พรรคพันธมิตรฯ สรุป ใช้ชื่อ “พรรคการเมืองใหม่” ใช้สีเหลือง-เขียว มีกรรมการ 23 คน “สุริยะใส” เป็นเลขาธิการ สมศักดิ์ชี้พรรคจะส่งเสริมคนดีมาปกครองบ้านเมือง เน้นรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เผยรู้สึกได้ทำงานที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ “สนธิ” ลั่นไม่ยึดติดตำแหน่ง ย้ำพรรคเป็นเพียงเครื่องมือ พันธมิตรฯ สำคัญกว่า เตรียมแถลงนโยบายวันประชุมวิสามัญ
ภาพการแถลงข่าวของผู้ก่อตั้งพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ “พรรคการเมืองใหม่” เมื่อ 2 มิ.ย. 52 ที่ผ่านมา (ที่มาของภาพ: ASTVผู้จัดการออนไลน์)
ประชุมผู้ก่อตั้งพรรคพันธมิตรฯ แล้ว
เมื่อเวลา 10.30 น.วันนี้ (2 มิ.ย.) ที่บ้านพระอาทิตย์ มีการประชุมผู้ก่อตั้งพรรคการเมืองของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยมีแกนนำพันธมิตรฯ จากทุกภูมิภาค และแนวร่วมจากหลากหลายภาคส่วนเข้าร่วมประชุมจำนวน 20 คน โดยมีนายสมศักดิ์ โกศัยสุข แกนนำพันธมิตรฯ เป็นประธานการประชุม
สาระในการประชุมที่สำคัญ คือ การเลือกหัวหน้าพรรค และผู้ที่จะดำรงตำแหน่งในส่วนต่างๆ ของพรรค นโยบายของพรรค การกำหนดข้อบังคับของพรรค ซึ่งส่วนดังกล่าวจะเป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
สำหรับวาระแรกของการประชุม นายสมศักดิ์ได้ให้ผู้เข้าร่วมประชุมเสนอชื่อพรรคการเมือง โดยนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ ได้เสนอชื่อพรรค 3 ชื่อ ซึ่งได้มีการลงความเห็นจากประชาชนภาคส่วนต่างๆ ของพันธมิตรฯ มาแล้ว คือ 1.พรรคเทียนแห่งธรรม 2.พรรคพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 3.พรรคการเมืองใหม่
ไม่ใช้ชื่อ “พันธมิตรฯ” เกรงทับซ้อนภาคประชาชน
จากนั้นผู้เข้าร่วมประชุมได้อภิปรายถึงเหตุผลในส่วนที่เห็นด้วยและ ไม่เห็นด้วยอย่างกว้างขวางต่อชื่อพรรค เช่น พรรคเทียนแห่งธรรม และพรรคพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มีการจดทะเบียนไปก่อนแล้ว จึงอาจมีการซ้ำซ้อนขึ้นได้ อีกทั้งชื่อพรรคเทียนแห่งธรรมยังไม่ได้บอกนัยที่ชัดเจนมากนัก
ส่วนชื่อพรรคพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ส่วนหนึ่งเห็นว่าอาจไปทับซ้อนกับการเคลื่อนไหวของการเมืองภาคประชาชน และควรที่จะคงไว้ในส่วนของภาคประชาชนมากกว่า
สรุปใช้ “การเมืองใหม่” หวังเปลี่ยนการเมืองแบบเก่า
อย่างไรก็ดี ที่ประชุมได้ข้อสรุปอย่างเป็นเอกฉันท์ว่าจะใช้ชื่อ “พรรคการเมืองใหม่” โดยมีเหตุผลว่า ชื่อพรรคการเมืองใหม่ มีนัยที่แสดงถึงการต่อสู้ที่ต้องการจะให้เกิดการเมืองใหม่ ที่มีพลังบริสุทธิ์ และเป็นพลังที่ต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงการเมืองแบบเก่าไปสู่สิ่งที่ดีกว่า โดยจะใช้ชื่อตัวย่อภาษาไทย คือ ก.ม.ม. และใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า NEW POLITICS PARTY ชื่อย่อ N.P.S.P.
ส่วนวาระที่ 2 เป็นการลงมติในส่วนของที่ทำการพรรค ที่ประชุมได้มีมติว่าจะใช้บ้านของนายสมศักดิ์ โกศัยสุข เป็นที่ทำการพรรค โดยจะใช้อย่างไม่เป็นทางการไปก่อน ซึ่งขณะนี้ทางแกนนำพันธมิตรฯ ได้มีการไปสำรวจดูที่ทำการพรรคที่จะให้มีความเหมาะสมมากที่สุดอยู่ คาดว่าน่าจะอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร
ชู ‘สมศักดิ์ โกศัยสุข’ นั่งหัวหน้าพรรค
เบื้องต้นที่ประชุมผู้จัดตั้งพรรคมีการเสนอชื่อของหัวหน้าพรรคชั่วคราวแล้ว โดยนายสมศักดิ์ โกศัยสุข แกนนำพันธมิตรฯ ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค และนายสุริยะใส กตะศิลา เป็นเลขาธิการพรรคชั่วคราว
ต่อมาในเวลา 12.30 น. นายสมศักดิ์ โกศัยสุข หัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ พร้อมด้วยผู้จดทะเบียนจัดตั้งพรรครวม 21 คนได้ออกแถลงการณ์พร้อมกันว่าที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ตั้งชื่อ “พรรคการเมืองใหม่” (ก.ม.ม.) โดยจะเดินทางไปจดทะเบียนอย่างเป็นทางการในวันที่ 4 มิ.ย.เวลา 08.00 น. โดยตำแหน่งหัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรคในวันนี้ถือเป็นการชั่วคราว เพื่อรอจดทะเบียนอย่างเป็นทางการแล้วก็จะมีการประชุมคัดสรรหัวหน้าพรรครวม ทั้งกรรมการบริการพรรคอีกครั้งหนึ่ง
ใช้สีเหลือง เชิดชูกษัตริย์ และสีเขียวเพื่อการเมืองไร้มลพิษ
ส่วนสีประจำพรรคการเมืองใหม่ คือ สีเหลือง-เขียว สีเหลือง เพื่อเชิดชูสถาบันกษัตริย์ และประชาธิปไตย สีเขียวหมายถึงการเมืองต้องไร้ซึ่งมลพิษ ส่วนโลโก้พรรคอยู่ในช่วงนำกลับไปปรับปรุงซึ่งคงจะได้เห็นชัดเจนในวันที่ 4 มิ.ย.นี้
นายสมศักดิ์ตอบคำถามสื่อมวลชนถึงความคาดหวังในจำนวน ส.ส.ที่จะได้รับเลือกเข้าสู่สภาฯ ว่า เป็นเรื่องไกลตัวในขณะนี้ แต่ก็ไม่ได้คาดหวังว่าถึงจำนวนเก้าอี้เพราะการเมืองใหม่จะต้องเน้นที่คุณภาพ ไม่ได้เน้นที่ปริมาณ ส่วนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในภาคประชาชน ก็ยังคงมีความเคลื่อนไหวต่อไปเพื่อตรวจสอบพรรคการเมือง ไม่เว้นแม้แต่พรรคการเมืองใหม่ ในส่วนของ ส.ส.ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งก็ให้พี่น้องพันธมิตรฯเป็นผู้เสนอรายชื่อขึ้นมา โดยที่กรรมการบริหารพรรคจะไม่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องคัดสรรบุคคล
รายละเอียด สมศักดิ์ โกศัยสุข – สุริยะใส กตะศิลา แถลงตั้งพรรค “การเมืองใหม่” ที่มา: http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9520000061732 สมศักดิ์ โกศัยสุข: “วันนี้มีการประชุมเพื่อพิจารณาก่อตั้งพรรคการเมืองตามมติเมื่อวัน ที่ 25 พฤษภาคม ในการชุมนุมใหญ่ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่สนามกีฬามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ทั้งหมดวันนี้มาประชุมกัน 21 คน ที่ได้ลงชื่อในการประชุม และได้มีการประชุมกันแล้ว ได้มติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ว่า พรรคนี้ให้ตั้งชื่อว่า “พรรคการเมืองใหม่” วันนี้มีผู้หญิง 13 คน ผู้ชาย 8 คน ในการร่วมก่อการจัดตั้งพรรคการเมืองนี้ ซึ่งมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า New Politics Party ชื่อย่อภาษาไทย “ก.ม.ม.” ตัวย่อภาษาอังกฤษ “NPSP” ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เลือกหัวหน้าพรรค ผู้ก่อการ เป็นนายสมศักดิ์ โกศัยสุข คุณภินันท์ โชติรสเศรณี เป็นรองหัวหน้าพรรค คุณสมศักดิ์ อิสมันยี เป็นรองหัวหน้าพรรค คุณสุริยะใส กตะศิลา เป็นเลขาธิการพรรค คุณพิชิต ไชยมงคล เป็นรองเลขาธิการพรรค คุณลักขณา ดิษยะศริน เป็นเหรัญญิกพรรค คุณภาณุมาศ พรหมสูตร เป็นนายทะเบียนพรรค พล.ร.ท.ประทีป ชื่นอารมณ์ เป็นโฆษกพรรค คุณสุทธิ อัชฌาศัย เป็นกรรมการบริหารพรรค นอกจากนั้นที่เหลือก็เป็นกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด (รายชื่อตามเอกสาร) มีทุกภาคส่วน คุณฉัตร คุณคำ มีอ่อน คุณอาภารัตน์ ชาติชุติกำจร คุณนิตยา กุระคาน คุณชญาบุญ เพชรพรหม คุณจีรนันท์ อินทสุริวงศ์ คุณบรรจง นะแส คุณชญาดา ศริญญามาศ คุณวิลิศ เตชะไพบูลย์ คุณเสาวณีย์ รุ่งช่วง คุณพรชุลี คงขวัญ คุณเพลินพิศ ทองวน คุณเสน่ห์ หงส์ทอง ซึ่งในการที่จะดำเนินการไปจดทะเบียนอย่างเป็นทางการ จะเป็นวันพฤหัสฯ ที่ 4 มิถุนายน เวลา 08.00 น. ที่ กกต.แจ้งวัฒนะ” สุริยะใส กตะศิลา: “เพิ่มเติมท่านหัวหน้าพรรคนิดหนึ่ง วันนี้ถือว่าเป็นการดำเนินการตามระเบียบข้อบังคับและกฎหมายพรรคการเมือง ซึ่งกำหนดว่าต้องมีการประชุมกันอย่างเป็นทางการ และทั้ง 21 คนที่เข้าประชุมวันนี้ ได้ผ่านความเห็นชอบของ 5 แกนนำ ที่ใช้หลักการคัดเลือกโดยยึดโยงกับตัวแทนภาค ตัวแทนสาขาอาชีพ และกลุ่มองค์กรแนวร่วมที่ร่วมเคลื่อนไหวกับเรา แต่ทั้งหมดนี้ก็ถือเป็นตำแหน่งชั่วคราว หลังจากนี้ถ้า กกต.รับรองการจดทะเบียนแล้ว ทางพรรคก็จะมีการประชุมเพื่อคัดเลือกหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค ทุกตำแหน่งอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง ฉะนั้นวันนี้ถือว่าเป็นผู้ริเริ่มที่จะขอจดทะเบียนพรรคในวันที่ 4 มิถุนายน ส่วนสีของพรรค คือ “สีเหลืองกับสีเขียว” สีเหลือง คือ การเชิดชูระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรืออุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ส่วนสีเขียว คือ การเมืองสะอาด หรือการเมืองที่ไร้มลพิษ ซึ่งมีความหมายในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องทรัพยากร และความเป็นธรรมทางการเมือง ส่วนโลโก้ของพรรค เมื่อกี้เข้าที่ประชุมแล้วให้ไปปรับปรุง วันที่ 4 คงได้เห็นรายละเอียด โดยให้ไปปรับปรุงบางส่วน ในรายละเอียดบางตัว วันที่ 4 จะมีโลโก้ที่ชัดเจน สำหรับนโยบายพรรค วันนี้ก็เป็นหลักการกว้างๆ รวมทั้งระเบียบข้อบังคับ หากสื่อมวลชนสนใจให้ถามคุณสมศักดิ์ (หัวหน้าพรรค) ได้” 000 ช่วงถามตอบ ถาม - กรรมการบริหารพรรคทั้งหมด 21 คน แบ่งเป็นกรรมการพรรคธรรมดา… สุริยะใส - ตำแหน่งที่ระบุ 7 ตำแหน่ง หัวหน้า รองหัวหน้า 2 เลขาฯ 1 รองเลขาฯ 1 โฆษก 1 นายทะเบียน 1 และเหรัญญิก 1 ที่เหลือเป็นกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด สมศักดิ์ - นี่เป็นไปตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง 2550 สุริยะใส - โฆษก พล.ร.ท.ประทีป ชื่นอารมณ์ รองหัวหน้าก็ คุณภินันท์ โชติรสเศรณี พันธมิตรฯ จากภาคตะวันตก อีกคนหนึ่งรู้จักกันในนามพี่อ๊อด คีตาญชลี จริงๆ ก็คือ คุณสมศักดิ์ อิสมันยี อ.ลักขณา เป็นเหรัญญิกพรรค ฝ่ายทะเบียนพรรค คุณภาณุมาศ พรหมสูตร ที่เหลือก็จะเป็นกรรมการบริหารพรรค ซึ่งมีทั้งตัวแทนภาคแรงงาน เช่น คุณเสน่ห์ หงษ์ทอง ภาคเกษตรมีคุณวิลิต เตชะไพบูลย์ ที่เหลือก็จะเป็นตัวแทนภาคต่างๆ ทั้งหมดนี้ในเบื้องต้นก่อน นี่เป็นเพียงคณะผู้ริเริ่ม ถ้าพรรคได้รับการรับรองเป็นทางการ ก็จะมีการประชุมกันอย่างเป็นทางการเพื่อคัดเลือกหัวหน้าพรรค และตำแหน่งบริหารในส่วนอื่นๆ ด้วยในภายหลัง ถาม - หลังจากนี้จะมีการทาบทามคนที่มีชื่อเสียง รวมถึง ส.ส.ประชาธิปัตย์ สมศักดิ์ - ไม่มีครับ เพราะว่าในเรื่อง ส.ส.เราได้คุยกันมาก่อนแล้วว่า ประชาชนในพื้นที่จะต้องเป็นผู้เสนอว่าเขาควรจะเอาใครลงไป นั่นเป็นเรื่องในอนาคต แต่หลักการแล้วข้างบนนี้จะไม่ได้ตัดสินใจเพียงลำพัง ยกตัวอย่างเช่น สมมุติ จ.ระยอง พี่น้องชาวระยองก็ต้องเสนอมาว่าใครบ้างที่ควรจะลงไปแข่งขันในนามพรรคการ เมืองใหม่ ถาม - ดูรายชื่อกรรมการบริหารพรรค แม้จะเป็นอย่างไม่เป็นทางการตอนนี้ แต่จริงๆ แล้วยังไม่เป็นที่รู้จักเท่าที่ควร สมศักดิ์ - ก็เป็นผู้ก่อตั้ง ก็คิดว่าไม่จำเป็น เพราะเราแค่ผู้ก่อตั้งก็น่าจะมีคนรู้จักพอสมควรแล้ว หัวหน้าพรรคคิดว่าคนรู้จักเยอะแล้ว เลขาธิการพรรคก็รู้จักกันเยอะ และคีตาญชลีคนรู้จักกันทั่วประเทศแล้ว ถาม – ที่ทำการพรรคใช้ที่บ้านพระอาทิตย์ไหม สมศักดิ์ - ที่ทำการพรรคใช้ที่บ้านเลขที่ 93/360 หมู่ที่ 5 ต.อนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. ไม่ได้ใช้ที่นี่ สุริยะใส - ชั่วคราวไปก่อน สถานที่คงจะมีความชัดเจนภายในเดือนนี้ อยู่ระหว่างการหาอยู่ ดูไว้หลายที่ คงจะมีความชัดเจนเร็วๆ นี้ แต่ไม่ได้ใช้ที่นี่ ถาม - มีการพูดถึงจุดหมายของพันธมิตรฯ ไหมว่าจุดหมายของพันธมิตรฯ คืออะไร จุดหมายของพรรคการเมืองใหม่ สมศักดิ์ - ผมคิดว่าเราไม่ใช้ร้านขายของนะ แต่เป็นลักษณะนำเสนอให้ประชาชนเขาเห็นว่าการเมืองใหม่มายังไง จุดของเราก็คือว่า เราส่งเสริมให้คนดีที่มีประวัติศาสตร์ตรวจสอบได้มาเป็นผู้ปกครองเรา เพราะว่าบ้านเมืองทุกวันนี้มันมีปัญหาเรื่องการคอร์รัปชั่น จุดขายของเราก็คือว่า ผู้ที่เข้ามาทำงานตรงนี้จะต้องมีประวัติศาสตร์ นอกจากจะไม่คอร์รัปชั่นแล้ว จะต้องเป็นคนที่เกลียดคอร์รัปชั่น และต่อต้านการคอร์รัปชั่น และจะต้องมีการเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และรักษาชาติ ศาสนา และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นอกจากนั้น เราก็จะให้พี่น้องประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางตรงให้มากในการตรวจสอบการ ตัดสินใจในการดำเนินการในด้านปัญหาเศรษฐกิจ ในด้านสิ่งแวดล้อม อะไรก็ตามที่กระทบกับประชาชน คือให้เป็นไปตามเจตจำนงในการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างจริงจัง และที่สำคัญก็คือ จะต้องทำให้ประชาชนทั้งประเทศได้รับองค์ความรู้ด้านข้อมูลข่าวสารได้อย่าง ทั่วถึง เท่าเทียม เสมอภาค รวมทั้งการกระจายรายได้และผลประโยชน์ที่เป็นทรัพยากร และที่ผลิตได้ ให้กับสังคมอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม นี่คือเป้าหมาย ทิศทางที่จะนำให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการเมืองใหม่อย่างไร ไม่ใช่แบบเก่าๆ อย่างแน่นอน ฉะนั้นอยากให้ประชาชนได้เปรียบเทียบได้ว่าจุดยืนของเราเรื่องการทุจริต การคอร์รัปชั่น เราจะต้องจัดการอย่างเด็ดขาด และให้คนยอมรับเคารพตามกฎหมาย ถาม - เป็นห่วงเรื่องคดีเกี่ยวกับกรณีที่พันธมิตรฯ มีคดีฟ้องร้องอยู่ ในส่วนนี้หากมีการยื่นไปแล้วในเรื่องเกี่ยวกับคดีได้มีการปรึกษากับฝ่าย กฎหมายหรือยัง ว่าเป็นอย่างไร สมศักดิ์ - ได้ปรึกษาแล้ว เพราะว่าคดีมันอยู่แค่การกล่าวหา อยู่ในกระบวนการของศาล ตามรัฐธรรมนูญก็คือว่าผู้ถูกกล่าวหาเหล่านี้เป็นผู้บริสุทธิ์ มันไม่มีผลอะไร อย่าลืมนะครับว่ากรรมการชุดนี้คือชุดก่อการที่จะไปจดทะเบียน หลังจากที่ กกต.รับรองว่าตรวจสอบเอกสารถูกต้องแล้ว ก็จะต้องมาเลือกตั้งใหม่ ภายใน 60 วัน ตามกฎหมาย ตามข้อบังคับของพรรค ถาม – กรณีของคุณสนธิ สมศักดิ์ - คุณสนธิไม่ได้เป็นผู้ก่อการอะไรเลยตอนนี้ นี่เป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากันในชุดที่ 2 ว่าจะลงมาสมัครเป็นกรรมการบริหารหรือไม่ อย่างไร และเท่าที่ตรวจสอบทางข้อกฎหมายก็ไม่ได้มีผลอะไร วันนี้เอาเฉพาะ 21 คนมาตรงนี้ก่อนว่ามีคุณสมบัติถูกต้องหรือไม่ ก็ต้องให้ กกต.เป็นผู้ตรวจสอบ แต่ทุกคนก็เชื่อว่ามีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญถูกต้อง ถาม – มีอะไรหนักใจไหมกับการที่สังคมมองมายังพรรคพันธมิตรฯ สมศักดิ์ - ไม่หนักใจ ไม่มีอะไรหนักใจ มีแต่รู้สึกว่าการทำงานนี้จะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติ เพราะว่าที่ผ่านมาก็หนักพอสมควรแล้ว ต่อไปคิดว่าไม่มีอะไรหนักเลย สำหรับคนที่จะทำงานเพื่อบ้านเมือง ถาม - ที่ไม่เลือกคุณสนธิเป็นหัวหน้าพรรค เป็นเพราะติดคดีความต่างๆ หรือเปล่า สมศักดิ์ - ไม่เกี่ยวครับ นี่เป็นผู้ก่อการ อย่างที่เรียนแล้วว่าหลังจากก่อการแล้วก็จะมีการเลือกตั้งกันอีกครั้งหนึ่ง กระบวนการคัดสรรต่างๆ ก็จะมาอีกครั้งหนึ่ง ถาม - กระบวนการเลือกคนที่มาเป็นผู้สมัครของพรรคพันธมิตรฯ ดูแล้วจะปิดทาง ส.ส.หน้าเดิมไหม สมศักดิ์ - ก็ยังต้องพิจารณาหลักใหญ่ ถ้าประชาชนในพื้นที่เสนอมา ก็คิดว่านั่นคือสาระสำคัญในการพิจารณาคุณสมบัติ นอกจากนั้นต้องเป็นผู้ที่มีประวัติที่ไม่เคยกระทำการใดๆ ไปในทางที่เป็นหุ้นส่วนกับพวกเผด็จการ หรืออะไรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือการโกง การทุจริตคอร์รัปชั่น แต่เราเน้นใหม่ๆ แต่อย่างไรก็ตาม หลักใหญ่ก็ต้องฟังเสียงประชาชนที่เสนอมา เพราะนี่คือการเมืองใหม่ ถาม - ถ้าไม่เลือกคนที่มีชื่อเสียงมา จะเป็นอุปสรรคไหม สมศักดิ์ - คิดว่าไม่น่าจะเป็นอุปสรรค เพราะถ้าเราคิดว่าเอาเงินเป็นใหญ่ ก็แบบเดิม ก็ไม่ต้องมีพรรค เราก็สนับสนุนพรรคใดก็ได้ ถ้าคิดว่าเพื่อเอาตัวเลขมานั่งนับกัน เพราะฉะนั้นการเมืองใหม่ต้องคิดถึงเรื่องประโยชน์ของสังคมเป็นหลัก เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ น่าจะมีกติกากฎเกณฑ์ใหม่ๆ เกิดขึ้น น่าจะทำสัญญายกเลิกกันได้แล้วว่าการซื้อเสียงทำให้ประเทศชาติเสียหายอย่างไร ผลสะท้อนเหล่านี้จะต้องกลับไปสู่ประชาชนภาคส่วนต่างๆ ได้ช่วยกันครุ่นคิดว่าประเทศชาติเรามาถึงวันนี้เราควรจะดำเนินการอย่างไรให้ การเมืองเป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่มีเงินแล้วไปซื้อเสียงกันมา นี่คือสิ่งที่เราต้องการจะให้มีการเปลี่ยนแปลงด้วย ถาม - ที่ผ่านมาพรรคการเมืองอื่นมีการกล่าวหาว่า มีการซื้อเสียงเข้ามา พันธมิตรฯ ตั้งพรรคมาแล้วสามารถที่จะ (เสียงไม่ชัดเจน) สมศักดิ์ - มันเป็นเรื่องในอนาคต เพราะตอนนี้มันยังไม่ได้จดทะเบียนเลย ก็ค่อยว่ากันไป แต่อย่างไรก็ตาม หลักการใหญ่ก็คือว่า จะไปร่วมมือกับใครหรือไม่ อย่างไรนั้น เราต้องดำเนินการตามนโยบายที่สำคัญของเราได้ ไม่ใช่ไปร่วมเพื่อให้ได้ประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าอย่างนั้นคิดว่าคงไม่ทำแน่นอน ถาม - ในเบื้องต้นได้มีการคุยกันไหมว่าความคาดหวังจะได้ ส.ส.กี่ที่นั่งในอนาคต สมศักดิ์ - ไม่ได้คุยครับ เพราะถ้าคิดแบบนั้นก็คิดแบบการขาย การซื้อ การเอาชัยชนะกันด้วยตัวเลข แต่เป้าหมายคือเราต้องการสร้างคุณภาพ การเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพต้องมาก่อนการเปลี่ยนแปลงในเชิงปริมาณ ถาม – ได้คุยกับคุณสมเกียรติไหมว่าจะย้ายมาอยู่กับพรรคใหม่ไหม สมศักดิ์ - ก็ไปถามคุณสมเกียรติ ยังไม่ได้คุยกันชัดเจน แต่ก็เชื่อว่าเมื่อเป็นที่เรียบร้อย คุณสมเกียรติก็คงตัดสินใจได้ ถ้าไปพูดแทนเขาเดี๋ยวไม่ตรงกัน เดี๋ยวมาก็ลองถามดู ถาม – สาขาพรรคจะมีการกระจายอย่างไร สมศักดิ์ - ตามกฎหมายเบื้องต้นก็ต้อง 4 ภาค แต่คิดว่าพันธมิตรฯ มีเครือข่ายเยอะ ก็เมื่อพี่น้องในพื้นที่เขาพร้อม ก็ต้องไปตามจุดตามสภาพและความเป็นจริง ที่ไหนพร้อมที่นั่นก็ไป เพราะไปแล้วก็ต้องมั่นคง แต่ตามกฎหมายก็เชื่อว่าทำได้อยู่แล้ว เพราะเรามีพี่น้องจำนวนมากที่เข้าร่วมในขบวนการนี้ ถาม – มั่นใจฐานเสียงภาคไหนมากที่สุด สมศักดิ์ - ยังไม่ได้คิดไปถึงประเด็นนั้น คิดว่า ตอนนี้ถ้าจะพูดไปมันก็ยังไม่ถึง เพราะเวลามันยังอีกนาน การเปลี่ยนแปลง ตัวแปรต่างๆ มันเกิดขึ้น เอาเป็นว่าขณะนี้ขอให้ดำเนินการกิจกรรมเป็นขั้นเป็นตอนไปก่อน แล้วค่อยมาพูดกันว่า ให้ถึงเวลาที่จะลงเลือกตั้ง ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร ดี-ไม่ดีหลังจากแถลงข่าวแล้วเขาทำอะไรกันไม่รู้ มันไม่แน่ เพราะรู้สึกว่ามีเรื่องมะรุมมะตุ้มกันอยู่เหมือนกัน ถาม – ในส่วนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน สมศักดิ์ - ก็ยังมีตามเดิมครับ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ยังดำรงการเคลื่อนไหวอยู่แบบเดิม คือภาคประชาชนก็มีของเขา ส่วนภาคที่มาเป็นพรรคการเมืองในระบบรัฐสภาก็มี มันก็เป็นธรรมชาติอยู่แล้ว ไม่ได้มีอย่างใดอย่างหนึ่ง ถาม - ความเคลื่อนไหวภาคประชาชนร่วมไปกับการจัดตั้งพรรคการเมือง อาจจะถูกข้อกล่าวหาเรื่องแสวงหาอำนาจ สมศักดิ์ - อยู่ที่การปฏิบัติ เวลาการตรวจสอบ ซึ่งแน่นอนว่าเราจะต้องมีการตรวจสอบกันอย่างเต็มที่ ส่วนที่เป็นภาคประชาชนเดี๋ยวเขาคงตรวจสอบเต็มที่ ที่คุยกันก็ถือว่าภาคประชาชนจะเข้มแข็งนั้น จะต้องไม่ประนีประนอมกับผลประโยชน์กับนักการเมืองในระบบรัฐสภา ในเมื่อเขาทำอะไรไม่ถูกต้อง นี่คือสิ่งใหม่ๆ ที่จะได้เกิดขึ้น การวิตกกังวล การห่วงใยทุกประเด็น เป็นสิ่งที่ดี ซึ่งเราจะได้นำมาพิจารณา และเป้าหมายก็ต้องการที่จะให้แก้ปัญหาต่างๆ ไปด้วยดีในข้อวิตกกังวลทั้งหลาย ถาม - การใช้สื่อโทรทัศน์ ASTV ได้พิจารณาว่าจะมีผลกระทบในทางกฎหมายหรือเปล่า สมศักดิ์ - คิดว่าคงคนละส่วนกัน คงจะไม่เกี่ยวข้องกัน สื่อก็ว่าไปเรื่องของสื่อ อิสรภาพของสื่อก็ว่าไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ คงจะไม่ไปเกี่ยวข้องกัน แต่สื่อก็มีอิสระในการที่จะเสนออะไรเป็นความจริง อะไรไม่จริง ซึ่งการเมืองก็ต้องเดินไปตามกฎเกณฑ์การเมือง คงไม่ได้เป็นส่วนเกี่ยวข้องกันอย่างแน่นอน ถาม - คิดว่าจะสร้างพรรคให้เป็นพรรคเฉพาะกิจ หรือความเป็นสถาบันในอนาคตไหม สมศักดิ์ - โดยหลักแล้วเมื่อก่อกำเนิดพรรคขึ้นมา กับปัญหาประเทศ ปัญหาการเมืองที่มีอยู่ ก็ต้องการจะให้เป็นพรรคที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องอยู่รอด ไม่ได้เกิดเพื่อตาย แน่นอนครับต้องการพัฒนาไปสู่ความมั่นคงในอนาคต ส่วนจะทำได้อย่างไรแค่ไหนก็ต้องพิสูจน์กัน ถาม - ตรงนี้ต้องอาศัยปัจจัยในส่วนของตำแหน่ง ส.ส.หรือเปล่า ถ้าหากได้ ส.ส.ไม่เป็นไปตามเป้าก็ต้องยุบพรรคไป สมศักดิ์ - อะไรที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย เราก็ต้องทำให้ได้ ถ้ามันผ่านสิ่งตรงนั้นไม่ได้ ก็ถือว่าไปไม่ได้ แต่ในขณะนี้ก็ต้องมีความมั่นใจว่าจะต้องทำได้ตามกรอบกฎเกณฑ์ของกฎหมาย จะใหญ่ จะเล็ก ไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะสิ่งเหล่านี้เราไปพูดแทนประชาชนไม่ได้ ถ้าประชาชนสนับสนุนมากก็ไปได้ ถ้าสนับสนุนไม่มากก็ไปไม่ได้ ก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของบุคลากรที่เข้ามาทำงานด้านการเมืองเป็นสำคัญ ถ้าทำได้ตามที่พูดมันก็ไปได้ ทำไม่ได้มันก็ไปไม่ได้ นี่ต้องถูกพิสูจน์ ถาม – ไม่ว่าจะได้สักกี่ที่นั่งก็ตาม สมศักดิ์ - มันไม่จำเป็นว่าจะต้องได้กี่ที่นั่ง ประธานาธิบดีลินคอล์นลงเลือกตั้งถึง 11 ครั้ง กว่าจะได้เป็น ครั้งแรกไม่ได้สักคะแนนเดียว มันไม่มีอะไรที่เกิดถึงและใหญ่โตเกินไป ผมว่ามันก็เป็นไปตามสภาพความเป็นจริงของสังคม แต่ว่าพวกเรานั้นตั้งใจที่จะทำงานไปจนถึงที่สุด เพื่อทำให้การเมืองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาชน อย่างน้อยก็มีตัวเลือกเพิ่มขึ้น จากของที่มีอยู่แล้ว เมื่อมีสิ่งใหม่เกิดขึ้น ก็เปิดช่องให้ประชาชนได้มีสิทธิ์ได้เลือกสิ่งใหม่ๆ จะเลือกหรือไม่เลือกนั่นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เป็นข้อเสนอใหม่ให้ประชาชนได้พิจารณา ถาม - การวางระบบ ให้แกนนำเห็นชอบตัวหัวหน้าพรรคอีกครั้งหนึ่งหรือเปล่า สมศักดิ์ - ไม่ เพราะว่านี่มาจากรากฐานของประชาชน จะเห็นได้ว่าแม้จะตั้งหรือไม่ตั้ง ก็เป็นกระบวนการแรกของประเทศนี้เสียด้วยซ้ำไป ว่าวันที่ 25 ยังต้องเชิญพี่น้องประชาชนมาเป็นจำนวนมากว่าจะตั้งหรือไม่ตั้ง ถาม - การตรวจสอบพรรคตัวเองจะตรวจสอบอย่างไร ที่บอกว่าจะมีการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนควบคู่ไปด้วย สมศักดิ์ - ก็ต้องวางกลไก กฎเกณฑ์ ให้โปร่งใส แม้แต่กรรมการแต่ละคน ประชาชนที่เป็นสมาชิกก็มีสิทธิ์ อยู่ในข้อบังคับในการที่จะตรวจสอบ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ซึ่งเราได้เรียนรู้จากการเมืองเก่าๆ มาแล้ว ก็เชื่อว่าคงจะไม่ทำอะไรเก่าๆ ที่ทำไปแล้วประชาชนไม่เห็นด้วย ถาม - ที่ผ่านมา 5 แกนนำเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนภาคประชาชน แล้วตอนนี้มีพรรคการเมือง ถ้าแยกออกจากกัน จะไปครอบ ... สมศักดิ์ - คงไม่ครอบ เพราะที่ผ่านมาเวลาเคลื่อนไหวอะไรก็ถามประชาชน ขึ้นอยู่กับว่ากระบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน กับการเคลื่อนไหวทางการเมือง มันมีกฎหมายมีอะไรคอยตรวจสอบอย่างละเอียดมากขึ้น จะเห็นได้ว่าพรรคการเมืองเก่าๆ ที่ติดกับดักเยอะแยะ ทั้งที่กฎหมายฉบับนี้ยังใช้ไม่ได้อย่างเต็มที่ เราคิดว่ากฎหมายพรรคการเมืองปี 2550 เข้มงวดพอสมควร ขณะที่บอกว่าหัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรค รู้เห็นเป็นใจ ก็ต้องยุบพรรค ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้เราต้องทำ สิ่งที่ต้องการคือให้เห็นเป็นของใหม่ มากกว่าที่จะไปบอกว่าจะไปเอาชนะคนโน้นคนนี้ ส่วนผลจะออกอย่างไรนั้นก็เป็นเรื่องของประชาชนที่จะต้องตัดสิน ถาม – เงินในการทำพรรคการเมืองมาจากช่องทางไหนบ้าง สมศักดิ์ - ธรรมดาก็ต้องมี ของใหม่ก็ต้องมีสมาชิกที่ชัดเจน ที่ต้องชำระเป็นประจำ ก็เงินบริจาคที่จะต้องไม่เกินกรอบขอบเขตที่กฎหมายกฎหมาย แต่ว่าอย่างไรก็ตามต้องไม่มีเงื่อนไขใดๆ ในการที่จะเข้ามาครอบงำ คงจะไม่ใช่เอาเงินมา 5-6 ร้อยล้าน แล้วมาเป็นเลขาฯ พรรค หัวหน้าพรรค พรรคการเมืองนี้จะไม่มีอย่างนั้นอย่างเด็ดขาด ก็จะเน้นประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นสมาชิก ที่เป็นเจ้าของพรรค ถาม – เปิดเผยได้ไหมว่าตอนนี้มีเงินบริจาคเข้ามาอยู่ที่เท่าไร สมศักดิ์ - ตอนนี้รู้สึกว่ามีเงินบริจาคมา 1,000 บาท เท่าที่รับมา เพราะว่ายังไม่ได้ตั้งพรรค ยังไม่ได้จดทะเบียน 1,000 บาท ไม่รู้ใครให้มา ถาม - แกนนำมีโอกาสที่จะรับตำแหน่งประธานที่ปรึกษาพรรค หรือประธานกิตติมศักดิ์อะไรไหม สมศักดิ์ - ก็เป็นเรื่องที่ต้องดูกันอีกที ตอนนี้ยังพูดไม่ได้ เพราะยังต้องไปออกแบบ ตอนนี้กำลังออกแบบออกโครงสร้างพรรค แล้วก็มาพิจารณากันอย่างรอบคอบ หลังจากได้โครงสร้างแล้วภายใน 60 วัน จะพยายามให้สิ่งที่ถามนั้นคงจะตอบได้อย่างเป็นรูปธรรมในช่วงนั้น เพราะพูดไปในช่วงนี้อาจจะไม่ตรงก็ได้ ต้องเรียนว่า ผมเองถ้าอะไรที่เป็นความคิดส่วนตัวผมไม่มี จะไม่พูด จะพูดต่อเมื่อได้คุยอะไรไว้เรียบร้อย เพราะพูดแล้วเดี๋ยวอาจจะไม่ตรงก็ได้ แล้วก็จะเป็นการชี้นำ ก็ต้องขอเรียนอย่างตรงไปตรงมา แต่สิ่งเหล่านั้นเมื่อถึงเวลามันอาจจะเปลี่ยน พูดไปเดี๋ยวพอเปลี่ยนก็จะบอกว่า อ้าวทำไมบอกไว้ไม่เป็นอย่างนี้ เพราะเราต้องระมัดระวังในการรักษาคำพูดด้วย |
สนธิย้ำพรรคเป็นเพียงเครื่องมือ พันธมิตรฯ สำคัญกว่า
ขณะเดียวกัน ที่บ้านพระอาทิตย์ นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ให้สัมภาษณ์ภายหลังจากที่มีการประชุมก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ว่า วันนี้เป็นส่วนของผู้ก่อตั้งพรรคว่าการประชุมเป็นแค่การเลือกสมาชิกพรรค อย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งต้องรอมติใหญ่จากสมาชิกพรรคอีกครั้งหนึ่งในอีกประมาณไม่เกิน 2 เดือนข้างหน้า หลังจากที่รวบรวมสมาชิกพรรคครบเรียบร้อยและจะมีการประชุมวิสามัญเพื่อเลือกผู้ดำรงตำแหน่งตัวจริงอย่างเป็นทางการ ถือว่าการเกิดขึ้นของพรรคการเมืองใหม่ เป็นมิติใหม่ทางการเมืองที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะเกิดจากอุดมการณ์ของประชาชนที่ร่วมกันจัดตั้งขึ้นมา ไม่ได้เกิดขึ้นจากกลุ่มทุนที่ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเช่นในอดีต ซึ่งหลังจากเข้าร่วมรัฐบาลแล้วก็พยายามทุกวิถีทางในการถอนทุนคืน ซึ่งกลายเป็นธุรกิจการเมืองเช่นทุกวันนี้
ส่วนการที่พันธมิตรฯ ตั้งพรรคขึ้นมาสู้ ตนถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะว่าจะทำให้พรรคการเมืองอื่นเร่งปรับตัวเองด้วย และพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ จะแสดงให้พรรคการเมืองอื่นดูว่าการเข้ามาทำงานในการเมืองแบบโปร่งใสเป็น อย่างไร และถึงเวลาแล้วที่การเมืองเก่าควรจะหมดไปจากบ้านเมืองเสียที
อย่างไรก็ตาม พรรคของพันธมิตรฯ ที่เกิดขึ้นขณะนี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเป็นเครื่องมือของพันธมิตรประชาชน เพื่อประชาธิปไตยเท่านั้น ถ้าพรรคการเมืองปฏิบัติตัวไม่เป็นในสิ่งที่ประชาชนคาดหวัง พันธมิตรฯ จะถอยตัวออกห่างทันที ซึ่งพันธมิตรฯ นั้นจะเป็นส่วนที่สำคัญกว่าพรรคการเมืองอย่างแน่นอน และจะคอยควบคุมการทำงานในส่วนของพรรคการเมืองอย่างเคร่งครัดด้วย โดยคาดว่าจะเปิดสำนักงานได้ในวันพรุ่งนี้
ยันไม่ยึดติดตำแหน่ง จะมีบทบาทอะไรไม่ใช่เรื่องสำคัญ ลั่นพร้อมนำพลพรรคเข้าสภา
นายสนธิกล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ ในส่วนตัวของตนเรื่องบทบาทที่เกี่ยวข้องกับพรรคนั้น ตนไม่ได้ยึดติดกับตำแหน่ง แต่ถ้าจะมีบทบาทอะไรก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ตรงนี้ถือว่าเป็นแค่กระบวนการที่จะต้องเกิดขึ้นที่พรรคจะต้องเดินไปสู่กระบวนการต่างๆ และเดินเข้าสู่สภา ทั้งนี้ ถ้าตนมีตำแหน่งใดในพรรคซึ่งประชาชนก็อาจจะเลือกให้รับตำแหน่ง และเมื่อสมาชิกได้เดินเข้าสู่ระบอบสภาอย่างเป็นระบบแล้ว ตนก็ต้องกลับมาอยู่ที่พันธมิตรฯ ภาคประชาชน เพราะถือว่าหมดหน้าที่ในส่วนนี้แล้วกลับไปชูธงการเมืองอยู่ฝั่งการเมืองภาค ประชาชนเช่นเดิม
“ในส่วนตัวผม เรื่องข้อกฎหมายนั้นไม่มีปัญหาใด ทั้งคดีหมิ่นประมาท แต่ขณะนี้คดียังไม่สิ้นสุดซึ่งถือว่ายังไม่มีความผิด ส่วนคดีล้มละลายนั้นในส่วนของตนไม่ใช่การล้มละลายแบบทุจริต ซึ่งผ่านพ้นการบังคับทางกฎหมาย 3 ปี แล้วส่วนนี้จึงตกไป อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ว่าจะมีหลายฝ่ายโจมตีผมในหลายเรื่องที่จะเข้ามารับตำแหน่งในพรรค นั้น ผมอยากบอกว่าไม่กลัวว่าใครจะโจมตี ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบันได้เจอมาหมดแล้ว ซึ่งมาถึงจุดนี้คงไม่มีอะไรต้องกลัว” นายสนธิกล่าว
เตรียมใช้วันประชุมใหญ่แถลงนโยบายการบริหารบ้านเมือง
แกนนำพันธมิตรฯ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม 5 แกนนำพันธมิตรฯ จะยังไม่เคลื่อนไหวในช่วงเวลานี้ ซึ่งคาดว่าคงจะเป็นเวลา 2 เดือนนับจากนี้ที่พันธมิตรฯ ได้รวบรวมสมาชิกพรรค และมีการประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อเลือกผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคและตำแหน่ง อื่นๆ ภายในพรรคเสร็จสิ้นไปก่อน ซึ่งคิดว่าจะเป็นบรรยากาศที่แตกต่างจากพรรคการเมืองที่เคยมีมาเพราะต้องใช้ เสียงจากประชาชนมาเป็นการตัดสินว่าใครจะดำรงตำแหน่งใด ไม่ได้เลือกขึ้นมาโดยใครคนหนึ่งที่มีอำนาจผูกขาด คงจะถือโอกาสในวันนั้นแถลงนโยบายของพรรคว่าเราจะบริหารบ้านเมืองอย่างไร เป็นต้น ซึ่งตนคาดว่าจะเป็นวันที่ดีอีกวันหนึ่งของพันธมิตรฯ
อย่างไรก็ดี ถ้าวันหนึ่งพรรคการเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ ต้องเข้าไปทำงานร่วมกันกับพรรคการเมืองอื่นนั้น ส่วนตัวผมถ้าต้องให้ไปทำงานร่วมกับพรรคที่ทำงานด้วยไม่น่าไว้ใจตนคงไม่ร่วม ด้วย แต่ถ้าเป็นพรรคการเมืองที่มีนโยบายที่ดีทำงานด้วยความโปร่งใส สุจริตก็จะสนับสนุนและสามารถที่จะทำงานร่วมกันได้
โลโก้ชั่วคราวพรรคการเมืองใหม่ (ที่มา: ASTVผู้จัดการออนไลน์)
ปานเทพเผยความหมายโลโก้พรรคเบื้องต้น เน้นสีเขียว-เหลือง
ด้านนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และคอลัมนิสต์ใน ASTVผู้จัดการออนไลน์ เขียนบทความ “เบื้องหน้าเบื้องหลัง พรรคการเมืองใหม่ : New Politics Party” ลงในเว็บไซต์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ วันนี้ โดยเขาระบุความหมายของตราประจำสัญลักษณ์พรรคในเบื้องต้น โดยนายปานเทพระบุว่าอาจมีการปรับปรุงอีก โดยนายปานเทพได้เขียนคำอธิบายไว้ดังนี้
สีเขียวหมายถึง การเมืองใหม่ เป็นการเมืองที่ไร้มลพิษ โปร่งใส ซื่อสัตย์สุจริต สร้างชาติให้มีความอุดมสมบูรณ์ สีเหลืองหมายถึงธรรมะเป็นการเมืองที่ใช้ธรรมนำหน้า มือสีเหลือง 4 มือหมายถึง มือของประชาชนที่ยึดมั่นในธรรมจากทุกภูมิภาค ทุกภาคส่วน และทุกสาขาอาชีพ มาร่วมมือกันเพื่อโอบอุ้มและลงมือทำการเมืองใหม่ด้วยมือประชาชนเอง โดยมีหัวใจสีเหลือง หมายถึงศูนย์กลางจิตใจของประชาชนทุกหมู่เหล่าที่ยึดมั่นในธรรมและราช บัลลังก์ ส่วนมีหัวใจ 4 ดวงหมายถึงมีหัวใจที่แน่วแน่ที่จะยึดมั่นอุดมการณ์ด้วยความเสียสละ ซื่อสัตย์ กล้าหาญ และมีความสามารถ
“ปานเทพ” ย้ำ 10 ประการ “การเมืองใหม่” ต่างจาก “การเมืองเก่า”
นายปานเทพ ให้ความเห็นในบทความด้วยว่า “พรรคการเมืองใหม่” กับ “พรรคการเมืองเก่า” แตกต่างกันที่เนื้อหาสาระ 10 ประการ ได้แก่ 1. การเมืองใหม่ คือการเมืองที่เลือกข้างในคุณงามความดี ยึดมั่นในจริยธรรม และศีลธรรม ในขณะที่การเมืองเก่าคือการเมืองเลือกข้างความชั่ว ไม่มีจริยธรรม และไม่มีศีลธรรม
2. การเมืองใหม่ คือการเมืองที่เลือกข้างความซื่อสัตย์ สุจริต การเมืองเก่าคือการเมืองที่เลือกข้างความทุจริต ฉ้อฉล
3. การเมืองใหม่ คือการเสียสละผลประโยชน์ส่วนตนเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม การเมืองเก่าคือการเห็นแก่ตัวทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง 4. การเมืองใหม่ คือความกล้าหาญในการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงพร้อมเลือกข้างความถูกต้องชอบธรรม การเมืองเก่าคือความขลาดกลัวในการตัดสินใจ ไม่กล้าเลือกข้างความถูกต้องหรือข้างใดๆ
5. การเมืองใหม่ คือการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมืองร่วมกันเพื่อผล ประโยชน์ของประชาชนอย่างโปร่งใส การเมืองเก่าคือการเมืองที่นักการเมืองและนายทุนเพียงไม่กี่คนในการตัดสินใจ เพื่อผลประโยชน์ของนักการเมือง
6. การเมืองใหม่ คือการเมืองที่ส่งเสริมให้คนดีปกครองบ้านเมือง และหาทางป้องกันมิให้คนไม่ดีมีอำนาจ การเมืองเก่าคือการเมืองที่ส่งเสริมให้นายทุนของพรรคทำมาหากินเพื่อคืนทุน พรรคอย่างสามานย์ คนดีไม่มีอำนาจ คนชั่วครองเมือง
7. การเมืองใหม่ คือการเมืองที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจที่สร้างความเป็นธรรมในสังคมและเน้นผล ประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก ส่วนการเมืองเก่า คือการเมืองที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจตกอยู่ในอาณัตินายทุนผูกขาดเพียงไม่กี่คน
8. การเมืองใหม่ คือการเมืองที่พัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เป็นฐานในการดำเนินชีวิตและ อาชีพตามภูมินิเวศน์ การเมืองเก่าคือการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของนายทุนเพียงไม่กี่คนแต่ทำลายวิถี ชีวิตและทรัพยากรของคนทั้งชาติ
9. การเมืองใหม่ คือการเมืองที่ให้ประชาชนเป็นพลเมืองที่เข้มแข็งด้วยการศึกษาที่มีคุณภาพที่ ใช้ได้ในชีวิตจริงควบคู่ไปกับคุณธรรมเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศ ชาติ ส่วนการเมืองเก่าคือการเมืองที่ใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือเอาชนะทางการเมือง และเป็นเครื่องมือทางธุรกิจที่สร้างประโยชน์ผูกขาดให้กับนายทุนเพียงไม่กี่กลุ่ม
10. การเมืองใหม่ คือการเมืองที่เปิดกว้างในข้อมูลข่าวสารให้พัฒนาก้าวไกลด้วยข้อมูลข่าวสาร ปฏิรูปสื่อให้เป็นองค์กรพัฒนาจิตสำนึกและศักยภาพของคนในชาติ การเมืองเก่าคือการทำให้สื่อมวลชนเป็นผลประโยชน์ทางธุรกิจของนายทุนและพวก พ้องเป็นสำคัญโดยปราศจากความรับผิดชอบต่อสังคม
รายชื่อคณะกรรมการบริหารพรรค “การเมืองใหม่”
สำหรับรายชื่อคณะกรรมการบริการพรรค “การเมืองใหม่” ชุดก่อตั้งประกอบด้วย 1. นายสมศักดิ์ โกศัยสุข เป็นหัวหน้าพรรค 2. นางภินันทน์ โชติรสเศรณี เป็นรองหัวหน้าพรรค 3. นายสุริยะใส กตะศิลา เป็นเลขาธิการพรรค 4. นายพิชิต ไชยมงคล เป็นรองเลขาธิการพรรค 5. นางลักขณา ดิษยะศริน เป็นเหรัญญิกพรรค 6. นางภาณุมาศ พรหมสูตร เป็นนายทะเบียนสมาชิกพรรค 7. พล.ร.ท.ประทีป ชื่นอารมณ์ เป็นโฆษกพรรค 8. นายสุทธิ อัชฌาศัย เป็นกรรมการบริหารพรรค 9. นางชญาบุญ เพชรพรหม กรรมการบริหารพรรค 10. น.ส.นิตายา กุระคาน กรรมการบริหารพรรค
11. น.ส.อาภารัตน์ ชาติชุติกำจร กรรมการบริหารพรรค 12. น.ส.ฉัตรกุล คำมีอ่อน กรรมการบริหารพรรค 13. น.ส.จีรนันท์ อินทร์สุริวงศ์ กรรมการบริหารพรรค 14. นางลักขณา ดิษยะศริน กรรมการบริหารพรรค 15. นายบรรจง นะแส กรรมการบริหารพรรค 16. นางชญาดา ศริญญามาศ กรรมการบริหารพรรค 17. นายวิลิต เตชะไพบูลย์ กรรมการบริหารพรรค 18. นายสมศักดิ์ อิสมันยี กรรมการบริหารพรรค 19. นางเสาวนีย์ รุ่งช่วง กรรมการบริหารพรรค 20. น.ส.พรชุลี คงขวัญ กรรมการบริหารพรรค
21. นางเพลินพิศ ทองวล กรรมการบริหารพรรค 22. นางเสน่ห์ หงส์ทอง กรรมการบริหารพรรค และ 23. นางกาญจนา กาญจนเสวี กรรมการบริหารพรรค