WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Sunday, May 31, 2009

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ จี้รัฐแก้ปัญหาไม่คืบ ในพื้นที่ถูกข่มขู่หนัก

ที่มา ประชาไท

วันนี้ (30 พ.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) จัดแถลงข่าว “คืบหน้า หรือล้มเหลว? ผลการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ กับรัฐบาล” เพื่อเผยแพร่ความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาภายในระยะเวลาการทำงานของคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายฯ ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติ ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และสถานการณ์การข่มขู่คุกคามชาวบ้านในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.บุรีรัมย์ ณ สำนักงานกองเลขาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย

แจงแก้ปัญหาไม่คืบเหตุข้าราชการประจำ-การเมืองไม่ทำตามนโยบาย

นายบุญ แซ่จุ่ง ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) กล่าวว่าที่ผ่านมาทางเครือข่ายฯ เน้นการแก้ปัญหาที่ดินโดยใช้ในเรื่องของโฉนดชุมชน ธนาคารที่ดิน และการคุ้มครองพื้นที่เกษตร ซึ่งไปสอดคล้องกับการแถลงนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.51 ที่มุ่งผลักดันในเรื่องเหล่านี้ด้วยเช่นกัน ทางเครือข่ายจึงมีความคาดหวังที่จะช่วยผลักดัน และจากการชุมนุมของทางเครือข่ายเมื่อวันที่ 4-12 มี.ค.52 เพื่อร่วมผลักดันการดำเนินนโยบายให้เป็นจริง นำมาสู่การแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายฯ โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และดำเนินการประชุมครั้งแรกร่วมกันในวันที่ 11 มี.ค.52

ผลการประชุมดังกล่าวได้มีมติเห็นชอบกรอบนโยบายการแก้ไขปัญหาโดยยึดปัญหาพื้นฐานของประชาชนและนโยบายรัฐบาลเป็นหลักสำคัญ พร้อมกันนี้ ได้ให้ความเห็นชอบการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน และการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหา ทั้งสิ้น 6 ชุด ตามประเภทปัญหาที่ดินของเครือข่าย

นายบุญ กล่าวต่อมาว่าช่วงเวลากว่า 2 เดือนที่ผ่านมาทางเครือข่ายได้ใช้กรอบนโยบายและกลไกของคณะทำงานดังกล่าวเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหา และที่มีความคืบหน้ามากที่สุดคือ การศึกษาแนวทางการปฏิบัติตามนโยบายการกระจายถือครองที่ดิน ซึ่งทำการศึกษาถึงแนวทางกฎหมายและมาตรการอื่นๆ เพื่อรองรับนโยบายการกระจายการถือครองที่ดินของรัฐบาล เช่น โฉนดชุมชน ธนาคารที่ดิน มาตรการทางภาษี การคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม ฯลฯ โดยคาดว่าจะมีการนำเสนอเนื้อหาในเดือน มิ.ย.ที่จะถึงนี้

อย่างไรก็ตาม นายบุญได้กล่าวว่า แม้จะมีความคืบหน้า แต่ก็ยังเป็นแค่ความคืบหน้าในส่วนของงานศึกษาเพื่อแก้ปัญหา ยังไม่ถึงขั้นตอนการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งที่ผ่านมาการศึกษาดังกล่าวทั้งในเรื่องของโฉนดชุมชน ธนาคารที่ดิน มาตรการทางภาษี รวมทั้งการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม ทางเครือข่ายฯ ก็มีความพยายามในการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว

ในส่วนการทำงานที่ยังไม่คืบหน้า มีปัญหาและอุปสรรค์จาก 2 สาเหตุคือ 1.ประธานคณะกรรมการอำนวยการฯ ไม่มีการเร่งรัดการแก้ปัญหาให้เป็นไปตามมติการประชุมในวันที่ 11 มี.ค.52 ยกตัวอย่าง กรณีมติที่ประชุมคณะอำนวยการให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานด้านคดีเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่ถูกคดีทั้งทางอาญาและทางแพ่ง จนถึงปัจจุบันไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการแต่งตั้งแต่อย่างใด ทั้งที่กรอบในการดำเนินงานของคณะทำงานกำหนดไว้ 90 วัน และในวันที่ 24 มิ.ย.ที่จะถึงนี้ก็จะถึงกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว

ส่วนสาเหตุที่ 2 คือ การไม่ยึดกรอบนโยบายของรัฐบาลในการแก้ปัญหา และยังคงยึดตามหลักแนวคิดเดิมๆ ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ยกตัวอย่าง กรณีคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติ ป่าสงวนแห่งชาติ และที่ป่าไม้อื่นๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ที่มี นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน ซึ่งภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 เม.ย.52 ยังไม่มีการดำเนินการตามมติที่ประชุมใดๆ ทั้งสิ้น อีกทั้งข้าราชการประจำบางส่วนยังคงยืนยันแนวทางการแก้ไขปัญหาตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิถุนายน 2541 เป็นหลัก

นายบุญยกตัวอย่างต่อมาถึงกรณีที่นายประชา เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 8 เม.ย.52 ระบุไม่เห็นด้วยกับแนวทางการแก้ไขปัญหาของคณะกรรมการอำนวยการฯ ว่า ถือเป็นการดื้อแพ่งต่อคำสั่งการของรัฐ ซึ่งทำให้การแก้ปัญหาไม่สามารถเดินหน้าได้ อีกทั้งขณะนี้ในพื้นที่ อ.ชัยบุรี จ.สุราษฏร์ธานี มีกรณีปัญหาการข่มขู่ คุกคาม ยิงกราด และมีการเผาบ้านพักชั่วคราวของชาวบ้าน โดยกลุ่มชายฉกรรจ์ ซึ่งส่งผลให้สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ต้องย้ายพื้นที่ไปอาศัยกับชุมชนใกล้เคียง

“ขอให้นายกมีความเข้มแข้งในการแก้ปัญหา และเอาปัญหาบ้านเมืองเป็นตัวตั้ง อย่าเอาเก้าอี้ เอาตำแหน่งเป็นตัวตั้ง” นายบุญกล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินของรัฐบาลที่ต้องอาศัยความเด็ดขาดและกล้าที่จะตัดสินใจ

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาทางเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ เคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาไม่ได้ต้องการที่จะล้มล้างรัฐบาลและไม่ใช่กลุ่มการเมืองที่หวังอำนาจ โดยยึดหลักการประชาธิปไตยทางตรง แบบมีส่วนร่วม ซึ่งประชาธิปไตยที่ว่านั้นเป็นประชาธิปไตยที่กินได้ และสิ่งที่เรียกร้องก็เป็นหน้าที่ของนักการเมืองที่จะต้องแก้ปัญหาเรื่องปากท้องของประชาชน

ย้ำคณะทำงานด้านคดีจำเป็น เผยคนตรัง-พัทลุงถูกฟ้องตัดต้นยางทำโลกร้อน

นายบุญ กล่าวด้วยว่า สาเหตุที่ต้องมีคณะทำงานด้านคดี เพราะแม้ขณะนี้จะไม่มีการจับกุมและดำเนินคดีกับสมาชิกเครือข่ายฯ เพิ่มเติม แต่กระบวนการพิจารณาทางศาลก็มีความคืบหน้าไปเรื่อยๆ และที่ผ่านมามีการใช้อำนาจศาลบังคับคดีกับชาวบ้านโดยมีการเรียกค่าเสียหายนับล้านบาทต่อราย ยกตัวอย่างเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด ชาวบ้านที่ จ.ตรังและพัทลุง ถูกกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เข้าแจ้งความดำเนินคดีและฟ้องศาลเรียกค่าเสียหายกว่า 48 คดี ในข้อหาบุกรุกทำกินในพื้นที่เขตอุทยานฯ เขาปู่-เขาย่า ในพื้นที่พิพาทที่ทับซ้อนทับกันอยู่ระหว่างที่ทำกินและพื้นที่ป่า โดยชาวบ้านถูกบังคับคดีให้ต้องชดใช้ค่าเสียหายราว 1-5 ล้านบาทต่อราย

ทั้งนี้ในส่วน กรมอุทยานฯ ได้คิดคำนวณค่าเสียหายตามหลักเกณฑ์ และวิธีการ ที่เหมือนๆ กันทุกราย อาทิ ข้อหาทำให้เกิดความสูญเสียของธาตุอาหาร ข้อหาทำให้ดินไม่ถูกซับน้ำฝน ข้อหาทำให้น้ำสูญเสียออกไปจากพื้นที่โดยการแผดเผาของรังสีดวงอาทิตย์ ข้อหาทำให้ดินสูญหาย ข้อหาทำให้อากาศร้อนมากขึ้น และข้อหาทำให้ฝนตกน้อยลง โดยข้อหาในทุกๆ ข้อทางกรมอุทยานฯ จะคิดคำนวณค่าเสียหายออกมาเป็นจำนวนเงิน/ไร่ /ปี

“เราเห็นด้วยกับการแก้ปัญหาเรื่องโลกร้อน แค่ก็ควรจะนึกถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องความมั่นคงทางอาหาร การโค่นล้มต้นยางเองก็มีการปลูกใหม่เป็นวัฏจักรที่คืนความสมดุลให้ธรรมชาติอยู่ในตัว แต่ชาวบ้านที่มีวิถีชีวิตเรียบง่ายกลับต้องถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาทำให้โลกร้อนขึ้น ซึ่งไม่ต่างจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยควันพิษทุกวันๆ” นายบุญกล่าว โดยย้ำว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่มีความเป็นธรรม

“บุรีรัมย์” ชาวบ้านหวั่นถูกขู่สลายการชุมนุมขั้นเด็ดขาด

กรณีปัญหาในการจัดสรรที่ทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ อ.โนนดินแดง จำนวน 9 แปลง รวมพื้นที่ 23,746 ไร่ ซึ่งกรมป่าไม้ได้อนุญาตให้บริษัทเอกชนเช่านับตั้งแต่ปี พ.ศ.2528 โดยการปลูกไม้ยูคาลิปตัสเพื่อเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานอุตสาหกรรมเยื่อกระกระดาษ และได้หมดสัญญาเช่าเมื่อวันที่ 5 พ.ค.2552 โดยในขณะนี้ได้มีสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสานพื้นที่ อ.โนนดินแดงซึ่งเป็นชาวบ้านกลุ่มเดิมที่เคยทำกินในพื้นที่มาก่อนได้เข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ และได้มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกินมาอย่างต่อเนื่อง

นายลุน สร้อยสด แกนนำชาวบ้าน อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่าสถานการณ์ในพื้นที่ล่าสุดมีกระแสข่าวว่าจะมีการสนธิกำลังเข้าปราบปรามสลายการชุมนุมชาวบ้านที่เข้าไปขอใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว จำนวน 171 ครอบครัว หรือราว 300 คน ใน 3 วัน หากใครไม่ต้องการถูกจับกุม ให้ออกจากพื้นที่โดยเร็ว สร้างความหวั่นวิตกให้กับชาวบ้านเป็นอันมาก ทั้งนี้แม้ทางนายกรัฐมนตรีจะออกมาบอกว่าจะไม่เกิดความรุนแรงในพื้นที่ แต่นายทุนและเจ้าหน้าที่รัฐกำลังดำเนินการอยู่ในพื้นที่ เชื่อว่าที่ดินผืนดังกล่าวเป็นที่ดินแปลใหญ่มีการปลูกยูคามานาน ผลประโยชน์ในส่วนนี้น่าจะมาก อย่างไรก็ตามยังหวังว่ารัฐบาลจะสามารถกำกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นมือเป็นไม้ของรัฐบาลได้

นายลุน กล่าวด้วยว่าหลังจากที่ อบต.ลำนางรองมีมติไม่ให้บริษัทต่อสัญญาเช่าและให้นำที่ดินมาจัดสรรให้เกษตรเมื่อวันที่ 14 ก.พ.2551 ได้มีป่าไม้ จ.บุรีรัมย์ส่วนหนึ่ง ร่วมกับตำรวจ อบต.และกำนันผู้ใหญ่บ้านบางส่วนพยายามเรียกร้องให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ดังกล่าวและให้มีการสลายการชุมนุมโดยใช้ปฏิบัติการขั้นเด็ดขาด นอกจากนี้ล่าสุด อบต.ลำนางรอง เจ้าของพื้นที่ได้มีมติใหม่เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา เบื้องต้นให้เอกชนเช่าต่อ 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลืออีก 50 เปอร์เซ็นต์ นำมาจัดสรรให้ชาวบ้านเช่าเป็นที่ทำกิน

ตรงนี้นายลุ้นมองว่าจะเป็นปัญหาเนื่องจากว่า พื้นที่ดังกล่าวถูกบริษัทเอกชนจับจองไปก่อนแล้วกว่า 16,800 ไร่ เหลือพื้นที่อีกไม่ถึง 7,000 ไร่ที่จะนำมาจัดสรรให้กับชาวบ้านที่ได้ยื่นหนังสือเรียกร้องให้เร่งจัดสรรที่ทำกินและทั้งรายชื่อของชาวบ้านที่ต้องการเช่าที่ทำกินในพื้นที่ดังกล่าวกว่า 3,913 ราย ซึ่งเกรงว่าจะมีปัญหาในการจัดสรรพื้นที่ แม้ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดบุรีรัมย์ จะรับปากในที่ประชุม อบต.ว่าจะหาพื้นที่มาเพิ่มให้เท่ากับ 16,800 ไร่ ที่บริษัทได้ไป

ด้านนายไสว ชาวบ้านในพื้นที่อีกคนหนึ่งกล่าวว่า อดีต ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์เป็นพื้นที่สีแดงรัฐบาลมีนโยบายเปิดพื้นที่ป่าให้ชาวบ้านเข้าไปทำกินเมื่อปี 2515-2516 โดยให้ชาวบ้านเป็นกันชน แต่เมื่อในพื้นที่สงบได้มีนโยบายให้ชาวบ้านอพยพออกจากพื้นที่ โดยจัดสรรที่ดินในพื้นที่อื่นให้ แล้วให้บริษัทเอกชนเข้ามาเช่าปลูกป่ายูคาลิปตัสในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมาชาวบ้านประสบปัญหาชุมชนขยายที่ดินทำกินไม่เพียงพอ เมื่อต่อมาได้บริษัทเอกชนหมดสัญญาเช่า ชาวบ้านจึงได้เข้าไปปฏิบัติการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน

พื้นที่ “สุราษฎร์” ยังระอุ เผาบ้านพักชาวบ้านไปแล้ว 19 หลัง

นายบุญฤทธิ์ ภิรมย์ เกษตรกรจาก อ.บางพระแสง จ.สุราษฎร์ธานี สหพันธ์เกษตรภาคใต้ กล่าวถึงกรณีปัญหาในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ใน 2 พื้นที่ คือ พื้นที่แรกใน อ.พระแสง กลุ่มเกษตรกรไร้ที่ดินชุมชนสันติพัฒนา สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ถูกดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญา รวม 15 คน เนื่องจากเข้าไปอยู่อาศัยในพื้นที่ของบริษัทบริษัทสหพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่เมื่อปี 2550 ซึ่งก่อนหน้านั้นได้มีการตรวจสอบรวมกับคณะกรรมการระดับอำเภอพบว่าบริษัทฯ ได้บุกรุกเข้าไปในเขตป่าถาวรและเขตพื้นที่ปฏิรูปโดยไม่มีเอกสารสิทธิ์ แต่ต่อมาปี 2551 ชาวบ้านกลับถูกฟ้องร้องในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าถาวรและพื้นที่ของเอกชน

นอกจากนี้ยังมีการคุกคามโดยกลไกอำนาจรัฐ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ได้เข้าไปดูแลพื้นที่บ้านพักคนงานของบริษัทเอกชน ซึ่งถือว่าเป็นการวางตัวไม่เป็นกลางในฐานะผู้ให้บริการประชาชน ทั้งนี้ได้มีการนำเสนอเรื่องไปทางต้นสังกัดให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวแล้ว

พื้นที่ต่อมาคือพื้นที่ อ.ชัยบุรี ซึ่งล่าสุดมีเหตุการณ์เผาและไล่รื้อบ้านพักของชาวบ้านในพื้นที่ชุมชนประชาร่วมใจรวมกว่า 19 หลัง นอกจากนั้นยังมีกลุ่มชายฉกรรจ์พร้อมอาวุธปืนได้เดินสายข่มขู่ชาวบ้านไร้ที่ดินในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินชุมชนพฤกษาชาติ ชุมชนไทรงาม และชุมชนประชาร่วมใจ ซึ่งตั้งอยู่ที่ หมู่ 5 .ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี ออกจากพื้นที่ หากไม่ย้ายออกไปจากพื้นที่ อาจได้รับอันตรายถึงชีวิต

นายบุญฤทธิ์กล่าวต่อมาถึงเรื่องการจัดทำโฉนดชุมชนว่าเป็นเป้าหมายสูงสุดในการปฏิรูปที่ดิน ซึ่งจะเป็นผลดีต่ออนาคตของลูกหลาน เพราะช่วยป้องกันการแปลงที่ดินเป็นสินค้า หรือเป็นต้นทุนในการผลิต คือโฉนดที่ดินจะไม่สามารถขายได้ ลดการเปลี่ยนมือในการถือครองที่ดิน นอกจากนั้นยังช่วยยุติการโค่นล้มทำลายป่าเพราะต้องการที่ดินเพื่อทำการเกษตร หากที่แถลงไว้ทำไม่ได้ในที่สุดชาวบ้านก็ต้องบุกป่า เพื่อยุติการคุกคามป่า เกษตรกรต้องมีที่ดินเป็นของตนเอง

ทั้งนี้ พื้นที่ชุมชนประชาร่วมใจเป็นพื้นที่ปฏิรูปที่ดินของชาวบ้านผู้ไร้ที่ดิน อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี โดยที่ดินอยู่ในความดูแลของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ซึ่งเดิมได้อนุญาตให้บริษัทชัยบุรีปาล์มทองเช่าสำหรับปลูกปาล์มน้ำมันจำนวนกว่า 15,000 ไร่ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2528 ถึงปี พ.ศ.2543 แต่ในปี 2531 บริษัทดังกล่าวเกิดความขัดแย้งภายใน มีการแยกตัวออกเป็น 6 กลุ่ม จากนั้นปี 2537 พื้นที่ ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี และพื้นที่ใกล้เคียงถูกประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยมีกลุ่มนายทุนเข้าไปบุกรุก ครอบครองและทำประโยชน์ ในแปลงดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน

ด้านนายสมศักดิ์ เพชรจุ้ย สหพันธ์เกษตรภาคใต้ อ.ชัยภูมิ กล่าวถึงสถานการณ์ในพื้นที่บริษัทรวมชัยบุรีปาล์มทอง จำกัด 1ใน 6 กลุ่ม บริษัทที่แยกออกมาจากบริษัทชัยบุรีปาล์มทอง ซึ่งครอบครองที่ดิน 1,755 ไร่เศษว่า มีประชาชนอยู่ในพื้นที่ 764 คนที่ต้องอยู่ด้วยความหวาดกลัวจากกลุ่มอิทธิพลเถื่อนที่มีอาวุธครบมือเข้ามาข่มขู่กำหนดให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ภายในเวลา 5 วัน โดยยังไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปดูแลให้มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน นอกจากนั้นในส่วนของแกนนำในพื้นที่ยังถูกตั้งค่าตัวและมีการข่มขู่ลูกเมียไม่ให้อยู่ในพื้นที่

“ชีวิตคนมันมีค่า นายกช่วยพิจารณาด้วย คนจนก็คนเหมือนกัน” นายสมศักดิ์ กล่าวเรียกร้องให้นายกเข้ามาดูแลปัญหาความเดือดร้อนในพื้นที่

นายสุรพล สงฆ์รักษ์ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ตัวแทนสหพันธ์เกษตรภาคใต้ กล่าวถึงการดำเนินงานในการแก้ปัญหาในพื้นที่ขณะนี้ว่า พื้นที่ซึ่งอยู่ในการดูแลของ ส.ป.ก.จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทาง ส.ป.ก.ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบรังวัดและมีหนังสือให้ผ่อนผันส่งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ทางผู้ว่าฯ ได้ทำหนังสือยอนกลับลงวันที่ 8 เมษายน 2552 ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการแก้ไขปัญหาของคณะกรรมการอำนวยการฯ ซึ่งตรงนี้แสดงให้เห็นว่าปัญหาและอุปสรรค์อยู่ที่ข้าราชการในระดับพื้นที่เอง

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 2 ม.ค.43 ทาง ส.ป.ก.ได้ฟ้องขับไล่บริษัทออกจากพื้นที่เนื่องจากครบ 15 ปีของสัญญาเช่า แต่อย่างที่ทราบกันคือกระบวนการยุตธรรมค่อนข้างล่าช้า ทั้งนี้ในวันที่ 4 มิ.ย.นี้จะมีการประชุมของคณะทำงานในส่วนที่ ส.ป.ก.ตั้งขึ้นมาเพื่อลงไปในพื้นที่เอง

อนึ่ง ในพื้นที่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงมาแล้วตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งมีคณะกรรมการที่มีองค์ประกอบจากทุกฝ่ายรวมถึงหน่วยงาน สปก.จากส่วนกลางและในพื้นที่ จ.สุราษฏร์ธานี ล่าสุดเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาได้ทำการรังวัดพื้นที่ด้วยระบบข้อมูลจากการ ตรวจสอบพิกัดดาวเทียม (GPS) และได้จัดสรรที่ดินให้เกษตรกรในพื้นที่ชุมชนประชาร่วมใจคนละครึ่งไร่สำหรับที่อยู่อาศัยก่อนในเบื้องต้น

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ เสนอเร่งประชุมคณะกรรมการอำนวยการฯ

นายสุรพล กล่าวถึงข้อเสนอต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี 3 ข้อ ว่า 1.ให้เร่งดำเนินการให้เกิดการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยภายในวันที่ 12 มิ.ย.52 เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคและเร่งรัดให้ดำเนินการตามมติที่ประชุมคณะกรรมการเมื่อวันที่ 11 มี.ค.52

2.ให้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้กำกับการตำรวจ จ.สุราษฎร์ กระบี่ และบุรีรัมย์ ให้ยุติการดำเนินการใดๆ ที่จะเป็นเหตุให้เกิดความรุนแรง และให้ปราบปรามมือปืน กองกำลังเถื่อนติดอาวุธสงคราม ไม่ให้ทำลายทรัพย์และชีวิตขอสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ และกำชับให้มีการดำเนินงานตามกรอบ นโยบายของคณะกรรมการอำนวยการฯ 3.ให้เร่งสั่งการไปยังส่วนราชการที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ จ.สุราษฎร์ธานี กระบี่ บุรีรัมย์ ตรัง และพัทลุง ให้ข้าราชการประจำปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาลและมติการประชุมวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา ตลอดจนถึงผลการประชุมของคณะอนุกรรมการทุกชุด ระหว่างรัฐบาลกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ

นอกจากนั้นยังได้เรียกร้อง และเชิญชวนไปยังสื่อสารมวลชนแขนงต่างๆ ลงพื้นที่เพื่อดูข้อเท็จจริง และนำเสนอข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณชนให้รับรู้ และเข้าใจสถานการณ์ปัญหาอย่างถูกต้องต่อไป

ทั้งนี้ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ประกอบด้วย เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด เครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ รวมทั้งประชนในกรณีปัญหาสหกรณ์การเช่าที่ดิน พิชัยภูเบนทร์ จ.อุตรดิตถ์ และกรณีปัญหาสหกรณ์การเช่าที่ดินคลองโยง จ.นครปฐม

ลำดับเหตุการณ์การแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ กับรัฐบาล

11 ก.พ.2552

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยเข้ายื่นหนังสือต่อรัฐบาล เพื่อให้เร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหา และจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อกำกับดูแล ติดตาม และเร่งรัดการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยและปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ โดยตัวแทนของเครือข่ายฯ ได้เข้าประชุมหารือกับนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

410 มี.ค.2552

ชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงถามความคืบหน้าจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมผลักดันให้เกิดแนวทาง ยุทธศาสตร์ และแผนงานที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินให้แก่เกษตรรายรายย่อย และกลุ่มคนไร้ที่ดินทำกินทั้งในระสั้นและระยะยาว

5 มี.ค.2552

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เดินทางมาพบกลุ่มเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ที่ชุมนุมบริเวณด้านข้างทำเนียบรัฐบาล ยืนยันรัฐบาลจะแก้ปัญหาที่ดินทำกินให้กับผู้ชุมนุม หลังจากในช่วงเช้าเครือข่ายฯ เดินเท้าจากทำเนียบรัฐบาลไปที่กระทรวงมหาดไทย เพื่อทักท้วงการประสานงานแก้ไขปัญหาคนจนไม่ถูกจุดของนายถาวร

9 มี.ค.2552

สำนักนายกรัฐมนตรีได้ทำหนังสือที่ 71/2552 ลงวันที่ แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย

11 มี.ค.2552

ประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยนัดแรกโดยมีนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมเป็นประธาน

24 มี.ค.2552

นายกรัฐมนตรีได้เซ็นหนังสือแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ รวม 6 คณะ

27 มี.ค. 2552

องค์กรชุมชนบ้านตระ ต.ปะเหลียน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายองค์กรชุมชนรักษ์เทือกเขาบรรทัด ถูกเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด จำนวนกว่า 50 คนพร้อมอาวุธ เข้าไปตัดฟันต้นยางของชาวบ้านในพื้นที่ โดยอ้างว่าเป็นการ แผ้วถางบุกรุกทำให้ชาวบ้านจำนวนกว่า 200 คนทั้งเด็กและคนแก่ทำการล้อมเจ้าหน้าที่ป่าไม้ทั้งหมดไว้ในพื้นที่กว่า 1 วัน 1 คืน เต็มๆ

9 พ.ค.2552

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและคณะ เดินทางตรวจเยี่ยมพื้นที่การจัดการทรัพยากรชุมชนอย่างยั่งยืน “กรณีโฉนดชุมชน” บ้านทับเขือ-ปลักหมู ต.ช่อง อ.นาโยง จ.ตรัง

19 พ.ค.2552

ชุมชนประชาร่วมใจ อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี ถูกชายฉกรรจ์พร้อมอาวุธปืนจำนวน 5-6 คน เข้าไปในพื้นที่ชุมชนประชาร่วมใจ ใช้อาวุธปืนลูกซองยิงข่มขู่และได้ทำการเผาบ้านพักชั่วคราวของชาวบ้านในชุมชนจำนวน 8 หลัง

21 ..2552

มีปฏิบัติการเช่นเดียวกันกับวันที่19 พ.ค.2552 โดยมีการเผาบ้านพักชั่วคราวของชาวบ้านในชุมชนประชาร่วมใจ อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี ไปอีก 11 หลัง

28 พ..2552

การแถลงข่าวกรณีพื้นที่สัญญาเช่า อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ในพื้นที่หมู 1 บ้านลำนางรอง ต.ลำนางลอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ในประเด็นยุทธการชิงแผ่นดินอำเภอโนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ใครเป็นใคร วิธีการที่หน่วยงานของรัฐระดับพื้นที่ไม่ดำเนินการตามนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภา และกระบวนการติดตามแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่และระดับนโยบาย

แถลงการณ์เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย

คืบหน้าหรือล้มเหลว ???

ผลการแก้ไขปัญหาระหว่างเครือข่ายปฏิรูปที่ดินกับรัฐบาล

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ประกอบด้วยเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด เครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ซึ่งมีภารกิจสำคัญในการปกป้องสิทธิและการเรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกิน รวมถึงการรณรงค์ผลักดันในระดับนโยบายให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินในสังคมไทย ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ2550 มาตรา85 รัฐต้องดำเนินการตามนโยบายด้านที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและใน (2) การกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและดำเนินการให้เกษตรมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิในที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมอย่างทั่วถึงโดยการปฏิรูปที่ดินหรือวิธีอื่นรวมทั้งจัดหาแหลงน้ำเพื่อเกษตรกรมีน้ำใช้อย่างพอเพียงและเหมาะสมแก่การเกษตร”

ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2551มีสาระสำคัญคือคุ้มครองและรักษาพื้นที่ที่เหมาะสมกับการทำเกษตรกรรมที่ได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านชลประทานแล้วเพื่อเป็นฐานการผลิตในระยะยาวฟื้นฟูคุณภาพดิน จัดหาที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรยากจนในรูปของธนาคารที่ดิน และเร่งรัดการออกเอกสารสิทธิให้แก่เกษตรกรยากจนและชุมชนที่ทำกินอยู่ในที่ดินของรัฐที่ไม่มีสภาพป่าแล้วในรูปของโฉนดชุมชน รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาการเกษตรในรูปของนิคมการเกษตร

คปท.ได้มีการชุมนุมในช่วงวันที่ 4 12 มีนาคม 2552 กระทั่งนำมาสู่การแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาของเครือข่าย โดยมีนายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) เป็นประธาน และดำเนินการประชุมครั้งแรกร่วมกันในวันที่ 11 มีนาคม 2552 นั้น ซึ่งผลการประชุมดังกล่าวได้มีมติเห็นชอบกรอบนโยบายการแก้ไขปัญหา โดยยึดปัญหาพื้นฐานของประชาชนและนโยบายรัฐบาลเป็นหลักสำคัญ พร้อมกันนี้ ได้ให้ความเห็นชอบการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน และการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหา ทั้งสิ้น 6 ชุด ตามประเภทปัญหาที่ดินของเครือข่าย ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาไปสู่การจัดการที่ดินในรูปแบบ โฉนดชุมชน และการจัดตั้ง ธนาคารที่ดิน ตามเจตนารมณ์ของนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภาก่อนเข้าบริหารประเทศ

ตลอดระยะเวลากว่า 2 เดือนที่ผ่านมา คปท. ได้ใช้กรอบนโยบาย และกลไกดังกล่าวข้างต้น เป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงาน ซึ่งในบางกรณีมีความคืบหน้าเป็นลำดับ แต่อย่างไรก็ตาม มีหลายกรณีที่เป็นไปในลักษณะที่ถอยหลังและไม่ให้ความสำคัญกับกรอบนโยบายที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายต่อที่ประชุม เช่น

กรณีคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาชุดป่าไม้ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายสุวิทย์ คุณกิตติ) เป็นประธาน ภายหลังการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2552 ยังไม่มีการดำเนินการตามมติที่ประชุมใดๆทั้งสิ้น อีกทั้งข้าราชการประจำบางส่วนยังคงยืนยันแนวทางการแก้ไขปัญหาตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิถุนายน 2541 เป็นหลัก โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับแนวทางนโยบายที่มีการตกลงร่วมกันแต่อย่างใด

กรณีมติที่ประชุมคณะอำนวยการให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานด้านคดีเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่ถูกคดีทั้งทางอาญาและทางแพ่ง จนถึงปัจจุบันไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการแต่งตั้งแต่อย่างใด แม้จะไม่มีการจับกุมและดำเนินคดีกับสมาชิกเครือข่ายเพิ่มเติม แต่กระบวนการพิจารณาทางศาลกลับคืบหน้าไปเรื่อยๆ และมีการใช้อำนาจศาลบังคับคดีกับชาวบ้านในการเรียกค่าเสียหายนับล้านบาทต่อราย

กรณีที่ผู้ว่าราชการ จ.สุราษฎร์ธานี นายประชา เตรัตน์ ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 8 เมษายน 2552 ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการแก้ไขปัญหาของคณะกรรมการอำนวยการ ที่สำคัญที่สุดคือ ขณะนี้ในพื้นที่ อ.ชัยบุรี จ.สุราษฏร์ธานีมีการข่มขู่ คุกคาม ยิงกราด และทำการเผาบ้านพักชั่วคราวจำนวน 19 หลังโดยชายฉกรรจ์ ส่งผล ให้สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ต้องย้ายพื้นที่ไปอาศัยกับชุมชนใกล้เคียง

อีกทั้งในพื้นที่ ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ซึ่งในอดีตเป็นพื้นที่สีแดงรัฐบาลมีนโยบายเปิดพื้นที่ป่าให้ชาวบ้านเข้าไปทำกินเมื่อปี2515-2516 แต่เมื่อพื้นที่สงบได้มีนโยบายให้ชาวบ้านอพยพออกจากพื้นที่ ซึ่งก็คือพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมที่ให้บริษัทเอกชนเช่าปลูกป่ายูคาลิปตัสต่อมาและในขณะนี้ได้หมดสัญญาเช่าแล้ว จึงมีสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสานพื้นที่ อ.โนนดินแดงซึ่งเป็นชาวบ้านกลุ่มเดิมที่เคยทำกินในพื้นที่นี้มาก่อน และได้มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกินมาอย่างต่อเนื่องจน อบต.ลำนางรองมีมติไม่ให้บริษัทต่อสัญญาเช่า และภายหลังจากหมดสัญญาเช่าเมื่อวันที่ 5 พ.ค.2552 สมาชิกเครือข่ายฯได้เข้าไปใช้ประโยชน์จำนวน 171 ครอบครัว อย่างไรก็ตามได้มีความพยายามให้ร้ายป้ายสีสมาชิกเครือข่ายว่าเป็นกลุ่มองค์กรเถื่อน พร้อมทั้งสร้างกระแสให้เกิดความเข้าใจผิดระหว่างชาวบ้านกลุ่มต่างๆในพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่การเผชิญหน้าในที่สุด อีกทั้งมีการสร้างกระแสข่าวว่าจะสนธิกำลังเข้าปราบปรามในเร็ววันนี้ หากใครไม่ต้องการถูกจับกุม ให้ออกจากพื้นที่โดยเร็ว

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า สถานการณ์ดังกล่าวข้างต้นขัดแย้งกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและนโยบายที่รัฐบาลชุดนี้ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา และหากปล่อยให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น ย่อมจะนำไปสู่ปัญหาความรุนแรงที่ยากแก้ไข และเจตนารมณ์การจัดการที่ดินตามแนวทางโฉนดชุมชน ก็จะประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ดังนั้น เพื่อให้กระบวนการทำงานร่วมระหว่างรัฐบาลกับเครือข่าย เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุเจตนารมณ์ร่วมกัน อีกทั้ง เพื่อให้เกิดการเผยแพร่ข้อเท็จจริงของปัญหาในพื้นที่ต่างๆ เป็นไปอย่างตรงไปตรงมา และสาธารณชนได้รับรู้ เข้าใจโดยทั่วกัน เครือข่ายจึงมีข้อเสนอ ดังนี้

1.ให้นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เร่งดำเนินการให้เกิดการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยภายในวันที่ 12 มิ.ย.2552 เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคและเร่งรัดให้ดำเนินการตามมติที่ประชุมคณะกรรมการเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2552

2.ให้นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สั่งการไปยังผู้ว่าราชการ ผู้กำกับการตำรวจจังหวัดสุราษฎร์ กระบี่ และบุรีรัมย์ ให้ยุติการดำเนินการใดๆที่จะเป็นเหตุให้เกิดความรุนแรง และให้ปราบปรามมือปืน กองกำลังเถื่อนติดอาวุธสงคราม มิให้ทำลายทรัพย์ชีวิตของประชาชนสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน และกำชับให้มีการดำเนินงานตามกรอบ นโยบายของคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาของ คปท.

3.ให้นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เร่งสั่งการไปยังส่วนราชการที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะจังหวัดสุราษฎร์ธานี กระบี่ บุรีรัมย์ ตรัง และพัทลุง ให้ข้าราชการประจำปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาลและมติการประชุมวันที่ 11 มี.ค.ตลอดจนถึงผลการประชุมของคณะอนุกรรมการทุกชุด ระหว่างรัฐบาลกับ คปท.

4.ขอเรียกร้อง และเชิญชวนสื่อสารมวลชนแขนงต่างๆ ลงพื้นที่เพื่อดูข้อเท็จจริง และนำเสนอข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณชนให้รับรู้ และเข้าใจสถานการณ์ปัญหาอย่างถูกต้องต่อไป

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ยังคงสนับสนุนและมีความคาดหวังอย่างยิ่งว่ากระบวนการแก้ไขปัญหาตามแนวทาง นโยบายที่ตกลงร่วมกันของคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย จะสามารถเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดิน และพัฒนาไปสู่การจัดการที่ดินในรูปแบบ โฉนดชุมชน ให้ปรากฏเป็นจริงขึ้นในสังคมไทย ต่อไป

สมานฉันท์

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

-นักข่าวพลเมืองรายงาน: ชาวบ้านพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน อ.ชัยบุรี ร้องเรียน ผบช.ภ.8 หลังโดนคุกคามหนัก

-นักข่าวพลเมือง: บ้านพักชุมชนประชาร่วมใจถูกเผา

-รายงาน : เมื่อผู้บุกเบิกกลายเป็นผู้บุกรุก ในสงครามชิงป่าดงใหญ่ที่อีสานใต้

-อีสานใต้ระอุ!! ศึก 3 เส้ารับรัฐบาลใหม่ รัฐต้องการป่า นายทุนต้องการยูคาฯ คนจนต้องการที่ทำกิน