ที่มา ไทยรัฐ
กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ ยังไม่มีอะไรแน่นอน
เพราะประธานวิปรัฐบาลก็พูดอย่างประธานวิปฝ่ายค้านก็พูดอย่าง ประธานสภาผู้แทนฯ ก็พูดอย่างประธานวุฒิสภาก็พูดอย่าง นายกรัฐมนตรีก็พูดไปอีกอย่าง
5 คน พูดไป 5 อย่าง ชาวบ้านฟังแล้วสับสน ไม่รู้จะเชื่อใครดี??
แถมอดีตประธาน คมช. เจ้าของบันได 4 ขั้น ยังอุตส่าห์โผล่หน้ามาพูดเรื่องแก้รัฐธรรมนูญกับเค้าเหมือนกัน
"แม่ลูกจันทร์" เห็นว่า เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ถ้าฟังมากคนก็มากความ
ถ้าจะเอาให้ชัดๆ ต้องฟัง "สุเทพ เทือกสุบรรณ" ผู้จัดการรัฐบาลคนเดียว!!
"สุเทพ" ยืนยันว่าการแก้รัฐธรรมนูญต้องเดินหน้าต่อไป
เพราะเป็นสัญญาสุภาพบุรุษที่ได้ตกลงกันไว้กับพรรคร่วมรัฐบาล
ถ้าพรรคประชาธิปัตย์เบี้ยวซะเองก็เสียคน
ส่วนการที่พรรคเพื่อไทยกลับลำไม่ยอมร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ทั้ง 6 ประเด็น ก็เชิญตามสบาย
พรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคจะจับมือกับวุฒิสภาลุยถั่วแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปตามเงื่อนไขเดิม
"สุเทพ" มั่นใจว่าเสียง ส.ส.รัฐบาล บวกกับเสียงบางส่วนของ ส.ว. ก็เพียงพอที่จะโหวตสนับสนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา
แต่จะแก้สำเร็จหรือไม่ "แม่ลูกจันทร์" ยังไม่ชัวร์
เนื่องจาก "ผู้จัดการรัฐบาล" กับ "นายกรัฐมนตรี" ขัดแย้งกันเอง
นายกฯอภิสิทธิ์ เห็นว่าถ้าฝ่ายค้านไม่เอาด้วย ก็ไม่ควรเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป
เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อความสมานฉันท์ ทุกฝ่ายควรมีความเห็นพ้องต้องกัน
เมื่อยังมีความขัดแย้งกัน ถึงจะแก้ รัฐธรรมนูญก็ยังมีความขัดแย้งอยู่ดี
คือใช้กรณีพรรคเพื่อไทยเป็นเงื่อนไขล้มโต๊ะซะเลย
เพราะใครๆก็รู้ว่า "อภิสิทธิ์" ไม่ต้องการ แก้รัฐธรรมนูญ
คนในพรรคประชาธิปัตย์ส่วนใหญ่ก็ไม่ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ!!
ก็มีแต่ "สุเทพ" คนเดียวที่เห็นว่าเมื่อไปตกลงกับพรรคร่วมรัฐบาลไว้อย่างไร พรรคประชาธิปัตย์ต้องทำตามสัญญา
การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จึงพิสูจน์ บารมี "ผู้จัดการรัฐบาล" กับ "นายกรัฐมนตรี" ว่าใครคือผู้ชี้ขาดการแก้รัฐธรรมนูญตัวจริง??
ล่าสุด ในการประชุมแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ที่บ้านพิษฯ เมื่อเย็นวานซืน ที่ประชุมลง มติยืนยันให้เดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นต่อไป
เท่ากับ "นายกฯอภิสิทธิ์" ถูกพรรคร่วมกดดันต้องยอมจำใจเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อตกลงเดิม
"แม่ลูกจันทร์" เคยกระชุ่นไว้ว่า ถ้า พรรคประชาธิปัตย์มีความจริงใจจะแก้รัฐธรรมนูญ กันจริงๆ
ถึงพรรคเพื่อไทยจะไม่เอาด้วย ก็ยังแก้ได้สะดวกโยธิน
ถึงแม้รัฐบาลมี ส.ส.รวมทั้งสิ้น 245เสียง ยังไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้ง 2 สภารวมกัน
แต่ถ้าได้เสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา อีกแค่ 67 คน (จาก ส.ว.ทั้งหมด 148 คน) รวมกันแล้วจะได้เสียงสนับสนุน 312 เสียง
เกินกึ่งหนึ่งไปหนึ่งเสียง แก้รัฐธรรมนูญ ได้อย่างสบายแฮ
ปัญหาอยู่ที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ส่วนใหญ่ซึ่งไม่เต็มใจแก้รัฐธรรมนูญ จะยอมโหวตให้หรือเปล่าเท่านั้นเอง??
ถ้า ส.ส.ประชาธิปัตย์ "ไม่โหวต" การแก้รัฐธรรมนูญก็ล้มกลางคัน
ถ้าแก้รัฐธรรมนูญไม่สำเร็จ พรรคร่วมรัฐบาลก็แตกกระเจิง
ก็มีเหตุอันควรที่นายกฯอภิสิทธิ์จะยุบสภาฯ
ฟันธง...เกมจะจบที่ยุบสภาฯ ไม่ใช่ จบที่แก้รัฐธรรมนูญ.
"แม่ลูกจันทร์"