เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ที่ผ่านมา สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ ได้จัดทำดัชนีความสงบสุขโลก (โกลบัล พีซ อินเด็กซ์ : จีพีไอ) โดยการจัดอันดับประเทศที่มีความสุขที่สุดประจำปี 2010 จากการจัดทำผลสำรวจทั้งหมด 149 ประเทศ ปรากฎว่า ประเทศที่มีความสุขที่สุดได้แก่ นิวซีแลนด์ ซึ่งรั้งตำแหน่งนี้เป็นปีที่สองติดต่อกัน ตามมาด้วย ไอซ์แลนด์ และญี่ปุ่นซึ่งรั้งอันดับสองและสามตามลำดับ ตามมาด้วย ออสเตรีย (4), นอร์เวย์ (5), ไอร์แลนด์ (6), เดนมาร์ค และ ลักเซมเบิร์ก (7), ฟินแลนด์ (9) และ สวีเดน (10) ในขณะประเทศที่มีดัชนีชี้วัดความสุขน้อยที่สุดคือ อิรัก ตามมาด้วย โซมาเลีย (148), อัฟกานิสถาน (147), ซูดาน(146), และปากีสถาน (145) ตามลำดับ
สำหรับประเทศไทยในปีนี้ รายงานระบุว่าอยู่ใน อันดับ 124 และอยู่ในอันดับ 18 ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค เปรียบเทียบภายในภูมิภาคอาเซียน ไทยอยู่ในอันดับที่ต่ำกว่า มาเลเซีย (22), สิงคโปร์ (30), ลาว (34), เวียตนาม (38), อินโดนีเซีย (67), และกัมพูชา (111) โดยเหนือกว่า ฟิลิปปินส์ (130) และเมียนมาร์ (132) เท่านั้น โดยตกมาจากอันดับ 118 จากการสำรวจเมื่อปีที่แล้ว
การจัดดับนี้วัดจากการประมวลผลคะแนนในด้านต่างๆ โดยวัดคะแนนจาก 1 หมายถึงมีความสงบสุขมากที่สุด และ 5 หมายถึงมีความสงบสุขน้อยที่สุด ทั้งนี้เมื่อพิจารณาดัชนีการจัดอันดับในปัจจัยต่าง ๆ พบว่า ไทยได้คะแนนเฉลี่ย 2.393 โดยเกิดปัญหาภาพลักษณ์เสียหายในด้านต่าง ๆ หลายด้านที่น่าเป็นห่วงได้แก่
-ความสามารถ และการจัดการทางการทหาร : 3.5 คะแนน
-จำนวนผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งขององค์กรภายใน : 3 คะแนน
-ระดับความขัดแย้งขององค์กรภายใน : 3 คะแนน
-ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน : 3 คะแนน
-ระดับอาชญากรรมในสังคมที่สามารถมองเห็นได้ : 3 คะแนน
-ความมั่นคงทางการเมือง : 3.25 คะแนน
-ระดับการเคารพสิทธิมนุษยชน : 3.5 คะแนน
-ศักยภาพของผู้ก่อการร้าย : 4 คะแนน
-อัตราการเกิดการฆาตกรรมต่อประชากร 100,000 คน : 3 คะแนน
-ระดับอาชญากรรมรุนแรง : 4 คะแนน
-ความเป็นไปได้ในการเกิดความรุนแรง : 4 คะแนน
-อัตราผู้ต้องขังต่อประชากร 100,000 คน : 2.5 คะแนน
-ความสะดวกในการจัดหาอาวุธเบา/อาวุธขนาดเล็ก : 2 คะแนน
-จำนวนเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและตำรวจต่อประชากร 100,000 คน : 2 คะแนน
ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบต่อดัชนีความสุขของประเทศเท่านั้น แต่ยังแสดงความสามารถในการจัดการปัญหาต่างๆภายในประเทศของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น การเมือง สังคม ว่ายังมีข้อบกพร่องและมีช่องโหว่หลายจุดที่ต้องรีบเร่งแก้ไข ไม่ให้ส่งผลกระทบและลุกลามจนยากเกินแก้ไข