ที่มา มติชน
คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์
คนของประชาชน เคลื่อนไหวไปไหนมาไหน สปอตไลท์ย่อมฉายจับทุกย่างก้าวเป็นธรรมดา
ผู้สื่อข่าวถามคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีกรณีที่มีข่าวว่า นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ อยู่ร่วมในวงสนทนาที่บ้านพักนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี คุยกันเรื่องผู้ที่จะดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คุณอภิสิทธิ์ไม่ตอบ แต่หัวเราะ และส่ายหน้าไปๆ มาๆ ก่อนเดินจากไป
อ่านข่าวแล้วเป็นใครก็คงสรุปว่า คุณอภิสิทธิ์ทั้งไม่ยอมรับ แต่ก็ไม่ปฏิเสธ
วันต่อมานายสนธิพูดในรายการทีวีว่า เป็นการเข้าใจผิด ตนไม่ได้ไปบ้านนายกอร์ปศักดิ์จึงไม่ได้คุย ไม่รู้ด้วยว่าบ้านนายกอร์ปศักดิ์อยู่ไหน เขียนกันไปเอง เลอะเทอะ เปรอะเปื้อน
เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งไม่ยอมรับและไม่ปฏิเสธ แต่อีกฝ่ายหนึ่งปฏิเสธ สังคมจะเชื่อถือคำพูดของใคร อะไรคือความจริงกันแน่
ครับ ในสังคมประชาธิปไตย ใครจะพบกับใคร พูดคุยเรื่องอะไร ตราบใดที่ไม่ละเมิดกฎหมาย ย่อมเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เป็นสิทธิส่วนบุคคล เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าในสถานที่รโหฐาน หรือที่ไหนก็ตาม
แต่สำหรับบุคคลสาธารณะ ยิ่งเป็นผู้นำประเทศ จะพบกับใคร คุยกันเรื่องอะไร สื่อและสังคมย่อมสนใจใคร่รู้ว่าเขาพูดคุยกันเรื่องอะไร ส่งผลต่อความเป็นไปของบ้านเมือง และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนหรือไม่ และ ในฐานะผู้นำของคนทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ได้ให้โอกาสกับบุคคล หรือกลุ่มบุคคลต่างๆ โดยความเสมอภาค เท่าเทียมกันหรือไม่ เรื่องนี้จะมองว่าเป็นสิทธิส่วนตัวของนายกรัฐมนตรี ที่สามารถใช้ดุลพินิจได้ว่าควรจะให้เวลากับใคร พูดคุยเรื่องอะไร ก็ย่อมได้
แต่ภายใต้สถานการณ์ที่กลุ่มพลังแบ่งฝักแบ่งฝ่าย สีเหลือง สีแดง สีน้ำเงิน สีขาว ฯ เสียงเรียกร้องความสมานฉันท์เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง รัฐบาลต้องเป็นแกนกลางให้เกิดเวทีพบปะสนทนา หาทางออกจากความขัดแย้งและพาประเทศเดินไปข้างหน้า การพูดคุยกับฝ่ายหนึ่ง ไม่ได้พูดคุยกับอีกฝ่ายหนึ่ง จะด้วยเหตุผลประการใดก็ตาม มีผลต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวของการสมานฉันท์ และภาพลักษณ์ความเป็นกลางของผู้นำโดยตรง
อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญ หนีไม่พ้นเนื้อหาสาระการพบปะสนทนา เป็นเรื่องผลประโยชน์ส่วนร่วม หรือ ส่วนตน ประการใดเป็นหลักมากกว่า ตรงนี้ต่างหาก
ฉะนั้นหัวหน้าพรรคที่ประกาศอยู่ตลอดว่า เป็นพรรคของปวงชน ทำอะไรต้องทำเพื่อพี่น้องประชาชนเป็นหลัก การจัดแถวตำรวจตั้งแต่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติลงมาจนถึงลูกแถวก็เพื่อความผาสุกของพี่น้องประชาชนโดยแท้นั้น จึงต้องบอกกล่าวผู้คนให้กระจ่างแจ้งว่าคุยกันเรื่องอะไร เป็นเรื่องความเป็นความตายของชาติบ้านเมืองหรือไม ส่วนรวมได้หรือเสียอย่างไร
ยิ่งเป็นเรื่องปัญหาสาธารณะ หากปิดๆ บังๆ ซ่อนเร้นเป็นวาระส่วนตัว ก็มิอาจกล่าวได้อีกต่อไปว่า พรรคการเมืองใหม่โปร่งใสกว่าใคร ปฏิบัติต่างไปจากพรรคการเมืองเก่าอย่างสิ้นเชิง
ระวังนะครับ คำที่เที่ยวประณามหยามเหยียดพรรคอื่นว่า ไดโนเสาร์ เต่าล้านปี เล่นการเมืองแบบเก่าๆ ต่อรองแต่ผลประโยชน์ การเมืองไทยจึงไม่เปลี่ยนแปลงถึงต้องมีพรรคการเมืองใหม่ จะเป็นเพียงคำพูดสวยหรู เหยียบบ่าเพื่อนขึ้นมาสู่อำนาจหรือไม่
ผมจะคอยติดตามดูอนาคต เมื่อเห็นว่า ส.ส.เห็นแก่ตัวกันเกือบทั้งสภา และไม่สามารถขับไล่ไสส่งคนพวกนี้ให้ออกไปได้หมด ที่เคยว่าๆ เขาไว้ พายเรือให้โจรนั่ง นั่งเรือที่โจรพาย สุดท‰ายแล‰วจะผสมพันธุ์กับใคร พรรคไหน การย่ำเท้าตามรอยพรรคไดโนเสาร์จะเกิดขึ้นหรือไม่
แต่คิดไปก็ฟุ้งซ่านเปล่าๆ ภาษิตถึงมีว่า ให้มองอะไรอย่างทีมันเป็น ไม่ใช่มองอย่างที่เราอยากให้เป็น จะทุกข์ใจไปเปล่าๆ
สัจธรรมที่ว่า เพื่ออำนาจและผลประโยชน์แล้ว ใครวิเศษมาจากไหนก็สามารถสร้างวาทกรรมต่างๆ นานาขึ้นมาอธิบายให้ เกิดความชอบธรรมกับการกระทำของตัวจนได้ เป็นต้นว่าสถานการณ์เปลี่ยนไป แนวทางการเคลื่อนไหวต้องเปลี่ยนไป ไม่ได้ครองอำนาจ เปลี่ยนแปลงประเทศไม่ได้ อะไรทำนองนี้เป็นต้น
วิธีการขึ้นครองอำนาจเป็นอย่างไร จึงไม่สำคัญ ขอให้บรรลุเป้าหมายเป็นใช้ได้
คำที่เคยประกาศต่อหน้ามวลมหาประชาชนว่า การต่อสู้ของข้าพเจ้า เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ ใสสะอาดโดยแท้ ไม่ต้องการแสวงหาอำนาจอิทธิพลผลประโยชน์ใดๆ และไม่มีประโยชน์ทับซ้อน
มาถึงวันนี้วาทกรรมใหม่ซึ่งตรงกันข้าม ทนเสียงเรียกร้องของพี่น้องประชาชนไม่ได้ กลับกลายเป็นความชอบธรรม เป็นข้ออ้างที่สมเหตุสมผลขึ้นมาทันที
นี่หรือครับการเมืองใหม่ ใครยังยืนยันได้ว่า จังหวะก้าว เส้นทางเดิน การต่อรองอำนาจ ผลประโยชน์ และความจริงที่ยังไม่ถูกเปิดเผยออกมา มันแตกต่างจากการเมืองเก่าตรงไหน