โดย ชฎา ไอยคุปต์
"การเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวนี้ ถูกระงับเป็นการชั่วคราว
โดยอาศัยอำนาจตาม
พระราชกำหนดการบริหารราชการ
ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘
ตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน"
ข้อความที่ปรากฎในเว็บไซต์ต้องห้ามอ่านตามคำสั่ง ศอฉ.เริ่มปรากฎขึ้นในหน้าเว็บข่าวต่างๆของทางฝั่งคนเสื้อแดงที่มีคำว่า "Red"นำหน้าหรือต่อท้ายก่อนจะขยายมาสู่เว็บข่าวของหลายสำนักในฐานะ"สื่อสาธารณะ" ลามมาสู่พื้นที่ "ส่วนตัว" อย่างเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ ที่เฉพาะเจาะจงเป็นรายบุคคล หน้าเว็บทั้งหมดถูกปิดโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าปิดทางทักท้วงโดยพ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ผ่านไปกว่า 2 เดือนหลายเว็บไซต์เจอข้อความสีแดงของ ศอฉ.ปิดทับหน้าเว็บไซต์โดยไม่มีการชี้แจงแถลงไขให้ทราบถึงสาเหตุการปิดทำให้หลายเว็บไซต์ต้องอพยพย้ายถิ่นฐานไปอาศัยต่างประเทศเป็นที่พักข้อมูล เปลี่ยนชื่อ นามสกุล เปิดหน้าเว็บขึ้นมาใหม่แต่ทางศอฉ.ก็ยังคงตามติดไปปิดเล่นปิดเปิดกันเป็นสวิตซ์ไฟ
กลุ่มที่ได้รับผลกระทบถูกไล่ปิดพยายามทวงสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารและสิทธิในการแสดงความคิดความเห็นตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกันเพื่อแสดงตัวตนว่ากำลังถูกคุกคาม มีนักวิชาการบางท่านอย่าง "ยุกติ มุกดาวิจิตร" อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พยายามที่จะสอบถามเรื่องนี้กับ "อมรา พงศาพิชญ์" ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นักมานุษยวิทยาอาวุโส ถึงบทบาทต่อการปิดกั้นสื่อ ว่า
"ที่น่าละอายอย่างยิ่งคือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนกำลังปล่อยให้บทบาทในการค้นหาความจริงในประเทศนี้ ตกอยู่ในมือของคนส่วนน้อยของสังคมบางคน ที่นั่งอยู่บนโพเดียม เป็นนักวิชาการติดเก้าอี้ แบบที่นักมานุษยวิทยาต้นศตวรรษที่ 20 วิจารณ์นักมานุษยวิทยาวิวัฒนาการในสมัยวิคทอเรียน แต่เที่ยวไปไล่ตัดสินใครต่อใครโดยมิได้พยายามทำความเข้าใจพวกเขาจากมุมมองของพวกเขาเอง
ผมคงไม่ต้องเท้าความไปมากมายนักถึงเรื่องการปิดกั้นสิทธิในการแสดงออก ด้วยการปิดสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล หากเราจะไม่ยินดียินร้ายกับสื่อของ นปช. ผมก็ไม่เห็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนยินดียินร้ายกับการปิดสื่อที่เสนอความจริงหลายด้าน หลายระดับความลุ่มลึก อย่าง "ประชาไท" แต่ประชาไทก็คงจะไม่ยินดีนักหรอกหากเขาจะได้รับการยกเว้นแต่ผู้เดียว เพียงเพราะพวกเขาเสนอมุมมองหลายด้านหลายระดับความลุ่มลึก เพราะทุกวันนี้ ศอฉ.เองนั่นแหละที่เสนอข่าวปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชัง ให้เกิดความแตกแยก อันเป็นภัยต่อความมั่นคงของชีวิตและทรัพย์สินของผู้คน และเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ โดยปราศจากคำประณามของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน"
สิ่งที่ "อมรา พงศาพิชญ์" ในฐานะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติออกตัวว่า "ดิฉันไม่มีข้อแก้ตัวในสิ่งที่ไม่ได้ทำ หรือไม่ได้ทำตามความคาดหวังของอาจารย์และเพื่อนร่วมวิชาชีพ นอกจากจะบอกว่าเมื่อมานั่งเป็นประธานคณะกรรมการขององค์กรอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญ ดิฉันพบว่า ดิฉันไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเหมือนเมื่อเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ซึ่งมีเสรีภาพทางวิชาการสูง และอาจารย์สามารถแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคลต่อสาธารณะได้
ปัจจุบันการแสดงความคิดเห็นของดิฉันต้องคำนึงถึง ความคิดเห็นของกรรมการร่วมคณะอีก 6 ท่าน อำนาจหน้าที่ขององค์กรที่มีจำกัดเฉพาะในบางเรื่อง ภาพลักษณ์ขององค์กรต่อสาธารณะทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในกรณีที่ข้อมูลไม่ชัดเจน การแสดงออกของดิฉันจึงมีความล่าช้า รอบคอบ และคำนึงถึงองค์กรมากกว่าส่วนตัว หลายครั้งดิฉันอยากจะถอดหมวกประธานกรรมการฯ เพื่อจะได้แสดงความคิดเห็นส่วนตัวได้อย่างเต็มที่ แต่ดิฉันก็ไม่ได้ทำตามที่อยาก ต้องขออภัยที่ทำให้อาจารย์ยุกติผิดหวัง"
คำตอบของข้อเรียกร้องจากองค์กรกลาง คือ "ขออภัยที่ทำให้ผิดหวัง"
ในสภาพที่ไร้ตัวช่วยการดิ้นรนต่อสู้เท่านั้นที่จะทำให้อยู่รอดและได้สิทธินั้นคืน "เว็บไซต์ประชาไท" เป็นหนึ่งในเว็บไซต์ที่ถูกปิดกว่า 7 ในรอบ 2 เดือน "จีรนุช เปรมชัยพร" ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท บอกว่า ประชาไทยเริ่มก่อตั้งปี 2547 ในฐานะสื่อทางเลือกที่ สื่ออิสระ เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ดูเหมือนว่าสื่อไม่เป็นอิสระทั้งในแง่ของการเมือง เศรษฐกิจ ทำให้กลุ่มคนที่ทำงานด้านสังคมอยากมีสื่อทางเลือก และอิสระไม่ถูกแทรกแซงและไม่ถูกควบคุม มีเรื่องราวของคนเล็กคนน้อย ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการพัฒนาของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรงไฟฟ้า ชนกลุ่มน้อย แต่เนื่องจากช่วง 3-5 ปี บรรยากาศในสังคมไทยเป็นเรื่องที่น่าสนใจจะพัฒนาต่อไปอย่างไร ขณะเดียวกันพื้นที่ทางอินเตอร์เน็ตเป็นสื่อที่น่ารำคาญใจและควบคุมไม่ได้ของภาครัฐหรือผู้มีอำนาจในสังคม ที่ต้องเข้ามาจัดระเบียบ
"นับตั้งแต่มีการตั้งประชาไทตั้งขึ้นมาในปี 2 ปี แรกไม่เคยได้รับการประสานงานจากภาครัฐเลยไม่ว่าเราจะเคยเสนอปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กรณี ตากใบที่มีผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม มีการนำเสนอเสียงของชาวบ้าน แต่ครั้งนั้นไม่ได้ถูกติดต่อหรือประสานงานจากรัฐว่าเราต้องทำอะไร หรือไม่ทำอะไร" จีรนุช กล่าว
ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท บอกว่า ช่วงที่ทางรัฐเข้ามาติดต่อสื่อสารกับเว็บไซต์ประชาไท คือ ช่วงหลังการรัฐประหาร ปี 2549 สื่อหลายที่อาจจะขยับตัวอยาก มีคนจำนวนหนึ่งมาอ่านประชาไท เพราะเป็นเพียงสื่อไม่กี่สื่อที่นำเสนอเสียงของคนที่ต้านรัฐประหาร รวมทั้งมีเว็บบอร์ดที่เปิดกว้างไว้ให้มาแลกเปลี่ยน คนที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ และคนที่ต้านรัฐประหารไม่ค่อยมีพื้นที่ในการส่งเสียง จึงไหลเข้ามาในเว็บไซต์ประชาไทซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ ทำให้จำนวนคนเข้าชมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเริ่มต้นหลักร้อยตอนนี้เป็นหลักหมื่น
"นับตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี เริ่มมีคนจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) ติดต่อเข้ามาขอความร่วมมือในการลบกระทู้ ปิดกระทู้เราก็พิจารณาไปตามหลักการตามเนื้อผ้า ในช่วงหลังการรัฐประหารได้มีการออก พ.ร.บ.เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ในพ.ร.บ.นั้นได้มีการกำหนดฐานความผิดของผู้ให้บริการ ทำให้คนที่ทำงานเว็บไซต์ต้องระมัดระวังมากขึ้น ก่อนที่จะมีกฏหมายเราจะมีวิจารญาณของเราเอง แต่หลังจากที่ พ.ร.บ.ออกมาเราก็วางดุลพินิจของเราไว้ในกรณีที่เจ้าหน้าที่แจ้งมาเราก็ปฏิบัติตามในส่วนนั้นเพราะไม่อยากให้เกิดปัญหา ในที่สุดก็มีปัญหาเกิดขึ้นเมื่อมีกรณีคนโพสต์ ข้อความในเว็บบอร์ดทางเจ้าหน้าที่อาจจะตีความว่ามีลักษณะของการผิดกฎหมาย เราในฐานะผู้ให้บริการมีความผิดตามนั้น และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาที่สำนักงานเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2552 มีการจับกุมและดำเนินคดีส่งฟ้องศาลไปตามกระบวนการเป็นเรื่องในแง่ของกฎหมายที่เข้ามากำกับและควบคุมมากขึ้น" ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท กล่าวและว่า
"ส่วนการปิดกั้นเว็บประชาไทที่เราก่อตั้งมา 6 ปีไม่เคยถูกปิดอย่างเป็นทางการ แม้บางครั้งจะได้รับการร้องเรียนว่าเข้าไม่ได้ซึ่งเราก็พยายามตรวจสอบกลับไปจะได้รับคำตอบว่าไม่เคยมีคำสั่งปิด จนกระทั่งมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 เว็บไซต์ประชาไทก็เข้าไม่ได้ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน เป็นต้นมา โดยระบุว่าบล็อกโดยกระทรวงไอซีที หลังจากนั้นก็ขึ้นข้อความเหมือนกับที่หลายๆเว็บโดนบล็อกอยู่ในขณะนี้ ถูกปิดกั้นโดย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดย ศอฉ."
ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท เล่าว่า หลังจากนั้นก็ร้องเรียนไปตามกระบวนการทำจดหมายถึงกระทรวงไอซีทีเพราะว่าอันดับแรกที่ถูกปิดกั้นจากกระทรวงถึงรัฐมนตรีและทำสำเนาถึงนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลเรื่องข้อมูลข่าวสาร เพื่อสอบถามถึงเหตุผลซึ่งเราไม่ได้รับการแจ้งเลยว่าปิดไปเพราะอะไร และไม่ได้คำตอบ ก็ส่งเรื่องไปที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็ดำเนินการยื่นฟ้องศาลแพ่ง ที่ต้องฟ้องศาลแพ่งเพราะโดย พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีบางมาตราที่ได้ตัดอำนาจศาลปกครอง ทั้งที่กรณีนี้ควรเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเรื่องการปกครอง แต่เขาก็ยังคงสิทธิในส่วนที่จะร้องเรียนกับศาลยุติธรรม คือ ศาลแพ่ง
"ยื่นฟ้องว่าเว็บประชาไทถูกละเมิดต่อการที่มีการปิดกั้นมีความเสียหายต่อเราอย่างไร ยื่นไปที่ศาลแพ่ง เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2553 ขอไต่สวนฉุกเฉินแต่ไม่ได้มีการไต่สวน ผู้พิพากษาอ่านคำสั่งศาลระบุว่า การสั่งปิดกั้นนี้เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลภายใต้กำกับดูแล พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีอำนาจสามารถดำเนินการได้ ทั้งที่ข้อฟ้องของเราไม่ได้ฟ้องว่าไม่มีอำนาจที่จะทำแต่ข้อฟ้องของเรา คือ ว่าอำนาจที่ใช้เป็นการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง ในพ.ร.ก.ฉุกเฉินมันเป็นมาตรา 9(3) ที่เกี่ยวกับการควบคุมห้ามเผยแพร่สื่อ ซึ่งในกฎหมายเองได้ระบุว่าสื่อที่ห้ามเผยแพร่ต้องเป็นสื่อที่กระทำอันเป็นลักษณะของการปลุกระดม หรือมีข้อความอันเป็นเท็จ มีเงื่อนไขที่ระบุไว้ ซึ่งเราไม่คิดว่าเว็บไซต์ประชาไทจะมีเนื้อหาที่เป็นเงื่อนไขแบบนั้น และถ้าเป็น คือ ส่วนไหนเขาควรจะต้องแจ้ง ให้เรารับรู้รับทราบแต่เราก็ไม่ได้รับการแจ้ง จึงคิดว่าเป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจโดยไม่ได้พิจารณาว่ามีขอบเขตหรือเงื่อนไขการใช้อำนาจอยู่ แต่ศาลก็ไม่ได้ตอบในส่วนนี้ คำสั่งศาลรอบแรกจึงเป็นยกฟ้อง และยื่นอุทธรณ์ไปเมื่อวันที่ 25 พ.ค. หวังว่าศาลอุทธรณ์จะช่วยพิจารณาว่าการพิจรณาของศาลชั้นต้นไม่ได้ตอบในข้อคำฟ้องของเรา ขอให้ศาลอุทธรณ์มีการพิจารณาอีกครั้ง เป็นการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมเพราะเราคิดว่ามันเป็นสิ่งที่เราไม่ได้ละเมิดกฎหมาย ไม่ได้กระทำในลักษณะอย่างที่กล่าวหา เชื่อมั่นว่าตจะใช้กระบวนการยุติธรรมแบบนี้"
ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท กล่าวย้ำถึงอุดมการณ์ ในส่วนการทำงานของเว็บไซต์ประชาไทยังคงทำงานอย่างต่อเนื่อง เพราะคิดว่าผลงานที่นำเสนอยังมีคุณค่าในบางระดับต่อสังคม จึงคิดว่าไม่ควรมีอำนาจรัฐใดๆมาสั่งปิดกั้นโดยง่าย พยายามที่จะยืนยันและยืนหยัดของการนำเสนอเรื่องราวที่ขาดไปและถูกละเลยไปในกระแสหลักพยายามเพิ่มเติมในส่วนนี้ แม้จะมีกระบวนการปิดการบล็อก "URL" บล็อก "domain name" เปลี่ยนชื่อ จาก www.prachatai.com เป็น prachatai.net ใช้ได้1เดือน ถูกปิด เปลี่ยนเป็น www.prachatai1.com ปิดไปก็ใช้ชื่อwww.prachatai.info ตอนนี้ก็เป็น www.prachatai3.info ยังตามบล็อกเรื่อยๆ เปลี่ยนไปประมาณ 8 ชื่อแล้ว
"เว็บไซต์อยู่ได้โดยมีการขายเสื้อ การบริจาคยึดเจตนา คือ ไม่แสวงหากำไร ก็ทำงานบนฐานของกำไรทางสังคมไม่ใช่ตัวเงินที่ผ่านมา จะมีทุนเหมือนกับโครงการพัฒนาทางด้านการสื่อสารจะขอทุนในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งบรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองมีผลต่อการให้ทุน แหล่งทุนที่มีถอนออกไป แต่โฆษณาก็ต้องคิดมากขึ้นเพื่อให้คนทำงานได้อยู่รอด แต่ก็ต้องมาสะดุดเพราะถูกบล็อก อนาคตอาจจะต้องมองหาที่มาของแหล่งทุนจากหลายๆแห่ง รวมไปถึงการเปิดประกาศระดมทุนจากผู้อ่านที่เห็นคุณค่า ซึ่งเรามีบุคคลากร 14 คน แบ่งเป็นกองบรรณาธิการ 9 คน เจ้าหน้าที่สำนักงานเทคนิคการบริหารจัดการอีก 5 คน ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นค่าตอบแทนพนักงานพยายามตรึงไว้ที่ 4 แสนต่อเดือน ตอนนี้มีปัญหาว่าคนทำงานเองอาจจะมีเงินเดือนช้าบ้าง ไม่ได้เงินเดือนบ้างแต่ก็ยังสู้กันทุกคน"
ทางด้าน นายชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการเว็บไซต์ประชาไท บอกว่า เว็บประชาไทกลายเป็นพื้นที่ของคนที่ไม่มีพื้นที่นับตั้งแต่มีการรัฐประหาร ซึ่งสื่อส่วนใหญ่สนับสนุนรัฐประหารแม้ไม่บอกว่าชอบ ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารแต่ก็มีมีใครต่อต้านการรัฐประหาร เรียกว่าแอบสนับสนุนกลุ่มที่ชูการรัฐประหาร ขณะที่ประชาไทมองว่าเป็นที่มาของความรุนแรงทั้งปวงจึงตั้งประเด็นในแนวทางว่า ทำไมต้องต้านรัฐประหาร ทำไมต้องเข้าใจว่ารัฐประหารเป็นอบายมุข เป็นประตูสู่ปัญหาทั้งปวง ประตูขุมนี้ คือ นรก ซึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามัน คือ นรก
"เป็นภาวะวิสัยที่ประชาไทต้องทำแบบนี้ กลายเป็นสื่อทางเลือกอย่างเต็มรูปแบบแตกต่างจากชาวบ้านเพราะว่าเรากลับไปตั้งคำถาม ความเป็นมนุษย์ 1 สิทธิ 1 เสียงเท่ากันไปปล้นได้อย่างไร รัฐบาลจะถูกหรือผิดอย่างไรก็ไม่มีสิทธิไปปล้นเขาเพราะอำนาจเป็นของประชาชน การเป็นสื่อต้องต่อต้านรัฐ ไม่ใช่การบิดเบือนแต่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์รัฐ ในฐานะที่รัฐเป็นผู้ผูกขาดอำนาจและมีสิทธิในการผูกขาดอำนาจ ถ้าสื่อไม่ต่อต้านอำนาจจะไม่สามารถเปิดพื้นที่สิทธิเสรีภาพให้กับประชาชนได้"
นายชูวัส ย้ำอีกว่า สื่อมีหน้าที่ในการตรวจสอบอำนาจรัฐว่าอำนาจที่ใช้ต้องไม่ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ถึงแม้ว่าจะมาจากการเลือกตั้งแล้วมีตัวแทนได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนอย่างชอบธรรมก็ไม่มีสิทธิใช้อำนาจเกินขอบเขตเพราะอำนาจที่แท้เป็นของประชาชน หลักการง่ายๆที่เรียกว่าประชาธิปไตย หน้าที่ของการตรวจสอบเป็นของสื่อ หรือจะเรียกว่าเป็นการต่อต้านหรือท้าทายอำนาจรัฐก็ได้
"หน้าที่สื่อคือการเข้าข้างประชาชนที่ด้อยอำนาจเพราะอำนาจเขาถูกถ่ายไปด้วยการเลือกตั้ง การปล้น การรัฐประหาร ฉะนั้นสื่อจึงมีหน้าที่ในการตรวจสอบเพื่อประชาชน สื่อที่ไปเข้าข้างรัฐเห็นใจรัฐว่าเขาสั่งฆ่าด้วยความจำเป็น ถ้าสื่อพยายามเข้าใจตรงนั้นเท่ากับสื่อทำผิดหน้าที่ของตัวเองแล้ว เหมือนกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนพูดจาเหมือนกระทรวงมหาดไทยแล้วจะมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไปทำไม ให้มหาดไทยพูดก็พอ"บก.ประชาไทกล่าว
บก.ประชาไท ยอมรับว่าการทำงานในสถานการณ์นี้ว่า ลำบากมากถ้าคนไม่กลับไปตั้งต้นตัวเองเกิดมาจากไหน ตัวเองมีหน้าที่อะไร ลำบากเพราะทำให้เราไหลไปตามกระแสทำให้เราไปอยู่ข้างรัฐแล้วโดยไม่รู้ตัวปล่อยให้รัฐผูกขาดความคิด แต่ถ้าเรากลับมาตั้งต้นหน้าที่เรา คืออะไร ประชาชนคือ ใคร อำนาจอธิปไตยคืออะไร มันจะทำให้เรารู้ว่าเราจะยืนอยู่จุดไหน ในขณะที่คนอื่นไหลไปตามกระแสว่ารัฐทำถูกแต่เราก็ยังมาตรวจสอบรัฐอยู่จึงโดนกระทืบมันเป็นเรื่องลำบากอยู่แล้ว
นายชูวัส กล่าวถึง เว็บไซต์ประชาไทก่อนที่จะถูกปิดและจำเป็นต้องย่อส่วนให้เล็กลงเพื่อง่ายต่อการเข้าถึงและฝากข้อมูลไว้ในต่างประเทศในสถานการณ์นี้จึงต้องตัดส่วนอื่นที่ออกไป ก่อนจะถูกปิดมีข่าวเชิงวัฒนธรรมอยู่ด้านขวา แต่ต้องตัดออกให้เป็นสลิมเวอร์ชั่น ตัดเรื่อง หนัง เพลง ดวง คนที่เข้ามาอ่านจึงต้องอาศัยการเล็ดลอดเข้ามาดู ในสื่อปกติที่จะมีฝ่ายกีฬา บันเทิง การเมือง วัฒนธรรม คุณภาพชีวิต ฯลฯ ประชาไทก็มีหมดใช้แค่ 9 คน แบ่งตามส่วนที่แต่ละคนจะคุมส่วนไหน ถ้าเรื่องไหนเป็นเรื่องเด่นและมีนัยสำคัญทางสังคมเราก็จะถ่ายโอนกำลังส่วนนั้นมาช่วยกันบริหารจัดการที่ผ่านมาก็ยังเป็นไปด้วยดี และยังมีนักข่าวพลเมืองมีในสนามแรงงานช่วยอีกแรง
นอกจากพื้นที่ข่าวแล้วยังมีการเปิดเวทีให้นักวิชาการเขียนบทความส่งมาลงในเว็บไม่จำกัดสี แนวคิด ซึ่งมีนักวิชาการให้ความสนใจเยอะมาก พิจารณาว่าเรื่องมีเหตุมีผลไม่หมิ่น ไม่ยั่วยุ ลงให้หมดทั้งเหลืองทั้งแดง เพียงแต่ที่ผ่านมาประชาไทมีความคิดเห็นท้ายข่าว ฉะนั้นคนที่ส่งก็ต้องวัดใจว่าจะมีความเห็นท้ายบทความ และยังมีภาคประชาสังคมสนใจนำบทความมาลงด้วย แต่เทียบกันแล้วจะมีน้อยเพราะส่วนหนึ่งกลัวว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ คนที่ส่งมาทั้งหมดไม่ได้ค่าตอบแทน นักวิชาการที่กรุณาส่งบทความมาลง เช่น เกษียร เตชะพีระ, นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล, นาย ชำนาญ จันทร์เรือง ,นายเกษม เพ็ญพินันท์ ,นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ เป็นต้น
"การปิด เว็บไซต์ประชาไทไม่ได้ทำให้คนอ่านลดลงและมีผู้อ่านเพิ่มขึ้นจากหน้าทางเฟซบุ๊คที่เราไปเชื่อมโยงไว้ อยากถามว่าคนที่ปิดแล้วกลัวอะไร การปิดแล้วเปิดอยู่ฝ่ายเดียวต้องการอะไรนอกจากโกหก คือ ต้องการโกหกอยู่ฝ่ายเดียว ถ้าเกิดไม่คิดว่าจะโกหกก็ต้องเปิดให้อีกฝ่ายเข้ามาโต้แย้ง การที่ปิดคนอื่นเพราะกลัวว่าคนจะเสนอข้อมูลมาแย้งกลัวว่าคนอื่นจะเถียง"
บก.ประชาไท ยังพูดถึงการที่รัฐไปปิดสื่อส่วนบุคคลว่า ต้องมานั่งตีความว่าหน้าบล็อกซึ่งเป็นของบุคคล เป็นสื่อสาธารณะด้วยหรือไม่เพราะเขานำเสนอสู่สาธารณะ จำเป็นหรือไม่ที่ต้องมีกองบรรณาธิการ 9 คนแล้วบอกว่าเป็นสื่อสาธารณะ คนเดียวเสนอเป็นสาธารณะได้หรือไม่ หรือเป็นสาธารณะเหมือนกันแต่เป็นสาธารณะในเชิงทัศนะหรือความเห็น บางบล็อกใช้ในการสืบค้นข้อเท็จจริงด้วยซ้ำแต่กลับถูกบล็อก ต้องหาเส้นแบ่งใหม่ๆ ในสังคมว่า รัฐมีอำนาจในการปิดสื่อส่วนบุคคลหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญเกือบทุกประเทศทั่วโลกทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อให้ไม่เสนอผ่านเฟซบุ๊คไม่มีรัฐไหนที่ยอมให้ปิดปากคน ห้ามคนพูด ห้ามคนพูดไม่ได้ การเสนอผ่านเฟซบุ๊คเป็นการนำเสนอคำพูดอย่างหนึ่งเพียงแต่พูดแล้วมีคนได้ยินเยอะกว่าตะโกนออกไป แต่เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าไปทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการพูด รับผิดชอบคำพูดของเขาเอง ผิดตรงไหนก็ไปฟ้องกัน หมิ่นส่วนไหนก็ไปฟ้องกัน รัฐไม่มีสิทธิไปปิดปากใคร
"ปิดเว็บนี่ไปโผล่เว็บโน่น ปิดข้อความนี้ไปโผล่ข้อความนั้น ข้อความอาจจะหายไปแต่ไม่ได้หายไปทั้งหมด ยังมีการสืบค้นได้ เผายังไงก็ไม่หมด ถ้าจะเทียบเคียงกับเหตุการณ์ 6 ตุลา โดยเค้าโครงของอำนาจที่เข้ามาควบคุมกระบวนการตรงนี้คล้ายกันเกือบทั้งหมด การพยายามควบคุม ครอบงำสังคม ยังเป็นเค้าโครงเดิมๆ มีมวลชนจัดตั้งที่จะต่อต้านกับมวลชนอีกกลุ่มหนึ่ง มีอำนาจกองทัพเข้ามาปิดสื่อ การคุกคาม ใส่ร้ายป้ายสีเหมือนกันหมด ประเทศไทยไม่มีนวัตกรรมในการจัดการกับผู้คนในรัฐของตัวเองยังเป็นความคิด เดิมๆ "
นายชูวัส เสนอว่า ต้องยกเลิกกฎหมายบางฉบับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.ก.ความมั่นคง และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ รัฐบาลไม่มีอำนาจในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในแบบนี้ แต่เป็นอำนาจในการรักษาความสงบหรือฉุกเฉินอะไรก็แล้วแต่ต้องไม่ใช่เอากองทัพออกมาแล้วมีอำนาจล้นเกิน รวมทั้งศาลทำอะไรไม่ได้เลยนอกจากทำตามกฎหมายอย่างเดียว โดยที่ศาลไม่มีอำนาจในการตรวจสอบเลยว่ากฎหมายนั้นละเมิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ จะต้องมีพ.ร.ก.ฉบับใหม่ที่ให้ทุกฝ่ายได้ตรวจสอบการใช้อำนาจจาก พ.ร.ก. เช่น ให้อำนาจศาลในการระงับยับยั้งอะไรได้
"ประชาไทเป็นเว็บที่มีแหล่งรายได้จากเงินบริจาคจากแหล่งทุนใหญ่ๆ ที่ผ่านมาการเมืองแบ่งเป็นขั้วคนที่ให้ทุนเราส่วนใหญ่เจอคนบางกลุ่มหยิบไปด่าบนเวที ขุดรากว่าแหล่งทุนมาจากไหนบ้าง ทำให้แหล่งทุนขยาดจึงมีปัญหาเรื่องแหล่งทุน แม้แต่ทุนต่างประเทศก็เช่นเดียวกัน พนักงานบางคนไม่ได้รับเงินมา 3 เดือน บางคน 2 เดือน บางคนเดือนเดียว ตามแต่ความจำเป็น
ทางด้านนางสาวมุทิตา เชื้อชั่ง ผู้สื่อข่าวประชาไท บอกว่า ตอนนี้ใช้เงินเก่าเงินเก็บเลี้ยงตัวเอง เพราะอยากจะร่วมฝ่าฝันและยังเห็นว่าประชาไทเป็นเว็บไซต์ที่ยังสามารถนำเสนอข่าวสารที่พอจะเป็นประโยชน์อยู่บ้าง แต่ถ้าถึงวันหนึ่งสื่อกระแสหลักทำเต็มที่ มีสื่อทางเลือกมากมายจริงๆก็คงจะไปได้แต่ตอนนี้ยังรู้สึกว่าพอมีประโยชน์บ้างจึงกัดฟันทำต่อ เพราะเริ่มทำตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ปีพ.ศ. 2547 เรียนจบจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็เข้ามาทำงานโดยมีอาจารย์จอน อึ้งภากรณ์ ผู้ก่อตั้งเว็บเป็นคนชวน จากนั้นติดลมทำยาวมาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
"มีอิสระสูงมากในการทำงานไม่ได้มีโครงสร้างอะไรชัดเจน เพียงแค่มาระดมสมองกัน คิดอะไรก็ทำได้ ไม่ได้มีเพดานจำกัดมากนัก อยู่ที่ว่ามีศักยภาพแค่ไหนที่จะทำได้ อยากจะทำอะไร แต่อาจจะไม่เป็นระบบมากนัก คนทำงานรู้สึกเป็นเพื่อนกันทั้งหมด ถกเถียงกันได้ แม้แต่กับ บก.เองก็เถียงกันได้ จึงอยู่ยาวมาจนถึงตอนนี้ ช่วงแรกทำข่าวภาคประชาชน พยายามเปิดพื้นที่ให้ได้เยอะสุด ช่วงหลังกระโดดมาทำเรื่องสิทธิมนุษยชนเรื่องคดีหมิ่น ซึ่งสื่อก็คงไม่อยากจะเล่นเท่าไร ก็พยายามจะสืบเสาะหาว่าใครโดนบ้างมีปัญหาอะไรใครโดนบ้าง คดีตัดสินอย่างไร ใครโดนบ้าง มาถึงความขัดแย้งทางการเมืองก็เฟสตัวเองมาทำด้านนี้ ตามสัมภาษณ์ชาวบ้าน ขณะที่ข่าวการเมืองร้อนแรงข่าวภาคประชาชนก็น้อยลงเพราะว่าคนก็น้อยอาจจะมีหลุดบ้าง" นักข่าวประชาไทกล่าว
นางสาวมุทิตา กล่าวทิ้งท้ายว่า ถ้าเว็บไปไม่ไหวไปไม่รอดจริงๆ อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนตัวเอง หางานประจำทำแล้วต่อไปเว็บประชาไทอาจจะใช้รูปแบบอาสาสมัครทั้งหมด แต่เชื่อว่ามันคงไม่ปิดหายไปเลย เพราะเป็นพื้นที่สาธารณะ และคนรู้สึกเป็นเจ้าของมีนักข่าวพลเมืองมีนักกิจกรรมเยอะแยะที่เขาอาจจะมารวมกันทำได้ โครงสร้างอาจจะเปลี่ยนไปถ้าถึงที่สุดแล้วมันไปไม่รอดในทางการเงินก็อาจจะต้องปิดไป
ทางด้านนายประชัญ บุญประคอง หรือ "ฌอน" โฆษกกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ที่มักจะเห็นเป็นล่ามแปลภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษให้คนเสื้อแดง ที่ถูกตามไล่ปิดเฟซบุ๊คกว่า 7 ครั้ง เล่าว่า เป็นเจ้าของเฟซบุ๊คที่ใช้ชื่อ UDDThailand ,UDD International News และ Ratchapong News ที่มีทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษถูกปิดรวมกัน 7 ครั้ง ส่วนมากเป็นการนำเสนอบทความจากบางกอกโพสต์มานำเสนอวันหนึ่ง 15-20 บทความ มีคนช่วยโพสต์อีกหลายคน ทุกอย่างเอาข้อมูลการเมืองบทความจากสื่อหลักทั้งไทยและต่างประเทศเพื่อสร้างศูนย์รวบรวมข้อมูลเน้นไปทางวิดีโอที่ต้องมีภาพประกอบ
"หลายคนรู้ว่ารัฐบาลสามารถระบายข้อมูลในสื่อได้กว่าครึ่งโดยเฉพาะทีวีแต่ยังมีหนังสือพิมพ์ที่ยังสู้ได้บ้าง ดังนั้นการกระจายข่าวของประชาชนคนธรรมดาผ่านเว็บไซต์มันเยอะมาก อย่างในเฟซบุ๊คแม้กลุ่มเสื้อเหลืองจะใหญ่กว่า แต่ถ้าคนที่จะหาข้อมูลก็หาได้ ซึ่งตอนนี้มีการนำข้อมูลข่าวจากเว็บไซต์ต่างชาติที่เขียนถึงประเทศไทยช่วยได้เยอะกว่าสื่อไทยที่ไม่ให้ความเป็นธรรมกับเราก็ดูสื่อต่างชาติมากกว่าเดิม "
นายฌอน กล่าวว่า ประเทศไทยที่ได้ชื่อว่าเป็นสยามเมืองยิ้ม การที่ทหารมาไล่ยิงประชาชนที่ส่วนใหญ่ไม่มีอาวุธอยู่ในมือที่จะต่อสู้ ทางรัฐบาลก็อ้างว่าต้องจัดการกับคนกลุ่มน้อยๆที่มีอาวุธเพื่อจะสลายคนส่วนมากที่ไม่มีอาวุธ ยัดเยียดว่าพวกเราเป็นผู้ก่อการร้ายซึ่งทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศเสียหายในสายตาชาวต่างชาติ กระทบการท่องเที่ยวของไทย การให้ข้อมูลของรัฐบาลฝ่ายเดียวการปรองดองสมานฉันท์จะไม่เกิดขึ้นเลย
"รัฐป้องกันไม่ให้เรานำเสนอข้อมูล แต่เราก็สามารถให้ข้อมูลกลางๆ เพราะคนที่มาดูต้องมีวิจารณญาณในการดูข้อมูลไม่ใช่การโฆษณาชวนเชื่อ ที่ผ่านมาเราพิสูจน์ว่าฝ่ายเรามีความคิดหลากหลาย แม้จะไม่เห็นด้วยกันทั้งหมด แต่มันคือแนวทางประชาธิปไตยมีข้อแตกต่างที่แยกแยะได้ การอธิบายให้เหตุผลออกมาจากฝ่ายรัฐกลุ่มเดียว ขณะที่สื่อฝ่ายเสื้อแดงถูกปิดหมดเลย ผมเป็นเสื้อแดงถูกปิดกั้นเหมือนไม่ใช่มนุษย์ เป็นคนชั้นสองในสังคม ตราบใดที่ความคิดของเราไม่ได้เป็นที่เปิดเผย สิ่งนั้นสะท้อนให้เห็นว่าสังคมเราเป็นสังคมที่ด้อยพัฒนาอย่างที่ต่างชาติมองเรา"
โฆษกเสื้อแดง กล่าวว่า เฟซบุ๊คเป็นโลกอินเตอร์เน็ตใหม่ ที่สร้างสัมพันธ์ทางสังคมเป็นเครือข่ายที่สร้างเพื่อนที่เป็นเสื้อแดงมาพบกันเพื่อสะท้อนมุมมองทำให้คนไทยที่อยู่ต่างประเทศได้แลกปลี่ยนความคิดเห็น ไม่ใช่สื่อที่ต้องมาปิดกั้นแบบ 30 ปีก่อน เพราะถึงจะปิดเราก็เปิดใหม่ได้ อยากให้รัฐบาลเลิกคิดวิธีการแบบนี้ แล้วหันมาเปิดเวทีให้แลกเปลี่ยนความเห็นกันดีกว่าว่าแต่ละฝ่ายคิดเห็นกันอย่างไร โลกในยุคสมัยใหม่จะมาปิดกั้นข้อมูลไม่ได้แล้ว เพียงแค่นำเสนอข้อมูลที่มาจากสื่อหลัก ไม่ใช่สื่อที่ปลุกระดม เป็นสื่อที่สร้างสรรค์ ถ้าปิดเมื่อไหร่เราก็เปิดใหม่ได้ เพราะยังมีการติดต่อสื่อสารกันในทางอื่นอีก ไม่คิดว่ารัฐบาลจะใช้วิธีป่าเถื่อนแต่ละคนมีการศึกษาแต่ความคิดไม่สร้างสรรค์เลย
ขณะที่เดียวกันผู้ที่ถูกศอฉ.ปิดเฟซบุ๊คได้เขียนข้อความมาระบายความรู้สึกในฐานะผู้ถูกคุกคามพื้นที่ส่วนตัวในฐานะสื่อพลเมืองโดยอ้างพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่า
"ผมเป็นคนทีสนใจการเมืองและผมได้เลือกข้างอยู่ก่อนแล้ว ก็คือ ผมพูดได้เต็มปากเลยว่า ผมเป็นคนเสื้อแดง
ก็พยายามติดตามหาอ่านข่าว การวิเคราะห์ข่าวจากโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ สะสมหนังสือที่เกี่ยวกับการเมือง อยู่ก่อนแล้ว เลยทำให้พอจะรู้ว่าการเมืองจะเป็นอย่างไร และการที่ มีเพื่อนมากขึ้นด้วยข้อมูลที่เราได้รับ รู้ว่าจะไปสืบข่าว หรือหาข่าวจากไหน จนทำให้วันหนึ่งได้เข้ามาทำงานด้านสื่อ โดยเฉพาะการเมืองอย่างที่ตนเองชอบ
สิ่งที่เราเห็น สิ่งที่เราอ่านจากหนังสือพิมพ์โทรทัศน์ ก็เริ่มที่จะลงมาทำเอง การลงพื้นที่ นอกจากคำบอกเล่า การลงไปสัมผัสเอง เรื่องลึก ๆ บางอย่างบางประการที่เราได้เห็นได้รับรู้ บางอย่างพูดได้ บางอย่างพูดไม่ได้
เมื่อเราเป็นคนทำข่าว มันก็สอดคล้องกับ เฟสบุ๊คที่เรามีเพื่อนจำนวนหนึ่งตอนแรก ก่อนการชุมนุมใหญ่ของ นปช. ก่อนวันที่ 14 มี.ค 53 เพราะเวลาไปไหนทำอะไร ก็จะมีข้อความว่า อยู่ตรงนั้น ตรงนี้ ทำอะไรบ้าง เห็นอะไรบ้าง (เท่าที่จะบอกได้ หรือสื่อความหมายไปยังเพื่อนในเฟสบุ๊ค แต่บางอย่างเราบอกไม่ได้ก็จะไม่โพสต์)
เอามาประมวลให้กับเพื่อนสมาชิกได้รับรู้ และข่าวที่ได้รับนั้นก็ถูกต้องแม่นยำ เกิน 90 % และอาจจะเร็วกว่าสำนักข่าวทั่วไป เสียอีก เมื่อทำมาตลอดระยะเวลา เกือบ 2 อาทิตย์ ก็เริ่มมีเพื่อนที่เข้ามา ขอเป็นเพื่อนในเฟสบุ๊คมากขึ้นอีกทั้ง สื่อโทรทัศน์หนังสือพิมพ์อาจจะรายงานไม่ตรงใจคนเสื้อแดงด้วย ก็ยิ่งทำให้คนเสื้อแดงเสาะแสวงหาข่าวสาร ที่เป็นจริงมากขึ้น
ผมก็เลยได้เป็นส่วนหนึ่งในการรายงานข่าวสารในเฟสบุ๊คให้กับทุกคนได้รับทราบ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็จะรายงาน วิเคราะห์สถานการณ์ให้กับเพื่อนสมาชิกทุกครั้ง ทุกโอกาส และเป็นข้อมูลเชิงลึกทั้งหมดที่ไม่มีใครสามารถบอกได้ ทั้งเรื่องภายใน ภายนอก แม้แต่การเข้าไปสำรวจในจุดที่เสี่ยงอันตราย วาดแผนที่ เส้นทางของจุดทหาร เป็นต้น ก็ทำให้เป็นที่สนใจและติดตามไม่ว่าจะเป็นฝ่ายคนเสื้อแดงเองและฝ่ายตรงข้าม
การติดตามของพวก ศอฉ และ พวกหลากสี(กลุ่มผู้ไม่หวังดี)
"หลายครั้งที่เข้าไปหาข่าว ทำข่าวและกลับมารายงานให้พี่น้อง ในเฟสบุ๊ค (ซึ่งถือว่า ได้เป็นหน้าที่ไปแล้ว)ข่าวต่างๆ ได้รับการติดตามจากทุกคน ความห่วงใย และความเอื้ออาทร ที่หลั่งไหลเข้ามาจากพี่ ๆ น้อง ๆ ซึ่งตอนนี้ มีคนตามและเป็นเพื่อน ในเฟสบุ๊ค การติดตาม ดูข่าวสารนั้นก็ยังมีคนที่เป็นฝ่ายตรงข้าม คอยติดตาม อยู่แต่การโพสต์ข่าวสารต่าง ๆ หรือการเผยแพร่ สิ่งที่เราทำนั้นนอกจากเป็นประโยชน์ของฝ่ายเสื้อแดง มันก็กลับทำให้ฝ่าย รัฐและ ศอฉ รวมถึงกลุ่มผู้ไม่หวังดีเข้ามาตีรวน ป่วนกระทู้ และนำข้อความที่โพสต์ไปนั้น คัดลอกไปโจมตีกันเอง ซึ่งจับได้หลายคนที่ปลอมตัวเข้า
ดังนั้น การโพสต์ของผมทำให้ฝ่ายตรงข้ามเกิดอาการโกรธ เพราะเป็นข้อมูลเชิงลึก จนพวกเขาเหล่านั้น ทนรับสภาพอีกต่อไปไม่ได้ เป็นผลทำให้ ฝ่ายตรงข้ามแจ้งข้อมูลเหล่านี้ไปยัง ผู้ดูแล เฟสบุ๊ค แต่ คงไม่ประสบผลสำเร็จเพราะการโพสต์ข้อความของผม ไม่ได้เข้าข่ายกฎหรือข้อบังคับของ เฟสบุ๊คเลยแม้แต่น้อย อีกอย่าง การเอาผิดทางกฎหมายก็ไม่สามารถดำเนินการได้ด้วย"
"มีวิธีเดียวก็คือแจ้งไปยัง ศอฉ. ให้ดำเนินการบล็อคเฟสบุ๊คเพื่อไม่ให้สามารถติดต่อกับใครหรือไม่ให้ใครเห็นการโพสต์ข้อความต่างๆ ได้ และเป็นเหตุให้เข้าทาง ศอฉ.ที่จะกำจัดคนที่เขาแสดงความคิดเห็นตรงข้ามกับฝ่ายรัฐ และ ศอฉ. จึงใช้อำนาจที่มีอยู่ บล็อคข้อความ บล็อคการเข้าถึงข้อมูลของเฟสบุ๊คไป"
ความรู้สึกต่อการจำกัดสิทธิเสรีภาพ การแสดงความคิดเห็น
"ผมเองเป็นคนไทยคนหนึ่ง และเป็นคนธรรมดาที่ไม่มีอะไรพิเศษไม่ได้แตกต่างจากใครเลยไม่ว่าจะคนในชนชั้นไหน
รัฐธรรมนูญปี 2540 หรือ 2550 ก็ได้คุ้มครองคนไทยทุกคนในการจะแสดงออกทางความเห็น ความคิด หรือเสรีภาพด้านอื่น ซึ่งมันชัดเจนถึงแม้ว่าจะมี พใรใก.ฉุกเฉิน ที่เขาห้าม อย่างอื่นไว้ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็นและไมได้ทำการปลุกปั่นอะไรไว้เลย กลับใช้อำนาจที่ผมเรียกว่า เผด็จการ มาปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น ต่าง ๆ เอาไว้
คนที่เห็นต่างจากตน ก็จะปิดกั้น ซึ่งมันไม่ยุติธรรม การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นธรรมอย่างนี้ แล้วจะหาความสามัคคี ปรองดองได้อย่างไร ยิ่งคนที่เห็นต่างต้องชี้แจงให้เขาเข้าใจมากขึ้นรัฐบาล เอง ต้องทำงานให้หนัก แต่กลับไปใช้การกดขี่ การปราบปราม ให้เขาสยบยอมตามตนเองอย่างนี้ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องเลย ยิ่งใช้อำนาจอย่างนี้ คนยิ่งจะรังเกลียดมากขึ้น เพราะเพียงแค่คิดจะทำอะไรก็ไม่ได้ แต่อีกฝ่ายไม่ได้ห้ามปรามเพราะถือว่า เป็นพวกตน"
ดังนั้นอยากจะเรียกร้องว่า ถ้าเป็นสุภาพบุรุษและไม่อยากให้เขาตราหน้าว่าเป็นเผด็จการ(ซึ่งประเทศไทย ตอนนี้กำลังปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย) ขอคืนพื้นที่แสดงความคิดเห็น ขอคืนสิทธิเสรีภาพตาม รัฐธรรมนูญให้กับพวกคนที่เห็นต่างจากรัฐบาล เสียทีเถิดไม่งั้นสถานการณ์มันจะบานปลาย และ สุดท้ายยิ่งฝืนคนที่เจ็บตัวคือรัฐบาลเอง