WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Friday, June 5, 2009

มาตรการของจีนช่วงครบ 20 ปี นองเลือด'เทียนอันเหมิน'ทั้งตรวจค้น ไล่กลับ กักขังและปิดเว็บ

ที่มา ประชาไท

ทางการจีนก็คุมเข้มรอบจัตุรัสเทียนอันเหมิน ก่อนถึงวันที่ 4 มิ.ย. ครบรอบ 20 ปี เหตุการณ์การปราบปรามผู้ชุมนุมที่เทียนอันเหมิน มีการห้ามผู้ที่เคยเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เข้าประเทศ บางคนถูกกักอยู่ในบ้าน เว็บไซต์หลายถูกปิดชั่วคราว Flickr และ Twitter โดนด้วย ด้านอดีตผู้นำนักศึกษาซึ่งเป็น 1 ใน 21 แกนนำที่รัฐบาลจีนต้องการตัว ประกาศจะเข้ามอบตัว หวังทวงให้รัฐบาลจีนรับผิดชอบต่อเหตุการณ์

ทางการจีนได้เพิ่มการรักษาความปลอดภัยที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในกรุงปักกิ่ง ก่อนหน้าที่จะถึงวันครบรอบเหตุการณ์นองเลือดในวันที่ 4 มิ.ย. ที่จะถึงนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการปราบปรามการชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 1989 มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยหรืออาจจะถึงพันคน

ผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์จำนวนมากถูกแจ้งให้ออกไปจากกรุงปักกิ่งหรือให้อยู่แต่ในบ้านเท่านั้น แม้จะผ่านมา 20 ปีแล้ว แต่การพูดถึงเหตุการณ์ที่เทียนอันเหมินก็ยังเป็นเรื่องต้องห้ามในจีนอยู่ดี แม้แต่ในฮ่องกงที่มีเสรีภาพในการแสดงความเห็นมากกว่า แต่ผู้ที่เคยเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศ

ก่อนหน้าวันครบรอบเหตุการณ์เพียงหนึ่งวัน ก็มีตำรวจคอยตรวจตราผู้มาเยือนตามจุดตรวจรอบ ๆ จัตุรัสเทียนอันเหมิน ทั้งยังตรวจเช็คกระเป๋า รวมถึงเอกสารของผู้คนที่อยู่รอบบริเวณ มีนักข่าวบางคนต้องถูกเชิญให้ออกจากพื้นที่

บ้างต้องออกจากจีน บ้างถูกกักบริเวณ
เซียง เซียวจี (Xiang Xiaoji) ผู้ที่บัดนี้กลายเป็นพลเมืองของอเมริกันพยายามเข้าไปในฮ่องกงเมื่อวันที่ 3 มิ.ย. เพื่อเข้าร่วมงานรำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อปี 1989 แต่ก็ถุกห้ามไม่ให้เข้าจนต้องกลับไปนิวยอร์ก

ติง จื่อหลิน (Ding Zilin) หัวหน้ากลุ่มมารดาเทียนอันเหมิน (Tiananmen Mothers) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันของผู้หญิงที่ลูกของพวกเขาถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์ปราบปรามผู้ชุมนุม เธอถูกปิดล้อมไม่ให้ออกจากบ้าน เช่นเดียวกับ ภรรยาของหูเจียผู้ต่อต้านรัฐบาลที่ถูกจับกุมตัวก็ถูกล้อมไม่ให้ออกจากบ้านเช่นกัน

เปาตง (Bao Tong) อดีตเลขาฯ ของ เจ้า จื่อหยาง และเคยเป็นเจ้าหน้าที่พรรคฯ ผู้ถูกขับออกจากตำแหน่งเนื่องจากแสดงความเห็นใจต่อกลุ่มผู้ชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ก็ถูกเชิญให้ออกจากกรุงปักกิ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

วูเออ ไคซือ (Wu'er Kaixi) อดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินบอกว่าเขาไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าเขตมาเก๊า ซึ่งเป็นเขตปกครองพิเศษทางตอนใต้ของจีน ซึ่งไคซีได้เดินทางมาจากไต้หวันก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองขอให้ขึ้นเครื่องบินกลับ

ไคซือบอกว่าเขาไม่ได้ถูกเจ้าหน้าที่ไล่โดยใช้กำลัง นอกจากนี้ยังบอกอีกว่าเขาไม่ยอมกลับและรอให้เจ้าหน้าที่จับตัวเขาซึ่งเขายอมรับได้หากตนจะถูกจับกุม แต่จะไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ส่งตัวเขากลับ

ไคซือยังได้กล่าวไว้ในแถลงการณ์ที่ส่งให้เพื่อนเขาว่า หากเขาได้รับอนุญาตให้เข้าเมืองได้ เขาจะมอบตัวกับทางการในวันที่ 4 มิ.ย. ซึ่งจะทำให้เป็นที่สนใจของสื่อ

โดยสำหรับทางการจีนแล้ว ไคซือ เป็นลำดับ 2 ของรายชื่อผู้นำนักศึกษา 21 คนที่ทางการต้องการตัวหลังเหตุการณ์ปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ไคซือได้หนีไปอาศัยอยู่ในไต้หวันก่อนจะทำงานเป็นนักธุรกิจและนักวิจารณ์การเมืองที่นั่น

วูเออ ไคซือ ยังได้กล่าวอีกว่า การที่เขาต้องการมอบตัวกับทางการจีนไม่ได้หมายความว่าเขายอมรับว่าการกระทำของเขาเมื่อ 20 ปีที่แล้วเป็นสิ่งที่ผิด เพียงแต่อยากจะทวงสิทธิ์ว่าทางการจีนเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อเหตุนองเลือดที่เกิดขึ้นในปี 1989 อย่างไม่อาจปฏิเสธได้ทั้งในทางการเมือง ทางกฏหมาย และทางศีลธรรม

"ผมหวังว่าพอผ่านมา 20 ปีแล้ว รัฐบาลจีนจะมีมุมมองใหม่ในปัญหาทางประวัติศาสตร์คือ 'เหตุการณ์สังหารหมู่วันที่ 4 มิ.ย.' โดยพวกเขาจะยอมรับความผิดและขอโทษประชาชนชาวจีน" เขากล่าว

พรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่เคยเปิดให้มีการไต่สวนเหตุการณ์เมื่อ 20 ปีที่แล้วอย่างเป็นทางการเลย นอกจากนี้การพูดคุยกันถึงเหตุการณ์นี้ก็เป็นเรื่องต้องห้าม


จีนปิดกั้นเว็บไซต์ แม้แต่บล็อกของสถาปนิกสนามรังนกก็โดน

โดยในช่วงก่อนวันครบรอบเหตุการณ์ ทางการจีนก็ยังทำการบล็อกเว็บไซต์จำพวกเครือข่ายทางสังคมอย่าง ทวิตเตอร์ (Twitter) และ ฟลิกเกอร์ (Flickr) เพราะกลัวว่าจะมีการโพสท์รูปหรือพูดคุยกันเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์ในเทียนอันเหมิน ส่วนเว็บ Youtube ถูกบล็อกไม่ให้เข้าตั้งแต่เดือนมีนาคมแล้ว

ในวันที่ 3 มิ.ย. หลายเว็บไซต์ของจีนก็ไม่สามารถเข้าได้ รวมถึงเว็บบล็อกเล็ก ๆ อย่าง Fanfou และเว็บไซต์แชร์รูปวิดิโออย่าง VeryCD ซึ่งทางหน้าเว็บไซต์บอกว่าจะปิดทำการเนื่องจาก “มีการปรับปรุงทางเทคนิค” ไปจนถึงวันที่ 6 มิ.ย.

นอกจากนี้ทางศูนย์ข้อมูลสารสนเทศเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย (Information Center for Human Rights and Democracy) ซึ่งเป็นองค์กรของฮ่องกงยังได้เปิดเผยว่า ผู้ตรวจตราทางอินเตอร์เน็ตของรัฐบาลได้ปิดเว็บกระดานข่าวไปมากกว่า 6,000 เว็บ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย เพื่อต้องการป้องกันไม่ให้พูดคุยกันถึงเหตุการณ์ในปี 1989

แม้แต่ ไอ เวยเวย สถาปนิกของสนามรังนกที่ใช้จัดงานกีฬาโอลิมปิก ยังออกมาบอกเลยว่า เว็บล็อก (Blog) ของเขาถูกปิดไม่ให้เข้า

"บล็อกของผมทั้งสามแห่งถูกปิดหมดเลย" เวยเวย กล่าว "ผมไม่รู้เหตุผลจริงๆ หรอก แต่ผมคาดว่ามันน่าจะเกี่ยวกับการครบรอบเหตุการณ์ที่กำลังจะมาถึงนี้แหละ"

ในฮ่องกงเองก็มีความอ่อนไหวในช่วงก่อนครบรอบเหตุการณ์เช่นกัน

เซือง ยัง (Xiong Yan) หนึ่งในผู้นำการชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมินจะได้รับอนุญาตให้เข้าฮ่องกงในช่วงปลายสัปดาห์เท่านั้น ส่วนผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์อีกคนหนึ่งคือ เซียง เซียวจี (Xiang Xiaoji) กับชาวเดนมาร์กผู้ปั้นรูปปั้น เสาแห่งความอัปยศ ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าฮ่องกงทั้งคู่

ฮ่องกงซึ่งก่อนหน้านี้เป็นอาณานิคมของอังกฤษ ก่อนจะกลายเป็นของจีนและได้รับการยืนยันจากจีนว่าจะยังคงอำนาจการปกครองตนเองและให้มีเสรีภาพในการแสดงความเห็นตามเดิมได้ แต่การไม่อนุญาตให้เซียง และคนอื่น ๆ เข้าประเทศทำให้เกิดข้อกังขาว่า สิทธิเสรีภาพในดินแดนนี้มีอยู่ขนาดไหนกันแน่

เวาดีน อิงแลนด์ (Vaudine England) ผู้สื่อข่าวบีบีซีในฮ่องกงรายงานว่า กลุ่มชนชั้นปกครองท่เป็นข้าราชการที่ได้รับแต่งตั้งจากจีน รวมถึงกลุ่มผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจเชื่อว่าการทำตัวใกล้ชิดกับทางการจีนเท่านั้นถึงจะทำให้พวกตนอยู่รอด

กระนั้นก็ตามจากการสำรวจโพลล์พบว่าคนส่วนใหญ่ในฮ่องกงยังคงต้องการเสรีภาพที่จีนได้เคยสัญญาไว้อยู่เสมอ

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก
Macau denies entry to Tiananmen protest leader, AP, Min Lee, 03-06-2009
http://news.yahoo.com/s/ap/20090603/ap_on_re_as/as_macau_tiananmen_dissident

High security on Tiananmen Square, BBC, 03-06-2009
http://news.bbc.co.uk/2/hi/asia-pacific/8080437.stm

China bars foreign reporters from Tiananmen Square, AP, 03-06-2009
http://news.yahoo.com/s/ap/20090603/ap_on_re_as/as_china_tiananmen_12