมตัวเป็นสมาคม สหภาพ สหกรณ์ กลุ่ม องค์การเอกชน พรรคการเมือง และในหมวด 10 สิทธิในการปกครองท้องถิ่น
....ฉบับหน้าจะพูดถึงปัญหาการมีและการใช้สิทธิพลเมือง