ที่มา บางกอกทูเดย์ “นักการเมือง” ถือเป็นบุคคลสาธารณะที่ควรถูกตรวจสอบได้ เพราะบุคคลที่อาสาเข้ามาเป็นนักการเมืองนั้น ส่วนใหญ่ประชาชนมุ่งหวังให้เข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชน ในการใช้อำนาจหน้าที่เพื่อสร้างความสุขความเจริญให้ส่วนรวม นักการเมืองจึงเป็นตัวแทนประชาชนที่ต้องทำหน้าที่เพื่อส่วนรวม โดยมิได้มุ่งหวังต่อประโยชน์ส่วนตน หรือใช้ตำแหน่งหรืออำนาจหน้าที่ไปหาประโยชน์ให้กับตัวเองหรือพวกพ้อง แทนการทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ ประชาชนส่วนใหญ่จะได้ยินได้ฟังคำพูดคำสาบานจากนักการเมืองไม่ต่างกัน คือ จะได้รับการสบถสาบานว่า จะไม่โกง จะซื่อสัตย์สุจริต จะดูแลประโยชน์ของส่วนรวม คำสบถสาบานต่างๆ ที่พร่ำพูดออกมาจนเป็นโมเดลที่ประชาชนท่องจำได้ขึ้นใจ ล้วนไม่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะได้ยินได้เห็นจากนักการเมืองในระดับใด ทั้งระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค และระดับชาติ นักการเมืองทุกระดับที่กล่าวมาล้วนมีความสำคัญ เพราะเข้ามาทำงานตามอำนาจหน้าที่โดยมีเรื่องของเงินงบประมาณเข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อมีเงินงบประมาณก็มีการใช้อำนาจในการจัดสรรแบ่งปันงบประมาณ การใช้อำนาจจัดสรรงบประมาณจะต้องมีการอนุญาตอนุมัติตามมา ซึ่งส่วนใหญ่นักการเมืองจะแย่งกันเข้าไปทำงานในส่วนนี้ โดยอ้างกันว่า...เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างมีความสุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ นักการเมืองทุกระดับมักจะแก่งแย่งกันเพื่อเข้าไปบริหารการใช้งบประมาณ โดยเฉพาะนักการเมืองระดับชาติ ซึ่งจะประกอบไปด้วยบุคคลสามกลุ่มใหญ่ๆ ที่อยากเข้ามาทำหน้าที่ในการใช้อำนาจเกี่ยวกับงบประมาณ สามกลุ่มที่กล่าว คือ นักการเมืองในฝ่ายนิติบัญญัติที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) นักการเมืองในฝ่ายนิติบัญญัติที่เป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และนักการเมืองในฝ่ายบริหารคือคณะรัฐมนตรี ส.ส. เป็นตำแหน่งที่ต้องให้ประชาชนเลือกตั้งเข้ามาเพื่อทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น เสนอกฎหมาย ควบคุมการบริหารงานของคณะรัฐมนตรี ตัดลดงบประมาณแผ่นดินที่คณะรัฐมนตรีเสนอ ส.ว. เป็นตำแหน่งที่ต้องให้ประชาชนเลือกตั้งเข้ามาส่วนหนึ่ง และไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งอีกส่วนหนึ่งซึ่งเรียกว่า ส.ว. สรรหา เพื่อทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น กลั่นกรองกฎหมาย ควบคุมการบริหารงานของคณะรัฐมนตรี จะเห็นว่า...หน้าที่ของ ส.ส. กับ ส.ว. บางส่วนคล้ายกัน บางส่วนต่างกัน แต่ทั้งสองฝ่ายก็อยู่ในฝ่ายนิติบัญญัติด้วยกัน ซึ่งเป็นฝ่ายที่สำคัญมากเพราะสามารถควบคุมและตรวจสอบการทำหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีได้ อำนาจนิติบัญญัติ เป็นอำนาจอธิปไตยหนึ่งที่มีความสำคัญมาก เพราะเป็นตัวแทนโดยตรงจากประชาชนที่เลือกตั้งเข้ามา (ยกเว้นกรณี ส.ว. สรรหา) โดยเฉพาะการทำหน้าที่ของ ส.ส. ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี การทำหน้าที่หลักของ ส.ส. จะเรียกว่า...การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งที่กล่าวไป คือ ประชุมลงมติอย่างเปิดเผยเลือกนายกรัฐมนตรี โดยเสียงของ ส.ส. ที่ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น จะต้องเกินกึ่งหนึ่ง ส.ส. มีจำนวน 480 คน ที่รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดไว้...มีมาจากการส่งตัวแทนของพรรคการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อให้ประชาชนเลือกตัวแทนที่พรรคการเมืองเสนอ ให้เป็นตัวแทนของประชาชน คือ ส.ส. การเลือกตั้งโดยประชาชน เพื่อเป็นตัวแทนของประชาชน เข้ามาใช้อำนาจของประชาชน ในส่วนของ ส.ส. นั้น มี 2 ชนิด คือ การเลือกตั้งตัวบุคคลตามรายชื่อผู้สมัคร กับการเลือกตั้งพรรคการเมืองซึ่งจะได้ ส.ส. ตามบัญชีรายชื่อที่พรรคเสนอ เช่นเดียวกันกับการเลือกตั้ง ส.ว. ก็เป็นการเลือกตั้ง โดยประชาชน เพื่อเป็นตัวแทนของประชาชน เข้ามาใช้อำนาจของประชาชน ยกเว้นในส่วนของ ส.ว. สรรหา ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่รัฐธรรมนูญก็กำหนดให้เป็นตัวแทนของประชาชนเช่นกัน พอจะเห็นได้ว่า อำนาจของ ส.ส. และ ส.ว. ในฝ่ายนิติบัญญัตินั้น มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็คงเป็นเพียงตาม “ตัวอักษร” ที่ประดิษฐ์ไว้ในบทบัญญัติของกฎหมายเท่านั้น ทำไมเป็นเช่นนั้น?! เพราะการทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติของ ส.ส. และ ส.ว. บางครั้งดูเหมือนจะไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือไม่ ตรงนี้อาจจะต้องนำมาพิจารณาให้ชัดเจน มิเช่นนั้น อาจจะเป็นการมองในแง่ร้ายเกินไป อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมของคนบางคนในการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติที่ผ่านมา อาจจะรับรู้ได้ว่า.. เป็นเพียงการทำหน้าที่แบบขอไปที ขอให้ได้เพียงชื่อว่า เป็น ส.ส. หรือ ส.ว. เท่านั้น เป็นแล้วจะรู้ไหมว่า มีหน้าที่อะไรบ้าง หรือรู้เพียงว่า จะไปศึกษาดูงานที่ไหน จะไปแสดงตนต่อหน่วยงานรัฐว่าฉันเป็น ส.ส. หรือ ส.ว. นะ หรือสนใจแต่จะไปศึกษาหาเพื่อนเพิ่มเติมตามหลักสูตรต่าง ๆ ตามแต่ใจจะต้องการ ถ้าการทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติยังไม่ครบถ้วน ยังไม่มีประสิทธิภาพ ยังขาดความโปร่งใส มีการร่วมมือกระทำการหรือละเว้นการกระทำใดๆ อันเอื้อประโยชน์ให้รัฐบาล โดยหวังเพียงให้ได้งานจากงบประมาณของรัฐเท่านั้น การร่วมกันเอื้อประโยชน์ให้กับคณะรัฐมนตรีหรือรัฐบาล ถ้าเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าไม่ใช่...แต่กลับกลายเป็นการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ระหว่างนักการเมืองด้วยกัน นับเป็นเรื่องที่ไม่ดี เป็นเรื่องเลว พูดถึงอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติไปแล้วสองส่วน อีกส่วนหนึ่งคืออำนาจฝ่ายบริหาร ซึ่งดูตามเนื้อหาของกฎหมาย ไม่น่าจะแตกต่างจากอำนาจนิติบัญญัติแต่อย่างใด แต่บรรดานักการเมืองกลับให้ความสนใจมากกว่า เรื่องอำนาจฝ่ายบริหารนั้น เห็นได้ชัดเจนว่ามีการแย่งชิงกัน ทั้งในรูปแบบการช่วงชิงจำนวน ส.ส. ในสภา การขับเคลื่อนเกมการเมืองนอกสภา เพียงเพื่อให้ได้เป็นฝ่ายบริหาร เข้ามาใช้อำนาจจัดสรรงบประมาณของประเทศ การแย่งชิงอำนาจบริหารที่ผ่านมามีทั้งการล้มล้างการเลือกตั้ง การใช้อำนาจทหารทำการปฏิวัติ การจับขั้วของกลุ่มการเมือง ที่แม้จะเคยเป็นฝ่ายตรงกันข้าม แต่เมื่อประโยชน์สมกัน...ก็โอบกอดจับมือกันเข้ามาใช้อำนาจบริหารด้วยกันได้ การทำงานในระดับของ ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารที่กล่าวมา ถ้าเป็นไปในฐานะที่ใช้อำนาจของประชาชน โดยตัวแทนของประชาชน และเพื่อประโยชน์ของประชาชน ต้องเป็นเรื่องที่ดีที่ประชาชนต้องการ แต่จะเป็นเช่นนั้นได้หรือไม่...จะทราบได้อย่างไร...หรือจะรู้ได้อย่างไรว่า...ตัวแทนของประชาชนเหล่านี้ ทั้งในฝ่ายนิติบัญญัติ คือ ส.ส. และ ส.ว. หรือในฝ่ายบริหารจะได้ทำงานตามอำนาจหน้าที่เพื่อส่วนรวม โดยไม่มีการเบียดบังอำนาจไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน วิธีการหนึ่งที่พอจะมองเห็น คือ การตรวจสอบการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ว่า ส.ส. หรือ ส.ว. หรือรัฐมนตรี เข้ามาทำหน้าที่แล้ว มีการทุจริต คดโกง กันหรือไม่ ทำงานไปในลักษณะ ฉ้อราษฎร์บังหลวงกันหรือเปล่า พูดถึงการตรวจสอบก็ต้องมาดูที่ตัวบทกฎหมายกันก่อนว่า...มีเรื่องการตรวจสอบอยู่แล้วหรือไม่ มีมากหรือน้อย มีแล้วใช้ได้ในลักษณะที่จะป้องกันหรือปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบได้หรือไม่ คงต้องตามกันต่อในตอนหน้านะครับ