ที่มา ประชาไท
11 ต.ค.52 ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมัชชาสังคมก้าวหน้าได้จัดนิทรรศการจัดนิทรรศการแสดงศิลปะ เพื่อแสดงจดหมายต่างๆ ที่ส่งถึงดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ผู้ต้องขังคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หลังจากที่สมัชชาสังคมก้าวหน้าได้รณรงค์ให้ผู้รักประชาธิปไตยเขียนจดหมายรักถึงดารณี นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาระยะเวลาหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีการเสวนาเรื่อง “สิทธิมนุษยชนกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” และการอ่านบทกวี การแสดงดนตรี โดยกลุ่มผู้สนใจหลากหลายกลุ่ม
ทั้งนี้ สมัชชาสังคมก้าวหน้าได้ระบุวัตถุประสงค์ในการจัดงานไว้ว่าเป็นไปเพื่อ 1.ผลักดันให้นำไปสู่แนวทางการแก้ไขมาตรฐานสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ไม่ให้ละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมของประชาชน โดยเฉพาะผลักดันให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดใหม่หาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว 2. หาแนวทางในการแก้ไขปัญหากระบวนการยุติธรรมที่ศาลถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของผู้ก่อรัฐประหาร 3. ร่วมรณรงค์ยุติการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งใช้เป็นเครื่องมือลงโทษผู้มีความเห็นต่างจากผู้มีอำนาจทางการเมือง
ภายในวงเสวนา ประเวศ ประภานุกูล ทนายความของดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ได้เล่าถึงชีวิตความเป็นอยู่ภายในเรือนจำของลูกความว่า เธอได้รับการเลือกปฏิบัติตั้งแต่แรกที่เข้าไป เพราะโดยปกติผู้ต้องขังจะโดนกักเดี่ยวประมาณ 1 เดือน แต่ดากลับโดน 3 เดือน นอกจากนี้ยังมีการนำชื่อไปแปะบอร์ดเป็น 1 ใน 5 ผู้ต้องหาคดีอุจฉกรรจ์ของเรือนจำตั้งแต่แรกเข้า รวมถึงการดูและเป็นพิเศษว่ากระทำความผิดอะไรหรือไม่แล้วลงโทษ ซึ่งล่าสุดมีการภาคทัณฑ์ไว้ว่าจะไม่ให้เยี่ยมญาติด้วย
เขายังกล่าวถึงโรคขากรรไกรอักเสบของดาด้วยว่า ปัจจุบันนี้อาการทรุดหนักลงซึ่งแพทย์ในราชทัณฑ์ระบุว่าอาจเป็นเพราะความเครียด ก่อนหน้านี้เขาเคยยื่นต่อศาลขอปล่อยตัวชั่วคราวออกมาผ่าตัดแต่ศาลให้เหตุผลว่าภายในทัณฑสถานก็มีสถานพยาบาล
“ในความเป็นจริงในนั้นไม่มีความพร้อมเลย หมอบอกดาเองว่า ถ้าออกไปได้ช่วยเปิดรับบริจาคเครื่องมือทางการแพทย์หน่อย เพราะขาดแคลนมาก... ทุกวันนี้ดาอยู่ได้ด้วยการซื้อนมกินเสียเป็นส่วนใหญ่ ข้าวในนั้นแทบจะไม่ได้ทานเลย” ประเวศกล่าว พร้อมทั้งตำหนิสื่อมวลชนไทยที่ไม่ยอกนำเสนอเรื่องนี้มากนัก
จอม เพชรประดับ นักสื่อสารมวลชนชื่อดัง อดีตผู้สื่อข่าวโทรทัศน์หลายสถานี กล่าวว่าเขามาพูดวันนี้ด้วยความหวั่นไหว ไม่มั่นใจนัก เพราะมีความจริงอีกด้านของสังคมที่ถูกทำให้กลัว ถูกทำให้ไม่กล้ายอมรับ แต่ก็ตัดสินใจมาเพื่อระลึกถึงดา และพยายามยืนยันว่าคนไทยควรมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเขาเองก็ย่อมมีเสรีภาพเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เขาไม่แปลกใจที่สื่อจะเฉยเมยต่อเรื่องดังกล่าวเพื่อความปลอดภัย มั่นคงของตนเอง
เขากล่าวว่า มันอาจจะเร็วหรือไกลไปที่จะนำมาซึ่งสิทธิเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะเราไมได้ปูพื้นฐานอะไรไว้แม้แต่ในตำราเรียน เพื่อให้คนเข้าในบทบาททางการเมืองของสถาบันต่างๆ ประวัติศาสตร์ เรื่องความเท่าเทียม เรื่องสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย
“เราไม่เคยพูดเรื่องเหล่านี้กันอย่าจริงจัง มีเหตุมีผล อย่างเป็นระบบ เป็นหลักวิชาการเลย เพื่อไม่ให้เรื่องนี้ถูกทำให้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง และทำให้มีเหยื่อทางการเมืองอีกดังที่เราเห็นมาตั้งแต่อดีต” จอมกล่าว
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะกฎหมายในมาตรา 112 นั่นมีความกำกวมทั้งในถ้อยคำและการตีความ ซึ่งท้ายที่สุดทุกอย่างเป็นเอกสิทธิ์ของศาลในการตีความ นอกจากนี้มันยังมีลักษณะพิเศษที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริงก็มีความผิด ไม่ว่าจะใช้ถ้อยคำสุภาพหรือหยาบคายก็มีความผิดอีกด้วย อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการตีความที่กว้างขวางกันแบบนี้แล้วก็ยังไม่สามารถปกป้องสถาบันกษัตริย์ได้ เนื่องจากสังคมไทยมักใช้ช่องทางของการซุบซิบนินทาแทน
สุธาชัย กล่าวว่า ในที่สุดกฎหมายเช่นนี้จะสร้างผลร้ายในสังคม โดยเฉพาะผลร้ายต่อกระบวนการทางการเมืองและสังคม เพราะมันได้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองตลอดมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน พร้อมกันนี้สุธาชัยยังได้ยกตัวอย่างการใส่ร้ายป้ายสีเรื่องดังกล่าวไล่ตั้งแต่ พ.ศ.2490 ในกรณีสวรรคต จนถึงกรณีปัจจุบันซึ่งมีผู้โดนคดีนี้ไปแล้วเกือบยี่สิบคน และส่วนใหญ่มักเป็นผู้ที่อยู่ฝั่งเสื้อแดง ซึ่งย่อมแสดงให้เห็นถึงปัญหาของกระบวนการยุติธรรม
“ท้ายที่สุดมันกลายเป็นเครื่องมือทำให้คนตาบอด พร้อมลุกขึ้นมาฆ่าคนอื่นในนามของความจงรักภักดี” สุธาชัยกล่าว