ที่มา สยามรัฐ
วิทยา ตัณฑสุทธิ์12/10/2552
“อภิสิทธิ์” – “ฮุนเซน”
คนในวงการธุรกิจคุยกันเมื่อเทียบเคียงฝีมือความสามารถของสมเด็จฮุนเซนผู้นำเขมรกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำไทยแล้ว พบว่าห่างชั้นกันมาก
นักธุรกิจลำดับความว่า ประเทศไทยแตกแยกมีม็อบอาละวาด มีจลาจล มีการรัฐประหาร และเพียงชั่วเวลาแค่สองปีมีการเปลี่ยนนายกฯถึง 4 คน มีพรรคการเมืองถูกยุบไปหลายพรรค คนที่เป็นมันสมองด้านการเมืองในพรรคที่โดนยุบถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนาน 5 ปี ทำให้คนเหล่านี้ซึ่งมีจำนวนรวมกัน 220 คน มีสภาพเหมือนเป็นอัมพาต
การเมืองไทย จมอยู่ในแดนสนธยาตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2548 ซึ่งเมื่อนับเวลาจนถึงขณะนี้ (เดือนตุลาคม 2552) เป็นเวลานานกว่า 4 ปี และถึงแม้จะพยายามหวนกลับมาสู่เส้นทางประชาธิปไตยเขียนรัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ.2550 ขึ้นมาใช้ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ก่อปัญหา เพราะเขียนโดยกลุ่มคนที่คณะทำรัฐประหารแต่งตั้ง
เนื้อหาในรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบ เพราะยังยึดแนวทางทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ มีระบบเลือกตั้งผสมกับแต่งตั้ง เปิดช่องให้คนที่อยู่นอกระบบแทรกตัวเข้ามาผสมโรง ให้องค์กรอิสระมีอำนาจครอบจักรวาล และการยุบพรรคการเมืองก็ยังทำได้ง่ายเหมือนเดิม
สภาพการเมืองในลักษณะพิกลพิการเช่นนี้ ทำให้ไม่มีรัฐบาลชุดใดสามารถผลักดันนโยบายให้เกิดผลเป็นรูปธรรม รัฐบาลแต่ละชุดเสียเวลาไปกับการต่อสู้โจมตีทำลายกัน ต้องประคองตัวให้รอดพ้นมรสุมที่ถาโถมเข้าใส่ทั้งด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ และสังคมที่แตกแยกขยายตัวกว้างใหญ่มากขึ้น
หลังจากมีการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 จนถึงปัจจุบัน ปรากฏว่านายกฯทั้ง 4 คนได้แก่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายสมัคร สุนทรเวช นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆได้สำเร็จ
ที่แย่กว่านั้นก็คือนายกฯบางคนกลับสร้างปัญหาใหม่ และทำให้การแตกแยกในสังคมขยายบานปลายหนักมากขึ้น สภาพเช่นนี้จึงทำให้เศรษฐกิจไทยทรุดลงไปโดยไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ถึงจะโงหัวขึ้นมาได้ และการที่นายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พูดว่าเศรษฐกิจไทยตกต่ำแบบตัว V คือลงเร็วแล้วขึ้นเร็วนั้น นักธุรกิจส่ายหัวบอกว่าคำพูดนี้ไม่จริง
นักธุรกิจมองว่า เศรษฐกิจไทยทรุดครั้งนี้เสียหายหนักกว่ายุคฟองสบู่แตกปีพ.ศ.2540 และถ้าจะบอกว่าตกต่ำแบบตัว U ก็ไม่จริงเช่นกัน เพราะตกแบบดิ่งพสุธาลงติดพื้น แล้วก็ลากยาวไปเรื่อย ซึ่งถ้าเขียนเป็นกราฟก็จะคล้ายตัวไส้เดือนมากกว่า
นักธุรกิจอยากให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทบทวนการบริหารประเทศด้วยใจที่เปิดกว้างและเป็นกลางอย่าเอาพูดถึงส่วนดีด้านเดียว และอยากให้ดูการทำงานของผู้นำประเทศเพื่อนบ้านได้แก่ ลาวและเขมร เพราะสองประเทศนี้ด้อยพัฒนาล้าหลังกว่าไทย แต่ผู้นำของเขามีระบบบริหารจัดการที่มีเอกภาพ และพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง
โดยเฉพาะเขมรซึ่งมีปัญหาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนกับไทย สิ่งที่สมเด็จฮุนเซนผู้นำเขมรก็คือ การเชื้อเชิญบริษัทเชฟรอนของสหรัฐ บริษัทโตเตลของฝรั่งเศส และบริษัทเอ็มโอ อีซีโอ ของญี่ปุ่น ให้มาสำรวจแหล่งน้ำมันและก๊าซในทะเลด้านติดกับอ่าวไทย โดยสมเด็จฮุนเซนยืนยันให้ความมั่นใจกับกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ว่า ไม่มีปัญหาใดๆ เพราะเขมรมีสิทธิในพื้นที่สำรวจ
ส่วนฝ่ายไทยก็ยืนยันเช่นกันว่า พื้นที่เหล่านั้นเป็นของไทย และกำลังหาทางเจรจากันเพื่อให้ได้ข้อยุติทั้งพื้นที่บนบกบริเวณเขาพระวิหาร กับพื้นที่ในทะเลใกล้เกาะกูดของไทย
นักธุรกิจชี้ให้เห็นว่า สมเด็จฮุนเซนเดินหน้าล้ำไปไกล ผิดกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีปัญหากับประเทศเพื่อนบ้านทั้งเขมรและพม่า และขณะที่สมเด็จฮุนเซนเดินหน้าไปเรื่อยๆ แต่นายอภิสิทธิ์กลับทำได้แค่นั่งรอให้มีการเจรจาแบบสันติกับเขมร
ซึ่งไม่มีว่าจะเริ่มเจรจากันได้เมื่อไหร่ และจะใช้เวลายืดเยื้อยาวนานแค่ไหน จะทำเสร็จสิ้นในชาติหน้าตอนบ่ายๆหรือเปล่าก็ไม่ทราบ