ที่มา ประชาไท
ระบอบคณาธิปไตย(Oligarchy) คือระบอบการปกครองโดยแก๊งส์หรือก๊วนผลประโยชน์ หรือเครือญาติที่มีเป้าหมายเข้ามากุมอำนาจทางการเมืองและอำนาจรัฐเพื่อปกป้องผลประโยชน์ที่ตนคุมอยู่ หรือเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากรัฐวิสาหกิจหรือสัมปทานหรือสิทธิประโยชน์ที่ตนไม่มี โดยขนานนามตัวเองว่าพรรคการเมืองอย่างไร้ยางอาย เพราะว่าไม่มีลักษณะหรือเป็นไปตามคำจำกัดความของพรรคการเมือง (Political party) ตามที่ยอมรับกันในทางสากลหรือตำราทางรัฐศาสตร์
ระบอบการเมืองในวันนี้คือระบอบคณาธิปไตยเต็มรูปแบบ มิใช่ระบอบประชาธิปไตยอย่างที่อวดอ้างกัน
แม้แต่ระบอบประชาธิปไตยที่อวดอ้างกันก็ยังอ้างกันอย่างเอาสีข้างเข้าถู คืออ้างเอาการเลือกตั้งมาเป็นข้ออ้าง และยึดเอาประชาธิปไตยเป็นจุดหมาย(End) คือจบหรือสิ้นสุดที่ “การเลือกตั้ง”
แต่ระบอบประชาธิปไตยตามทฤษฏี หรือ หลักการ คือ เป็น “กระบวนการ” (Means) หรือวิธีการเพื่อมุ่งไปสู่จุดหมาย ที่มนุษยชาติอยู่ร่วมสังคมกันอย่างมีจริยธรรม มีความเป็นธรรม มีความยุติธรรมทั้ง ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม มีหลักนิติรัฐที่มีประสิทธิภาพเท่าเทียมและโปร่งใส
ระบอบที่อ้างเสียงข้างมากจากการเลือกตั้งแล้วดำเนินการปกครองหรือบริหารบ้านเมืองอย่างไร้หลักการ ใช้อำนาจหน้าที่อย่างมิชอบ ใช้อำนาจอย่างเผด็จการ ละว้นการปฎิบัติหน้าที่ ฉ้อฉล ตะกละตะกลาม คดโกง คอรัปชั่น ฉ้อราษฏรบังหลวงทางนโยบาย เล่นพรรคเล่นพวก รังแกคนดี รังแกข้าราชการที่ดีอย่างไร้จริยธรรม จึงไม่อาจจะอ้างได้ว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยแต่เป็นระบอบคณาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ เพราะเป็นการใช้กระบวนการที่สวนทางกับจุดหมายของระบอบประชาธิปไตย
ดังนั้นสังคมที่หลักนิติรัฐไร้ประสิทธิภาพ กฎหมายไม่เป็นกฎหมาย ผู้นำไร้อำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย มีการใช้อำนาจหน้าที่อย่างมิชอบ และเลือกปฏิบัติ มีการคอรัปชั่นสูงที่กระบวนการยุติธรรมไร้ประสิทธิภาพ ระบอบตรวจสอบไร้ประสิทธิภาพ ประชาชนไร้กลไกตรวจสอบนักการเมือง ไม่สามารถไช้สิทธิในการตรวจสอบและถอดถอนนักการเมืองทางตรงอย่างมีประสิทธิภาพจึงไม่อาจเรียกว่าสังคมประชาธิปไตย หรือการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย
อาริสโตเติ้ลกล่าวไว้หลายพันปีมาแล้วว่า “เป็นความไม่ถูกต้องอย่างยิ่งในการให้นักการเมืองมีอำนาจสูงสุดเหนือกฎหมาย แต่ตรงกันข้าม กฎหมายต้องมีอำนาจสูงสุด”
จอห์น ล๊อก(John Locke) นักปรัชญาประชาธิปไตยคนสำคัญของยุโรปได้กล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง “เสรีภาพ” กล่าวไว้ในทำนองเดียวกันว่า “การใช้อำนาจฉ้อฉลเป็นเชื้อโรค และยาที่จะใช้แก้โรคนี้ได้คือกฎหมาย” (Abuse of power is the disease and law is the cure)
ล๊อกยังกล่าวไว้อีกว่า “รัฐหมดความชอบธรรมในการปกครองเมื่อแทรกแซงฝ่ายนิติบัญญัติหรือ ได้ใช้อำนาจ หรือเงินในการซื้อเสียงหรือบังคับให้ลงคะแนนเสียงในทางใดทางหนึ่ง หากเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้น ประชาชนมีเสรีภาพในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่ไม่ใช้อำนาจอย่างฉ้อฉ้ลและไม่ทรยศต่อเจตจำนงค์และความไว้วางใจของประชาชน” (On Liberty)
สภาพบ้านเมืองไทยในทางการเมืองวันนี้มีลักษณะข้างต้น และเป็นปัจจัยกำหนดลักษณะคณาธิปไตยและอนาธิปไตยทางธุรกิจ ของระบอบการค้าเสรีในยุคทุนครอบโลก คือทุนใหญ่และทุนข้ามชาติใช้ทุนและอำนาจผูกขาดเหนือตลาด(อำนาจสูงสุด)อย่างมิชอบ และฉ้อฉล ใช้ทุนซื้อข้าราชการให้ออกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ทำผิดกฎหมาย หลีกเลี่ยงการบังคับใช้กฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆที่มีไว้เพื่อให้สังคมมีระเบียบและความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย
เป็นเรื่องเศร้าที่กลุ่ม แก๊งส์ และก๊วนคณาธิปไตยทางการเมืองกลายเป็นกลุ่ม แก๊งส์ และก๊วนทุนข้ามชาติและทุนยักษ์เดียวกันทางธุรกิจด้วย
คณาธิปไตยทางเศรษฐกิจสร้างกฎกติกา และระเบียบการค้าที่ทำลายสภาพแวดล้อมและสร้างมลภาวะให้กับสังคมด้วยข้ออ้างหรือคาถาการลงทุนเสรี หรือค้าเสรีแบบหมอผีที่ตัวหมอผีเองไม่เคยปฏิบัติตามคาถาของตน คือ รัฐต้องไม่ก้าวก่ายแทรกแซงควบคุมการลงทุนของเอกชน กรณีมาบตะพุดเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ปะทุขึ้นมาฟ้องและสะท้อนระบบคิดข้างต้นที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนเหนือชีวิตมนุษย์และชุมชน
ชุมชน ทุนเล็ก ชนชั้นกลาง และผู้ประกอบการรายย่อย ผู้บริโภค และคนงานกลายเป็นเหยื่อของปรัชญาการค้าเสรีที่ยึดถือกำไรสูงสุดเป็นพระเจ้า โดยไม่คำนึงถึงความหายนะของผู้อื่น(เมื่อแข่งขันไม่ได้ก็สมควรตาย)
ทุกวันนี้มีการใช้ทุนและอำนาจเหนือตลาดมากำหนดกติกาและข้อตกลงทางการค้าเสรีด้วยวิธีคิดและระบบการทำงานอย่างเจ้าอาณานิคม เช่น ระบบอนุญาโตตุลาการ(สิทธิสภาพนอกอาณาเขตยุคใหม่) ระบบสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า แฟรนไชส์ ระบบคอนแทรกฟาร์มมิ่ง ระบบขายตรง ระบบตัวแทนจัดจำหน่าย ระบบขยายสาขาทั้งใหญ่และเล็กของห้างค้าปลีกยักษ์และศูนย์การค้า
ระบบสัมปทาน(ธุรกิจพลังงาน รถใต้ดิน รถไฟฟ้าและทางด่วน) ระบบลูกจ้างชั่วคราว(กฎหมายแรงงานคุ้มครองไม่ถึง) ซึ่งทุนใหญ่หรือเจ้าของระบบเป็นผู้กำหนดกติกา กำหนดเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมแต่มีกฎหมายมารองรับ
ในระบบนี้คู่สัญญาและผู้บริโภคเป็นผู้ลงทุน เป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นผู้ทำงานตัวจริง แต่รายได้ถูกดูดกลับในรูปแบบต่างๆ เช่นค่าเช่า ค่าลิขสิทธิ์ ค่าสิทธิบัตร ค่าแบรนด์ ค่าบังคับซื้อสินค้า การกู้เงินมาทำเป้าตามเงื่อนไขบังคับที่มีลักษณะมัดมือชก ค่าบริหารจัดการซึ่งล้วนเป็นการดูดกำไรกลับสู่มือทุนใหญ่หรือทุนต่างชาติ
รัฐสูญเสียอำนาจการควบคุมและคุ้มครองผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ประกอบการท้องถิ่น ทุนท้องถิ่นและผู้บริโภคปล่อยให้มีบังคับใช้สัญญาที่ไม่เป็นธรรม การคิดค่าเช่าสถานที่ประกอบการสูง(ตามศูนย์การค้าและห้างยักษ์) อย่างไม่เป็นธรรมและไม่มีการควบคุม ทำให้ภาระถูกปัดมาให้ผู้บริโภค และการค้ากำไรเกินควรในทุกภาคส่วนของการค้า เช่นราคาน้ำเปล่าและน้ำแข็งในร้านอาหาร ราคาค่าทางด่วน ราคาน้ำมันและราคาไฟฟ้าที่ไม่ได้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
ระบบข้างต้นทำลายผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ประกอบการท้องถิ่น ทุนท้องถิ่น ชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นฐานเศรษฐกิจและการจ้างงานที่สำคัญที่สุดของสังคมถูกทำลาย และแปรสภาพจากชนชั้นกลางอิสระกลายมาเป็นลูกจ้างหรือทาสแรงงานทางอ้อม โดยมีทุนธนาคารถือแซ่ควบคุม
ทุกวันนี้ผู้บริโภคกลายเป็นตัวประกันหรือเหยื่อที่ไร้เดียงสาที่ง่ายต่อการใช้สื่อโฆษณาชักจูงไปทางไหนก็ได้ ไม่ต่างกับการเป็นตัวประกันทางการเมืองของนักการเมือง
ระบบข้างต้นมองว่าคนงานไม่ใช่มนุษย์ที่มีลมหายใจ มีความคิด ความรู้สึกและอารมณ์ แต่มองว่าเป็นชิ้นส่วนหนึ่งของการผลิต จะทิ้งขว้างบีบบังคับด้วยกฎ ระเบียบอย่างไรก็ได้ มองว่าทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเป็นของฟรีที่จะแย่งกันหยิบฉวยหรือทำลายได้อย่างเสรี
ระบบข้างต้นทำให้ประเทศและประชาชนมีหนี้สินล้นพ้นตน สถิติหนี้ต่อหัวต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นทุกปี และเป็นต้นตอของความคับข้องใจ ความไม่สงบสุขทางการเมือง ปัญหาครอบครัว ปัญหายาเสพย์ติดและอาชญากรรมที่ตามมา
ระบอบ คณาธิปไตยทางเศรษฐกิจการเมืองข้างต้นควรต้องได้รับการทบทวนและตรวจสอบอย่างจริงจังเพื่อความอยู่รอดของสังคมและชาติไม่ล่มสลายในระยะยาว ประเทศไทยไม่เพียงต้องการระบบการเมืองใหม่เท่านั้น แต่เราต้องการระบบเศรษฐกิจใหม่ที่มีความเป็นธรรมต่อประเทศและประชาชนทุกภาคส่วนด้วย
ตีพิมพ์ครั้งแรก: ประชาชาติธุรกิจ ตุลาคม 52