ที่มา ประชาไท
เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 52 ที่ผ่านมา กลุ่มสมัชชาคนจน กว่า 2,000 คน ชุมนุมยึดสันเขื่อนราษีไศลอีกครั้ง หลังจากที่เดือนร้อนยาวนานกว่า 16 ปี 10 รัฐบาลแล้ว ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ลั่น!!จะไม่รออีกต่อไป เรียกร้องให้มีการเจรจาภายใน 3 วัน และจะชุมชนยืดเยื้อจนกว่ากรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จ
โดยกลุ่ม สมัชชาคนจน เขื่อนหัวนา – ราษีไศลซึ่งประกอบด้วยชาวบ้านจาก อ.กันทรารมย์, อ.อุทุมพรพิสัย, อ.ราษีไศล, อ.ศิลาลาด, อ.บึงบูรพ์, จ.ศรีสะเกษ, อ.โพนทราย จ.ร้อยเอ็ด และอ.ท่าตูม อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ ชุมนุมกันบริเวณสันเขื่อนราษีไศล อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ บรรยากาศการชุมนุมคึกคักเป็นพิเศษ แต่ละคนตระเตรียมข้าวสาร อาหารแห้ง อุปกรณ์ครัว เต็นท์ ที่หลับที่นอน พร้อมสำหรับการชุมนุมยืดเยื้อในครั้งนี้
นายทรรศนันทน์ เถาหมอ ผู้อำนวยการเขตชลประทานที่ 8 กล่าวว่า ในเบื้องต้นหลังทราบข่าวว่าชาวบ้านจะมาชุมนุมนั้น ตนและเจ้าหน้าที่ก็ได้ประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ต้อนรับผู้ชุมนุม โดยการตั้งเต็นท์ให้บริการน้ำดื่ม น้ำแข็ง ห้องสุขา รถเก็บขยะ และเอื้ออำนวยความสะดวกทุก ๆ ด้าน พร้อมกับได้จัดทำอาหารกลางวันและของหวานมาเลี้ยงสมทบแก่ผู้ชุมนุมด้วย
นางสำราญ สุรโคตร แกนนำชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนหัวนา กล่าวว่า จากมติครม. 28 กรกฎาคม 2543 ให้ยุติการดำเนินการใด ๆ จนกว่าจะศึกษาผลกระทบเสร็จ และให้มีการตรวจสอบทรัพย์สินราษฎรนั้น ที่ผ่านมาการตรวจสอบทรัพย์สินใช้เวลา 7 ปี แล้วแต่ก็ยังไม่เสร็จ เพราะกรมชลฯหน่วงเหนี่ยว ไม่อยากรับรองสิทธิ์ ล่าสุดมติการประชุม 29 มกราคม 2552 ถูกเจ้าหน้าที่กรมชลประทานบิดเบือน โดยแต่งตั้งคำสั่งแต่งตั้งกรรมการไม่ให้มีอำนาจรับรองการตรวจสอบทรัพย์สิน
นางสำราญ ยังกล่าวอีกว่า สถานการณ์ในพื้นที่ขณะนี้ มีขบวนการล่ารายชื่อชาวบ้านเพื่อเสนอล้มมติ ครม.25 กรกฎาคม 2543 ให้ปิดเขื่อนหัวนา โดยที่การศึกษาผลกระทบยังไม่เสร็จ การตรวจสอบทรัพย์สินก็ไม่เสร็จ ทางผู้ชุมนุมจึงเรียกร้องให้ยุติการกระทำนี้ทันที และต้องเร่งรัดให้มีการรับรองผลการตรวจสอบทรัพย์สินให้แล้วเสร็จด้วย
ด้านนางผา กองธรรม แกนนำชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมชลประทานพยายามป่วน แยกมวลชน เล่นแง่ ไม่ยอมทำงานถ่วงเวลามาตลอด เพราะ
การแก้ไขปัญหาที่เหลือได้หลักการที่ชัดเจนหมดแล้วให้ใช้มติ ครม. 1 กุมภาพันธ์ 2543 ในการพิสูจน์ที่ดินทำกินและจ่ายในราคาไร่ละ 32,000 บาท แต่ที่ผ่านมากลไกการแก้ปัญหา ซึ่งอยู่ในมือกรมชลประทาน กลับไม่ทำงาน นอกจากนั้นปัญหาอื่น ๆ ยังไม่มีความคืบหน้า เช่นกรณี นานอกอ่างและการศึกษาผลกระทบ
ซึ่งนางผา ยังย้ำอีกว่า ชาวราษีไศล จะชุมนุม เฝ้ากำกับการทำงานของกรมชลประทานและคณะกรรมการ จนเสร็จจึงจะกลับบ้าน เบื้องต้นชาวราษีไศลและหัวนาขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจในกระทรวงเกษตร กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งประชุมเจรจาตกลง ภายใน 3 วัน เพื่อกำจัดอุปสรรคในการแก้ปัญหาทุกอย่างที่เป็นอยู่ และเริ่มกระบวนการแก้ไขปัญหาทันที