ที่มา ไทยรัฐ
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ
รมว.คมนาคม หารือ รองนายกฯสุเทพ ยืนยันจะมีการบรรจุวาระเข้าที่ประชุม ครม.พรุ่งนี้ แต่ต้องหารือในรายละเอียดกับ นายกฯก่อน หากไม่นำเข้า ก็ต้องพิจารณาเหตุผลเหมาะสมหรือไม่ ...
วันนี้ (2 มิ.ย.) นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการหารือกับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการบรรจุโครงการเช่ารถเมล์ 4,000 คัน เข้าเป็นวาระที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 3 มิ.ย. ว่า ในวันที่ 3 มิ.ย.ว่า ภายหลังจากที่ได้ไปหารือกับนายสุเทพ แล้วสรุปสาระ ว่า จะมีการบรรจุ วาระดังกล่าวเข้าอยู่ในวาระพิจารณาอย่างแน่นอน แต่นายสุเทพ ได้แจ้งต่อว่า ก่อนที่จะพิจารณาในรายละเอียดว่าจะมีการอนุมัติ หรือไม่อนุมัติในโครงการนี้จะต้องมีการหารือในรายละเอียด กับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี อีกครั้งก่อน อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการนำเรื่องดังกล่าวเข้า ครม.จริง เหมือนกับที่หลายฝ่ายได้มีการคาดการณ์กัน ก็คงจะต้องมาดูในรายละเอียดเหตุผลก่อนว่า ทำไมถึงไม่เข้า หากสมเหตุสมผลตนก็มองว่าคงจะไม่มีปัญหาอะไร
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากไม่เข้า ครม.แล้ว จะส่งผลกระทบทางการเมือง โดยถอนตัวออกจากการร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายโสภณ กล่าวว่า จะถอนไปทำไม เพราะยังอยากเป็นรัฐบาลอยู่ และสีก็ยังทนได้ นายโสภณ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายที่ในขณะนี้โครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คันได้ เป็นเรื่องทางการเมืองไปแล้ว ซึ่งหาก ครม.อนุมัติโครงการนี้ คนที่คัดค้านก็มองว่าเป็นการตอบแทนบุญคุณพรรคภูมิใจไทย ซึ่งน่าเสียดายที่คนไม่ได้มองเนื้อหาของงานจริง ๆ ว่าเป็นผลดีต่อองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)
'เราไม่แคร์ว่าโครงการจะผ่านเพราะอะไร เพราะที่ผ่านมาเรายืนยันมาโดยตลอดว่าไม่ใช่เรื่องการเมือง และการปรับลดตัวเลขมูลค่าโครงการลงจากเดิม 67,992.20 ล้านบาท ล่าสุดเหลือ 64,853 ล้านบาทนั้น เป็นการปรับตามข้อเท็จจริงตามหนังสือของสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ที่ทำหนังสือยืนยันเรื่องอัตราดอกเบี้ยเอ็มแอล์อาร์ที่ 6.725% ไม่ได้บวก 3 เหมือนก่อนหน้านี้ ส่วนเมื่อเปิดประมูลแล้วจะมีผู้มาลงทุนหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่อง' นายโสภณ กล่าว
นายโสภณ กล่าวอีกว่า ในอนาคตจะไม่ให้สัมภาษณ์เรื่องรายละเอียดแล้ว แต่จะพูดเฉพาะเรื่องหลักการและนโยบายเท่านั้น ส่วนเรื่องรายละเอียดของโครงการนั้นจะให้ฝ่ายปฏิบัติ ซึ่งก็คือกรรมการ (บอร์ด) ขสมก. เป็นคนพูดเอง เพื่อไม่ให้คนอื่นมาว่าได้ว่าเอาข้อมูลของ ขสมก.ออกมาพูด และให้สัมภาษณ์ ส่วนเรื่องรายได้นั้น ในการศึกษาความเป็นไปได้ นั้นโครงการดังกล่าวจะสามารถสร้างรายได้ ๆ และหากแย่ที่สุดก็จะไม่ขาดทุนมากเหมือนอย่างปัจจุบันแน่นอน เพราะในอดีตเราต้องจ่ายค่าพนักงานเก็บตั๋วเฉลี่ยวันละ 1,000 บาท ต่อคนต่อวัน เพราะมีเปอร์เซ็นต์ ด้วยแต่หากใช้อี-ติกเก็ต ก็จะลดต้นทุนการเก็บตั๋วเหลือ 150 บาทต่อคันต่อวันเท่านั้น นอกจากนี้ จากการปรับปรุงเส้นทางนั้นก็จะเชิญชวนให้ผู้ใช้รถส่วนตัวมาใช้บริการมากขึ้นอย่างน้อย 10% ของผู้ที่ใช้รถส่วนตัวในปัจจุบันที่มีอยู่วันละ 6 ล้านคัน ขณะที่ได้มีการศึกษาอีกว่า ล่าสุดที่มีโครงการรถเมล์ฟรีนั้น พบว่าคนยังขึ้นรถร้อนและรถเย็นเฉลี่ยวันละ 250 คน ซึ่งโครงการก็มีความเป็นไปได้เรื่องรายได้แน่นอน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับตัวเลขประมาณการค่าเช่ารถเมล์ 4,000 คัน ล่าสุด หลังจากที่ สบน. ได้ทำหนังสือมาให้กระทรวงคมนาคมนั้น ได้มีการปรับลดมูลค่าโครงการใหม่จากเดิม 67,992.20 ล้านบาท เหลือ 64,853.20 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น ค่าเช่ารถ 1,885 บาทต่อคันต่อวัน ค่าซ่อมคงเดิมที่ 2,250 บาทต่อคันต่อวัน ค่าอี-ติกเก็ต จีพีเอส 139 บาทต่อคันต่อวัน ค่าประกันภัย 31 บาทต่อคันต่อวัน ค่าภาษี 8 บาทต่อคันต่อวัน และค่าใช้จ่ายบริหารจัดการ 129 บาทต่อคันต่อวัน ทำให้ค่าใช้จ่ายรวมต่อคันต่อวันอยู่ที่ 4,442 บาท