ที่มา ข่าวสด
รายงานพิเศษ
ตระกูล มีชัย / ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน ไชยันต์ ไชยพร / พ.ท.กมล ประจวบเหมาะ |
1.ให้ครม.น้อมนำพระบรมราโชวาทเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะเรื่องการปฏิบัติงานให้เกิดความเรียบร้อยและเกิดความสุขในหมู่ประชาชน
2.ให้ยึดถือการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอย่างเคร่งครัด
3.นโยบายที่ครม.อนุมัติถือเป็นเป้าหมายหรือทิศทางร่วมกันเพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพ
4.ในภาวะวิกฤตการทำงานของรัฐบาลต้องเป็นไปด้วยความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ต้องไม่เป็นรัฐบาลที่แบ่งพรรค
5.รัฐมนตรีทุกคนต้องเข้าร่วมประชุมสภาอย่างสม่ำเสมอ ต้องไปรับฟังความคิดเห็นของส.ส.และตอบกระทู้
6.ให้รัฐมนตรีทุกคนปฏิบัติตนโดยคำนึงถึงความรู้สึกของประชาชน พฤติกรรมใดๆ ซึ่งนำไปสู่ความไม่เชื่อมั่น ขอให้ระวังเป็นพิเศษ
7.ในรัฐบาลที่เชื่อมั่นวิถีทางประชาธิปไตยต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม
8.รัฐบาลชุดนี้ต้องพร้อมรับการตรวจสอบ ทั้งในเชิงนโยบายและเรื่องอื่นๆ
และ
9.รัฐมนตรีทุกคนไม่มีสิทธิเหนือประชาชนคนอื่นในแง่การปฏิบัติตามกฎหมาย
พร้อมย้ำด้วยว่าจะประเมินผลงานทุก 3 เดือน
ล่วงเลยมาถึง 9 เดือน การบริหารงานภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ ปรากฏข่าวทุจริตออกมาอย่างต่อเนื่องและเกี่ยวโยงกับพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาลทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะเป็นปัญหาปลากระป๋องเน่า โครงการชุมชนพอเพียง หรือล่าสุดโครงการไทยเข้มแข็ง ที่กำลังกลายเป็นปัญหาลุกลามถึงขั้นชมรมแพทย์ชนบทเรียกร้องกดดันให้ปลดรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขออกจากตำแหน่ง
จึงมีเสียงสะท้อนจากนักวิชาการที่จับตาดูการบริหารงานของรัฐบาลภายใต้กฎเหล็ก 9 ข้อ ว่าแท้จริงแล้วเป็นเพียงคำพูดสวยหรูเพื่อสร้างภาพรัฐบาล
หรือเป็นกฎที่รัฐบาลควรนำมาใช้อย่างจริงจัง
ตระกูล มีชัย
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
การบริหารงานรัฐบาลที่ผ่านมามีหลายเรื่องไม่เป็นไปตามกฎเหล็กนายกฯ
กฎเหล็กของนายกฯจริงๆ ก็ใช้กันทั่วไป แต่นายกฯไม่สามารถจัดการหรือใช้กฎเหล็กกับพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดได้ เพราะองค์ประ กอบรัฐบาลผสม นายกฯไม่สามารถจัดการพรรคอื่นได้
ก่อนหน้านี้มีเรื่องปลากระป๋องเน่าของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ยังดีที่รัฐมนตรีลาออกไปก่อนเพราะผลมันชัดเจนว่าปลากระป๋องเน่า รัฐมนตรีแสดงความรับผิดชอบก็ต้องชื่นชม ที่ไม่ให้ผลโยงมามัดตัวนายกฯ
แต่กับกระทรวงสาธารณสุขต้องดูผลสอบจะออกมาอย่างไรและนายกฯจะจัดการอย่างไร
หากผลสอบชี้ชัดว่า นายวิทยา แก้วภราดัย รมว. สาธารณสุข จากพรรคประชาธิปัตย์ หรือ นายมานิต นพอมรบดี รมช.สาธารณสุข จากพรรคภูมิใจไทย หรือนักการเมืองมีความผิดชัดเจนแล้วนายกฯไม่จัดการ กฎเหล็กจะกลับมาทิ่มแทงตัวนายกฯ หรือหากการสอบไม่เปิดเผยข้อมูลที่แท้จริง กฎออกมาไม่ปฏิบัติก็ทิ่มแทงตัวเองทั้งนั้น
การใช้กฎเหล็กกับพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่นทำไม่ได้เลย หากเป็นพรรคของตัวเองโดยตรง นายกฯจัดการไม่ได้ก็หมดกัน แต่หากจัดการได้ก็เสมอตัว หากพรรคตัวเองจัดการไม่ได้นายกฯก็หมดความเป็นผู้นำ เท่ากับกฎเหล็กพันคอนายกฯเอง
กรณีกระทรวงสาธารณสุข กระบวนการซับซ้อนพอสมควร หากผลสอบพบว่าอยู่ในความรับผิดชอบรัฐมนตรีดำเนินการ แต่ไม่แสดงความรับผิดชอบ
สุดท้ายจะโยงมาถึงตัวนายกฯให้ต้องรับผิดชอบกฎเหล็กนี้เอง
ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน
อาจารย์คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า
ต้องดูเงื่อนไขการเข้ามาทำงานของรัฐบาลนี้ก่อน ว่ามาจากเงื่อนไขที่ไม่ได้กำหนดตัวนายกฯเข้มแข็งเพราะมาจากรัฐ ธรรมนูญปี 2550
แตกต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ทำให้นายกฯ และรัฐบาลเข้มแข็ง การจะอภิปรายนายกฯทำได้ยาก
ขณะที่รัฐธรรม นูญปี 2550 ทำให้ฝ่ายบริหาร นายกฯไม่เข้มแข็ง การวางกฎเหล็กจึงยากที่จะปฏิบัติ ซึ่งต้องดูเป็นเรื่องๆไป
อย่างชุมชนพอเพียงเราเห็นเชิงประจักษ์ว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นจริง ทางนายกฯต้องดำเนินการชัดเจน ใครผิดใครถูกก็ว่าไปตามกฎ เท่าที่ตัวเองมีความเข้มแข็งจะปฏิบัติได้
กรณีกระทรวงสาธารณสุขยังไม่ชัดเจน เพราะมีบทวิเคราะห์ว่าการดำเนินการต่างๆ เกี่ยวเนื่องมาจากปีงบ ประมาณที่ผ่านมา ผู้บริหาร ข้าราชการประจำระดับ สูงเกษียณไปแล้ว เหตุเพราะมีปลัดคนใหม่ แต่เรื่องไม่ได้เกิดสมัยปลัดคนนี้ เป็นการบริหารของข้าราชการประจำชุดที่แล้ว แต่ทำไมเพิ่งเกิดปัญหาตอนนี้ ซึ่งแปลกอยู่
เรื่องนี้ยังไม่ชัดเจน มีคนตั้งข้อสังเกตและพยายามทำให้ชัดเจนว่ามีการทุจริตของนักการเมืองหรือข้าราชการคนใดคนหนึ่ง ซึ่งจะไปเหมาโหลลำบาก เพราะเกี่ยวข้องเรื่องโยกย้ายข้าราชการ
แต่ผลงานรัฐบาลโดยรวมดูไม่ค่อยโดดเด่น กฎเหล็กเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นยังไม่มีอันไหนออกมาชัด ยกเว้นชุมชนพอเพียง ก็ไปหาตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ชัดเจน ส่วนกรณีอื่นๆ ไม่ชัดเจนเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น
ขณะที่ภาพรวมพรรคร่วมรัฐบาล ภาพออกมาว่านายกฯไม่ได้เข้าไปจัดการอะไร พรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถดำเนินการพรรคร่วมได้อย่างเต็มไม้เต็มมือ เพราะน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า ต้องพยายามประนีประนอมกันไว้ก่อน
แต่หากมีประเด็นไม่โปร่งใสแล้วสังคมไม่เอาด้วย รัฐบาลจะอยู่ลำบากเอง
ไชยันต์ ไชยพร
หัวหน้าภาควิชาการปกครอง
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
บทบัญญัติ 9 ประการที่นายกฯ ให้ไว้กับคณะรัฐมนตรีให้นำไปปฏิบัตินั้น ไม่สามารถช่วยเหลือหรือปก ป้องเรื่องทุจริตได้ ใครทำก็ต้องรับผิด
นายกฯยังสามารถบริหารประเทศต่อไปได้แต่ต้องทำให้คนที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตได้รับการตรวจสอบ
หากดำเนินการตั้งแต่ต้นจะเป็นเรื่องถูกต้องและเป็นเรื่องที่ดี เมื่อเริ่มต้นมีการทุจริตในโครงการต่างๆ ของรัฐบาล ไม่ว่าชุมชนพอเพียงมาจนถึงไทยเข้มแข็ง จะมีพรรคเพื่อไทยเข้ามาตรวจสอบ
กรณีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกฯด้านเศรษฐกิจมีปัญหาพัวพันเรื่องการทุจริตชุมชนพอเพียงและถูกโจมตีอย่างมาก แต่นายกอร์ปศักดิ์ยืนยันว่าไม่ได้ทุจริต ส่วนกรณีกระทรวงสาธารณสุขได้มีการตรวจสอบแล้ว
โดยภาพรวมแล้วต้องดูการทำงานของรัฐบาลกันต่อไป หากมีเรื่องทุจริตเกิดขึ้นอีกต้องดูว่านายกฯจะเข้มงวดแค่ไหน และต้องดูท่าทีของฝ่ายค้านด้วย
พ.ท.กมล ประจวบเหมาะ
ส.ว.สรรหาและอดีตกรรมการป.ป.ช.
มองในมุมส่วนตัว กฎเหล็กทั้ง 9 ข้อกับการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ทยอยออกมาคงไม่สวนทางในส่วนของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ
แต่สวนทาง ในส่วนของลูกน้องท่านโดยเฉพาะนักการเมืองที่ใกล้ชิดท่านบางคนที่หาผลประโยชน์
ซึ่งต้องติดตามดูว่า นายกฯจะสามารถนำกฎเหล็กมาใช้ได้จริงหรือไม่
เท่าที่ดูและสัมผัสส่วนตัวนายกฯเป็นคนเอาจริงเอาจัง การทุจริตที่ทยอยออกมาในหลายๆ เรื่องนายกฯคงไม่เอาไว้ แต่เมื่อถึงตรงนี้ นายกฯ ก็มีสิ่งต่างๆ มากดดันในหลายเรื่องโดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาลและนัก การเมือง
ปัญหาการทุจริตในโครงการต่างๆ เชื่อว่าท้ายสุดนายกฯคงเอาอยู่และคงไม่ปล่อยไว้
เชื่อว่าไม่มีอะไรกระทบกระเทือน นายกฯคงประคับประคองไปได้ เว้นแต่จะถูกนักการเมืองพวก 111 และ 109 เข้ามาทำให้หนักใจ
เพราะทราบมาว่านักการเมืองทั้งสองกลุ่มตีหนักเหลือเกิน ตรงนี้ไม่รู้ว่านายกฯจะเขวหรือไม่