ที่มา ข่าวสด
รัฐบาลผสมที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำและนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ กำลังเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัว ต่อสำคัญอีกครั้ง
โดยเฉพาะเดือนพ.ย.ที่มีปัจจัยหลายอย่างทั้งภายนอกและภายใน บ่งชี้ว่าเป็นช่วงที่การเมืองจะกลับมาร้อนแรงมากเป็นพิเศษ
ปัจจัยภายนอกที่เห็นกันอยู่คือความเคลื่อนไหวของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ได้ระดมยุทธปัจจัยทุกอย่างที่มีอยู่ในมือ เปิดเกมเขย่ารัฐบาลเต็มรูปแบบเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการยุบสภาเลือกตั้งใหม่โดยเร็วที่สุด
เพื่อให้ทันการตัดสินคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านที่งวดเข้ามาทุกที
ในบรรดายุทธปัจจัยของพ.ต.ท. ทักษิณ อย่างแรกคือการดึงเอา พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ เข้ามาเป็น"นอมินี" นำการขับเคลื่อนพรรคเพื่อไทย
ผลงานการล่อ"ป๋าเปรม"ออกจากถ้ำ ต่อด้วยการเดินทางไปพบปะ"ฮุนเซน"นายกฯกัมพูชา และยังมีคิวเตรียมเดินทางไปพบผู้นำเพื่อนบ้านอีก 2-3 ประเทศ
สร้างความหวั่นไหวให้รัฐบาลพอสมควร
หลังจากยุทธการ"อาเซียนล้อมไทย" ที่ทำให้การประชุมอาเซียนซัมมิทที่รัฐบาลเป็นเจ้าภาพกร่อยลงไปถนัดตา
พ.ต.ท.ทักษิณ ยังเตรียมเปิดสงครามข่าวสารอีกระลอก ดีเดย์ 1 พ.ย. ด้วยการส่งเอสเอ็มเอสผ่านโทร ศัพท์มือถือถึงแฟนคลับระดับรากหญ้า
ว่ากันว่าการสื่อสารด้วยวิธีนี้เข้าถึงชาวบ้านได้กว้างขวาง และง่ายกว่าการโฟนอินหรือวิดีโอลิงก์ หรือเว็บไซต์ทวิตเตอร์ที่พ.ต.ท.ทักษิณใช้อยู่
จะได้ผลมากน้อยขนาดไหน
บททดสอบแรกอยู่ที่การนัดชุมนุมใหญ่คนเสื้อแดงเดือนพ.ย.นี้
กล่าวกันว่าการชุมนุมของคนเสื้อแดงในเดือนพ.ย. มีความแตกต่างออกไปจากการชุมนุมหลายๆ ครั้งที่ผ่านมาที่มีลักษณะเป็นการชุมนุมแบบวันเดียวจบ รวมตัวกันช่วงบ่ายเพื่อรอ พ.ต.ท.ทักษิณวิดีโอลิงก์เข้ามาในช่วงหัวค่ำ แล้วสลายตัวไม่เกินเที่ยงคืน
แต่ครั้งนี้จะยกระดับเป็นการชุมนุมยืดเยื้อ
ในการโฟนอินถึงคนเสื้อแดง จ.อุดรธานี เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณสั่งการให้ทุกคนตระเตรียมข้าวของเสบียงกรังไว้ให้พร้อมสำหรับการชุมนุมที่คาดว่าต้องอยู่ยาว
สอดรับกับแกนนำคนเสื้อแดงที่เตรียมโหมโรง จัดงานคอน เสิร์ตที่โบนันซ่า เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ตั้งเป้าระดมเงินทุนสำหรับการชุมนุมใหญ่ปลายเดือน
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประกาศเทหมดหน้าตักในการรบครั้งสุดท้าย
"เราจะนำคนล้านคนมาร่วมตั้งเวทีเดียวจุดเดียวที่ข้างทำเนียบรัฐบาล และไม่เลิกจนกว่ารัฐบาลจะยุบสภาเลือกตั้งใหม่"
ถ้าดูจากจำนวนคนเสื้อแดงที่มาร่วมชุมนุม ระยะหลังจะยืนอยู่ที่ระดับไม่เกิน 3 หมื่นคน การบอกว่าจะนำคนเป็นล้านมาร่วมชุมนุมนั้น จึงอาจจะเว่อร์เกินไป
อีกทั้งอารมณ์คนที่สะท้อนผ่านการสำรวจโพลบางสำนัก ทำให้เห็นว่าส่วนใหญ่เริ่มเบื่อหน่ายการเมืองแบบแบ่งสีแบ่งฝ่าย และต้องการเลือกยืนอยู่ตรงกลางมากกว่า
ดังที่เห็นได้จากคะแนนนิยมทั้งของ"ทักษิณ"และ"อภิสิทธิ์" ที่หดตัวลงอย่างเห็นได้ชัด แต่กลับไปปูดที่ตัวเลขของคนที่ไม่ฝักฝ่ายใดถึงร้อยละ 53
ดังนั้น ถ้าหากแกนนำคนเสื้อแดงตีโจทย์ตัวเลขตรงนี้ไม่แตก จับอารมณ์คนส่วนใหญ่ไม่ถูก ก็มีสิทธิ์ถูกกระแสดีดกลับเหมือนเมื่อครั้งการชุมนุมเดือนเม.ย.
ที่จบลงด้วยความสะบักสะ บอมของคนเสื้อแดง
อย่างไรก็ตามมีนักวิเคราะห์บางคนมองต่างออกไป
ว่าในเดือนพ.ย.สถานการณ์การ เมืองอาจยังไม่ถึงขั้นแตกหักตามที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคนเสื้อแดงอยากให้เป็น
เพราะถึงแม้ว่านายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะเที่ยวพูดว่าพร้อมยุบสภาเลือกตั้งใหม่ โดยมั่นใจว่าพรรคประชาธิปัตย์จะได้รับเลือกกลับมาเป็นรัฐบาล
แต่สภาพความเป็นจริงในรอบ 10 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรคการเมืองจึงทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งภายในมากมาย
อย่างล่าสุดปัญหาความไม่ลงรอยกันในกระทรวงพาณิชย์ ระหว่างนาย อลงกรณ์ พลบุตร รมช.จากพรรคประชาธิปัตย์ กับนางพรทิวา นาคาศัย รมว. จากพรรคภูมิใจไทย
หรือกรณีนายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย กับนายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม จากเหตุการณ์วุ่นๆ ภายในการรถไฟแห่งประเทศไทยกับสหภาพแรงงาน
ไม่รวมถึงปัญหาทุจริตที่เริ่มส่งกลิ่นรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
และที่สำคัญคือรอยปริร้าวในหมู่แกนนำประชาธิปัตย์อันสืบเนื่องมาจากการแต่งตั้งผบ.ตร. และการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยังเป็นปัญหาคาราคาซังมาจนถึงปัจจุบัน
ความขัดแย้งเหล่านี้ทำให้รัฐบาลไม่สามารถผลักดันผลงานออกมาได้เป็นชิ้นเป็นอัน
ทุกอย่างจึงดูเหมือน"สุกงอม"ในสายตาฝ่ายตรงข้าม
นอกจากนี้การที่รัฐบาลออกมาเปิดเกมเล่นเรื่องถอดยศ-ริบเครื่องราชฯของพ.ต.ท.ทักษิณ ยังไม่ต่างจากการกวักมือเชื้อเชิญให้คนเสื้อแดงออกมาร่วมชุมนุมเสียเอง
แต่ปัญหาของคนเสื้อแดงก็คือหากคิดจะชุมนุมยืดเยื้อโดยเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนพ.ย. เมื่อย่างเข้าสู่เดือนธ.ค.ก็จะต้องผ่านวันสำคัญต่างๆ รวมถึงบรรยากาศเดือนแห่งการเฉลิมฉลอง
ประชาชนอาจไม่มีอารมณ์ร่วมกับสงครามแตกหักทางการเมือง
ด้วยเงื่อนไขข้อจำกัดเรื่องเวลาดังกล่าวอาจช่วยให้รัฐบาลยืดสถานการณ์ออกไปอีก
แต่จะยืดไปได้อีกเท่าใดนั้น
ต้องดูว่ารัฐบาลจะหาทางดับกระแสความร้อนแรงในเดือน พ.ย.นี้ได้หรือไม่
ก่อนถึงช่วงวิกฤตแท้จริงอีกครั้งต้นปีหน้า