ที่มา มติชน
เป็นการ "หย่าศึก" ที่เกิดจากความ "เข้าใจไม่ตรงกัน" เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
โดยฝ่าย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วน ในฐานะประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย อ้างมติพรรคไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น และไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติ เพราะจะเป็นการเอาเงิน 2,000 ล้านบาท ไปละลายแม่น้ำเล่น
หากจะทำประชามติ ร.ต.อ.เฉลิมเห็นว่าน่าจะใช้เงินดังกล่าวไปทำประชามติว่า ประชาชนจะเลือกเอารัฐธรรมนูญปี 2540 หรือ 2550 จะดีกว่า
ขณะที่ "วิทยา บูรณศิริ" ในฐานะวิปฝ่ายค้านเห็นต่าง เนื่องจากมองว่านี่เป็นโอกาสในการเข้าไปเริ่มต้นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่สำคัญหาก "ตีจาก" ออกมา จะถูกมองว่าพรรคเพื่อไทย "ตีรวนล้มโต๊ะ"
ความขัดแย้งดังกล่าว ไม่ใช่แค่ "แนวคิด" หากแต่ถูกมองว่าเป็นการ "ช่วงชิง" อำนาจภายในพรรคเพื่อไทย ในภาวะที่ยังไร้หัว ขาดหาง
ข้อเสนอของ ร.ต.อ.เฉลิม ตรงกับความต้องการของ พ.ต.ท.ทักษิณ สมาชิกพรรคเพื่อไทยส่วนใหญ่ และกลุ่มคนเสื้อแดง มาตั้งแต่ต้น
หากแต่ "ข้อเสนอ" ดังกล่าวกับ "สวนทาง" กับสมาชิกบ้านเลขที่ 111 อย่างน้อย 3 คน ที่คอยสนับสนุน และเป็น "ฟันเฟือง" พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้อยู่เบื้องหลัง
และทั้ง 3 คนถือว่า "ใกล้ชิด" พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่น้อยไปกว่า ร.ต.อ.เฉลิม
เมื่อ "สาร" จาก "นายใหญ่" มาจาก 2 แนวทาง ซึ่งเป็นแนวทางที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทำให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เกิดอาการลังเลใจ เพราะไม่รู้ว่า "ความจริง" คืออะไร
แต่เมื่อ ร.ต.อ.เฉลิมยื่นหนังสือลาออก พรรคเพื่อไทยตกอยู่ในสภาพ "แตกเป็นเสี่ยง"
ประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ บอกว่า "ถ้าวิปฝ่ายค้านยังร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพรรคร่วมรัฐบาล จะลาออกจากพรรค"
จะเห็นว่าทุกอย่างเข้าทาง "ฝ่ายตรงข้าม" ทันที
ในทางการเมืองถือว่าพรรคเพื่อไทยกำลัง "เสียเปรียบ"
ที่บอกว่าเสียเปรียบเพราะ..รู้กันดีว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ต้องการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ฉะนั้น ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพรรคเพื่อไทย เท่ากับเป็นการช่วย "ล้มโต๊ะ" การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ต้องออกแรง
ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงเกิด "แรงต้าน" สมาชิกบ้านเลขที่ 111 ที่สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง อย่างจริงจังและต่อเนื่องของบรรดา ส.ส.พรรคเพื่อไทย
เนื่องจากมองว่าสมาชิกพรรคเพื่อไทย ต่อต้าน คัดค้านรัฐธรรมนูญ 2550 มาโดยตลอด การจะแก้ไขแค่ 56 ประเด็น จึงไม่น่าจะใช่เป้าหมาย
ที่สำคัญ ส.ส.พรรคเพื่อไทย มองว่า ร.ต.อ.เฉลิม คือ "หัวหมู่ทะลวงฟัน" ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วจากการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ที่ศรีสะเกษ และสกลนคร
จริงอยู่แม้ ร.ต.อ.เฉลิมจะถูกมองว่าเป็น "คนต้นทุนต่ำ"
แต่ต้องยอมรับว่าเขาก็คือ "ตัวหลัก" ในการต่อกรพรรคฝ่ายตรงข้ามทั้งในสภา และนอกสภา แบบ "เปิดเผย"
อย่างไรก็ตาม การแสดงเจตนารมณ์ลาออกของ ร.ต.อ.เฉลิม จะด้วยเป็นกลเกมหรือไม่ก็ตาม ย่อมส่งผลต่อภาพลักษณ์พรรคเพื่อไทยในสายตาสาธารณชนอย่างแน่นอน
ดูจากผลโพลของ "สวนดุสิต" ยิ่งชัดเจน
ร้อยละ 41.19 มองว่าจะทำให้การเมืองขาดสีสัน โดยเฉพาะการโต้ตอบและการอภิปราย ร้อยละ 25.26 มองว่าน่าจะทำให้พรรคเพื่อไทยอ่อนแอลง และร้อยละ 60.93 ยอมรับว่าการลาออกของ ร.ต.อ.เฉลิม มีผลกระทบต่อพรรคเพื่อไทยอย่างมาก
เป็นการสำรวจจากประชาชนในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 2,173 คน ระหว่างวันที่ 910 ตุลาคมที่ผ่านมา
ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้แกนนำพรรคเพื่อไทย นั่นหมายรวมถึง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ในฐานะ "สมาชิกใหม่" จึงพร้อมใจกันส่งสารไปยัง "นายใหญ่" ที่สุด พ.ต.ท.ทักษิณก็ยืนยันผ่านวิดีโอลิงก์มายังสมาชิกพรรคเพื่อไทยว่า
"วันนี้จุดอ่อนของเพื่อไทยคือ การเป็นพรรคการเมืองที่ไม่มียุทธศาสตร์ ไม่มีทิศทางเดียวกัน จึงเสนอว่าวิปฝ่ายค้านควรไปบอกต่อที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายว่า พท.ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญปี 2550 และเห็นว่าถ้าจะทำให้บ้านเมืองมีความเป็นประชาธิปไตย ต้องนำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาใช้เท่านั้น"
นั่นเท่ากับว่า พ.ต.ท.ทักษิณสนับสนุนแนวทางของ ร.ต.อ.เฉลิม และ ส.ส.ส่วนใหญ่ของพรรค
เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณรู้ดีว่า ร.ต.อ.เฉลิม คือ "ตัวหลัก" ในการเดินเกมทางการเมืองทั้งในและนอกสภา อย่างเปิดเผยในสาย "บู๊"
หากขาดไป ก็จะทำให้การเดินเกมทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย ขาดกำลังหลักที่สำคัญ
จะเห็นทุกอย่างในพรรคเพื่อไทย ยังขึ้นอยู่กับคนที่ชื่อ "ทักษิณ ชินวัตร"