ที่มา มติชน เวลา 13.30 วันที่ 10 มิถุนายน ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการสื่อสารสาธารณะเพื่อสิทธิมนุษยชน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้จัดงานเสวนา "สิทธิหลังไฟมอด" โดยมีวิทยากร คือ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง, นางสุวณา สุวรรณจูฑะ, นายพีรพันธุ์ พาลุสุข และนายพิเชษฐ์ พัฒนโชติ
ประเด็นการสัมนาสืบเนื่องมาจากหลังเหตุการณ์การชุมนุมที่พัฒนาไปสู่การใช้ความรุนแรง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ส่งผลกระทบต่อประชาชน เศรษฐกิจ และสังคม ที่ผ่านมามีประชาชนติดต่อมาปรึกษาปัญหาที่เกิดเพราะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงอย่างมากมายและหลากหลาย จึงถือโอกาสจัดการสัมนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ทั้งจากวิทยากรและผู้เข้าร่วมการสัมนา
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า อาคารของมูลนิธิชั้น 2 และ 3ได้รับความเสียหายแต่ยังโชคดีดีที่ได้รับการช่วยเหลือจากหลายฝ่ายอาทิ การบริจาคภายในประเทศจากสื่อมวลชนและหลายฝ่าย การบริจาคจากสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล แต่หากเปรียบกับพ่อค้า แม่ค้าที่ได้รับผลกระทบแล้ว พวกเขาไม่มีการตั้งโต๊ะช่วยเหลือ และการบริจาคมากนัก
โดยรวมแล้วหมดหวังกับระบบการเมืองแบบตัวแทนที่ไม่ได้ช่วยคลี่คลายปัญหา ในทางกลับกันแล้วกลับเป็นฝ่ายทำให้เกิดปัญหาเองส่วนตัวไม่อยากให้เกิดวงจรแบบนี้ แต่มันต้องคิดถึงประโยชน์กลุ่มตนให้น้อย ประโยชน์สาธารณะให้มาก และสิ่งที่สังคมไทยอยากเห็นจริงๆคือ การฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ตอนนี้แต่ละฝ่ายไม่ฟังสิ่งที่มาจากฝ่ายที่ไม่ใช่พวกของตนเอง
สำหรับ "สิทธิหลังไฟมอด" เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวว่า ต้องไม่มองเฉพาะความเสียหายที่มาจาก "การชุมนุมและจลาจล" แต่ต้องมองว่าจะไปข้างหน้าในทิศทางไหน และรัฐบาลต้องเยียวยาทุกฝ่าย ทั้งที่เสียชีวิต บาดเจ็บ อย่างรวดเร็วและเป็นธรรม ที่สำคัญคือรัฐต้องทำให้เกิดความจริงโดยเร็วที่สุด
นางสาวสารีกล่าวว่า "ต่างฝ่ายต่างมีอนุสาวรีย์ของตัวเอง ของผู้เสียหายอย่างเราคือ อาคารที่ไหม้ ส่วนผู้ที่เสียชีวิตคือ รูปถ่าย อยากให้มันเป็นอนุสาวรีย์สุดท้ายและฝากว่าอยากเห็นบรรทัดฐานของการชุมนุม ที่จะทำยังไงให้การชุมนุมเป็นการชุมนุมจริงๆไม่ใช่จราจล "
นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทางกรมได้มีการดำเนินงานที่ได้ลงมือทำไปอาทิ มีที่ปรึกษากฎหมายให้กับคนที่ไม่เข้าใจ โดยตั้งอยู่ที่สำนักงานยุติธรรมในแต่ละจังหวัด และในเบื้องต้นหากยังไม่ได้รับในสิ่งที่ต้องการก็มีระบบการร้องทุกข์รองรับ มีกองทุนยุติธรรมที่ปรับปรุงใหม่ในปี 2553 สามารถช่วยเหลือได้กว้างมากขึ้นและสำหรับความเสียหายในวงกว้างมากขึ้นด้วย
ในช่วงสถานการณ์ไม่ปกติ ทางกรมไม่ใช่หน่วยงานแรกที่เข้าไปดูแล แต่กรมจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือเมื่อภาวะคลี่คลายลงโดยมีศูนย์คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพให้ความช่วยเหลือ หากประชาชนคิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมก็สามารถยื่นขอคำปรึกษา รวมถึงมีกองทุนที่ช่วยค่าธรรมเนียมศาล ค่าทนาย และค่าประกันตัวชั่วคราว ส่วนจำเลยก็สามารถเข้ามาขอคำปรึกษาได้เช่นกัน
นางสุวณากล่าวในงานสัมนาว่า "หวังว่าจะทำวิกฤตให้เป็นโอกาส ให้กรมได้สร้างความเข้าใจในการเคารพสิทธิของผู้อื่นแก่ประชาชน"
ด้านนายพีรพันธ์ พาลุสุข สมาชิกสภาผู้เทนราษฎร(ส.ส.) พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า แม้ว่าไฟที่ปะทุขึ้นจะมอดไปแล้วแต่ไฟในใจของผู้ถูกผลกระทบกลับลุกโชนขึ้น การที่รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก ฉุกเฉินโดยไม่มีเหตุจำเป็นก็ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิที่รุนแรงมากขึ้น ตัวเนื้อหาของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินมีเนื้อหาไม่ต่างจากกฎอัยการศึกจึงทำให้ละเมิดสิทธิคนมาย กฎเหล่านี้ไม่ควรนำมาใช้กับการชุมนุม ทั้งๆที่รัฐธรรมนูญระบุว่าประชาชนสามารถชุมนุมเพื่อแสดงออกได้
เมื่อมีผู้ถูกกักตัว ฝ่ายรัฐก็บอกว่าจะเข้าไปช่วยเหลือ แต่ตั้งข้อแม้ด้วยคำถามว่า "ใครให้มาชุมนุม ?" หลอกล่อให้ซักทอด เอาคำให้การเพื่อโยงไปถึงพรรคเพื่อไทย แม้ว่ารัฐจะเคยบอกว่าจะแยกผู้บริสุทธิ์เหลือแต่ผู้ที่ก่อการ แต่ตอนนี้ก็ยังแยกไม่ได้
ส.ส. พรรคเพื่อไทยยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า "เหตุการณ์หยุดแล้วก็น่ายกเลิกพ.ร.ก. ให้กระบวนการยุติธรรมทำงานไป ซึ่งก็น่าจะเป็นการเยียวยาจิตใจในอีกทางหนึ่ง ทางเจ้าหน้าที่ก็ให้ดำเนินการกันไปตามหน้าที่จริงๆ รีบหาความเป็นจริงและปล่อยคนไป ว่ากันไปตามกฏหมาย อย่างน้อยก็น่าจะลดความไม่เป็นมิตรต่อกันได้"
นายพิเชษฐ์ พัฒนโชติ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข กล่าวในงานสัมนาว่า การจะถามว่าหลังไฟมอดแล้วเรามีสิทธิอะไร ก็ควรถามย้อนกลับไปว่าก่อนไฟมอดมันมีอะไรเกิดขึ้น มันมีที่มาที่ไป เราไม่สามารถจะบูรณะฟื้นฟูได้โดยที่ไม่รู้ว่าเกิดไฟไหม้ได้อย่างไร ในสภาก็มีแต่คำถามว่า "ใครฆ่าประชาชน" และมักได้ยินคำตอบว่า "ก็ทหารไง"
ส่วนนอกสภาก็มีชาวต่างชาติส่งข้อความผ่านทวีตเตอร์เป็นภาษาไทย บอกว่า"รักสันติ ไม่ใช่คนเผา" แต่เมื่อวันที่ 25 มีนา มีทวีตบอกว่า"เมื่อมีอะไรเกิดขึ้น ให้พี่น้องไปที่ศาลากลางประท้วงการใช้กำลัง" ย้อนกลับก่อนหน้านี้อีกก็ทวีตบอกว่า "รถจะติด จนกว่าจะแก้ปัญหาได้" เหมือนรู้ว่าจะเกิอะไรขึ้น 11 พฤษภาคม ก็วีดีโอลิงค์บอกว่า ผมยังไม่ลืมพี่น้องที่มาต่อสู้ให้ แต่หลังจากการเหตุการณ์ความรุนแรงกลับมีทวีตว่า "ผมไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ได้กำหนดการเคลื่อนไหว และไม่ได้ขัดขวางการทำงานของรัฐ"
นายพิเชษฐ์ยังได้เสนอว่า การเมืองเองอาจเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหา มีการแสดงอำนาจโดยขาดประชาธิปไตยซึ่งทำลายประชาธิปไตยที่ต้องมีการตรวจสอบฝ่ายบริหาร ฝ่ายตรวจสอบอย่างกกต. ทำอะไรบ้าง นักการเมืองก็รู้ดีว่ามีวิธีซื้อเสียงอย่างไร เช่นเดียวกับรู้วิธีซื้อกกต. นอกจากนี้ จากเหตุการณ์เราเห็นได้ชัดเจนว่า มีราชการ มะเขือเทศ เต็มไปหมด ราชการจำเป็นต้องปฎิรูปหรือไม่
ความเป็นอิสระองค์กรสื่อ และการศึกษา ก็เป็นสิ่งที่ต้องปฎิรูป โทรทัศน์บางช่องไม่ใช่สื่อ สิ่งที่เป็นพฤติกรรมที่เรียกว่า"การปลุกระดม"ไม่อาจเรียกว่าเป็นสื่อ ประชาชนควรได้รับการศึกษาและควรได้รับรู้ความจริง รวมถึงการบังคับใช้กฏหมายที่เด็ดขาด คณะกรรมการอาจไม่จำเป็นต้องเยอะ แต่ต้องใช้กฎหมายให้เป็นประโยชน์ที่สุด
ช่วงท้ายของการสัมนานายพิเชษฐ์ ฝากคำพูดว่า"จอห์น เอฟ. เคนเนดี้กล่าวว่า ′จงอย่าถามว่าประเทศชาติเคยให้อะไรกับคุณ แต่จงถามว่าคุณให้อะไรกับประเทศบ้าง′ ส่วนผมอยากฝากพุทธพจน์ว่า ′ได้ทำกรรมอะไรไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจักเป็นผู้รับผลตกทอดของกรรมนั้น′ "