ที่มา ข่าวสด
คอลัมน์ เหล็กใน
พร้อมกับเสนอให้นำรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ที่ถูกคมช.ฉีกกลับมาใช้ เพราะประเด็นที่อยากแก้ไขก็มีอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวอยู่แล้ว
ดังนั้น ภาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็น ตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เสนอ จึงตกอยู่บนบ่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นหลัก
เพราะก่อนจะได้เป็นรัฐบาล ก็ตกปากรับคำกับพรรคร่วมว่าจะแก้ไข โดยเฉพาะมาตรา 190 และการเลือกส.ส.กลับไปใช้แบบเดิม คือ 1 เขต 1 คน
แม้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พยายามฉวยจังหวะที่พรรคเพื่อไทยชักเข้าชักออกว่าถ้าเรื่องมาก ก็อาจจะล้มกระดานไปเลย
แต่เมื่อถูกพรรคร่วมรัฐบาล อย่าง พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา ประสานเสียงทวงสัญญาดังๆ
นายอภิสิทธิ์ก็เริ่มหวั่นไหว กลัวรัฐบาลจะไม่รอด เลยต้องเชิญแกนนำตัวจริงพรรคร่วมรัฐบาลมาพูดคุยและรับปากว่ามาดำเนินการต่อ
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ประเมินว่าเสียงส.ส.ฝ่ายรัฐบาลมีอยู่ 275 เสียง ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องใช้ถึง 311 เสียง
แต่ก็หวังว่าจะมีเสียงวุฒิสมาชิกมาช่วยเติมให้เดินหน้าไปได้
ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย
นายอภิสิทธิ์เริ่มมีท่าทีอ่อนลง หลังจากแข็งกร้าว อัดยับพรรคฝ่ายค้านที่ถอนตัวไปก่อนหน้านี้
ล่าสุด นายธนิตพล ไชยนันทน์ ส.ส.ตาก พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล ยอมรับว่าวิปรัฐบาลกำลังประสานกับวิปฝ่ายค้าน ผ่าน นายวิทยา บุรณศิริ เพื่อให้กลับมาร่วมประชุมวิป 3 ฝ่ายในวันที่ 22 ต.ค.อยู่ แต่ยังไม่มีสัญญาณตอบรับ
โดยเชื่อว่าที่พรรคเพื่อไทยเรียกร้องให้นำรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 กลับมาใช้ เป็นแค่วิธีการต่อรองเท่านั้น
"การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ก็จะต้องมีคนเจ็บบ้าง แต่จะต้องเฉลี่ยให้ทุกคนเจ็บน้อยที่สุด การที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นเจ้าภาพครั้งนี้ ทำให้ขณะนี้พรรคเจ็บหนัก เพราะถูกขนาบจากหลายด้าน ทั้งพรรคร่วมรัฐบาล ฝ่ายค้าน ส.ว. เสื้อเหลือง และเสื้อแดง แต่หากสามารถทำให้ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันได้ สุดท้ายผลดีจะตกกับประเทศชาติ เพราะเป็นกระบวนการที่นำไปสู่ความสมาน ฉันท์" นายธนิตพลระบุ
ก่อนหน้านี้ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ก็เคยวิเคราะห์ว่า ต่อจากนี้ไป พรรคประชาธิปัตย์จะเป็นตำบลกระสุนตก
เมื่อเลขานุการวิปพรรคร่วมรัฐบาลออกมาโอดครวญซ้ำอีกคน
ต้องรอดูว่าจะ"พลิ้ว"ออกหรือไม่!?!