WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Thursday, October 15, 2009

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์: วาทกรรมสิบสี่ตุลา

ที่มา ประชาไท

Forgetting is no mere vis inertiae as the superficial imagine;
it is rather an active and in strictest sense positive faculty of repression
Friedrich Nietzsche , On Genealogy of Morals (p.57)

ความทรงจำลื่นไหล

ถึงจะไม่ชอบงานเขียนของคุณเทพมนตรีเท่าไร ซ้ำยังไม่ได้มีใจฝักใฝ่เผด็จการ แต่ผู้เขียนก็อดไม่ได้ที่จะแปลกใจและตั้งข้อสงสัยกับวิธีการและท่าที่ซึ่งสังคมมีต่อคุณเทพมนตรี นั่นก็คือทำหลับตาไม่รู้ไม่เห็น ไม่ให้ค่า ไม่ให้ความสนใจ และไม่ลดตัวลงไปเถียงด้วยเสียเฉยๆ หรือไม่อย่างนั้นก็คือโบ้ยไปเสียเลยว่างานเขียนนี้เป็นของลูกสมุนเผด็จการ ได้สตางค์จากทรราชย์ไปหลายอัฐ อยากดัง เขียนให้เพราะบ้านอยู่ใกล้กัน ฯลฯ

แน่นอนว่าความเป็นเผด็จการของผู้นำในช่วงนั้นเป็นเรื่องที่ชัดเจนจนยากจะปฏิเสธได้ และชะรอยคุณเทพมนตรีก็คงรู้ความข้อนี้ดี จึงไม่ปรากฎว่ามีส่วนไหนในหนังสือเล่มนี้ที่พยายามชี้ให้เห็นความเป็นประชาธิปไตยของผู้นำในเวลานั้นเลยแม้แต่น้อย แต่กลับหลบไปพูดอีกเรื่องว่าต่อให้เป็นเผด็จการอย่างไร นักศึกษาประชาชนที่ต่อต้านคนกลุ่มนี้ก็มีเบื้องหลังที่อันตราย

ในเชิงตรรกะนั้น ข้อความคิดเรื่องนี้ถือว่าเหลวไหลและนำไปสู่ข้อสรุปที่ไร้ความหมายในทางการเมือง เพราะหากเหตุการณ์การเมืองครั้งสำคัญอย่างสิบสี่ตุลาเป็นแค่การปะทะกันของพลังทุกฝ่ายเจ้าเล่ห์ แสนกล และชั่วร้าย หากผลักตรรกะนี้ต่อไป ข้อสรุปที่จะปรากฎในขั้นสุดท้ายก็คือ ประชาชนทั้งหลายไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

คุณเทพมนตรีไม่เถียงว่าผู้นำในช่วงก่อนสิบสี่ตุลาเป็นเผด็จการหรือไม่ แต่คุณเทพมนตรีทำยิ่งกว่านั้น คือทำให้การรวมตัวของประชาชนครั้งใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในประเทศนี้เสื่อมความหมาย ไร้ความสำคัญ และไม่อยู่ในฐานะจะสร้างความเป็นไปได้ให้กับการรวมพลังในอนาคตได้อีกเลย

ไม่มีใครฟังคุณเทพมนตรีในตอนนี้ การสำรวจความเห็นของสถาบันอะไรสักแห่งปรากฎว่าคนส่วนใหญ่เห็นว่างานของคุณเทพมนตรีเชื่อถือไม่ได้ ประชาคมไซเบอร์สเปซหลายแห่งขุดคุ้ยไปถึงภูมิหลังครั้งคุณเทพมนตรีเคลื่อนไหวเรื่องทับหลัง และหลายแห่งก็พูดไปถึงสถานะของคุณเทพมนตรีเมื่อครั้งยังสังกัดมหาวิทยาลัย

ถ้าอนาคตเป็นเรื่องที่บอกได้จากคะแนนเสียงส่วนใหญ่ในปัจจุบัน สถานะของงานเขียนของคุณเทพมนตรีชิ้นนี้ก็ย่อยยับอย่างไม่มีชิ้นดี แต่เราทั้งหลายก็รู้ว่าอนาคตเป็นเรื่องที่กำหนดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็ไม่แน่เสมอไปว่าสถานะของงานเขียนชิ้นนี้ในวันข้างหน้าจะต่ำต้อยด้อยค่าเหมือนที่เป็นอยู่ในขณะนี้

ปรากฎการณ์ของการถูกหมางเมินและไม่ให้ค่าโดยผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมแห่งนี้ มีสาเหตุมาจากข้อเท็จจริงที่คนส่วนใหญ่ที่ร่วมต่อสู้อยู่ในถนนราชดำเนินและท้องสนามหลวงในเหตุการณ์นั้นยังไม่ตาย ซ้ำการครบรอบ 30 ปี ก็ทำให้ความทรงจำถูกตอกย้ำมากขึ้นว่าอะไรเป็นอะไร ใครตั้งพรรคการเมืองหนุนตัวเอง ใครรัฐประหารตัวเอง ใครผูกขาดอำนาจ ใครวางอำนาจวาสนา ใครแสดงท่าทีอยากประหัตประหารประชาชน ฯลฯ

นอกจากผู้ร่วมเหตุการณ์ส่วนใหญ่จะยังมีชีวิตและถูกตอกย้ำด้วยความทรงจำในวาระพิเศษนี้แล้ว การที่เหตุการณ์สิบสี่ตุลามีสถานภาพเป็น “ชัยชนะ” ก็ยังทำให้ความภาคภูมิใจส่วนบุคคลที่ผู้คนมีต่อความทรงจำสาธารณะในเรื่องนี้สูงยิ่งขึ้นไป

เวลาที่ผ่านไปสามสิบปี ทำให้คนที่อยู่ในเหตุการณ์กลายเป็น “ผู้ใหญ่” ในแทบทุกจุดของสังคมในสมัยนี้ และเมื่อปัจจัยสามข้อนี้บรรจบกัน ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือความทรงจำสิบสี่ตุลาในแบบแผนที่ฝ่าย “ประชาชน” มีฐานะครอบงำ

ประเด็นก็คือ ปัจจัยสามข้อนี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่จีรังยั่งยืนจนไม่อาจถูกสั่นไหวให้เปลี่ยนแปลงได้ และถ้าปัจจัยเหล่านี้เป็นเรื่องที่คลอนแคลนได้ ก็ไม่แน่เสมอไปว่าสิบสี่ตุลาในอนาคตจะถูกจำอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะความทรงจำสิบสี่ตุลาก็เหมือนกับความทรงจำในสังคมทุกเรื่อง ที่จะถูกจดจำอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับการปะทะประสานระหว่างพลังฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและเคลื่อนไหวอยู่ในการสร้างความทรงจำนั้นๆ

ลองนึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 ดูก็ได้ หนังสือพิมพ์หรือเอกสารสิ่งพิมพ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในยุคสมัยนั้นเปี่ยมล้นไปด้วยความภาคภูมิใจในความก้าวหน้าและวัฒนาสถาพร ของ “ชาติใหม่” ซึ่งออกไปจากระบอบการปกครองแบบเก่าที่เต็มไปด้วยความล้าหลังได้เป็นผลสำเร็จ แต่พอเวลาผ่านไปได้ไม่กี่สิบปี งานเขียนซึ่งแทบไม่มีความเป็นวิชาการ ปราศจากการอ้างอิงที่เป็นระบบ ไม่มีการใช้หลักฐานที่ตรวจสอบและเชื่อถือได้ กลับประสบชัยชนะในการสร้างความทรงจำแบบใหม่ และทำให้ผู้คนในยุคหลัง 2500 มองการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 ในแง่ติดลบอย่างน่าประหวั่นพรั่นพรึง

เมื่อแรกที่งานเขียนของ “นายหนหวย” หรือ “แมงหวี่” วางขายนั้น จำนวนคนอ่านที่ควักกระเป๋าสตางค์ซื้อหนังสือเหล่านี้มีน้อยกว่าผู้ที่เป็นแฟนของศรีบูรพาและกลุ่มนักเขียน-นักหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้าคนอื่นๆ อย่างเทียบไม่ได้ แต่เมื่อมาถึง พ.ศ.ปัจจุบัน ความทรงจำ 2475 แบบศรีบูรพาใน “เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475” กลับมีฐานะด้อยกว่าความทรงจำตามแบบฉบับของนายหนหวยและแมงหวี่ อย่างไม่มีทางสู้ได้เลย

พฤษภาคม 2535 ก็เป็นอีกกรณีตัวอย่างที่ดี เพราะผ่านไปแค่สิบเอ็ดปี ก็แทบไม่มีใครจดจำและให้คุณค่าต่อเหตุการณ์นี้ไปแล้ว แม้คณะ ร.ส.ช.จะกลายเป็นสิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์ไปเรียบร้อย แต่มรดกของ ร.ส.ช.ที่ป่าวประกาศว่าการลุกฮือเดือนพฤษภาเป็นผลของความไม่พอใจที่ “ลอง” มีต่อพี่ๆ จ.ป.ร.5 ก็เกือบจะกลายเป็นความทรงจำหลักที่สังคมมีต่อเหตุการณ์เดือนพฤษภา

คนร่วมชุมนุมเป็นแสนๆ ยังมีชีวิตอยู่จนถึงทุกวันนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้ทั้งหมดก็ไม่ได้หนีหายไปไหน แต่แทบไม่มีใครจำได้แล้วว่าเหตุการณ์เดือนพฤษภาเป็นบันไดขั้นแรกๆ ที่นำไปสู่การปฏิรูปการเมืองและการร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ถือว่าเป็นของ “ประชาชน” ไม่มีใครจำได้ว่าใครตายบนถนนราชดำเนิน, สะพานผ่านฟ้า, โรงแรมรัตนโกสินทร์, ไม่มีใครจำได้ถึงการเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารที่เกิดขึ้นมานานก่อนที่ผู้นำพรรคพลังธรรมจะปรากฎตัวขึ้นมามา

เมื่อเป็นอย่างนี้ ความทรงจำที่สังคมมีต่อเรื่องหนึ่งๆ จึงเปลี่ยนได้ ซ้ำเปลี่ยนได้ไม่ยากเสียด้วย ขึ้นอยู่กับพลังฝ่ายต่างๆ ที่อยู่เบื้องหลังความทรงจำแต่ละเรื่องนั่นเองที่จะมีกระบวนการผลิตซ้ำ, ตอกย้ำ, ดัดแปลง, ขยายความ, สร้างนิยามใหม่ ให้ผสมผสานและนวลเนียนไปกับความเข้าใจโลก-ความเข้าใจอดีต ที่สังคมมีต่อความเป็นไปรอบข้างและอดีตในเรื่องนั้นๆ ได้อย่างไร

เพราะฉะนั้น ถึงแม้จะเห็นว่างานของคุณเทพมนตรีปราศจากหลักฐานที่รอบด้าน วางอยู่บนจุดยืนที่น่าสงสัย และมีประวัติการทำงานที่ไม่น่าเชื่อถือ แต่ก็ไม่ดีแน่ที่จะตอบโต้งานแบบนี้ด้วยการเพิกเฉย หรือกระทั่งดูหมิ่นเหยียดหยามว่าเป็นงานของผู้แพ้ที่ไม่มีราคาให้ใส่ใจ

ใครจะไปรู้ว่าเมื่อสิบสี่ตุลาผ่านไป 40-50 ปี ซึ่งถึงตอนนั้น ผู้ร่วมเหตุการณ์ส่วนใหญ่ก็คงจะมีอายุราว 60-70 สังคมจะจำสิบสี่ตุลาแบบที่จำๆ กันอยู่ในวาระครบรอบ 30 ปี

ไม่ต้องพูดถึง 60 ปี สิบสี่ตุลา ซึ่งถึงตอนนั้น ทั้งผู้ก่อการและผู้ร่วมเดินขบวนก็คงมีอายุเฉียดใกล้หลักร้อยเข้าไปเต็มที่ จะหาเรี่ยวแรงที่ไหนมาผลิตซ้ำความทรงจำ 14 ตุลา ให้เป็นไปอย่างที่ต้องการต่อไปได้

ใครจะไปรู้ว่าในท้ายที่สุด สิบสี่ตุลาอาจมีชะตากรรมเดียวกับ 2475 ซึ่งผู้คนที่ยังคงระลึกความสำคัญของเหตุการณ์นั้น จะจำกัดอยู่แค่ผู้ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองและญาติมิตรไม่กี่รายซึ่งจะไปชุมนุมกันที่วัดพระศรีมหาธาตุทุกๆ ปี


ความทรงจำสิบสี่ตุลา

อดีตกับปัจจุบันเป็นมิติทางเวลาที่วางอยู่บนคนละกาละ ความทรงจำคือข่ายใยที่เชื่อมโยงระหว่างกาละทั้งสองแบบ ความทรงจำพูดไม่ได้ แต่ดำรงอยู่ได้ผ่านตัวกลางของความทรงจำ

ความทรงจำแตกต่างจากประวัติศาสตร์ ความถูกผิดของความทรงจำขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความเข้าใจที่ผู้คนและสังคมมีต่อเรื่องหนึ่งๆ นักคิดคนหนึ่งจึงกล่าวว่าความทรงจำไม่จำเป็นต้องถูกต้องตามประวัติศาสตร์ก็ได้ และเพราะเหตุนี้ ความจริงแท้จึงไม่ใช่เงื่อนไขสำคัญของความทรงจำ

งานเขียนเป็นตัวกลางของความทรงจำ หรือจะพูดอีกอย่างว่างานเขียนเป็นตัวแทนของความทรงจำก็คงได้ คุณสมบัติเช่นนี้จึงทำให้งานเขียนสามารถดึงความทรงจำจากอดีตมาสู่ปัจจุบันได้ และเมื่อมิติทางเวลาเป็นเรื่องลื่นไหล งานเขียนจึงทำให้อดีตและอนาคตโยงใยถึงกัน

ความทรงจำสิบสี่ตุลาสำคัญกับความเข้าใจตัวตนของสังคม อนาคตของสิบสี่ตุลาจึงเป็นเรื่องที่มีความหมาย และเพราะเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องพิจารณางานเขียนของคุณเทพมนตรีให้ถ้วนถี่ ไม่ว่าจะมีทัศนะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตามที

เท่าที่เผยแพร่เนื้อหาบางส่วนออกมา สิบสี่ตุลาฉบับคุณเทพมนตรีมีกระบวนการผลิตรวมศูนย์อยู่ที่การลดทอนหลักการ (de-idealization) และลดทอนความเป็นสาธารณะ (de-collectivization) จากนั้นจึงตัดต่อ, สร้างคำอธิบาย และแปรสภาพสิบสี่ตุลา โดยผ่านกรรมวิธีหลักๆ 3 ข้อ

ข้อแรก โดดเดี่ยวสิบสี่ตุลาจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-การเมือง-สังคม-วัฒนธรรม-จิตสำนึก ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยก่อนสิบสี่ตุลามาเกือบครึ่งทศวรรษ แล้วลดทอนสิบสี่ตุลาให้เป็นแค่เรื่องของการเดินขบวนในวันที่ 13-14 ตุลาคม

ข้อสองคือ ดึงสิบสี่ตุลาออกจากการต่อสู้เรียกร้องอยู่บนหลักการและอุดมคติทางการเมืองเรื่องสิทธิ-ประชาธิปไตย-เสรีภาพ-ความยุติธรรม ลดทอนสิบสี่ตุลาให้เป็นแค่ความใจเร็วด่วนได้ของฝ่ายนักศึกษา จากนั้นก็โจมตีว่าคนกลุ่มนี้มีภูมิหลังที่อันตราย

ข้อสาม กำจัดประชาชนออกไปจากสิบสี่ตุลา ลดทอนสิบสี่ตุลาให้เป็นความขัดแย้งและการช่วงชิงอำนาจระหว่างผู้นำทางการเมืองฝ่ายต่างๆ ทั้งที่อยู่ในรัฐและต่อต้านรัฐ

สิบสี่ตุลาฉบับคุณเทพมนตรีเป็นสิบสี่ตุลาที่อยู่ดีๆ ก็โผล่มาจากหลุมดำที่ไหนก็ไม่รู้ สิบสี่ตุลาฉบับนี้ไม่พูดถึงความเกลียดชังและไม่พอใจที่คนกลุ่มต่างๆ ที่ต่อระบอบผูกขาดอำนาจของสองตระกูลใหญ่ในขณะนั้น, สิบสี่ตุลาฉบับนี้ไม่พูดถึงการตื่นตัวทางความคิดอ่านและภูมิปัญญาของนักศึกษา-ปัญญาชน-ชนชั้นนำ กลุ่มต่างๆ, สิบสี่ตุลาฉบับนี้ไม่พูดถึงการรวมตัวโดยธรรมชาติของประชาชนเพื่อต่อต้านการถูกกดขี่และเอารัดเอาเปรียบจากระบบเศรษฐกิจการเมืองของชาติ

หรือสรุปโดยรวมแล้วก็คือไม่มีการพูดถึงการบรรจบกันของเหตุปัจจัยต่างๆ (juxtaposition) ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมายาวนานก่อนวันที่ 13-14 ตุลาคม ซึ่งผู้เขียนเคยเขียนถึงเรื่องนี้เอาไว้ในช่วงครบรอบ 25 ปี สิบสี่ตุลา ในบทความเรื่อง “คิดนอกกรอบ : วิวาทะว่าด้วยบทบาทของขบวนการนักศึกษาไทย” ซึ่งตีพิมพ์อยู่ใน 14 ตุลา : ประชาภิวัตน์ (2541) โดยมีใจความว่า

“สถานการณ์ของโลกก่อนหน้าวันที่ 14 ตุลาคม 2516 คือ ช่วงปลายของยุคทศวรรษที่ 1960 ที่ถือเป็น ยุคแสวงหาคุณค่าใหม่ของขบวนคนหนุ่มสาวทั่วโลก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 ในรูปแบบของ การต่อต้านสงครามเวียดนาม, ขบวนการบุปผาชน, ขบวนการเรียกร้องสิทธิของคนผิวดำ, การปฏิวัติทางเพศ รวมทั้ง การลุกขึ้นสู้ของนักศึกษาฝรั่งเศสในปี 1968 ในขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศขณะนั้นคือ จุดสูงสุดของสงครามเย็น”

“การปฏิวัติวันที่ 14 ตุลาคม 2516 เป็นภาคต่อเนื่องของความตื่นตัวทางปัญญาความคิด และการตั้งคำถามอย่างถอนรากถอนโคนต่อระบบคุณค่าแบบเก่า ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าการปฏิวัติมาช้านาน การแสวงหาในยุคนั้นเต็มไปด้วยท่วงทำนอง ปะทะตอบโต้ระบบคุณค่าที่ดำรงอยู่ในสังคม เป็นการตั้งคำถามตั้งแต่เรื่องใกล้ตัวอย่าง เด็กต่อผู้ใหญ่, ระบบซีเนียริตี้ในมหาวิทยาลัย, การเชียร์ และ ฯลฯ ไปจนถึงเรื่องใหญ่อย่างความชอบธรรมของระบอบการเมือง, นโยบายต่างประเทศ หรืออย่างที่อาจารย์ เสน่ห์ จามริก เคยกล่าวไว้ในบทความเรื่องการปฏิวัติเดือนตุลาคม ว่า “...โลกภายนอกราชอาณาจักรส่วนตัวของระบอบถนอม-ประภาสได้ผันแปรไปอย่างรวดเร็ว ความตื่นตัวทางปัญญาความคิดได้ขยายวงออกไปอย่างกว้างขวางในหมู่นิสิตนักศึกษา”

ภาพคลาสสิคที่ผู้คนจดจำสิบสี่ตุลาก็คือภาพของมหาชนจำนวนมหาศาลบนถนนราชดำเนิน แต่ด้วยการลดทอนสิบสี่ตุลาให้เป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่ปราศจากหลักการและสูญสิ้นความเป็นสาธารณะ คุณเทพมนตรีได้ลบคนเป็นแสนๆ ให้หายไปจากภาพนี้ ทำให้สิบสี่ตุลาปราศจากมิติทางเวลา สูญเสียความโยงใยกับวันคืนที่มีมาก่อนหน้านั้น แล้วมีความหมายเป็นแค่เรื่องของรถนำขบวน, นักปราศรัย และการวางแผนก่อการร้ายของนายทหาร 2-3 ราย

ในแง่ความจริงแท้นั้น สิบสี่ตุลาฉบับคุณเทพมนตรีคงมีเรื่องให้ตั้งข้อสงสัยได้มาก ไม่ว่าจะเป็นในระดับของเหตุการณ์ปลีกๆ หรือข้อเท็จจริงในระดับองค์รวม แต่นี่ก็ไม่ได้หมายความทรงจำที่วางอยู่ความไม่จริงนี้จะไม่มีน้ำหนักและปราศจากความหมาย

ความทรงจำของสังคมนั้นเปลี่ยนได้ และเพราะเหตุนี้ ความไม่จริงก็อาจกลายเป็นความทรงจำของสังคมไปได้เหมือนกัน

ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ ความทรงจำสิบสี่ตุลาฉบับนี้ทำงานบนคำอธิบายบางอย่างที่เป็นจุดอ่อนที่สุดของวาทกรรมสิบสี่ตุลาฉบับ “ประชาชน”

สิบสี่ตุลาฉบับประชาชนเทิดทูนวีรกรรมอันกล้าหาญของวีรชน แต่ในการผลิตซ้ำความทรงจำเหล่านี้ “วีรชน” ถูกทำให้กลายเป็นบุคคลนามธรรม ไร้ชื่อเสียงเรียงนาม ไร้ตัวตน จับต้องไม่ได้

นอกเหนือไปจากการทำบุญให้วีรชนในทุกเช้าวันที่ 14 ตุลา ของทุกปี เราแทบไม่มีใครรู้ว่าส่วนใหญ่ของพวกเขาเหล่านี้คือใคร อะไรทำให้เขาตัดสินใจออกไปเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายในเดือนตุลาคมเมื่อ 30 ปีก่อน ทุกวันนี้ครอบครัวของพวกเขาลำบากเพียงไหน เขาคิดและรู้สึกอย่างไรในวินาทีที่ทหารเหนี่ยวไกปืนใส่ประชาชน ฯลฯ

สิบสี่ตุลาฉบับประชาชนพูดถึงการรวมพลังครั้งยิ่งใหญ่ แต่ตลอดเวลา 30 ปี ของการผลิตซ้ำความทรงจำเรื่องนี้ กลับแทบไม่มีเรื่องราวความยิ่งใหญ่ของฝ่ายประชาชนที่กระจัดกระจายและทำการต่อสู้อย่างเป็นไปเองตามหัวเมือง, ริมถนน, ชุมชน และพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ซึ่งเป็นประจักษ์พยานของจิตใจกล้าต่อสู้กล้าเสียสละของสามัญชนคนธรรมดาในการลงมือทำอะไรบางอย่างตามที่มโนธรรมสำนึกเห็นว่าถูกต้อง โดยไม่หวั่นเกรงถึงภยันตรายใดๆ และไม่ต้องรอให้ใครเป็นผู้นำ

สิบสี่ตุลาผ่านไปได้ 30 ปี และมิติทางสังคมของ “ประชาชน” ก็กลายเป็นเรื่องที่ระเหือดแห้งหายไปจากความทรงจำสิบสี่ตุลาไปเฉยๆ ทั้งที่หลังสิบสี่ตุลาก็เคยมีการพูดถึงเรื่องนี้อยู่บ้างว่าคนแต่ละกลุ่มแต่ละฝ่ายได้ลุกขึ้นก่อการต่อต้านอำนาจรัฐอย่างเป็นเอกเทศเอาไว้อย่างไร แต่พอเวลาผ่านไปได้ 3 ทศวรรษ การณ์ก็กลับกลายเป็นว่าไม่มีใครสนใจพูดถึงเรื่องนี้ต่อไปอีกเลย

ตัวกลางในการผลิตความทรงจำสิบสี่ตุลารวมศูนย์อยู่ที่งานเขียนและวัตถุทัศน์ของปัญญาชนและนักคิดนักเขียน อัตชีวประวัติของปัญญาชนกลายเป็นความทรงจำสิบสี่ตุลา ขณะที่สิบสี่ตุลาก็กลายเป็นความทรงจำรวมหมู่ของปัญญาชน ความทรงจำแบบนี้วางน้ำหนักไว้ที่โลกทัศน์และชีวประวัติของผู้นำนักศึกษา หรือไปไกลที่สุดก็คือชีวิตทางปัญญาของผู้คนที่มีความคิดหัวก้าวหน้า

ส่วนเรื่องของสังคมนั้น อย่างมากที่สุดก็เป็นเรื่องของการเชื่อมประสานระหว่างนักศึกษา กรรมกร ชาวนา โดยมีนักศึกษาเป็นศูนย์กลาง

ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ ความทรงจำสิบสี่ตุลาฉบับประชาชนไม่ได้สร้าง “ประชาชน” ให้กระโดดโลดเต้นและมีชีวิตชีวา ประชาสังคมก่อนสิบสี่ตุลาถูกทำให้เงียบหายไปเฉยๆ ความหลากหลายของผู้คนถูกลบเลือนไปกับความทรงจำเดือนตุลา

ความทรงจำแบบนี้ทำให้ประชาชนสูญเสียความเป็นพหุลักษณ์, กระจัดกระจาย, ไร้สังกัด, ปราศจากระเบียบ (multitude) แล้วแทนที่ด้วยภาพของ “ขบวนการ” ประชาชนที่เป็นเอกภาพ, เป็นกลุ่มก้อน และเป็นหนึ่งเดียวโดยมีขบวนแถวนักศึกษาปัญญาชนเป็นแกนนำ

ในเชิงตรรกะนั้น ความทรงจำที่มีศูนย์กลางแบบนี้นำไปสู่จุดอ่อนที่สุดในทางยุทธศาสตร์หนึ่งข้อ นั่นก็คือหากทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายปัญญาชนลงไปได้ ความทรงจำสิบสี่ตุลาทั้งหมดก็จะพังทลายลงไป


พื้นที่และความทรงจำ

ลองคิดดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากเขียนความทรงจำสิบสี่ตุลาให้ปัญญาชนมีบทบาทน้อยลง พูดถึงการต่อสู้ของประชาชนกลุ่มต่างๆ ให้มากขึ้น ชี้ให้เห็นว่าคนแต่ละกลุ่มแต่ละฝ่ายมีการรวมตัวโดยธรรมชาติจากความไม่พอใจระบอบเผด็จการอย่างไร ชี้ให้เห็นว่าก่อนถึงวันที่ 14 ตุลา ผู้คนเป็นอันมากได้อุทิศแรงกายแรงใจอะไรลงไปบ้างเพื่อผลักดันบ้านเมืองไปสู่วันใหม่ ชี้ให้เห็นว่าในวันที่ 13-14 วีรกรรมของคนธรรมดาๆ ที่มีแต่มือเปล่า ขาดการศึกษา ไร้การจัดตั้ง ฯลฯ มีความสำคัญอย่างไรต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญที่สุดในประเทศนี้

เชียงใหม่ทำอะไรในวันที่ 13 ตุลา, คนขอนแก่นชุมนุมกันที่ไหนในเช้าวันนั้น, กรรมกรแถวพระประแดงพูดถึงสิบสี่ตุลาอย่างไร, คนสลัมจากชุมชนไหนบ้างที่มาร่วมประท้วง, แม่ค้าท่าพระจันทร์คนไหนเอาข้าวเอาส้มมาให้นักศึกษา, ทำไมหมอ พยาบาล และนักเรียนแพทย์ถึงเสี่ยงตายออกมาช่วยประชาชน, ใครเผาป้อมยาม, คนที่ไปให้สัญญาณมือตามสี่แยกต่างๆ ในเช้าวันที่ 15-16 ตุลา มาจากไหน, ทำไมนักศึกษาอาชีวะถึงเกลียดชังเผด็จการ ฯลฯ

ความทรงจำสิบสี่ตุลาแบบนี้ไม่มีนักศึกษาปัญญาชนเป็นศูนย์กลางอีกต่อไป สิบสี่ตุลาแบบนี้ทำให้ประชาธิปไตยสมัยใหม่ไม่ได้มาพลังของคนมีการศึกษาล้วนๆ ในทางตรงกันข้าม ด้วยการคืนความเป็นประชาชนให้กับ “ประชาชน” ด้วยการชี้ให้เห็นว่าสิบสี่ตุลามาจากการต่อสู้ของประชาชนที่แตกต่างหลากหลาย, กระจัดกระจาย, ไม่เป็นเอกภาพ และปราศจากการจัดตั้ง สิ่งที่จะเกิดจากความทรงจำสิบสี่ตุลาแบบฉบับนี้ก็คือการทำให้คนธรรมดาเป็นผู้ให้กำเนิดสิบสี่ตุลา

แทบไม่มีคนยูเครนคนไหนรู้ว่าใครเป็นผู้นำในการต่อต้านรัฐบาลโซเวียตเมื่อปลายทศวรรษ 1990 แทบไม่มีคนเบอร์ลินคนไหนสนใจว่าใครเป็นคนแรกๆ ที่ทุบทำลายกำแพงเบอร์ลิน ฮาเวลอาจสำคัญต่อการปฏิวัติเชค แต่ความทรงจำรวมหมู่ที่ประชาชนเชคมีก็ไม่ได้ขึ้นต่อฮาเวลต่อไป และสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกหลังสมัยใหม่ก็คือไม่มีใครจดจำการปฏิวัติในฐานะที่เป็นผลของอัจฉริยภาพของเอกบุคคล

ถ้าตัวกลางของความทรงจำนั้นทำให้สิบสี่ตุลาถูกจดจำในแบบนี้ 30 ปี สิบสี่ตุลา ก็เป็นช่วงเวลาที่เกิดความเป็นไปได้ในการจำสิบสี่ตุลาในแง่มุมที่ต่างออกไป

อนุสรณ์สถานสิบสี่ตุลาเป็นตัวกลางใหม่ในการผลิตความทรงจำสิบสี่ตุลา ตัวกลางนี้เป็น “พื้นที่” ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องมีแต่ผู้ที่มีความสามารถในการพูดและเขียนเท่านั้นที่จะเข้ามาใช้สอยได้ สิบสี่ตุลาไม่เคยถูกพูดและผลิตซ้ำผ่านตัวกลางแบบนี้ และภายใต้ตัวกลางแบบนี้ ปัญญาชนไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการผลิตความทรงจำอีกต่อไป

การเป็นพื้นที่สาธารณะทำให้สาธารณะสามารถเข้ามาสร้างและร่วมนิยามความทรงจำใหม่ๆ ให้กับสิบสี่ตุลา เกิดความเป็นไปได้ที่ขยายสิบสี่ตุลาให้มีความเป็นสาธารณะ เป็นเรื่องของคนธรรมดาๆ ที่ไม่จำเป็นต้องมีการศึกษา ไม่จำเป็นต้องคิดถึงการเมืองอย่างเป็นระบบ ไม่จำเป็นต้องมีการจัดตั้ง แต่คือใครก็ได้ที่มีมโนธรรมสำนึกและความกล้าหาญในการทำเรื่องที่ถูกต้องดีงาม

ลองคิดดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากตามหัวถนนราชดำเนินหรือจุดเล็กๆ หน้าอนุสรณ์สถาน มีรูปของคนไร้ชื่อเสียงเรียงนามคนหนึ่งปรากฏ แล้วมีคำบรรยายใต้ภาพตัวเล็กๆ ว่าเมื่อวันที่ 14 ตุลา เวลา 08.09 น. เขาถูกยิงที่นี่ และเราพบว่าความใฝ่ฝันของเขาต่อชาติบ้านเมืองนั้นก็คือ …….

ลองคิดถึงอนุสรณ์สถานสิบสี่ตุลาที่อัดแน่นไปด้วยภาพถ่ายและบันทึกความเคลื่อนไหวของผู้คนตามหัวเมืองใหญ่ๆ ในเช้าวันนั้น แถลงการณ์ที่กลุ่มครูทำแจก คำสัมภาษณ์แม่ค้า ซากป้อมยาม ฯลฯ หรือไปให้ไกลกว่านั้น

ลองคิดถึงความรู้สึกที่จะเกิดขึ้น หากเดินไปแถบบางลำภูและพบซากรถดับเพลิงเก่าๆ ซึ่งมีข้อความบอกว่านี่คือรถดับเพลิงที่ผู้เดินขบวนเมื่อวันที่ 14 ตุลา ใช้เป็นเครื่องกำบังตัวเองจากกระสุนปืนและรถถังของเผด็จการ

การผลิตซ้ำความทรงจำสิบสี่ตุลาผ่านพื้นที่แบบนี้ถ่ายทอดความทรงจำได้ง่าย เปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจ ทั้งยังทำให้สิบสี่ตุลาเป็นเรื่องใกล้ตัวสำหรับทุกคน สิบสี่ตุลาแบบนี้ไม่ได้เป็นมีศูนย์กลางอยู่ที่การนำและผู้นำที่ฉลาดหลักแหลมอีกต่อไป แต่สิบสี่ตุลาเป็นเรื่องของใครก็ได้ที่อาจเดินอยู่ใกล้ๆ ตัวเรา

ใครจะรู้ว่าเมื่อครบ 40 ปี 50 ปี หรือ 60 ปี สิบสี่ตุลา มันอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นนักวิชาการ, ผู้นำทางการเมือง หรือคนมีการศึกษาสูงๆ ที่ เป็นผู้กุมญัตติหลักในการเฉลิมฉลองสิบสี่ตุลา มันอาจจะเป็นคนธรรมดาๆ ที่ผ่านการต่อสู้และสั่งสบประสบการณ์ในแบบของเขามาอีกแบบก็เป็นได้

เมื่อถึงจุดนั้น ต่อให้มีกรณีอย่างเทพมนตรีเกิดขึ้นอีกมากแค่ไหน สถานะของสิบสี่ตุลาก็คงยากจะหวั่นไหวได้ ปัญหาเรื่องใครเป็นฝ่ายซ้ายฝ่ายขวาจะไม่มีความสำคัญต่อไป และพลังของความทรงจำสิบสี่ตุลาในแง่ของการสร้างแรงบันดาลใจทางการเมืองก็จะคงอยู่ไปได้อีกนาน

ความทรงจำนั้นลื่นไหลและเปลี่ยนได้ สังคมไม่ได้จดจำเรื่องราวต่างๆ จากสถานะของความจริงแท้ในความทรงจำนั้นๆ

ระบบคุณค่าของสังคมสมัยใหม่สอนให้ผู้คนยึดถือในคุณค่าของความจริงแท้ แต่ถ้ายอมรับว่ามีตัวแปรหลายอย่างที่ทำให้สังคมไม่ได้อาศัยความจริงแท้เป็นฐานเดี่ยวในการวินิจฉัยและจดจำเรื่องต่างๆ การพิสูจน์ความจริงแท้ก็ย่อมไม่ใช่ตัวแปรขั้นสุดท้ายที่จะชี้ขาดว่าสังคมจะจดจำเรื่องราวต่างๆ ไปอย่างไร

ความจริงแท้มีความสำคัญในทางหลักการ แต่การจัดการความทรงจำให้ใกล้เคียงความจริงแท้ (merely truth) มีความสำคัญทางสังคม การจัดการนี้เป็นเรื่องทางการเมือง และก็เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ทางการเมืองโดยตรง

หมายเหตุ: พิมพ์ครั้งแรกใน มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 10 มกราคม 2547 ปีที่ 23 ฉบับที่ 1221