ที่มา ข่าวสด
คอลัมน์ เหล็กใน
เมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ออกหมายเรียก 4 ตำรวจ และ 1 อดีตตำรวจ นำโดย พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผบช.ภาค 5 นายตำรวจคนดัง ที่เข้ามาพัวพันกับเรื่องนี้ตั้งแต่เริ่มแรกสมัยเป็นสารวัตรอยู่นครบาล
งานนี้เป็นผลงานทิ้งทวนของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตอธิบดีดีเอสไอ ที่ตอนนี้กลายเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม
พ.ต.อ.ทวีจับคดีนี้มาตั้งแต่ปี 2547 หลังรับคดีนี้มาตามบัญชา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกฯในขณะนั้น
ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา คดีแม้จะเดินหน้าไปอย่างช้าๆ แต่ก็เป็นระบบ และประสานข้อมูลกับทางการซาอุฯอย่างต่อเนื่อง
งานผ่านมาเป็นขั้นตอนกระทั่งได้หลักฐานสำคัญนำมาสู่การออกหมายเรียก
คดีอุ้มฆ่านักธุรกิจซาอุฯ ถือเป็น 1 ใน 3 คดีใหญ่ที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุฯ ย่ำแย่มาจนทุกวันนี้
อีก 2 คดีที่เหลือคือฆ่านักการทูต และเพชรซาอุฯ
เงินหลายแสนล้านหรืออาจจะเป็นล้านล้านบาทที่ควรจะได้ทั้งจากแรงงานไทยที่ไปทำงานซาอุฯ นับแสนคนช่วงก่อนหน้านี้ และนักท่องเที่ยวเศรษฐีน้ำมันที่จะเข้ามาเมืองไทยตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เหลือเพียงความว่างเปล่า
พล.ต.ท.สมคิด ถูกคดีนายอัล-รูไวลี่ ตามหลอกหลอนมาตลอด ตั้งแต่แรกที่ถูกดำเนินคดีก่อนอัยการสั่งไม่ฟ้อง แต่หลังจากนั้นทุกๆ รัฐบาลจะนำคดีเกี่ยวกับซาอุฯ ขึ้นมาสอบสวนทุกคราไป
เส้นทางอาชีพตำรวจของพล.ต.ท.สมคิดจึงค่อนข้างตีบตัน เพราะผู้มีอำนาจก็ไม่กล้าใช้งานหรือให้ไปรับหน้าที่สำคัญ
จนในช่วงที่เกิดการปฏิวัติปี 2549 พล.ต.ท.สมคิด ถึงเริ่มมีบทบาทมากขึ้นจากการที่พี่ชายเป็นหัวหน้าสำนักงาน คมช.
กระทั่งในยุคนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ส่งไปนั่งเก้าอี้ผู้บัญชาการตำรวจภาค 5 ดูแลพื้นที่ภาคเหนือ
เมื่อถูกออกหมายเรียก พล.ต.ท.สมคิดจึงให้สัมภาษณ์อย่างไม่พอใจ และเชื่อว่าเป็นการกลั่นแกล้ง
ในส่วนของพรรคฝ่ายค้านเองก็ได้ทีไล่ถล่มรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ โดยเฉพาะประเด็นการย้ายพ.ต.อ.ทวี ออกจากเก้าอี้อธิบดีดีเอสไอ ที่ทำคดีนี้อย่างต่อเนื่อง อาจจะทำให้คดีนี้และความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุฯ ที่กำลังดีขึ้นย่ำแย่ลงไปอีก
นายอภิสิทธิ์ต้องพิสูจน์ว่าจริงใจในการคลี่คลายคดีดังกล่าว ด้วยการสนับสนุนการทำงานของดีเอสไอ และจัดการ"ตอ"ที่อาจจะขัดขวางอย่างจริงจัง
ไม่ต้องมาก
แค่ครึ่งเดียวที่เคยทำให้ "นายสนธิ ลิ้มทองกุล" ก็พอแล้ว!?