ที่มา Thai E-News
โดย ใจ อึ๊งภากรณ์
1 มิถุนายน 2552
สำหรับคนเสื้อแดง กรณีตากใบ กรือแซะ และกรณีสงครามยาเสพติด ที่มีคนบริสุทธิ์ ที่ยังไม่นำมาขึ้นศาล ถูกฆ่าตายเป็นจำนวนมาก เป็นสิ่งที่ท้าทายความคิด เพราะอาชญากรรมเหล่านี้เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลไทยรักไทยของนายกฯทักษิณ ถ้าเราชาวเสื้อแดงรักประชาธิปไตยจริง เราไม่สามารถแก้ตัวแทนรัฐบาลทักษิณได้ในจุดนี้ และเราไม่ควรมองข้ามไม่พูดถึง เพราะ “ผิด” ก็คือ “ผิด” ไม่ว่าใครจะทำ
การสลายการชุมนุมของประชาชนผู้ไร้อาวุธที่ตากใบในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 โดยการขนประชาชนขึ้นรถทหารในลักษณะเลวร้ายยิ่งกว่าหมูหมา คือผูกมือไว้ข้างหลังแล้วให้นอนทับกันหกถึงเจ็ดชั้น ท่ามกลางแสงแดดเป็นเวลานาน ซึ่งมีผลทำให้คนตาย 78 คน (ไม่นับผู้ที่ถูกยิงตาย) ต้องถือว่าเป็นอาชญากรรมของรัฐไทย
เทียบเท่าการฆ่าประชาชนในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม, ๖ ตุลาคม, พฤษภาคม ๓๕, และเมษายน๒๕๕๒ ดังนั้นการที่(เซ็นเซอร์)ตัดสินว่าเจ้าหน้าที่รัฐ “ไม่ได้ทำความผิด” เป็นตัวอย่างของการที่(เซ็นเซอร์)ไร้ความยุติธรรมโดยสิ้นเชิง
เซ็นเซอร์)เลือกที่จะปกป้องทหาร ตำรวจ และอำมาตย์มาตลอด แทนที่จะปกป้องสิทธิเสรีภาพและชีวิตของประชาชน มันเป็นอีกตัวอย่างของสองมาตรฐาน และการที่ไทยไม่ใช่นิติรัฐ
“ในไทย... ฆ่าคนไม่ผิดถ้าเป็นฝ่ายรัฐ แต่ประชาชนที่วิจารณ์ความผิดต้องติดคุก”
นี่คือสภาพเลวร้ายของสังคม มันพิสูจน์ว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่มีความตั้งใจที่จะสร้างความยุติธรรมแต่อย่างใด และมันพิสูจน์ว่าเราต้องปฏิรูประบบศาลแบบถอนรากถอนโคน ต้องยกเลิกกฎหมายหมิ่นศาล และกฎหมายหมิ่นเดชานุภาพ
สำหรับคนเสื้อแดง กรณีตากใบ กรือแซะ และกรณีสงครามยาเสพติด ที่มีคนบริสุทธิ์ ที่ยังไม่นำมาขึ้นศาล ถูกฆ่าตายเป็นจำนวนมาก เป็นสิ่งที่ท้าทายความคิด เพราะอาชญากรรมเหล่านี้เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลไทยรักไทยของนายกฯทักษิณ ถ้าเราชาวเสื้อแดงรักประชาธิปไตยจริง เราไม่สามารถแก้ตัวแทนรัฐบาลทักษิณได้ในจุดนี้ และเราไม่ควรมองข้ามไม่พูดถึง เพราะ “ผิด” ก็คือ “ผิด” ไม่ว่าใครจะทำ
เราไม่อยากสร้างสองมาตรฐานเหมือนคนเสื้อเหลือง และที่สำคัญเราต้องโต และพัฒนาพอที่จะยอมรับข้อผิดพลาดในอดีตของรัฐบาลไทยรักไทยได้ เราต้องฟันธงไปว่าถ้าในอนาคตมีรัฐบาลเสื้อแดง รัฐบาลนี้จะไม่ก่ออาชญากรรมอีก จะปกป้องสิทธิเสรีภาพ และจะนำผู้กระทำความผิด โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ มาลงโทษ
เราต้องเสนอต่อไปให้นักการเมืองไทยรักไทยทบทวนความคิด และต้องเสนอว่าสงครามกลางเมืองในภาคใต้ และปัญหายาเสพติด ต้องแก้ไขด้วยนโยบายการเมืองและนโยบายสังคม ไม่ใช่การทหาร การปราบปราม หรือการใช้ความรุนแรง ผมเชื่อมั่นว่าคนเสื้อแดงจะเข้าใจประเด็นนี้ เพราะเราคือผู้ใช้เหตุผล เราไม่ได้บ้าคลั่งเหมือนคนเสื้อเหลือง
การที่คนในภาคใต้จับอาวุธสู้กับรัฐบาลไทยมีเหตุผล มันมาจากการที่เขาไม่เคยได้รับความเคารพในฐานะที่เป็นคนมาเลย์มุสลิม รัฐไทยทำให้เขาเป็นพลเมืองชั้นสอง การที่คนใช้ยาเสพติดก็มีเหตุผล อาจมีปัญหาทางจิตใจ อาจเศร้า อยู่ในสภาวะแปลกแยกจากสังคม หรืออาจเป็นความจำเป็นในการทำงานหลายชั่วโมงต่อวัน หรือแค่เสพเพื่อความสุข ดังนั้นปัญหาแบบนี้ต้องล้วนแต่แก้ที่ต้นเหตุ ด้วยความใจกว้าง ด้วยความเมตตา และด้วยหลักสิทธิมนุษยชน
ทั้งหมดที่ผมเขียนมานี้ ไม่สามารถเป็นข้ออ้างในการให้ความชอบธรรมกับทหาร คมช. พันธมิตรฯ เนวิน หรือประชาธิปัตย์ ในการใช้อำนาจเผด็จการเพื่อล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแต่อย่างใด เพราะทหารมีส่วนสำคัญในการก่ออาชญากรรมที่กรือแซะและตากใบ และในเหตุการณ์อาชญากรรมอื่นๆ ที่ผมกล่าวถึงไปแล้ว
ส่วนพวกเสื้อเหลืองพันธมาร เนวิน หรือพรรค “อำมาติปัตย์” ของอภิสิทธิ์ ก็มือเปื้อนเลือดเช่นกัน เราต้องเอามันออกให้หมด
000000000
หมายเหตุข่าวเกี่ยวเนื่อง: "คดีตากใบ" 78ศพ ศาลสงขลาชี้ “ขาดอากาศหายใจ” การขนย้าย เป็นความจำเป็นแห่งสภาพการณ์แล้ว
29 พฤษภาคม 2552 เว็บไซต์มติชนออนไลน์รายงานว่า ศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งในคดีสลายการชุมนุมบริเวณหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 78 ศพว่า ผู้ตายเสียชีวิตที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยสาเหตุมาจากการขาดอากาศหายใจในระหว่างที่อยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่
โดยคดีนี้ พนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี กับนางสีตีรอกายะ สาแล๊ะ และพวกรวม 78 คน เป็นโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดปัตตานี ให้ไต่สวนคดีสลายการชุมนุมบริเวณหน้า สภ.ตากใบ และทำให้มาหามะ เล๊าะกาบอ กับพวก 78 คน เสียชีวิต เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ว่าผู้ตายทั้งหมดเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และพฤติการณ์ที่ตาย จากนั้นผู้ร้องได้ยื่นคำร้องให้ประธานศาลฎีกา โอนคดีไปยังศาลอาญา หรือศาลภายในเขตกรุงเทพมหานคร ประธานศาลฎีกามีคำสั่งให้โอนคดีไปยังศาลจังหวัดสงขลา
ศาลพิเคราะห์ว่า ในวันเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสลายการชุมนุมและควบคุมผู้ร่วมชุมนุมขึ้นรถไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ตามความจำเป็นแห่งสภาพการณ์เท่าที่เอื้ออำนวยได้ขณะนั้น อันเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ แม้ปรากฏภาพเหตุการณ์จากวีซีดีว่า บุคคลที่แต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าสลายการชุมนุม บางคนทำร้ายผู้ชุมนุมก็ตาม เชื่อว่าเป็นการกระทำของบุคคลดังกล่าวโดยพลการ เมื่อไม่ปรากฏว่า หลังจากผู้ตายทั้ง 78 และผู้ร่วมชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวขึ้นรถยนต์บรรทุกนำส่งค่ายอิงคยุทธบริหารจนแล้วเสร็จ มีการกระทำต่อผู้ตายทั้ง 78 หรือผู้ร่วมชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวหรือเกิดเหตุร้ายอย่างอื่นกับผู้ตายทั้งหมด จึงสรุปได้ว่า ผู้ตายทั้ง 78 ตายที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย คือ ขาดอากาศหายใจระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่
ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังที่ศาลชี้ว่า ขาดอากาศหายใจ แต่ไม่ใช่เรื่องการขนย้าย อย่างไรก็ตาม จะหารือกับสภาทนายความเรื่องการยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งกับกองทัพบก กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.)ต่อไป