WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Monday, October 12, 2009

รายงานเสวนา: บทบาทสื่อภาคประชาชนในสถานการณ์ขัดแย้ง

ที่มา ประชาไท

สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ ร่วมกับคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) และมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม จัดการเสวนา “บทเรียนสื่อ จาก ‘14 ตุลา’ ถึงรัฐประหาร...ครั้งสุดท้าย ?” เมื่อวันที่ 11 ต.ค. ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุม อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน

จอน อึ๊งภากรณ์ ประธานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ปาฐกถาในหัวข้อ “บทเรียนสื่อ จาก ‘14 ตุลา’ ถึงรัฐประหาร...ครั้งสุดท้าย?” ว่า ประชาธิปไตยของสื่อและประชาธิปไตยของการเมืองนั้นไม่ได้ไปด้วยกัน โดยเฉพาะประชาธิปไตยของสื่อนั้นคิดว่ายังไม่ได้มา เห็นได้จากกรณีคลิปวีซีดีตากใบในสมัยรัฐบาลทักษิณ ที่รัฐบาลบอกว่า ใครมีคลิปนี้เป็นการผิดกฎหมาย เช่นเดียวกับในสถานการณ์ความขัดแย้งปัจจุบันที่มีการส่งต่อคลิปข่าวที่ไม่ถูกเผยแพร่ในสื่อหลัก
จอน กล่าวว่า เสรีภาพสื่ออย่างที่ควรจะเป็นยังไม่เกิด ทั้งในยุครัฐบาลเผด็จการและรัฐบาลจากการเลือกตั้ง แม้เราจะมีพัฒนาการทางประชาธิปไตย แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องเสรีภาพสื่ออยู่ดี เพราะสื่อมักรับใช้ผู้มีอำนาจ และผู้มีอำนาจก็อาศัยสื่อที่เขาควบคุมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ ส่วนสื่อที่ตอนนี้ผู้มีอำนาจกลัวมากที่สุดก็คือ สื่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นสื่อของประชาชน เนื่องจากยุคนี้เป็นยุคที่การปิดกั้นสื่อทำไม่ได้แล้ว เห็นได้จากเมื่อก่อน หากเกิดรัฐประหาร ประชาชนจะไม่มีสิทธิรู้ข่าวสาร ยกเว้นคนที่อยู่ในเหตุการณ์ สมัยก่อนโทรศัพท์มือถือก็ยังไม่มี การจะสื่อสารว่าเกิดอะไรขึ้นทำได้ยาก วิทยุโทรทัศน์ก็จะเปิดแต่เพลงมาร์ชและถ่ายทอดเฉพาะข่าวจากคณะปฏิวัติ แต่ปัจจุบันมีอินเทอร์เน็ตที่ให้ข้อมูลข่าวสารได้ อย่างไรก็ตาม อินเทอร์เน็ตก็เป็นมุมมองของประชาชนแต่ละกลุ่ม
เขาเล่าว่า แม้แต่ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ประชาธิปไตยสื่อก็ยังไม่เกิดขึ้น เช่น วิทยุบีบีซีของอังกฤษ ที่แม้เป็นสื่อสาธารณะแต่ก็ยังเป็นสื่อกระแสหลักและเสนอมุมมองแบบคนอังกฤษต่อสถานการณ์ต่างๆ อย่างไรก็ตาม สื่ออย่างบีบีซีหรืออัลจาซีราห์นั้นมีจรรยาบรรณของสื่อ คือพยายามเสนอข่าวอย่างเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย
จอน กล่าวว่า การปิดกั้นเสรีภาพประชาธิปไตยและเสรีภาพสื่อนั้น หลายครั้งเอาเรื่องของสถาบันกษัตริย์มาเป็นเครื่องมือ เช่น ในเหตุการณ์พฤษภา 35 อ้างว่าจะมีขบวนเสด็จที่ถนนราชดำเนิน หรือในปัจจุบันก็มีการอ้างเรื่องของสถาบันฯ เพื่อควบคุมสื่ออินเทอร์เน็ตด้วย
ในสภาพการณ์ที่คลื่นความถี่ยังมีจำกัด จอนมองว่า สื่อวิทยุโทรทัศน์น่าจะพัฒนาไปสามรูปแบบ โดยควรมีสัดส่วนที่เหมาะสมกัน ได้แก่ 1) สื่อสาธารณะ ที่เป็นสื่อระดับประเทศของส่วนรวม 2) สื่อท้องถิ่น ซึ่งเป็นสื่อของแต่ละจังหวัด กลุ่ม หรือชนชาติ 3) สื่อชุมชน โดยสื่อที่ไม่ควรมีคือสื่อของรัฐที่ไม่ใช่สื่อสาธารณะ แต่เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล ทั้งนี้ ในบริบทของพื้นที่ที่จำกัดนั้น จะต้องควบคุมจริยธรรมของสื่อ โดยองค์กรสื่อกันเองด้วย โดยสื่อไม่ควรโฆษณาชวนเชื่อ ไม่สร้างความเกลียดชังต่อกลุ่มบุคคลใด ไม่ลามกอนาจาร แต่ก็ต้องพูดเรื่องเพศได้
อย่างไรก็ตาม หากไม่มีข้อจำกัดเรื่องคลื่นความถี่เลย เขาคิดว่าก็ไม่ควรต้องมีการขออนุญาตเปิดหรือปิดสื่อ แต่สื่อก็ยังต้องมีจริยธรรมอยู่
จอน กล่าวว่า ความขัดแย้งทางการเมืองขณะนี้เกิดจากการเสนอด้านเดียว ซึ่งเป็นปัญหา เพราะคนไม่ได้ดูส่วนอื่นๆ และดูแล้วค่อนข้างเชื่อตาม แต่การจะปิดกั้นสื่อประเภทนี้ก็เป็นเรื่องยาก เพราะปัจจุบันใครๆ ก็มีช่องทีวีดาวเทียมได้ ดังนั้น คงต้องรณรงค์เรื่องการรู้เท่าทันสื่อให้มาก และแม้ว่าเสรีภาพสื่อจะเป็นเรื่องดี แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีขอบเขตเลย ดังนั้น สื่อภาคประชาชนก็จะต้องสร้างกรอบจริยธรรมของตัวเอง สร้างกระบวนการให้สาธารณชนตรวจสอบได้ มีระบบควบคุมตัวเอง โดยไม่ใช่ให้หน่วยงานของรัฐเข้ามาควบคุม
จากนั้น มีการเสวนาในหัวข้อ “บทบาทสื่อภาคประชาชนในสถานการณ์ขัดแย้ง” ผู้ร่วมเสวนา คือ ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการเว็บไซต์ประชาไท วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ บรรณาธิการนิตยสารสารคดี สมเกียรติ จันทรสีมา หัวหน้าโต๊ะนักข่าวพลเมือง ทีวีไทย และเสาวลี วีรกุล เลขานุการวิทยุชุมชนบางสะพาน ดำเนินรายการโดย สุเทพ วิไลเลิศ เลขาธิการ คปส.
สื่อกับความขัดแย้ง
ชูวัส กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะ 3-4 ปีนี้ ความซับซ้อนของความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น โดยสื่อเองก็เป็นกลจักรสำคัญที่สร้างความขัดแย้ง การตอกย้ำปัญหาหรือแนวคิดการพัฒนาแบบเดิมๆ ก่อให้เกิดความขัดแย้งตลอด 40-50 ปีที่ผ่านมาในท้องถิ่นต่างๆ ดังนั้น เพียงแค่การเสนอข่าวของสื่อก็ก่อให้เกิดความขัดแย้งได้แล้ว ถ้าสื่อไม่ได้มีเจตจำนงในการเข้าใจมนุษย์เข้าใจสังคม เพราะสื่อจะกลายเป็นตัวสร้างความขัดแย้งในตัวของมันเอง ดังนั้น หน้าที่ของสื่อจึงไม่ใช่การเดินตามกระแสหลัก แต่สื่อต้องทวนกระแสด้วยการตั้งคำถาม
เขากล่าวว่า จากวิดีทัศน์ที่ได้ดูก่อนหน้าทั้งที่พูดสื่อในเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 หรือ 6 ตุลา 19 หรือเมื่อเดือนพฤษภา 35 จะเห็นประเด็นร่วมกันของเหตุการณ์ที่ผ่านมาว่า มีการใช้สถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือและข้ออ้างในการปราบปรามประชาชน ลดความชอบธรรมการชุมนุม เพราะเราถูกปลูกฝังมาว่า เรื่องชาติ ศาสนา มหากษัตริย์ เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว โดยไม่ตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านี้ เมื่อสื่อเดินตามก็กลายเป็นเครื่องมือให้เกิดความขัดแย้ง ประเด็นไม่ใช่เรื่องเห็นด้วยหรือไม่ แต่สื่อไม่มีสิทธิเดินตามความเชื่อเดิมๆ โดยไม่ตั้งคำถามหรือเสนออีกด้านหนึ่ง
วันชัย กล่าวว่า ทุกวันนี้ สังคมไทยบริโภคสื่อกันมากขึ้น ทั้งสื่อโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ และล่าสุด คืออินเทอร์เน็ต แต่จะได้ประโยชน์อะไรจากสื่อเหล่านั้นหรือไม่ เป็นสิ่งที่ต้องทบทวน
วันชัยเล่าว่า เพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่งเคยบอกกับเขาว่า คนไทยถูกสอนมาอย่างผิดๆ ที่บอกว่าต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ เขาคิดว่า เราไม่ควรจะเชื่อฟังใคร หากแต่เราควรจะฟังทุกคนที่พูดไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหน ปัญหาในทุกวันนี้คือ หลายครั้งเราจะพบว่า เราถูกยัดเยียดให้ฟังฝ่ายหนึ่ง และหลายครั้งก็ถูกยัดเยียดให้ฟังอีกฝ่ายหนึ่ง จนกลายเป็นว่า ทุกคนเลือกฟังสิ่งที่ตัวเองเชื่อแล้ว
วันชัย กล่าวว่า สื่อมีความสำคัญมากในการทำให้บ้านเมืองสงบสันติ ที่จริงสิ่งที่สื่อต้องทำนั้นมีข้อเดียว นั่นคือ สร้างความน่าเชื่อถือของข้อมูล สื่อต้องแสวงหาข้อเท็จจริง แต่อย่ายึดมั่นว่าข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไม่ได้ 400 ปีก่อนกาลิเลโอพิสูจน์ว่า โลกไม่ได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาล ขนาดความจริงของศาสนจักรยังเปลี่ยนแปลงได้ นับประสาอะไรกับข่าวที่ถูกรายงานในแต่ละวัน
บก.นิตยสารสารคดี กล่าวว่า การที่คนไทยไม่ได้แสวงหาความจริงรอบด้าน แต่ชอบแสดงความเห็น และยึดมั่นถือมั่นกับสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ทำให้เกิดความแตกแยกขึ้น เห็นได้จากเว็บบอร์ดในเมืองไทย ที่ผู้เห็นต่างจะถูกถล่ม ถ้าใครไม่เห็นด้วยในเรื่องภาคใต้ก็จะถูกถามว่า เป็นคนไทยหรือเปล่า ทั้งที่เว็บบอร์ด คือ พื้นที่ที่ให้แต่ละคนมาดีเบตกันเพื่อหาความจริงที่มากกว่านั้น
เขาเสนอว่า บรรณาธิการและคนทำสื่อต้องเป็นชาที่ไม่ล้นแก้ว ไม่บอกว่ารู้เรื่องนั้นๆ ดีอยู่แล้ว ทั้งที่ไม่เคยลงพื้นที่ แต่คิดว่ารู้และตัดสินและพาดหัวข่าวที่ตัวเองเชื่อ เมื่อหัวหน้าไม่ฟังข้อมูลรอบด้าน นักข่าวในพื้นที่ก็มีความเชื่อแบบยึดมั่นถือมั่น ทั้งหมดจึงไม่เป็นผลดีกับสังคมไทย สื่อควรจะทำหน้าที่เป็นคนส่งสารรายการข่าว โดยไม่ต้องชี้นำ ถ้าคิดว่าคนไทยมีคุณภาพในการรับรู้ มีสติปัญญาพอที่จะเชื่อก็ต้องให้เกียรติเคารพการตัดสินของเขา
ด้านสมเกียรติ จันทรสีมา หัวหน้าโต๊ะนักข่าวพลเมือง ทีวีไทย กล่าวถึงการรายงานข่าวกรณีความขัดแย้งในภาคใต้ของสื่อว่า นับจากเหตุการณ์ตากใบ สื่อก็ยังรายงานข่าวเหมือนเดิม ซึ่งไม่สามารถตอบโจทย์ให้กับสังคมได้ ทำให้มีการปรับตัวของสื่อใหม่เกิดขึ้น อาทิ ศูนย์ข่าวอิศราฯ ในปี 2548 วิทยุชุมชน เว็บบล็อกของโอเคเนชั่นที่เรื่องเล่าต่างๆ ที่บรรณาธิการตัดทิ้งจะไปอยู่ในนั้น สามจังหวัดภาคใต้มีเว็บไซต์สื่อสารภาษาอาหรับกับมุสลิมประเทศต่างๆ ดังนั้นจะเห็นว่า การจะเปลี่ยนแปลงสังคมนั้นไม่ใช่เพียงเริ่มจากสื่อกระแสหลัก แต่เป็นบทบาทของสื่อสาธารณะ สื่อชุมชน สื่อท้องถิ่น ที่กำลังก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา ที่จะต้องเชื่อมต่อกับสื่อหลัก หรืออาจเชื่อมร้อยกันเองโดยไม่ต้องสนใจสื่อใหญ่ก็ได้
นักข่าวพลเมืองกับการเสนอข่าว
เสาวลี วีรกุล เลขานุการวิทยุชุมชนบางสะพาน ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ขณะที่สื่ออาจจะเป็นตัวสร้างความขัดแย้ง แต่ส่วนตัวมองว่า ความขัดแย้งในพื้นที่ก็ก่อให้เกิดสื่อภาคประชาชนขึ้น ถ้าไม่มีความขัดแย้งเรื่องการพัฒนาของเอกชนกับรัฐที่จะให้บางสะพานเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเหล็กก็คงไม่เกิดสื่อวิทยุชุมชนขึ้นมา โดยเมื่อรู้ว่าจะมีโครงการนี้ คนกลุ่มเล็กๆ ได้รวมตัวกัน หาข้อมูลผลกระทบอีกด้านที่คนในชุมชนไม่ได้รับทราบมานำเสนอ
เสาวลี เล่าว่า ตนเองซึ่งก็ไม่เห็นด้วยกับการพัฒนาเข้ามารับหน้าที่ทำข่าว และส่งไปตามเว็บไซต์ต่างๆ อาทิ ไทยเอ็นจีโอ ประชาไท ขณะที่สื่อหลักส่วนมากแล้วเข้าไม่ถึง ต่อมา ทีวีไทยได้อบรมนักข่าวพลเมือง ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะทีวีไทยนับเป็นช่องทีวีกระแสหลัก ที่ทุกบ้านเปิดรับชมได้ อย่างไรก็ตาม เธอแสดงความเห็นว่า บางครั้งการเสนอข่าวอยู่ที่ความเป็นชาวบ้าน อยู่ที่ความบริสุทธิ์ใจ แต่เมื่อทำเข้าไป ก็มีการตีกลับให้แก้บท ถ้าเป็นเช่นนี้ ต่อไป นักข่าวพลเมืองจะกลายเป็นนักข่าวกระแสหลัก กลายเป็นต้องสร้างจริตสื่อขึ้นมา
เลขานุการวิทยุชุมชนบางสะพาน ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวต่อว่า ในฐานะสื่อภาคประชาชนที่เกิดจากสถานกาณ์ความขัดแย้ง เวลาประชุมกัน วิทยุชุมชนพูดกันตลอดว่า เวลานำเสนอ ต้องถอดความเป็นเสื้อเขียว (สัญลักษณ์ของการต่อต้านโรงไฟฟ้า) ออก และต้องให้ข้อมูลว่าโรงไฟฟ้าไม่ดีอย่างไร แต่ด้วยความที่ขัดแย้งแบบนี้ ชาวบ้านในพื้นที่มีธงอยู่แล้วว่าไม่เอาร้อยเปอร์เซ็นต์ ในพื้นที่สถานการณ์ความขัดแย้งแบบนี้ ประชาชนเป็นกลางได้จริงหรือ
ด้านหัวหน้าโต๊ะข่าวพลเมือง ทีวีไทย แสดงความเห็นในประเด็นนี้ว่า เข้าใจว่าคนที่เจอปัญหาก็อยากจะสื่อสาร แต่การเสนอในช่วงนักข่าวพลเมืองในทีวีไทยอาจไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาเท่าที่ควร เพราะเป็นช่วงของการเปิดประเด็นเท่านั้น นักข่าวพลเมืองต้องทำงานร่วมกับสื่ออื่นๆ และขับเคลื่อนในพื้นที่ด้วย
สมเกียรติ กล่าวว่า การเชื่อมสื่อเข้าด้วยกันเป็นเรื่องสำคัญ เพราะด้วยข้อมูลที่รอบด้านจะทำให้สื่อมืออาชีพทำงานอย่างสมบูรณ์มากขึ้น เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้เชิญนักวิชาการมาพูดเรื่องเขื่อนเพราะเป็นต้นเหตุที่ทำลายชายหาด ไม่ใช่คลื่นทำลายชายหาด ซึ่งชาวบ้านอาจรู้มานานแล้ว แต่ผู้สื่อข่าวไม่รู้ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องเปิดประเด็นใหม่ๆ กันต่อไป และต้องคิดด้วยว่า ทำอย่างไรให้คนในองค์กรเองและผู้ชมดูแล้วเข้าใจ
ขณะที่ วันชัย แลกเปลี่ยนว่า เวลาที่มีเอ็นจีโอมาสมัครงานที่นิตยสารสารคดี เขาจะแนะนำให้เปลี่ยนหมวก เวลาเป็นเอ็นจีโออาจจะปกป้องคนด้อยโอกาสในสังคม แต่สื่อคือการเสนอข้อมูลที่รอบด้านให้คนอ่าน โดยยกตัวอย่างบทละครเรื่อง Public Enemy ที่ชาวบ้านประท้วงว่า โรงงานปล่อยน้ำเน่า สื่อก็ประโคมข่าวว่า โรงงานทำน้ำเสีย สุดท้ายเมื่อเรื่องไปถึงศาลและมีการตรวจสอบก็พบว่า น้ำเน่าเกิดจากโรงงานสิบเปอร์เซ็นต์ ที่เหลือชุมชนเป็นสาเหตุ ดังนั้น จะเห็นว่า ไม่ใช่ว่าประชาชนทำอะไรแล้วจะถูกต้องเสมอ
บก.นิตยสารสารคดี บอกด้วยว่า ที่ผ่านมาสังคมไทยอาจเคยมองว่านักการเมือง นายทุนสกปรก แต่สังคมซับซ้อนขึ้น สังคมเป็นสีเทาจำนวนมาก ไม่มีใครถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ การเมืองไม่ใช่เรื่องของคุณธรรม ความดี ความชั่ว แต่การเมืองคือการแลกเปลี่ยนของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ถ้าเข้าใจตรงนี้จะเข้าใจว่า เราไม่ได้มารับประกันว่าใครดีเลวร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เราจะบอกสังคมอย่างรอบด้าน ถ้าทำได้ก็จะลดความแตกแยกในสังคมลงไป
วันชัย กล่าวว่า เมื่อก่อนมีรัฐกับประชาชน เดี๋ยวนี้ก็มีประชาชนในวงเล็บว่าฝ่ายไหน หากนำเสนอรอบด้านและน่าเชื่อถือ คนก็จะดูมากขึ้น สำหรับข่าวบางสะพานนั้น คนดูมีรีโมทในมือ ถ้าไม่พอใจเขาก็เปลี่ยนช่อง แต่ถ้าเสนออย่างรอบด้าน ไม่มีฝ่ายใคร ก็จะทำให้คนอยากดูมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ สื่อชุมชนเองก็ต้องรับใช้กลุ่มเป้าหมายซึ่งก็คือคนในชุมชนที่มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับกาารสร้างโรงไฟฟ้า การทำให้ทุกฝ่ายเชื่อถือและรับใช้คนในชุมชนได้ ก็คือ การรายงานว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง
เขามองว่า ถ้านักข่าวมีธงในใจ สังคมไม่มีวันสงบสุขได้ ต้องเริ่มที่นักข่าวที่เป็นมืออาชีพ เพราะคนที่จะทำหน้าที่สื่อไปสู่หลายล้านคนต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัวเองเสนอไป รวมถึงการกลั่นกรองก็สำคัญมาก จึงต้องมี บก. โต๊ะข่าว ที่ต้องเป็นมืออาชีพที่จะมองว่า เนื้อหาครบถ้วนหรือเปล่า จริงหรือเปล่า
ด้านชูวัส เห็นด้วยว่า ความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งที่ต้องมี ไม่เฉพาะกับการเสนอข่าว แต่เป็นเรื่องสำคัญในฐานะความเป็นมนุษย์ที่ต้องไม่โกหกกันอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือชาวบ้านที่เป็นคู่ขัดแย้งกับโรงถลุงเหล็ก หรือโรงไฟฟ้า จะให้เสนอรอบด้านได้อย่างไร เขามองว่า ปัญหาคือการเมืองและวิธีคิดแบบศีลธรรมที่ทำให้มองอีกฝ่ายเป็นมารต่างหาก เช่นมองว่า ภาคประชาชนต้องดี ต้องถูกเสมอ หรือพูดในประเด็นเชิงศีลธรรม ที่ทำให้คนอื่นเถียงไม่ได้ เช่น ไม่เห็นใจผู้ด้อยโอกาสเท่ากับเป็นคนเลว หรือพูดในนามชาติ ในนามพระเจ้า ในนามพระมหากษัตริย์ ใครจะกล้าเถียง หรือถ้ามองเรื่องดี-ชั่ว ถามว่า กรณีมาบตาพุดเราต้องการรักษาสิ่งแวดล้อม แต่สมมติที่ประธานสภาอุตสาหกรรมบอกว่าการระงับ 76 โครงการจะมีคนตกงานเป็นแสนคน สมมติถ้าเป็นเรื่องจริง อย่างนี้เป็นบาปหรือไม่ ถ้าเช่นนั้นแล้วอะไรคือศีลธรรม
ชูวัส เสนอว่า มองควรเป็นเรื่องของกลุ่มผลประโยชน์ นักข่าวพลเมืองต้องมองออกไปให้ไกลกว่าตัวบุคคลว่าดีหรือชั่ว แล้วคิดว่าสิ่งที่โรงเหล็กทำเป็นเรื่องผลประโยชน์ เพื่อให้สู้ได้อย่างน่าเชื่อถือ ให้ศัตรูยอมรับ เป็นความขัดแย้งที่คุยกันได้เป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่ความขัดแย้งแบบเผชิญหน้า นอกจากนี้ สิ่งที่ควรจะทำคือ การรณรงค์และเปลี่ยนความคิดความเชื่อ ไม่ใช่การปิดหูปิดตาและผูกขาดพื้นที่
ชูวัส กล่าวด้วยว่า การเกิดของสื่อพลเมือง วิทยุชุมชน บล็อกเกอร์ กำลังลดทอนพลังของสื่อกระแสหลัก ท้าทายความคิดความเชื่อเดิมที่ไม่หลากหลาย เช่น การนึกว่าโลกมีหกศาสนา ทั้งที่จริงมีเยอะกว่านั้น และศาสนาก็เริ่มจะตายไปเพราะแต่ละคนมีนิยามในการบรรลุความจริงของตัวเอง ความหลากหลายที่เกิดขึ้นในโลกและสื่อใหม่ได้ท้าทายความเชื่อกระแสหลัก ท้าทายวาทกรรมที่ผูกขาด ความคิดชุดเดียว รัฐเดียว อุดมคติเดียว ซึ่งสุดท้ายเชื่อว่า มนุษย์จะเรียนรู้ที่จะอยู่ท่ามกลางความหลากหลาย จนเชื่อว่าไม่มีอะไรจริงแท้แน่นอน ซึ่งนั่นอาจจะทำให้เกิดสันติ
อย่างไรก็ตาม เขามองว่า สื่อชุมชนยังมุ่งสู่กระแสหลักมากเกินไป ซึ่งปัญหาของเรื่องนี้ไม่ใช่สื่อหลัก แต่เป็นเรื่องของการกระจายอำนาจ มีการเสนอโรงเหล็กที่บางสะพาน ผู้ว่าฯ ประจวบฯ ต้องแก้ไขได้เบ็ดเสร็จ แต่พอแก้ไม่ได้ ก็กลายเป็นเรื่องของระดับนโยบาย ปัญหาวิ่งสู่ส่วนกลาง ทำให้ชุมชนก็ต้องเข้าสู่ส่วนกลาง และในรอบสิบปีมานี้ ชุมชนตื่นตัวเยอะมาก ถ้าวิ่งไปที่ส่วนกลางทั้งหมดจะเอาพื้นที่สื่อจากไหนการรองรับ ดังนั้นแทนที่จะทำให้ประเด็นใหญ่ขึ้น ด้วยการวิ่งหาสื่อระดับชาติ อาจจะต้องคิดและทำเรื่องการกระจายอำนาจให้มากขึ้น เพื่อทำให้รัฐเล็กลง
................................
ฟังเสียงการเสวนาทั้งหมดได้ที่