ในอารมณ์ของเซียนข่าวที่มองประเด็นตรงกันโดยอัตโนมัติ
สังเกตว่า หนังสือพิมพ์ฉบับเช้าวันที่ 14 ตุลาคม หลายฉบับเลือกเอาช็อตที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นั่งเคียงข้างกับ "เทพเทือก" นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ในฐานะเลขาธิการพรรค ระหว่างประชุมรับรองการแต่งตั้งนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี เป็นรองนายกฯ ขึ้นหราเป็นภาพข่าวหน้าหนึ่ง
ตามทางข่าวล้อกับกระแสการปีนเกลียวในหมู่คนพรรคประชาธิปัตย์ แตกออกเป็น 3 ก๊ก 3 ก๊วน
"อภิสิทธิ์" กับ "เทพเทือก" แตกคอ เล่นกันคนละคีย์
คิวเดียวกันยังมีช็อตขำๆตามรายงานข่าวที่ ส.ส.หญิงของพรรคประชาธิปัตย์ใช้โทรศัพท์
มือถือแอบถ่ายภาพหลุดของ "เทพเทือก" นั่งหลับแบบหมดสภาพในห้องประชุมพรรค ขณะที่นายกฯอภิสิทธิ์ที่นั่งอยู่ข้างๆนึกสนุกด้วย ขอดูรูปถึงกับกลั้นหัวเราะไม่อยู่
หยอกล้อกันเป็นที่ครึกครื้น
เอาเป็นว่า โดยฉากจู๋จี๋ดู๋ดี๋ หักมุมกับคิวเหยียบตาปลากันเอง ลดโทนข่าวร้อนๆของประชาธิปัตย์ให้เย็นลงไปได้หลายองศา
และก็เป็นอะไรที่ยังอยู่ในจุดที่พูดจาภาษาเดียวกัน ในฉากที่ "เทพเทือก" ประสานแกนนำตัวจริงเสียงจริงของพรรคร่วมรัฐบาลนั่งโต๊ะกินข้าวเย็นกับนายกฯอภิสิทธิ์ที่บ้านพิษณุโลก
จูนคลื่นตรงกันในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
"บิ๊กเติ้ง" นายบรรหาร ศิลปอาชา นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา นายพินิจ จารุสมบัติ นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ หัวขบวนพรรคเพื่อแผ่นดิน นายเนวิน ชิดชอบ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายใหญ่ค่ายภูมิใจไทย นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ บอสใหญ่พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา
"ขาใหญ่" พากันโล่งอกโล่งใจ
เมื่อได้ยินจากปากนายกฯอภิสิทธิ์โดยตรง พร้อมเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญในแนวของคณะกรรมการสมานฉันท์ตามโปรแกรมเดิม
ทั้งหมดทั้งปวง โดยการนัดร่วมโต๊ะระหว่างนายกฯอภิสิทธิ์กับแกนนำตัวจริงเสียงจริงของพรรคร่วมรัฐบาล ตามโปรแกรมจูนคลื่นเรื่องแก้รัฐธรรมนูญนั่นเป็นที่รู้กันอยู่แล้ว
แต่โดยยุทธศาสตร์ที่ลึกไปกว่านั้น คือการกระชับช่องว่าง รักษาระยะห่างระหว่างนายกฯอภิสิทธิ์ กับขุนศึกพรรคร่วมรัฐบาลที่ประคองนั่งร้านให้แคบลง หลังเสียตัวเชื่อมสำคัญยี่ห้อ "นิพนธ์ พร้อมพันธุ์" ที่ถอนสมอออกไป
"อภิสิทธิ์" จำเป็นต้องต่อสายตรงกับเพื่อนร่วมรัฐนาวา
ในอารมณ์ที่สังเกตว่า เออออห่อหมกกับพรรคร่วมรัฐบาลมากขึ้น
โดยเฉพาะคิวล่าสุด พรรคที่ครึ้มอกครึ้มใจกว่าใครน่าจะเป็นคิวของพรรคเพื่อแผ่นดิน ผ่านการดีลของนายพินิจและนายปรีชา เพราะในหัวข้อสนทนานอกจากปมหลักเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ยังมีวาระแทรกพิเศษเรื่องบิ๊กโปรเจกต์ประมูลคลื่นโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3 จี
ตามท่าทีของนายกฯอภิสิทธิ์ คล้อยตามแนวทางของ ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รมว.ไอซีที ที่หักลำสวนทางกับคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)
ยื้อเปิดประมูล ป้อนเค้กให้กลุ่มทุนข้ามชาติ
ล่าสุดมติที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจที่นายกฯอภิสิทธิ์นั่งเป็นประธาน ก็กั๊กข้อสังเกตให้เลขาธิการ กทช.นำไปพิจารณาประกอบ ก่อนจะลุยถั่วเปิดประมูลคลื่น 3 จี
ต้องไม่ให้กระทบรายได้ของ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม เน้นเรื่องสัดส่วนถือหุ้นของทุนข้ามชาติ เงื่อนไขการประมูลต้องชัดเจนไม่หมกเม็ดเอื้อเอกชน ที่สำคัญไม่ผลักภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน
นัยว่า ตามเงื่อนไขของกระทรวงไอซีทีฯเป๊ะๆ
ในมุมการเมือง "อภิสิทธิ์" คล้อยตามพรรคเพื่อแผ่นดิน ซื้อใจพรรคร่วมรัฐบาล
แต่ถ้ามองกันตามเนื้อผ้า โดยยึดเอาประวัติศาสตร์จากโครงการสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ในยุคบุกเบิก สูตรสำเร็จของเมืองไทย เอกชนเหมาสัมปทานฟันค่าต๋ง รัฐบาลขาดทุนบักโกรก
กำไรไปตกอยู่กับบริษัทข้ามชาติที่เป็นหุ้นส่วนใหญ่
ไอ้ที่อ้างกันว่า เก็บสัมปทานให้รัฐเป็นจำนวนมาก สุดท้ายก็ผลักภาระตกไปอยู่ที่ประชาชนคนไทยผู้ใช้บริการ โดนโขกค่าบริการอ่วม
เหนืออื่นใด โดยตัวอย่างก็เพิ่งเห็นกัน กับอภิมหาสัมปทานโทรศัพท์
มือถือที่สร้างกำไรมหาศาล ตัวเลขหลายหมื่นล้านที่เป็นเงื่อนไขหลักที่ทำให้อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร โดนล้มโต๊ะจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี เพราะตัดสินใจพลาด ขายหุ้นธุรกิจให้กับบริษัทเทมาเสกสัญชาติสิงคโปร์
โยงกับปัญหาความมั่นคงของชาติ
โดยเดิมพัน โปรเจกต์นี้มันมากกว่าคำว่า "ธุรกิจ".
ทีมข่าวการเมือง