ผมไม่ได้เป็นแฟน "เอเชียไทม์ส ออนไลน์"ชนิดขาดไม่ได้ แต่ต้องยอมรับว่า"เอโอแอล"เลือกเรื่องมาบอกเล่าได้น่าสนใจในหลายๆ ครั้ง เพราะตรงกับความอยากรู้ ในห้วงจังหวะเวลาที่พอเหมาะพอเจาะ
อย่างเช่นเมื่อหลายคนอยากรู้ให้มากขึ้นเกี่ยวกับ"คนชุดดำ"เอโอแอลก็มีข้อเขียนของเคนเนธ ท็อดด์ รุยซ์ และ โอลิวิเยร์ ซาบิล สองผู้สื่อข่าวและช่างภาพอิสระ มาเขียนบอกเล่าถึง"เม็น อิน แบล็ค"เต็มๆ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา
รวมทั้งข้อเขียนชวนให้ขบคิดใคร่ครวญอย่างยิ่งของ แดนนี่ อังเกอร์ ศาสตราจารย์รัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย นอร์เธิร์น อิลลินอยส์ ในสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา ก็พอเหมาะพอดีกับสถานการณ์แวดล้อมของการเมืองไทยเป็นอย่างยิ่ง
เรื่องแรกนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี หยิบยกไปพูดถึงไว้ในการตอบคำอภิปรายในญัตติไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนไม่ได้พูดถึงรายละเอียดมากมายนัก เพราะคงคิดอย่างเดียวกับที่ผมคิดว่า เรื่องอย่างนี้"อ่านเอาเอง-คิดเอาเอง"จะดีกว่าเป็นไหนๆ
แต่ในด้านหนึ่ง คำบอกเล่าของ เอโอแอล เรื่องคนชุดดำ ก็ไม่ได้มีอะไรใหม่เพิ่มเติมมากมาย อาจเป็นเพราะ แม้จะได้รับการต้อนรับอย่างดี แต่ก็อยู่ภายใต้เงื่อนไขง่ายๆ ประการหนึ่งก็คือ พูดคุยด้วยได้ แต่ห้ามถ่ายภาพ-ถ้าถ่ายแม้แต่ช็อตเดียว"ผมจะฆ่าคุณ"
คำบอกเล่าของเอโอแอลเกี่ยวเนื่องกับเรื่องนี้จึงเป็นเพียงการแสดงให้เห็นว่า"คนชุดดำ"ที่เรียกตัวเองว่า"แบล็ค แองเจิล"ผู้ทำหน้าที่"พิทักษ์"ผู้ชุมนุม-มีอยู่จริง มีอยู่ด้วยกันจำนวนทั้งสิ้น 27 คน จัดตั้งแบบเดียวกับหน่วยทหารในยามศึก มีทั้งผู้รับผิดชอบด้านสื่อสาร และผู้ที่รับผิดชอบด้านเสนารักษ์ ส่วนใหญ่เป็น"พลร่ม"
มีหนึ่งรายที่บอกว่ามาจาก"กองทัพเรือ"ทั้งหมดมีอาวุธสงครามเป็นอาวุธประจำกาย ทั้ง เอ็ม 16, ทาร์ 21 (ที่มักคุ้นกันมากกว่าในชื่อ ทาร์โว่) ผลิตในอิสราเอล ที่ยึดมาจากทหารที่สี่แยกคอกวัว, เออาร์-15 ไรเฟิล เป็นอาทิ ผู้สื่อข่าวของ เอโอแอล ไม่เห็น เครื่องยิงระเบิดเอ็ม 79 แต่เชื่อว่า มีอยู่ในครอบครอง พิเคราะห์จากการจัดการกับระเบิดพลาสติค และการจัดวางระเบิดรอบพื้นที่ที่เป็นค่าย ทำให้รุยซ์และซาบิลสรุปว่า ทั้งหมดน่าจะผ่านการฝึกด้านวัตถุระเบิดมา เช่นเดียวกับยุทธวิธีด้านการทหารอื่น
คนทั้งหมดอยู่ในวัยยี่สิบเศษ อ่อนเยาว์เกินกว่าที่จะเป็น"คอมมานโด จากยุคต่อต้านคอมมิวนิสต์"อย่างที่สื่อเคยพูดถึงกันไว้ ทุกคนมีพื้นเพมาจากดินแดนที่กลุ่มคนเสื้อแดงเรียกว่า"บ้าน"
รุยซ์ และ ซาบิล ยืนยันว่า ค่ายพักของคนชุดดำอยู่ในส่วนที่เป็น"หัวใจ"ของพื้นที่ชุมนุมนั่นเอง ทั้งคู่ระบุด้วยว่า ได้เห็น"คนชุดดำ"ออกปฏิบัติการ 2 ครั้ง หนึ่งนั้นเป็นการจัดชุดเล็กออกไป"ปฏิบัติการ"ในพื้นที่"ประตูน้ำ"เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม
อีกครั้งเป็นการปฏิบัติการ"เผา"ในวันที่ 19 พฤษภาคมนั่นเอง!
*****
ผมครุ่นคิดถึงข้อเขียนเรื่องคนชุดดำอย่างมาก เมื่อครั้งที่ได้ผ่านตาคำให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผ่านการจัดการของทีมทนายความประจำตัว ต่อผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่เป็นตัวแทนสื่อในหลายประเทศ ตั้งแต่สหรัฐอเมริกาไปจนถึงออสเตรเลีย
ตอนหนึ่งในการให้สัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวเอาไว้เป็นการให้ข้อมูลว่า ในฐานะเป็นตำรวจเก่า การันตีได้เลยว่า คนเสื้อแดงไม่ได้เผากรุงเทพฯในวันนั้น หากแต่เป็นการ"จัดฉาก"ที่เกิดขึ้นเพื่อใส่ใคล้ผู้ชุมนุม เหตุผลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็คือ การเผาดังกล่าวเป็นไปอย่างมี"แบบแผน"มากเกินไป ไม่ใช่เกิดขึ้นจากอารมณ์ หากแต่เป็นการวางแผนเอาไว้ล่วงหน้าเป็นอย่างดี
แม้ตรรกะของ พ.ต.ท.ทักษิณ จะฟังดูแปร่ง-แปลกหู แต่ประเด็นที่น่าสนใจกว่า ไม่ได้อยู่ที่ตรงนั้น หากแต่อยู่ตรงที่ ข้อมูลที่ออกจากปากของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับข้อมูลที่ผู้สื่อข่าวเอโอแอลบอกเล่าออกมา
ยิ่งน่าสนใจมากขึ้นไปอีกก็คือ สิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณพูด คล้ายคลึงแทบจะเป็นข้อมูลเดียวกันกับที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยพูดเอาไว้ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ชี้ให้เห็นว่า การเผาครั้งนั้น ไม่ใช่เรื่อง"บังเอิญ"หรือ เพราะ"อารมณ์ชั่ววูบ"หากแต่เป็นการเผาที่ผ่านการตระเตรียม และวางแผนการมาเป็นอย่างดี
ข้อมูล 2 ชุด แทบจะเป็นอย่างเดียวกัน ต่างกันที่ข้อสรุปเท่านั้นเองว่า"มึงทำ-ไม่ใช่กู"
นี่คือข้อที่ชวนให้สังเกตอย่างยิ่ง เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิด"ข้อมูล"แบบเดียวกันนี้ แต่ถูก"ตีความ"แตกต่างออกไปเกิดขึ้นภายในปริมณฑลแห่งความขัดแย้งทางการเมืองยืดเยื้อของไทยหนนี้
เป็นข้อมูลที่ยากอย่างยิ่งที่คนธรรมดาสามัญอย่างเราๆ ท่านๆ ยากอย่างยิ่งที่จะหาข้อพิสูจน์ได้ว่าอันไหนจริง อันไหนเท็จ อันไหนถูกและผิด
เมื่อไม่อาจพิสูจน์จริงเท็จด้วยตัวเอง และขาดความระมัดระวังใคร่ครวญเพียงพอ ใส่ใจอยู่แต่ว่า"อะไร"เกิดขึ้น ไม่ได้ให้ความสำคัญมากพอว่า"ทำไม"มันถึงได้เกิดขึ้น เป็นธรรมดาอยู่เองที่คนทั่วไปจะเลือกใช้วิธีการ"เชื่อ"จากตัวบุคคลที่พวกเขา"คิดเอาว่า"หรือ"ศรัทธา"ว่า เชื่อถือได้
จึงเกิดความ"เชื่อ"เพราะนี่คือสิ่งที่"ทักษิณ"พูด และความ"เชื่อ"เพราะนี่คือสิ่งที่"อภิสิทธิ์"พูด
ไม่ได้คำนึงถึงข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่แสดงให้เห็นชัดเจนจากกรณีนี้ว่า จำต้องมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด"เล่นกล"กับข้อเท็จจริง เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ตนและพวกพ้อง
เพราะนั่นนไปสู่ปัญหาสำคัญที่ไม่อาจหาคำตอบได้ นั่นคือ ใครกันที่เล่นแร่แปรธาตุ หยิบความจริงผสมความเทืจออกมาบอกเล่า!
มีใครบอกได้ไหมครับว่า ใครกันชอบใช้วิธีการเช่นนี้?
แดนนี่ อังเกอร์ พูดถึงเรื่อง"เส้นทางสู่ความเป็นจริง"ในเมืองไทย ไว้น่ารับฟังอย่างมาก เขาเริ่มต้นจากการชี้ให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยของไทย เต็มไปด้วยการนิรโทษ ให้อภัย และความอดทนอดกลั้น
ในทางหนึ่ง การกำหนดแนวทางเช่นนั้น ถือเป็นการให้ความสำคัญสูงสุดแก่คุณสมบัติความเป็น"คน"แต่ในอีกทางหนึ่งการกำหนดเช่นนั้นอาจนำมาซึ่งสภาวะ"พ้นจากความรับผิดตามกฎหมาย"และกระตุ้นให้เกิดอาการ"ขาดความรับผิดชอบ"ต่ออาชญากรรมและการใช้อำนาจอย่างบิดเบือน
พูดง่ายๆ ก็คือ การให้อภัยหรือนิรโทษฯครอบคลุมไปทั้งหมด"รีเซ็ต"สังคมไทยใหม่ได้หลายต่อหลายครั้งก็จริง แต่ทุกครั้ง เป็นเหมือนการ"กวาดขยะ"เข้าไปซุกไว้ใต้พรม-ใช่หรือไม่!
อย่างไรก็ตาม อังเกอร์เชื่อว่า นั่นเป็นทางหนึ่งที่เป็นไปได้ในอันที่จะทำให้เมืองไทยของเราบรรลุถึง"ความสงบสันติในสังคม"ซึ่งสังคมไทยกำลังต้องการมากเหลือเกินในเวลานี้
อีกทางหนึ่งที่เป็นไปได้ นั่นคือ การกำหนดให้ทั้งสังคม ยึดมั่นในพันธะแห่ง"นิติรัฐ"และสร้างกรอบขึ้นมาอันหนึ่งสำหรับใช้ในการ"แก้ปัญหาความขัดแย้ง"ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
นั่นหมายความว่า ใครจะทำอะไร ต้องแบกรับความรับผิดชอบตามกฎหมายเอาไว้ด้วย ใครผิดต้องว่าไปตามผิด ไม่มีการยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นเสื้อแดง เสื้อเหลือง รัฐบาลหรือทหารก็ตามที
ถ้าถาม แดนนี่ อังเกอร์ ความเห็นของเขาที่ให้ไว้เป็นการส่วนตัวก็คือ เขาเชื่อว่าเมืองไทยเรากำลังต้องการอย่างหลังมากกว่าอย่างแรก เหตุผลประการสำคัญเพราะเขาเกิดกังขาขึ้นมาแล้วว่า วิกฤตการณ์ทางการเมืองหนนี้ได้ปั่นความขัดแย้งในสังคมไทยให้ทะยานขึ้นสู่ระดับที่"การให้อภัย-นิรโทษฯ"สามารถทำให้ทุกฝ่ายเลิกรา และหันหน้าเข้าหากันในฐานะคนไทยด้วยกันเพื่อสร้างสันติสุขขึ้นในสังคมอีกครั้งหนึ่งสำเร็จได้
แต่ แดนนี่ อังเกอร์ รู้เรื่องเมืองไทยดีพอที่จะซึมซับได้ว่า แม้เลือกใช้หนทางแรก การสร้าง"ข้อเท็จจริง"ให้ปรากฏและเป็นที่ยอมรับของทุกคน ทุกกลุ่ม ก็ยากเย็นเหลือหลาย
เขาบอกไว้ตอนหนึ่งว่า ณ วันนี้ ดูเหมือนคนไทยจะยึดกุมเอาแนวความคิดรวบยอดทางการเมืองอีกอย่างหนึ่งไว้อย่างเต็มที่แล้ว เขาอธิบายแนวความคิดรวบยอดที่ว่านี้เอาไว้ด้วยการอุปมาถึง"ต้นกำเนิดแห่งความผิดบาป"เหมือนกับที่ระบุเอาไว้ใน พระคริสต์ธรรมคัมภีร์
"ต้นกำเนิดแห่งความผิดบาป"คือความคิดแบบเหมารวม โดยปราศจากการจำแนกแยกแยะข้อเท็จจริงและสภาวะแวดล้อมจำเพาะที่แตกต่างออกไป ในทำนองเดียวกับทรรศนะที่ชาวปาเลสไตน์มีต่อชาวอิสราเอลและผู้คนในอิสราเอลมีต่อปาเลสไตน์
ความขัดแย้งในปัจจุบัน เกิดขึ้นเพราะเราไม่อาจยอมรับซึ่งกันและกันได้ เพียงเพราะเหตุการณ์ในอดีต
เขาบอกว่า เพราะเช่นนี้ ไม่ว่าจะมีข้อเท็จจริงกี่ชุด แต่ละฝ่ายสามารถตีความข้อเท็จจริงเหล่านั้นให้แตกต่าง และกลายเป็นความขัดแย้งใหม่ได้ทุกครั้ง ทุกที
เช่นเดียวกับการ"สรรหา"ผู้คนหรือกลุ่มคนอันหนึ่งอันใด ขึ้นมาทำหน้าที่รับผิดชอบในการแสวงหาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ก็อาจเป็นต้นตอแห่งความขัดแย้งใหม่ได้แทบจะในพริบตา
นั่นทำให้ แดนนี่ อังเกอร์ เสนอให้รัฐบาลใช้บริการของคณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งจากสหประชาชาติ
ทั้งๆ ที่เขารู้ดีว่า คนไทยเป็นจำนวนมากยากที่จะทำใจยอมรับได้ในเรื่องนี้
"คนเรามีสีติดตัวเมื่อไหร่กัน?"เพื่อนฝรั่งของผมถามขึ้นมาลอยๆ แบบไม่ต้องการคำตอบ
ดำ เหลือง แดง หรือเขียว ไม่ใช่สีที่ติดมากับตัวตั้งแต่เกิดอย่างแน่นอน บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าตัวเองสีอะไร จนกระทั่งวันหนึ่งมีคนมายัดเยียดให้ด้วยคำพูดในทำนองที่ว่า"เฮ้ย พูดอย่างนี้ต้องเป็น-นี่หว่า"
การยัดเยียดของคนเพียงลำพังไม่ได้ทำให้คนมีสีสันติดตัว แต่ถ้าหลายคนและหลายครั้งเข้า แม้เจ้าตัวจะไม่รู้สึก หรือไม่ยอมรับ ผู้คนก็มีสีเข้าจนได้
"ทำอย่างไร สีถึงหมดไปในเมืองไทย?"
ไม่มีคำตอบสำเร็จรูป หรือจริงๆ ก็คือ ไม่มีใครรู้ว่าทำอย่างไร
ผมเองรู้แต่ว่า ถ้าไม่อยากมีสี ก็ต้องเลิกใช้สีไปป้ายให้ใครต่อใครเขา-ก็เท่านั้น!