ที่มา ประชาไท
กรกช เพียงใจ
ใครบางคนบอกว่า "ข้อเท็จจริง" (fact) นั้นแตกต่างจาก "ความจริง" (truth)
บันทึกนี้จึงอาจกล่าวอ้างได้เพียงว่า มันเป็นส่วนหนึ่งของข้อเท็จจริงอันมากมายมหาศาล
แต่ก็คือทั้งหมดที่ฉันเห็น สังเกต และรู้สึก ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง
มนุษย์ผู้ไม่ได้ไปอยู่ ณ จุดปะทะสำคัญใดๆ กับเขาเลย
หากใครคาดหวังเช่นนั้น ขออภัยล่วงหน้า ....
- - - - - - - - - - - -
วันที่ 13 เมษายน 2552
13 เม.ย. - เวลาประมาณ 4.00 น. ทหารได้เข้าสลายกลุ่มเสื้อแดงคนที่ปักหลักอยู่ที่สามเหลี่ยมดินแดง โดย น.พ.ชาตรี เจริญชีวกุล เลขาธิการศูนย์นเรนทร เปิดเผยถึงผู้ที่ได้รับบาดเจ็บกรณีการสลายม็อบบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงว่า มีผู้บาดเจ็บนำส่งโรงพยาบาลแล้วกว่า 60 คน ที่รพ.รามาฯจำนวน 23 คน รพ.ราชวิถี จำนวน 6 คน เนื่องมาจากถูกแก๊สน้ำตาและวัสดุของแข็ง จนถึงขณะนี้ยังไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนทหารที่ได้รับบาดเจ็บได้นำส่งโรงพยาบาลพระมงกุฏ พ.อ.สรรเสริฐ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก เปิดเผยถึงการสลายการชุมนุมว่า ประชาชนได้ร้องเรียนมาเป็นจำนวนมากบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ซึ่งทางทหารได้ประเมินสถานการณ์แล้วพบว่า กลุ่มผู้ชุมนุมมีประมาณ 300 คน จึงเข้าไปสลายการชุมนุม โดยก่อนการสลายนั้นได้ใช้เครื่องขยายเสียงประกาศให้ประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมให้สลายตัวไป ปรากฏว่าทางฝ่ายกลุ่มผู้ชุมนุมได้ใช้อาวุธปืนยิงลงมาจากทางด่วน ปาระเบิดเพลิงเข้าใส่ทหาร และได้ใช้รถเมล์พุ่งชนจนทหารได้รับบาดเจ็บไปกว่า 10 คน ทางทหารจึงได้ใช้อาวุธปืนยิง แต่ขอย้ำว่า เป็นการยิงขึ้นฟ้าเพื่อข่มขู่ นอกจากนี้ ยังใช้แก๊สน้ำตายิงใส่กลุ่มผู้ชุมนุม พร้อมกับใช้กำลังทหารเดินหน้าตะลุยไป ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมหลายคนระบุว่า ทหารได้บุกเข้ามาโดยไม่ได้แจ้งเตือน มีการใช้แก๊สน้ำตา และมีการใช้ปืนเอ็มสิบหกยิงขึ้นฟ้า รวมถึงใช้ปืนยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุมซึ่งมีอาวุธเพียงก้อนอิฐและไม้ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนปืนหลายราย แต่ยังมีผู้เห็นเหตุการณ์ที่ทหารเข้าลากผู้ชุมนุมที่ถูกกระสุนปืนขึ้นรถจีเอ็มซีด้วย โดยมีการเล่าเหตุการณ์ดังกล่าวนี้บนเวทีปราศรัยหน้าทำเนียบฯ ในช่วงสาย กลุ่มเสื้อแดงกลับมายังบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง และพยายามจะเข้าไปทวงศพคนเสื้อแดงที่พวกเขาคาดว่าเสียชีวิตแล้ว 2 คนที่รพ.ราชวิถี แต่แพทย์ระบุว่าอยู่ในห้องไอซียู ไม่ได้เสียชีวิต ส่วนที่บริเวณถนนศรีอยุธยา หน้าโรงพยาบาลสงฆ์ มีกลุ่มคนเสื้อแดงนำรถสิบล้อบรรทุกถังแก๊สขนาดใหญ่มาจอดทิ้งไว้ รวมถึงบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงด้วย ในช่วงเที่ยงทหารใช้อาวุธปืนยิงขึ้นฟ้าและใช้น้ำฉีดใส่ผู้ชุมนุม ขณะที่ผู้ชุมนุมปาระเบิดเพลิง และก้อนหินเข้าใส่ทำหน้าที่ทำให้มีการปะทะกัน และทหารสามารถเคลียร์พื้นที่ได้ในที่สุด ช่วงบ่ายเกิดเหตุปะทะกันระหว่างคนเสื้อแดงและประชาชนไม่ทราบฝ่ายที่ถนนเพชรบุรี ซอย 5 ซอย 7 ขณะที่ทหารได้เคลื่อนกำลังเข้าปิดล้อมบริเวณโดยรอบทำเนียบฯ ได้ในช่วงเย็น จากนั้นในช่วงค่ำเกิดเหตุปะทะกันอีกบริเวณชุมชนนางเลิ้ง จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน ความเคลื่อนไหวรอบนอก กลุ่มคนเสื้อแดงหลายจังหวัด เช่น เชียงใหม่ ลำพูน พะเยา โคราช อุดรฯ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ จันทบุรี พิษณุโลก ฯ ชุมนุมปิดถนนและล้อมศาลากลางจังหวัดทันที เพื่อกดดันให้รัฐบาลปล่อยตัวนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง หนึ่งในแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง ที่ถูกควบคุมตัวเพื่อดำเนินคดี และต่อต้านการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินในเขตกทม.และปริมณฑล |
เช้าวันที่ 13 เมษายน 2552
ราวตีห้ากว่า เสียงโทรศัพท์ดังขึ้นพร้อมคำบอกเล่าว่าเกิดการปะทะกันแล้วที่แยกดินแดง ฉันและเพื่อนคว้ากล้องออกเดินกลับไปยังเวทีหน้าทำเนียบฯ อีกครั้ง ขณะที่ฝนตกพรำๆ คราวนี้บรรดาการ์ดเริ่มล้อมรถแท็กซี่ที่เปิดคลื่นวิทยุของพวกเขาติดตามข่าวสาร ฉันเดินเลยไปถึงแยกนางเลิ้ง ที่นี่กลุ่มการ์ดเริ่มรวมตัวกันหนาแน่นทั้งหญิงและชาย ถือไม้กันเป็นอาวุธเพื่อกันทหารเข้ามา ระหว่างที่ถ่ายภาพบรรยากาศแถวนั้น มีชายคนหนึ่งเดินเข้ามาถามว่าถ่ายอะไรพร้อมบอกให้ลบรูปออก ท่าทีของเขาดูก้ำกึ่งระหว่างความสุภาพและการคุกคาม ฉันยอมลบภาพแต่โดยดี แต่เพื่อนกลับรู้สึกโมโหมากกับเรื่องนี้
"ทำไมแกไม่โกรธมั่งวะ เค้ามีสิทธิอะไรมาสั่ง"
"ก็ด่านเมื่อกี๊ถ่ายได้แล้ว ด่านนี้ถ่ายไม่ได้ก็ช่างมัน" ฉันตอบไปมั่วๆ ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมไม่โกรธ
จากนั้นมีรถกระบะคันหนึ่งที่ขนคนมาเต็มคัน พวกเขาบอกว่ามาจากแยกดินแดง และเริ่มเล่าเรื่องราวที่ทหารยิงเข้ามาในกลุ่มคนเสื้อแดงด่านหน้าซึ่งมีแต่ไม้และอิฐเป็นอาวุธ พร้อมทั้งยืนยันว่าต้องมีคนเสียชีวิตแน่นอน "มันบ้าไปแล้ว คนมือเปล่ากับเอ็มสิบหก" เสียงผู้หญิงคนที่มากับรถกระบะตะโกนขึ้นมา
บรรยากาศค่อยๆ เริ่มตึงเครียดขึ้น พอดีกับที่ฟ้าเริ่มสาง เสียงโทรศัพท์ดังขึ้นอีกครั้งพร้อมคำแนะนำว่าควรไปเฝ้าดูยังโรงพยาบาลใกล้ที่เกิดเหตุ ฉันจึงแยกกับเพื่อนแล้วนั่งมอเตอร์ไซด์มุ่งหน้าไปโรงพยาบาลรามาธิบดี มอเตอร์ไซด์รับจ้างคันนั้นเปิดเผยตัวว่าเป็นการ์ดด้วยเหมือนกัน
ฉันถามเขาว่าทำไมต้องเผายางรถยนต์และเศษไม้ด้วยตามแยกที่ผ่านมา
"เผากันทหาร" เขาว่า
"ทหารไม่ใช่ยุงนะพี่"
.... เขาหัวเราะและไม่ว่าอะไรต่อ
0000
ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ดูเหมือนฉันจะคาดการณ์ผิดที่กะจะพบกองทัพนักข่าวที่มาเฝ้ารอติดตามสถานการณ์คนเจ็บ ฉันน่าจะเป็นคนแรกที่มาถึง ยังไม่ทันได้เดินเข้าไปในตัวอาคาร ก็พบกับพยาบาลอาสา-รถของการ์ดเสื้อแดงที่จอดอยู่ พวกเขาจับกลุ่มคุยกันอยู่ เมื่อเข้าไปสอบถาม การ์ดคนหนึ่งหน้าตาตึงเครียด อีกคนหนึ่งตาแดงๆ เขายืนยันกับฉันว่าเห็นคนถูกยิงและถูกลากขึ้นรถทหารอย่างรวดเร็วอย่างน้อย 2 คน "เราพยายามจะเข้าไปแย่งศพ แต่เขายิงขู่ไว้ตลอด" มันเป็นเรื่องน่าตกใจและพาให้ต้องถามซ้ำ "เห็นกับตาจริงๆ หรือ" เขายังคงยืนยันหนักแน่นเช่นนั้น
อีกคนหนึ่งบอกว่าเขาลากคนถูกยิงมาได้คนหนึ่งและอุ้มไปไว้ข้างทาง จากนั้นก็มีรถกระบะคล้ายหน่วยกู้ภัยแต่ไม่รู้ว่าหน่วยไหนเป็นคนนำร่างนั้นไป
ฉันไม่รู้ว่ามันจริงเท็จแค่ไหน คนเหล่านั้นเสียชีวิตหรือไม่ แต่อย่างน้อยที่สุดพวกเขาคงถูกยิง และมันต้องเป็นจุดปะทะที่หนักหนา จึงเดินขึ้นไปยังห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลโดยหวังว่าจะเป็นแหล่งที่ให้ความกระจ่างเรื่องจำนวนและอาการผู้บาดเจ็บได้ดีที่สุด เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ออกมาต้อนรับและบอกให้รอด้านนอก มี รปภ.คอยกันอย่างเข้มงวดให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องนั่งรอบนม้านั่งด้านนอกอาคาร
สักพักจึงเห็นหมอเหวง โตจิราการ เดินออกมาจากด้านใน ฉันรีบวิ่งเข้าไปสอบถาม ได้ความว่าที่นี่มีคนเจ็บเกือบ 20 คน ส่วนใหญ่โดนกระสุน ขณะที่เดินคุยกันนั้นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเดินออกมาเพื่อพาหมอเหวงไปเยี่ยมคนเจ็บที่อาการค่อนข้างหนัก ขณะที่ฉันเฝ้ารอรายงานจากทางเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ และพยายามจะพบหมอซักคนเพื่อพูดคุยรายละเอียด
กระทั่งหมอเหวงเดินกลับมาอีกครั้งและบอกว่า ได้เข้าเยี่ยมอาการคนที่โดนกระสุนเจาะที่สะโพกและลำคอซึ่งอาการปลอดภัยแล้ว และทางนิติเวชของโรงพยาบาลเก็บหัวกระสุนไว้ได้จำนวนหนึ่งด้วย จากนั้นเขาจึงขอตัวเพื่อตระเวนไปยังโรงพยาบาลแห่งอื่นๆ
สักพัก ฉันก็ได้เจอคุณหมอท่านหนึ่ง เขาบอกว่าเดี๋ยวจะให้เจ้าหน้าที่พิมพ์รายละเอียดทั้งหมดแจกนักข่าวอีกที ซึ่งบัดนี้เริ่มมีนักข่าวทีวีบางช่อง และหนังสือพิมพ์อีกสองฉบับที่เข้ามายังโรงพยาบาล
เมื่อได้รับแถลงการณ์ ในนั้นระบุว่า "แถลงการณ์วันที่ 13 เมษายน จากการสลายการชุมนุมในช่วงเช้าวันที่ 13 เมษายน 2552 ปรากฏว่าได้มีผู้บาดเจ็บเข้มารับการรักษาตัวที่รพ.รามาธิบดี ตั้งแต่เวลา 05.00-6.10 น. จำนวน 24 ราย เป็นชาย 22 รายและหญิง 2 ราย โดยมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสและต้องรับไว้ใน รพ. 2 ราย จากบาดแผลที่ข้อเข่า 1 ราย และบาดแผลที่คอแขนและขาจากสะเก็ดระเบิด 1 ราย ที่เหลืออีก 22 ราย เป็นแผลเล็กน้อย ตามแขนขา 8 ราย และระคายเคืองตาและผิวหนังจากแก๊สน้ำตา 14 ราย จึงเรียนมาเพื่อทราบ"
ฉันอ่านแล้วทั้งงงทั้งโกรธ จึงโทรกลับไปถามย้ำกับหมอเหวงด้วยน้ำเสียงแข็งกระด้าง แต่หมอเหวงยังคงยืนยันหนักแน่นว่าได้เข้าไปเยี่ยมและเห็นกับตาตนเอง รวมทั้งยังยืนยันถึงหัวกระสุนที่โรงพยาบาลเก็บได้
ฉันสับสนพอสมควรและกลับไปถามหมอคนเดิมในโรงพยาบาลรามาอีกครั้ง ซึ่งหมอก็ยืนยันตามแถลงการณ์เช่นกัน ฉันจึงถามตรงๆ ว่าไม่มีคนได้รับบาดเจ็บจากกระสุนแน่หรือ และที่ว่าบาดแผลที่เข่านี้ใช่กระสุนหรือไม่ คุณหมอว่าเท่าที่สำรวจยังไม่พบคนโดนกระสุน แต่จะตรวจสอบให้อีกที อาจมีส่วนที่ยังไม่ได้ผ่า ..... ตอนนั้นเป็นเวลาเกือบ 8 โมงเช้า
00000
ฉันยังคงนั่งอยู่ที่นั่น แต่บรรดาการ์ดเสื้อแดงหายไปแล้ว ซักพักใหญ่มีผู้ชายเสื้อแดงเดินออกมาจากห้องฉุกเฉิน คราบเลือดเต็มกางเกงยีนส์ หน้าตาเขาซีดๆ แต่ก็เรียบนิ่งไร้อารมณ์ มีคนเรียกสามล้อให้เขานั่งไปพร้อมพยาบาลอาสาเพื่อให้ไปขึ้นเวทีที่ทำเนียบฯ เลือดเขาค่อยๆ หยดติ๋งๆ ย้อยมาถึงปลายกางเกงลงพื้นคอนกรีต เขาว่าเพิ่งผ่าเอาหัวกระสุนออก มองที่กางเกงเห็นรูเล็กๆ ใกล้เป้ากางเกง
ป้าคนหนึ่งบอกว่าเลือดยังไหลไม่หยุดควรกลับไปหาหมอ แต่เขาบอกว่าน่าจะเป็นเลือดค้างเก่า พร้อมกับถอดเข็มขัดเผื่อดูแผลที่อยู่ด้านใน "ผมยังไหว" เขาพูดเบาๆ สีหน้าเรียบนิ่ง ฉันค่อนข้างตกใจและเกรงใจไม่กล้าถามอะไรมาก เพราะเขาดูเจ็บแผล ยืนลำบาก จึงเพียงขอถ่ายรูปเร็วๆ ถามชื่อ "จิรัช" และสอบถามให้แน่ใจว่าเขาอยู่ที่แยกดินแดงซึ่งปะทะกับทหารตอนเช้ามืด จากนั้นเขาก็ขึ้นรถสามล้อออกไป
ระหว่างนั้นฉันเดินออกมาดูหน้าโรงพยาบาล พบว่ามีควันดำจากการเผายางรถยนต์โพยพุ่งขึ้นที่แยกตึกชัยใกล้โรงพยาบาล นางพยาบาลที่เพิ่งมาเข้าเวรตอนเช้าบ่นอุบถึงกลิ่นไหม้นี้ซึ่งทำให้เธอรู้สึกคลื่นเหียน ขณะที่คนทำความสะอาดเข้ามาคุยกับฉันและว่าเธอเชียร์คนเสื้อแดง เพราะทนไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมเรื่องสองมาตรฐานที่เห็นชัดขึ้นทุกวัน
0000
หลังจากนั้นไม่นาน มีน้าคนหนึ่งชื่อทองสุข กระหืดกระหอบเข้ามาถามหาลูกสาวที่นี่เพราะลูกสาวอยู่ที่แยกดินแดงตอนเช้ามืด และจนถึงบัดนี้ยังติดต่อไม่ได้ เจ้าหน้าที่รับเรื่องแล้วรีบเข้าไปตรวจสอบให้
ฉันยืนฟังอยู่ตรงนั้นและเห็นสีหน้าอันตึงเครียดของเธอ แววตาเธอดูแข็งๆ มองจ้องไปข้างหน้าตลอดเวลาเหมือนพยายามกดข่มอารมณ์ตื่นตระหนก โศกเศร้า ไว้ภายใต้ความแข็งแกร่ง ถึงอย่างนั้นเสียงสั่นเครือก็เล็ดรอดออกมาเป็นระยะอยู่ดี ฉันพยายามเข้าไปพูดคุยอยากให้เธอคลายเครียด ซึ่งเธอก็ยอมคุยด้วย
ลูกสาวของเธออายุ 16 ปี อาศัยอยู่กับเธอและสามีแถวดินแดง เธอและสามีออกมาชุมนุมที่ทำเนียบฯ หลายวันมาแล้วโดยทิ้งให้ลูกสาวอยู่บ้าน แต่เมื่อมีการปิดถนนของคนเสื้อแดงใกล้ๆ แถวนั้นทีไร ลูกสาวเธอและเด็กวัยรุ่นแถวนั้นจะออกมากันหมด บ้างมาดู บ้างมาช่วย
เธอเชื่อว่าลูกสาวเธอก็ออกมาด้วยในช่วงเช้ามืดนี้ หลังจากข่าวการปะทะแพร่กระจาย เธอเล่าว่าบนเวทีที่ทำเนียบฯ มีผู้อยู่ในเหตุการณ์ขึ้นไปเล่าเรื่องราวให้ผู้ชุมนุมฟัง ผู้หญิงคนหนึ่งเล่าทั้งสะอึกสะอื้นว่า เห็นคนโดนยิงแล้วลากขึ้นรถ หนึ่งในนั้นเป็นเด็กวัยรุ่นและน่าจะเป็นผู้หญิง
"ถ้ามันตายก็ทำใจแล้ว แต่ขอให้ได้เห็นศพมัน" ป้าพูดพลางพยายามกดหางเสียงที่เริ่มสั่นเครือ ฉันบอกให้เธอใจเย็นๆ โดยไม่กล้าแม้แต่จะพูดว่าลูกสาวป้าคงไม่เป็นไร
ถึงตอนนั้นฉันพร้อมจะละทิ้งภารกิจทั้งหมดเพื่ออยู่เป็นเพื่อนเธอจนกว่าจะได้พบลูก แม้เธอไม่ได้ร้องขอ เราหันไปพูดคุยกันเรื่องอาชีพการงานและการเข้าร่วมชุมนุม
เธอเล่าว่า เธอและสามีเป็นลูกจ้างของ กทม. มีหน้าที่ดูแลสวนสาธารณะแห่งหนึ่งย่านจตุจักร ทั้งคู่เป็นคนอีสานแต่ย้ายเข้ามาอยู่และทำงานในกรุงเทพฯ เกือบ 20 ปี เธอเข้าร่วมกับการชุมนุมของ นปช.มาพักใหญ่ เพราะเห็นว่าบ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่มีความเป็นธรรม และยังพูดถึงอำนาจอื่นๆ ที่มักเข้ามาแทรกแซงการเมืองด้วย
ฉันฟังเธอเพลินโดยไม่ทันได้ถามคำถามที่คนชั้นกลางส่วนใหญ่อยากรู้เกี่ยวกับทัศนะของคนจนที่มาชุมนุมต่อ "ทักษิณ ชินวัตร" อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าอะไรจะเป็นตัวผลักดัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือทั้งคู่มาชุมนุมหลังเลิกงานและอยู่จนดึกดื่น ก่อนจะกลับไปนอน 3-4 ชั่วโมง เพื่อจะตื่นไปทำงานใหม่ แล้วกลับมาชุมนุมต่อ เป็นอย่างนี้มาหลายวันจนกระทั่งถึงวันนี้
"เรามันคนจน ชีวิตก็ลำบากอยู่แล้วยังต้องมาลำบากกับเรื่องพวกนี้อีกก็เพราะมันทนไม่ไหว"
เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลออกมาบอกว่าไม่มีรายชื่อลูกเธออยู่ที่นี่ และให้ข้อมูลว่ายังมีคนเจ็บที่โรงพยาบาลอีก 2-3 แห่ง เธอตั้งใจจะตามไปดูทุกแห่ง แต่เจ้าหน้าที่ทักท้วงและอาสาจะประสานศูนย์นเรนทรเพื่อช่วยเช็ครายชื่อตามที่ต่างๆ ให้
เรายังคงนั่งอยู่ด้วยกัน คุยกันบ้าง นิ่งเงียบบ้าง ตอนนี้ตาฉันเริ่มจะปิด เพราะได้นอนราวสองชั่วโมง จึงขอตัวไปซื้อกาแฟด้านหลังโรงพยาบาล
เมื่อกลับมาอีกที สีหน้าของป้าทองสุขมีรอยยิ้มปรากฏ "เจอแล้ว มันโทรมาแล้ว" แล้วเธอก็เล่าว่าลูกสาวออกมาชุมนุมด้วยจริงๆ และวิ่งหนีกระสุนของทหารโดยมีคนแถวนั้นช่วยเหลือไว้ "มันบอกมันไม่กลัวอะไรแล้ว เค้ายิงอย่างหมูอย่างหมาเลยแม่"
เธอเตรียมตัวจะกลับไปชุมนุมต่อทันทีที่ทำเนียบฯ ก็พอดีที่มีญาติคนไข้ที่นั่งฟังเรื่องราวอยู่ข้างๆ เข้ามาพูดคุยกันอย่างออกรส ฉันจึงเป็นฝ่ายขอตัวกลับก่อน แล้วรถฉุกเฉินของมูลนิธิก็วิ่งเข้ามา ..อ้าว ! เขานั่นเอง "จิรัช" คนเดิม นอนอยู่บนเตียงและถูกเข็นเข้าห้องฉุกเฉินอีกแล้ว คงเพราะบาดแผลเขายังเลือดไหลไม่หยุด
ฉันอดอมยิ้มไม่ได้ เพราะใบหน้าเขายังคงนิ่ง เรียบเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นอยู่ดี
0000
เสร็จจากรามาธิบดีในช่วงสาย ก็คิดอยู่ว่าจะไปโรงพยาบาลอื่นๆ อีกดีหรือไม่ เพราะเริ่มไม่แน่ใจว่าจะได้ข้อมูลอะไรมากนัก พอดีมีโทรศัพท์เข้ามาแจ้งว่ามีผู้บาดเจ็บคนหนึ่งอยู่ที่โรงพยาบาลราชวิถี คราวนี้ได้ทั้งชื่อ นามสกุล
ที่ราชวิถี มีคนเสื้อแดง ซึ่งอาจมีทั้งญาติ และไม่ใช่ญาติ ยืนอออยู่หน้าห้องคนไข้เพื่อจะขอเข้าเยี่ยม แต่ป้ายหน้าห้องเขียนว่าเปิดให้เยี่ยม 12.00-17.00 น. และพยาบาลไม่อนุญาตให้ใครเข้า ทั้งหมดจึงทยอยกลับ บางส่วนแยกย้ายไปตามหาผู้ป่วยยังตึกอื่นอีก
ฉันยังคงเดินโต๋เต๋อยู่แถวนั้น กระทั่งเจอบุรุษพยาบาล จึงถามอีกครั้งเพื่อขอเข้าเยี่ยมคนเจ็บ เขาบอกว่าวันนี้ทางโรงพยาบาลมีคำสั่งงดเยี่ยมผู้ป่วยทั้งวันโดยเขาเองก็บอกไม่ได้ว่าเพราะเหตุใด
"แล้วกัน แล้วญาติจะเยี่ยมคนเจ็บยังไง อย่างนี้คนเจ็บก็จะไม่ได้เจอญาติกันเลยนะ" บุรุษพยาบาลหันรีหันขวาง พยายามเข้าไปถามพยาบาลเจ้าของห้องให้ กระทั่งฉันได้เข้าไปเยี่ยม "วีระชัย"
"แป๊บเดียวนะ" บุรุษพยาบาลย้ำ
วีระชัยนอนให้น้ำเกลืออยู่บนเตียงคนไข้ในห้องรวม ซึ่งมีเขาอยู่เพียงเตียงเดียว ฉันแนะนำตัวและพูดคุยกับเขา ซึ่งดูเพลียมาก เขาถูกกระสุนเข้าที่บริเวณเท้า เพิ่งผ่ากระสุนออกและมีผ้าพันแผลห่อไว้ เขาพยายามขอหัวกระสุนที่ผ่าออกมา แต่ไม่ได้รับอนุญาตจากแพทย์ เมื่อจะขอถ่ายรูปก็ไม่ได้รับอนุญาตเช่นกัน
เขาเล่าเหตุการณ์ให้ฟังคร่าวๆ ที่สามเหลี่ยมดินแดงด้วยว่ามีคนไปตั้งด่านสกัดทหารจำนวนร่วมสองร้อยคน แต่คนที่อยู่ด่านหน้าจริงๆ มีสิบยี่สิบคน ราวตีสามกว่าหรือตีสี่กว่า เขาไม่แน่ใจ ก็มีทหารประมาณหนึ่งกองร้อยเข้ามาในพื้นที่ และโดยไม่ได้มีการประกาศเตือน แจ้ง แถลงไขอะไรแต่อย่างใด เหล่าทหารยิงแก๊สน้ำตาหลายนัดมายังกลุ่มผู้ชุมนุม พวกเขาที่อยู่ด่านหน้าพยายามขว้างปาอิฐ หรืออะไรที่หาได้เพื่อตอบโต้ในระยะที่ประจันหน้ากันอยู่ห่างราว 50 เมตร จนกระทั่งมีการยิงปืนขึ้นฟ้า เขาว่าเห็นลูกไฟหลายลูกลอยขึ้นฟ้าติดต่อกัน
จากนั้นไม่นาน เริ่มมีการปะทะครั้งที่สอง ครั้งนี้เขาสังเกตเห็นว่า ทหารมีจำนวนมากขึ้นมาก ได้ยินเสียงทหารนายหนึ่งตะโกนทำนองว่า "ลุยเลย พวกนี้ไม่จงรักภักดี" ทหารจึงเคาะเกราะกันอย่างฮึกเหิม และเริ่มวิ่งเข้ามายังกลุ่มผู้ชุมนุม ปลายปืนบางส่วนไม่ได้เล็งขึ้นฟ้าแล้วแต่เล็งมายังคน ผู้ชุมนุมแตกกระเจิง มีเสียงปืนดังขึ้นโดยตลอด
เขาถูกกระสุนเข้าที่เท้า ขณะที่มีคนโดนที่เข่าและลำตัวด้วย ระหว่างนั้น คนที่เขาคาดว่าน่าจะเป็นคนขับรถข่าวช่อง 3 ช่วยพยุงเขามายังเพื่อนเพื่อส่งโรงพยาบาล
"ตอนนั้นผมเห็นฝั่งตรงข้าม มีทหารกำลังรุมกระทืบคนแก่ที่วิ่งไม่ทันด้วย" วีระชัยกล่าวและว่า เขาไม่เห็นนักข่าวทีวีแม้แต่ช่องเดียวในเวลานั้น
"ผมเคยผ่านประสบการณ์บ้านสี่เสาครั้งแรก เมื่อ 22 กรกฎา (2550) มันก็มีการปะทะกัน ก็นึกว่าจะไม่รุนแรง มีแต่แก๊สน้ำตากับสเปรย์พริกไทย ไม่นึกว่าเขาจะยิงประชาชน รู้เลยว่าประชิดเขาใกล้เกินไป แล้วเราก็มีแต่ก้อนอิฐ"
วีระชัย เป็นคนมุกดาหารโดยกำเนิด แต่มาประกอบอาชีพขายอาหารริมทางอยู่แถวสระบุรี เขาปิดร้านมาชุมนุมตั้งแต่ก่อนวันที่ 8 เม.ย. และอันที่จริงเขาเริ่มออกมาชุมนุมตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2549 นั่งรถเมล์ขึ้นลงสระบุรี -กรุงเทพฯ เป็นว่าเล่น
"ผมแค่อยากบอกว่า เราต้องการประชาธิปไตย แล้วเราก็จงรักภักดีต่อในหลวงด้วย เพราะเราเป็นคนไทย" วีระชัยกล่าว
นี่คือข้อมูลทั้งหมดเท่าที่ได้ ฉันหันรีหันขวางนิดหน่อยก่อนจะหยิบกล้องออกมาขออนุญาตถ่ายรูปเขาเร็วๆ ก่อนกลับ เพราะอยากให้เขาได้หลับเต็มตื่นสักที และเป็นการรักษาสัญญา "แป๊บเดียว" เท่าที่จะทำได้
พอออกมาหน้าห้องก็เจอกลุ่มป้าเสื้อแดงกลุ่มเดิมยืนออหน้าประตู พยาบาลยืนกรานไม่อนุญาตให้เข้าเยี่ยม ป้าคนหนึ่งจำฉันได้และชี้มือมา "ทำไมคนนั้นเข้าได้ เขาก็มาหาเสื้อแดง" ทุกคนหันมองเป็นตาเดียว แล้วการโต้เถียงวุ่นวายก็เกิดขึ้น ขณะที่ฉันรีบก้าวฉับๆ เผ่นออกมาอย่างรวดเร็วท่ามกลางความชุลมุน
ความเดิมตอนที่แล้ว
เสื้อแดงเดือนเมษา : ตอน1 - ผู้คน ดินฟ้าอากาศ และการ์ดผู้แข็งขันรอบทำเนียบฯ