WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Saturday, June 6, 2009

ลูกกำพร้าตามหาพ่อชื่อ‘ประชาธิปไตย’

ที่มา Thai E-News


ที่มา โลกวันนี้วันสุข
5 มิถุนายน 2552

“อยากรู้เรื่องว่าทำไมประชาธิปัตย์ถึงต้องทำเช่นนี้ ทำไมต้องจับมือกับเนวิน (ชิดชอบ) และใครไปบังคับให้พรรคร่วมรัฐบาลมาร่วมกับประชาธิปัตย์ ทำไมถึงมี “สีน้ำเงิน” มาฆ่า “สีแดง” และ “สีฟ้า” ขอยืม “สีกากี” มาฆ่า “สีเหลือง” (เสียงโห่และปรบมือ) และพี่น้องจะเข้าใจอย่างลึกซึ้ง อย่างลึกซึ้ง เพราะว่าเรื่องพวกนี้ถ้าไม่อธิบายกันแบบป่าทั้งป่าจะไม่เข้าใจ และผมอยากให้คนใต้ที่ไม่ชอบผมตอนนี้ให้ตั้งใจฟังดีๆ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ไม่ได้ยืนบนเวทีหรือยืนบนพระแม่ธรณีเพื่อให้คนชอบหรือไม่ชอบ แต่นายสนธิจะยืนอยู่บนความถูกต้อง”


คำพูดส่วนหนึ่งของนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ปราศรัยบนเวทีพลเมืองเสวนา คอนเสิร์ตเปิดเวทีประชาชนคนสุพรรณ ที่อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2552 ก่อนเกิดเหตุการณ์ลอบสังหารวันที่ 17 เมษายน ซึ่งนายสนธิและผู้ใกล้ชิดเชื่อว่าเป็นการกระทำของ “สีเขียว” และการร่วมมือกันของนักการเมืองที่ไม่ต้องการให้พันธมิตรฯเข้มแข็งไปมากกว่านี้

การเมืองใหม่กับสีที่เปลี่ยน

เหตุผลการตั้งพรรคของพันธมิตรฯจึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อที่ว่าคนมีสีและกลุ่มอำนาจทางการเมืองต้องการสลายพันธมิตรฯหรือสลายสีเหลือง แม้ก่อนหน้านี้จะมีข่าวเรื่องการตั้งพรรคมานานแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นการพูดทีเล่นทีจริง ซึ่งก็เป็นความฝันของแกนนำและผู้อยู่เบื้องหลังพันธมิตรฯหลายคน เห็นได้ชัดเจนจากการตระเวนจัดกิจกรรมหลังยุติการชุมนุมประวัติศาสตร์ 193 วัน แกนนำพันธมิตรฯจะนำเรื่องการตั้งพรรคการเมืองและการเดินไปสู่การเมืองใหม่ขึ้นมาถามมวลชนแทบทุกครั้ง

ฉันทามติของสภาพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเดินหน้าสู่การเมืองใหม่ที่ให้ตั้งพรรคการเมืองจึงน่าสนใจอย่างยิ่งกับการทำงานการเมืองของพันธมิตรฯ ที่แม้ตั้งพรรคการเมืองแล้วก็ไม่ได้สลายกลุ่มพันธมิตรฯ แต่จะทำงานการเมืองคู่ขนานกันไป

ดังนั้น เรื่องของ “สี” และการก้าวไปข้างหน้าของพันธมิตรฯจึงน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะการเปิดประเด็นปริศนาของนายสนธิที่พูดถึง “สีน้ำเงิน” และ “สีฟ้า” ซึ่งตามมาด้วยเหตุการณ์วันที่ 17 เมษายนที่ว่า หากตนเองเสียชีวิต ทุกอย่างก็เป็นเรื่องสมมุติ เอเอสทีวีอาจต้องปิด แต่ก็มีคำถามว่าทำไมนายสนธิจึงประกาศอโหสิกรรมให้กับผู้อยู่เบื้องหลังการลอบสังหารตนเองง่ายๆ และในระยะหลังสื่อในเครือของนายสนธิก็ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เลย

เพราะนายสนธิก็พูดชัดเจนว่าการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯเป็นอันตรายต่อการเมืองระบอบเก่า และอยากให้พันธมิตรฯต่อสู้บนท้องถนนเท่านั้น ซึ่งไม่มีวันที่พันธมิตรฯจะสร้างการเมืองใหม่ได้สำเร็จ การตั้งพรรคการเมืองจึงเป็นการต่อสู้ที่เดินถูกทาง และทำให้บ้านเมืองอยู่รอด

“นี่คือประชาธิปไตยทางตรง พรรคการเมืองมี 2 ประเภท คือพรรคที่มีรากเหง้าคือพันธมิตรฯ และพรรคที่ไม่มีพรรครากเหง้าเหมือนพรรคการเมืองทั่วไปในปัจจุบัน”

เสียงสะท้อนพรรคพันธมิตรฯ

การตั้งพรรคการเมืองของพันธมิตรฯแม้จะใช้ฉันทามติจากสภาพันธมิตรฯ และถ่ายทอดผ่านเอเอสทีวีเพื่อให้พันธมิตรฯที่ไม่ได้เข้าประชุมรับทราบและยอมรับโดยปริยายนั้น หลายฝ่ายเชื่อว่ายังมีเบื้องหลังและเบื้องลึกที่ไม่เปิดเผยอีกมากมาย โดยเฉพาะกลุ่มสีเขียวและกลุ่มอำนาจเก่าที่นายสนธิระบุว่าต้องการทำลายพันธมิตรฯ แต่นายสนธิกลับยุติเรื่องนี้ง่ายๆนั้น เป็นละครฉากใหญ่ที่เหนือชั้น หรือพันธมิตรฯกลายเป็นลูกกำพร้าที่พ่อแม่ขับไล่ไสส่ง จึงต้องประกาศต่อสู้ทางการเมืองอย่างจริงจัง

แม้แต่อดีตคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ยังหลีกเลี่ยงที่จะแสดงความเห็นถึงการตั้งพรรคของพันธมิตรฯ แต่ก็เห็นด้วยหากสามารถปฏิรูปการเมืองได้จริง พร้อมกับยอมรับว่ามีพรรคการเมืองติดต่อมา และอดีต คมช. บางคนได้พูดคุยกันกรณีที่จะเล่นการเมืองหรือไม่

ขณะที่ พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด ญาติ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็สนับสนุนการตั้งพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ เพราะคนไทยต่างก็เบื่อม็อบ แต่ก็ไม่เห็นด้วยหากตั้งพรรคการเมืองแล้วยังเดินเคียงคู่กับการเมืองนอกสภา

“ถ้าจะมาตั้งม็อบอีกก็คล้ายกับเป็นเผด็จการ เมื่อใครไม่เห็นด้วยกับกูก็สร้างม็อบขึ้นมา ไม่ใช่การกระทำของคนส่วนใหญ่ แต่เป็นของคนส่วนหนึ่ง ถ้าเป็นเช่นนี้การเมืองก็จะถอยหลัง เพราะวันนี้ก็ถอยหลังมาเยอะแล้ว ไม่รู้ว่ากี่มุ้ง แล้วจะปกครองกันอย่างไร รัฐบาลก็ไม่มีเสถียรภาพ”

ส่วนนายสนธิจะเป็นหัวหน้า หรือคำถามที่ว่าพันธมิตรฯไม่รักษาสัจจะที่ประกาศจะไม่ตั้งพรรคการเมืองนั้น พล.อ.ชัยสิทธิ์ก็ให้ประชาชนเป็นคนตัดสินว่าจะเลือกใคร พรรคไหนขึ้นมาบริหารประเทศ เพราะขณะนี้การเมืองไทยถอยหลังไปสุดกู่ ที่แม้แต่พรรคเล็กพรรคน้อยยังเป็นรัฐบาลได้ ทั้งยังกล่าวถึงอดีตนายทหารหลายคนที่มีข่าวเตรียมลงเล่นการเมืองว่า ทหารเล่นการเมืองไม่เห็นรุ่ง มีแต่เสียคน แม้แต่อดีต คมช. หากจะเล่นการเมืองก็ต้องไม่เอาทหารมาเป็นเครื่องมือไปข่มขู่หรือใช้อำนาจแฝง

ต้องพร้อมถูกตรวจสอบ
ด้านนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การตั้งพรรคของกลุ่มพันธมิตรฯถือเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับสังคม ซึ่งการชูแนวคิดสร้างการเมืองใหม่ถือเป็นเป้าหมายที่เด่นชัดและทุกฝ่ายอยากเห็น แต่พันธมิตรฯจะต้องตอบให้ได้ด้วยว่าจะไปให้ถึงได้อย่างไร ต้องตีโจทย์ให้แตก ขณะเดียวกันต้องพร้อมจะถูกตรวจสอบด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาเป็นผู้ตรวจสอบคนอื่นมาโดยตลอด

ขณะที่ความเห็นของพรรคการเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคเพื่อไทยต่างก็ตอบรับพันธมิตรฯที่จะแข่งขันทางการเมือง อย่างนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย เห็นว่าพันธมิตรฯหลายคนเคยเป็นนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็น พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ และ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ แม้แต่นายสนธิที่จะมาเป็นหัวหน้าพรรคก็เห็นว่ามีความเหมาะสม เพราะเป็นสัญลักษณ์และเป็นเหมือนแม่เหล็กของพันธมิตรฯอยู่แล้ว

โดยเฉพาะนายสนธิที่อาจมีปัญหาหากขึ้นมาเป็นหัวหน้าหรือกรรมการบริหารพรรคพันธมิตรฯว่าเป็นบุคคลล้มลายนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ให้ความเห็นแล้วว่านายสนธิไม่ใช่ “บุคคลล้มละลายโดยทุจริต” จึงไม่เข้าเงื่อนไขการลักษณะต้องห้ามเป็นกรรมการบริหารพรรคตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550

สุดท้ายจำนนกลุ่มทุน

ขณะที่นายประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า จากประสบการณ์การเมืองของไทยพิสูจน์ให้เห็นว่าการเมืองในระบบที่ว่าด้วยการเลือกตั้งมีข้อจำกัดมาก ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการเมืองได้ ดังนั้น การสร้างนวัตกรรมทางการเมืองใหม่ต้องสร้างพลังจากพื้นที่รอบนอก และพุ่งเข้าเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในระบบ อย่างที่เรียกกันว่าประชาธิปไตยฐานราก เมื่อพันธมิตรฯเคลื่อนไหวในรูปแบบพรรคการเมืองก็ต้องยึดการเลือกตั้งเป็นหัวใจโดยอัตโนมัติ ไม่สามารถเคลื่อนไหวตามอุดมการณ์ของตัวเองได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะต้องประนีประนอมกับกลุ่มผลประโยชน์ สุดท้ายพรรคของพันธมิตรฯจะกลายเป็นกลุ่มผลประโยชน์แม้จะมีการเชื่อมโยงกับฐานมวลชนนอกสภา แต่ไม่คิดว่าจะไปด้วยกันได้ สุดท้ายก็จะเจอปัญหาเหมือนพรรคกรีนในยุโรป คือผู้แทนที่เข้าไปในสภาไม่สามารถเดินตามความต้องการของมวลชนนอกสภาได้

"แนวทางการสร้างประชาธิปไตยหัวใจอยู่ที่การถ่ายโอนอำนาจจากการเมืองตัวแทนมาอยู่ที่ประชาชนมากที่สุด เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจในวิถีชีวิตของตัวเอง เพราะพื้นที่การเมืองปรกติมีการประนีประนอมผลประโยชน์กันสูงจนสร้างอะไรใหม่ไม่ได้ โดยเฉพาะพันธมิตรฯที่เอาแนวคิดการเมืองที่เก่ากว่าเพื่อจะสร้างการเมืองใหม่จึงเป็นไปได้ยาก สุดท้ายการเมืองเป็นแค่การแสดงโวหารทางการเมืองเท่านั้น" นายประภาสกล่าว

ปชป. ได้มากกว่าเสีย

ส่วนการประเมินว่าพรรคการเมืองที่จะได้รับผลกระทบจากพรรคพันธมิตรฯคือพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งอาจมีฐานเสียงทับกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นในภาคใต้หรือภาคกลางนั้น หนึ่งในแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ยอมรับว่าอาจมีบ้าง โดยเฉพาะภาคกลางกับกรุงเทพฯและปริมณฑล แต่ในภาคใต้ไม่น่าจะมีผลกระทบมากนัก

ตรงข้ามพรรคประชาธิปัตย์กลับเห็นว่าการตั้งพรรคพันธมิตรฯยิ่งทำให้โอกาสของพรรคประชาธิปัตย์ที่จะได้เสียงข้างมากและเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลมีความเป็นไปได้สูง แต่พรรคเพื่อไทยน่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะต้องต่อสู้ทั้งพรรคภูมิใจไทยและพรรคพันธมิตรฯ

แกนนำพรรคประชาธิปัตย์จึงเห็นด้วยที่มีพรรคพันธมิตรฯ และมีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ในอนาคต

“หากมองจากข้อมูลในขณะนี้เชื่อว่าพรรคพันธมิตรฯไม่น่าจะได้เกิน 50 ที่นั่ง ซึ่งปัญหาสำคัญไม่ใช่อยู่แค่ฐานมวลชนสนับสนุนเท่านั้น แต่อยู่ที่เงินและรากฐานของพรรคด้วย ซึ่งวันนี้พรรคประชาธิปัตย์ถือว่ามีความแข็งแกร่งที่สุด แข็งแกร่งกว่าทุกพรรค จึงไม่กลัวพันธมิตรฯ แต่กลับคิดว่าพันธมิตรฯจะยิ่งทำให้พรรคประชาธิปัตย์ทำงานการเมืองได้ง่ายขึ้นด้วยซ้ำ” แกนนำพรรคประชาธิปัตย์กล่าว

พรรคมีเส้นกับพรรคกำพร้า

ดังนั้น สถานการณ์การเมืองในขณะนี้คงไม่มีใครปฏิเสธว่าพรรคประชาธิปัตย์ถือเป็นพรรคเดียวที่ยังสามารถรักษาสถานภาพของพรรคการเมืองได้อย่างเหนียวแน่น อีกทั้งยังเป็นแกนนำรัฐบาล จึงถือเป็นพรรคที่มีฐานเสียงสนับสนุนที่เข็มแข็งและได้เปรียบมากที่สุด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายทุนพรรคที่เห็นได้จากจำนวนเงินบริจาคให้กับพรรคที่มากที่สุด ขณะเดียวกันยังได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นสูงและผู้มีอำนาจทั้งในอดีตและปัจจุบันอย่างชัดเจน โดยเฉพาะ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่ออกปากชมและสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ ทั้งยังเป็นคนใต้และเป็นเสมือนร่างเงาของพรรคประชาธิปัตย์จนแทบแยกกันไม่ออก

พรรคประชาธิปัตย์จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นพรรคมีเส้นเพียงพรรคเดียวในขณะนี้ ส่วนพรรคการเมืองอื่นไม่ว่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา พรรคประชาราช และพรรคเพื่อไทย ต่างก็ไม่มีหลักยึดชัดเจน

แม้จะมีข่าวว่าพรรคภูมิใจเดินงานการเมืองอย่างต่อเนื่องกับอดีตผู้นำกองทัพ ทั้งยังมีการสะสมทุนเพื่อการเลือกตั้งครั้งใหม่อย่างคึกคักก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจน

โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่ถือเป็นคู่แข่งสำคัญของทุกพรรคยังระส่ำระสาย แต่ละก๊กยังรวมตัวกันแบบหลวมๆ เพราะขาดหัวเรือใหญ่ที่จะเข้ามาคุมเกมอย่างชัดเจน

ตัดหางปล่อยวัด “เคอิโงะ”

ส่วนพันธมิตรฯที่ประกาศจัดตั้งพรรคการเมืองแน่นอนแล้วนั้น สถานการณ์วันนี้ก็ไม่ต่างกับลูกกำพร้าที่ถูกตัดหางปล่อยวัดเช่นกัน แม้จะมีมวลชนที่เป็นคนชั้นกลางและชั้นสูงให้การสนับสนุนอยู่ไม่น้อยก็ตาม แต่ไม่ใช่ผู้มีอำนาจอย่างแท้จริง

ไม่ต่างกับเรื่องราวของ “เคอิโงะ ซาโต” หนูน้อยกำพร้าที่ตามหาพ่อชาวญี่ปุ่นที่สร้างความสะเทือนใจให้กับผู้พบเห็น และเป็นความหวังของเด็กกำพร้าอีกหลายคนที่มีสภาพเช่นเดียวกัน

วันนี้คนไทยทั้งประเทศจึงไม่มีใครไม่รู้จัก “เคอิโงะ ซาโต” เพราะไม่ว่าจะไปที่ไหน ทำอะไร ก็ถูกสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศรายงานข่าวอย่างใกล้ชิด จนกลายเป็นกระแส “เคอิโงะฟีเวอร์” ที่ทำให้เกิดเคอิโงะ 2, 3 และ 4 ฯลฯ ลูกครึ่งญี่ปุ่นที่ประกาศตามหาพ่อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ลูกกำพร้ากับประชาธิปไตย

จึงไม่แปลกที่นายสนธิจะประกาศต่อหน้าสภาพันธมิตรฯว่าทำไมจึงต้องตั้งพรรคการเมือง โดยยืนยันว่าแผนการลอบสังหารมาจากคนมีสีและมีอำนาจที่กลัวการเติบโตของกลุ่มพันธมิตรฯว่าจะเป็นภัยกับผลประโยชน์ของตนและพวกพ้องในอนาคต เหมือนกับที่สำนักสันติอโศกและวัดธรรมกายเคยที่ถูกลดทอนและทำลายอำนาจจนอยู่ในระดับที่เห็นว่าไม่เป็นภัยต่อความมั่นคง แม้จะผ่านมานานนับทศวรรษแล้วก็ตาม แต่ผู้มีอำนาจและฝ่ายความมั่นคงรุ่นปัจจุบันก็ยังเชื่อในแนวคิดเช่นนี้

แกนนำพันธมิตรฯจึงออกมาพูดสอดคล้องกันว่ามีกลุ่มอำนาจที่ต้องการทำลายพันธมิตรฯ ทั้งที่ผู้สนับสนุนพันธมิตรฯจำนวนไม่น้อยเป็นอดีตข้าราชการระดับสูงและอยู่ในฝ่ายความมั่นคง อย่าง น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)

สถานการณ์ของพันธมิตรฯวันนี้จึงไม่ได้แตกต่างจากพรรคการเมืองอื่นที่ต่างก็วิ่งหาพ่อแม่บุญธรรม ซึ่งแต่ละพรรคต้องเลือกทางเดินของตนเองที่จะอยู่รอดให้ได้

ส่วนพันธมิตรฯคงไม่มีทางเลือกหากต้องการยืนอยู่บนลำแข้งของตัวเองให้ได้ นั่นคือต่อสู้เพื่อให้ได้ประชาธิปไตยที่มาจากประชาชนและเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งไม่แตกต่างจากคนเสื้อแดงหรือกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติ (นปช.) ที่เป็นลูกกำพร้า ซึ่งวันนี้ต้องตามหาพ่อตัวจริงให้พบ เพื่อยืนหยัดอย่างชัดเจนว่าต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพื่อ “คุณพ่อ” ทักษิณ หรือกลุ่มอำนาจใดอำนาจหนึ่ง

ตามให้เจอ

การต่อสู้เพื่อให้ได้ประชาธิปไตยที่แท้จริง คนไทยทุกคนต้องไม่ยอมแพ้และไม่ท้อถอย เหมือนกับเด็กชาย “เคอิโงะ ซาโต” ที่ต่อสู้เพื่อให้ได้พบพ่อ

คนเสื้อเหลืองวันนี้กำลังปรับตัวเป็นสีเขียวอ่อน ขณะที่คนเสื้อแดงก็เริ่มปรับขบวนทัพใหม่ให้ชัดเจนเหลือเพียงแดงเดียว ไม่มีแดงปลอมปน แดงเทียม หรือแดงเพื่อ “นายใหญ่” อีกต่อไป

เหลืองปรับตัวเป็นเขียวอ่อน แดงปรับให้เป็นแดงเข้ม ในอนาคตทั้งสองสีอาจจะกลายเป็นสีเดียวกันก็ได้หากทั้งสองฝ่ายต่อสู้เพื่อตามหาประชาธิปไตยที่แท้จริง ไม่ใช่แค่ตามหาพ่อแม่บุญธรรมมาเพื่อค้ำกะลาหัวเท่านั้น

ประชาธิปไตยต้องมาจากประชาชนและเพื่อประชาชน อย่าให้ใครมาพราก “ประชาธิปไตย” ไปจนทำให้ “คนไทย” เป็นเสมือน “ลูกกำพร้า”

ตามหา “พ่อ” ชื่อ “ประชาธิปไตย” ให้เจอ

สู้ต่อไป...เคอิโงะ ไทยแลนด์!!

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 4 ฉบับที่ 209 วันที่ 30 พฤษภาคม – 5 มิถุนายน 2552 หน้า 4 คอลัมน์เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน