ที่มา ประชาไท
หลังจากไทยในฐานะประธานอาเซียนใช้เวทีอาเซมเตือนพม่าเรื่องการดำเนินคดีนางออง ซาน ซูจี ล่าสุดหนังสือพิมพ์รัฐบาลพม่าแพร่คำสัมภาษณ์รัฐมนตรีต่างประเทศพม่าที่ย้ำว่าคดีดังกล่าวเป็นเรื่องภายใน และโต้ว่าไทยต่างหากต้องเปิดเจรจาในชาติ เพราะมีกลุ่มสีแดง สีเหลือง สีน้ำเงิน มาประท้วง มีการล้มการประชุมอาเซียน และยังแพร่คำสัมภาษณ์ พล.อ.สนธิ ที่ว่าหากไทยมีปัญหากับพม่าไทยจะแพ้ด้วย
เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ที่ผ่านมา สื่อรัฐบาลพม่าเผยเป็นนัยถึงความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างรัฐบาลทหารกับประธานอาเซียน (ASEAN) คนปัจจุบันของไทย เนื่องจากไทยได้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารพม่าในเรื่องการดำเนินคดีกับนางออง ซาน ซูจี
หนังสือพิมพ์ของรัฐบาลพม่าได้ตีพิมพ์เรื่องเกี่ยวกับการประชุมของอาเซียนกับสหภาพยุโรป (EU) ที่กรุงพนมเปญเมื่อวันที่ 27-28 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมีนายหม่อง มินต์ (Maung Myint) รักษาการแทนรัฐมนตรีต่างประเทศของพม่าเข้าร่วมด้วย
โดยหนังสือพิมพ์ของพม่าได้กล่าวถึงการที่ไทยแสดงความเป็นห่วงในเรื่องการฟ้องร้องนางออง ซาน ซูจี ในการพบปะอย่างไม่เป็นทางการวันที่ 27 พ.ค. ซึ่งนายหม่อง มินต์ ก็ได้ตอบโต้ไปว่า "เรื่องนี้ไม่ควรจะถูกยกมาเป็นวาระในการประชุมของอาเซียนอีกแล้ว"
เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่พม่าคนอื่นๆ นายหม่อง มินต์เรียกการดำเนินคดีของซูจีว่า "เป็นเรื่องของกระบวนการด้านกฎหมายภายในประเทศ"
นอกจากนี้หนังสือพิมพ์ของพม่ายังได้รายงานคำกล่าวของหม่อง มินต์อีกว่า "ประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศก็แสดงว่าตนสนใจฟังเรื่องนี้โดยไม่มีเหตุผลเลย" ซึ่งในที่นี้กล่าวถึงวการประชุมอาเซียน-อียู ในวันที่ 28 พ.ค.
โดยนอกจากนี้รักษาการรัฐมนตรีต่างประเทศยังได้กล่าวอีกว่า "จริงๆ แล้ว ควรจะเป็นประเทศไทยต่างหากต้องมีการเจรจาระดับชาติ นานแล้วที่เห็นประเทศไทยมีการประท้วงของกลุ่มต่าง ๆ อย่าง สีแดง , สีเหลือง และสีน้ำเงิน ที่พยายามจะขับไล่รัฐบาล ทั้งยังมีการมาทำลายการประชุมอาเซียนซัมมิทด้วย"
เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่าอีกเรื่องหนึ่งมีตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เมียนมา อลิน (แสงแห่งพม่า) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาคภาษาพม่าของรัฐบาลพม่า โดยพาดหัวว่า "พลเอกสนธิเตือนรัฐบาลไทยไม่ควรก่อให้เกิดความตึงเครียดกับพม่า
โดยมีเนื้อความที่อ้างอิงจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับวันที่ 28 พ.ค. ซึ่งหนังสือพิมพ์เมียนมา อลิน ได้นำมาตีพิมพ์เมื่อ 2 มิ.ย. ว่า พล.อ.สนธิ บุญรัตนกลิน ผู้ก่อรัฐประหารขับไล่อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เตือนว่าหากไทยมีปัญหากับพม่า ไทยจะแพ้
ในเนื้อหาข่าวจากเมียนมา อลิน พล.อ.สนธิ ยังได้กล่าวอีกว่า พม่ามีทั้งทรัพยากรริมชายฝั่งและนอกชายฝั่ง รวมถึงยังมีทรัพยากรที่สามารถผลิตพลังงานนิวเคลียร์ได้ด้วย ซึ่ง พล.อ.สนธิ ได้ออกมาพูดถึงเรื่องเพียงหลังจากที่กษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของไทย ออกมาวิจารณ์รัฐบาลพม่าได้เพียงวันเดียว
ขณะที่ในวันที่ 1 มิ.ย. นายกษิต ภิรมย์ ยังได้กล่าวอีกว่า การเปลี่ยนแปลงของพม่ามีความจำเป็นมาก โดยมันจะไม่ใช่เป็นเพียงสิ่งจำเป็นสำหรับความมั่นคงในพม่า แต่ยังเป็นความมั่นคงสำหรับประเทศใกล้เคียงอย่างไทยและบังกลาเทศด้วย
นายกษิต กล่าวในหนังสือพิมพ์ของบังกลาเทศว่า ประเทศฟิลิปปินส์, ไทย, อินโดนิเชีย และ บังกลาเทศ เคยผ่านการมีรัฐบาลทหารมาก่อน "ในบางช่วง"
"พวกเราทั้งหมดก็ได้กำจัดรัฐบาลทหารออกไปและกลายเป็นสังคมประชาธิปไตย" กษิต กล่าว โดยเขายังได้เสนออีกว่าอินโดนีเซียเป็นแบบแผนที่ดีสำหรับพม่าในการที่จะทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย
"ดังนั้น คำถามถึงพม่าคือ เหตุใดพวกเขาถึงไม่สามารถเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นสังคมเปิดได้ มันจะเป็นเรื่องดีสำหรับประเทศในเขตนี้ทั้งหมด มันจะเป็นเรื่องดีสำหรับเราทุกคน" กษิต กล่าว
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่าเริ่มคงที่ตั้งแต่การรัฐประหารในปี 1988 ของพม่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพราะ "นโยบายธุรกิจมาก่อน" ของประเทศไทย ไทยเป็นประเทศแรกที่เข้าไปลงทุนในพม่าหลังจากที่มีเหตุปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมโดยรัฐบาลทหาร มาตอนนี้ไทยก็เป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของพม่าไปแล้ว
อย่างไรในยุครัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงปลายปี 1990 ก็ตามมีความตึงเครียดส่วนหนึ่งเกิดขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยพยายามเปลี่ยนการใช้นโยบาย "ข้อตกลงเชิงพัฒนาโครงสร้าง" ของอาเซียนกับพม่า เป็นนโยบาย "ข้อตกลงแบบยืดหยุ่น" แทน
ในปัจจุบัน พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของไทยในขณะนี้ ได้ทำการวิจารณ์อย่างเปิดเผยกับกรณีที่รัฐบาลพม่าดำเนินคดีกับนางออง ซาน ซูจี
สมาชิกอีกหลายประเทศของอาเซียนรวมถึงผู้ก่อตั้งอาเซียนอย่างอินโดนีเชีย, ฟิลิปปินส์, สิงค์โปร และ มาเลเซีย ได้วิจารณ์คล้ายๆ กันในเรื่องนางออง ซาน ซูจี ส่วนกัมพูชาก็แสดงความเป็นห่วงในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
สมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่สนับสนุนแถลงการณ์ของไทยที่วิพากษ์การดำเนินคดีกับนางออง ซาน ซูจี และเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคน เนื่องจากเห็นว่าการกระทำของพม่าถือเป็นการท้าทายต่อกฏบัตรอาเซียน ซึ่งมีเรื่องของสิทธิมนุษยชนเกี่ยวข้องด้วย
ที่มา: แปลจาก Hints of Burma-Thailand Tension Appear in State-run Media, Wai Moe, Irrawaddy, 02-06-2009 http://www.irrawaddy.org/article.php?art_id=15815