ที่มา ประชาไท
คงถือเป็นคราวซวย ถ้าหากวันดีคืนดีบ้านที่ของคุณถูกประกาศให้อยู่ในเขต ‘สีแดง’ โดยที่คุณเองไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร และหากไม่ทำความเข้าใจกันให้ดีระหว่างผู้ประกาศกับผู้ได้รับผลกระทบด้วยแล้ว ความรู้สึกอึดอัดคับข้องใจคงจะยิ่งสะท้อนกลับมาแรงเป็นพิเศษเหมือนกับที่ เป็นไปในหมู่บ้านบาลูกาปาลัส หรือ...หมู่บ้านสีแดง!!
หมู่บ้านบาลู กาปาลัส อยู่ในตำบลบาลอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา พื้นที่นี้ผู้ติดตามข่าวความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้คงคุ้นหูกันดี เนื่องจากตกเป็นข่าวบ่อยจนคล้ายเป็นยี่ห้อของอำเภอไปแล้ว ดังนั้น คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่หมู่บ้านนี้จะตกอยู่ในความหวาดระแวงหากมองจากสายตาของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ด้วยเหตุผลในการประกาศดูเบาและไม่ค่อยมีคำอธิบายมากนัก ประกอบกับคดีที่ผู้ใหญ่บ้านถูกยิงเงียบหายไปอย่างน่ากังขา คนในหมู่บ้านจึงเริ่มมีคำถามปรากฏการณ์ทาสีที่เกิดขึ้นกับตนเอง
“ในหมู่บ้านไม่ค่อยเกิดเหตุรุนแรง แต่ที่ประกาศเป็นพื้นที่สีแดงเนื่องจากมีคนในหมู่บ้าน 2 คนถูกออกหมายจับโดยมีข้อกล่าวว่าเป็นโจรก่อความไม่สงบซึ่งสองคนนั้นได้หนีออกจากหมู่บ้านไป ทางการจึงมองว่าที่นี่เป็นสีแดง และเป็นมา 4 ปีแล้ว” มอยิ วาแม โต๊ะอิหม่ามแห่งมัสยิดดารุลฮฺดา กล่าวถึงที่มาที่ไปของสี หลังจากนั้นก็มีหน่วยทหารพรานเข้ามาตั้งฐานในหมู่บ้าน มีการเชิญตัวชาวบ้านไปให้ปากคำตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ก็ปล่อยตัวออกมาเป็นส่วนมาก ระยะหลังนี้ไม่ค่อยมีการเชิญตัวแล้ว คงคล้ายวางใจขึ้นแต่สีแดงก็ยังอยู่
“สีแดงที่ทางการให้พื้นที่นี้เป็น หมายความเหมารวมทุกคนว่าเป็นโจรหมด แต่ทั้งหมู่บ้านจะไม่มีคนดีเลยหรือ” โต๊ะอิหม่ามตั้งคำถามไปตามภาพรวมของหมู่บ้านพร้อมกับยกความสำเร็จด้านการ ศึกษาของเยาวชนในหมู่บ้านมาการันตี เพราะปกติในสายตาของเจ้าหน้าที่มักมองว่าแนวร่วมผู้ก่อเหตุความรุนแรงคือ เยาวชนที่ไม่เรียนหนังสือหรือติดยาเสพติด แต่สำหรับในหมู่บ้านสีแดงแห่งนี้กลับมีคนจบปริญญาตรีและปริญญาโทของรัฐบาล หลายคน อีกทั้งยังเป็นหมู่บ้านที่มีเศรษฐกิจดี หลายบ้านมีสวนยางของตัวเอง แต่พอไปสมัครงาน สิ่งที่คาใจเสมอคือทำไม ‘ปริญญาตรีสีแดง’ จึงสู้ ‘ปริญญาตรีมีเส้น’ ไม่ได้
“เด็กข้างบ้านเคยไปสอบเข้าทำงาน แกนั่งติดกับคนที่อื่นที่ไม่ได้มาจากพื้นที่สีแดง เด็กมาเล่าให้ฟังว่าเขาขอลอกก็ให้ ปรากฏคนที่ลอกกลับได้ทำงาน มันเสียความรู้สึกนะ มันกีดกันโอกาส เด็กที่นี่เข้าสู่ระบบการศึกษาของรัฐเยอะ ทั้งวิทยาลัยครูยะลาหรือมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แต่กลับไม่มีความหวังได้ทำงานดีๆ”
นี่ คงเป็น ‘โอกาส’ ที่มอยิมองว่าหายไปพร้อมกับการเป็น ‘หมู่บ้านสีแดง’ ระยะหลังเขาเริ่มกังวลมากขึ้นเรื่องปัญหายาเสพติด ส่วนหนึ่งมาจากการที่เด็กเริ่มห่างไกลจากศาสนา เขาสังเกตว่าเด็กในหมู่บ้านที่ติดยาส่วนมากคือเด็กที่ไปเรียนสายสามัญในตัวอำเภอ ไม่ใช่เด็กที่เรียนสายศาสนา ส่วนเด็กที่ว่างงานเพราะไม่มีโอกาสก็อาจเข้าสู่วงจรนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนปัญหายาเสพติดนั้นดูเหมือนมอยิจะมีข้อสงสัยต่อความจริงใจของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างค่อนข้างแรงเช่นกัน
“ในหมู่บ้านไม่มียาเสพติด” โต๊ะอิหม่ามยืนยัน มันมาทางรถยนต์
“มันมาจากข้างบน ไม่ได้แอบมา ด่านก็เยอะทำไมมาถึงที่นี่ได้และมาได้มาก อยากตั้งข้อสังเกตว่ามีการยัดเงินผ่านด่านมาหรือไม่และข่าวที่มีว่าจับได้ นั้นจับเอาดาวหรือไม่” มอยิยังวิพากษ์แถมลงไปถึง ‘โครงการญาลันนันบารู’ ที่รัฐจัดให้มีการอบรมเรื่องยาเสพติดหรือบำบัดเด็กติดยาในพื้นที่ว่า ไม่มีทางแก้ปัญหาได้ ที่สำคัญคืออาจเป็นเพียงการจัดอบรมมาเพื่อใช้งบประมาณเท่านั้น แต่ไม่มีเจตนาเด็กให้เลิกยาเสพติด เพราะพอเด็กกลับมาเจอบรรยากาศเดิมๆก็กลับมาติดยาเหมือนเดิมอีก ทางออกเดียวจะทำได้สำเร็จคือ ‘การสกัด’ ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของเจ้าหน้าที่นั่นเอง
“ไม่มีอะไรจะเสพแล้วจะหาอะไรมาดูด” เขาให้เหตุผลอย่างเรียบง่ายที่สุด
เรากลับออกมาจากหมู่บ้านพร้อมความคิดบางอย่าง บางทีนี่อาจเป็นมุมย้อนแย้งของสถานการณ์ชายแดนใต้ เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐเองสามารถระแวงและมอบ ‘สีแดง’ ให้คนหมู่บ้านนี้ได้ แต่ในส่วนที่ชาวบ้านยินยอมให้ใช้อำนาจโดยดีกลับดูไม่เต็มที่นัก มันก็ไม่น่าแปลกใจเช่นกันที่โต๊ะอิหม่ามประจำหมู่บ้านผู้นี้จะตั้งข้อระแวง ถึงผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่รัฐกลับคืนไปบ้าง
ที่มา: ศูนย์ข่าวอามาน