ที่มา บางกอกทูเดย์ โจรหัวใสติดเครื่องสกิมเมอร์ตู้ ATM กดเงิน แฮ๊กบัตร ATM อาละวาด...ระวังเงินหายไม่รู้ตัว ดูดข้อมูล ATM เจ้าทุกข์สูญเงิน 10 ล้าน “สกิมเมอร์” เทคโนโลยีโฉดเพื่อทรชน นี่คือข้อความ “พาดหัวข่าว” ตามหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ เพื่อเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังภัยใกล้ตัวในปัจจุบัน ซึ่งยุคนี้ถือเป็น “ยุคไฮเทค” ที่โจรผู้ร้ายสามารถปล้นเงินของคุณโดยไม่ต้องชักมีดหรือชักปืน...เพียงแต่ใช้อาวุธเพียงอย่างเดียว นั่นคือ “สกิมเมอร์” แล้วคำถามมีว่า “สกิมเมอร์” คืออะไร? เรื่องนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์กล่าวว่า “สกิมเมอร์” (Skimmer) คือ เครื่องดูดหรือเครื่องกวาดข้อมูล เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่คนร้ายสร้างขึ้นโดยนำเครื่องอ่านแถบแม่เหล็ก วงจรถอดรหัส และวงจรหน่วยความจำมาประกอบเข้าด้วยกัน “สกิมเมอร์” มีหลายขนาดตั้งแต่เท่ากับกล่องใส่รองเท้าไปจนถึงขนาดเท่าซองบุหรี่ที่คนร้ายซ่อนไว้ในอุ้งมือ โดยใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ในการทำงาน นอกจากนี้ประสิทธิภาพของ “สกิมเมอร์” คือสามารถพกพาไปไหนมาไหนได้สะดวก ติดตั้งง่าย ถอดประกอบง่าย เมื่อมีการนำบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิตเช่น บัตร ATM มารูด...สกิมเมอร์จะอ่านข้อมูลจากแถบแม่เหล็กและนำไปเก็บไว้ในหน่วยความจำ ทั้งนี้ สกิมเมอร์ที่มีหน่วยความจำน้อยจะเก็บข้อมูลบัตรเครดิตได้ 50 ใบ ส่วนสกิมเมอร์ที่มีหน่วยความจำมากก็อาจจะเก็บข้อมูลได้หลายหมื่นใบเลยทีเดียว เห็นแบบนี้คงต้องร้องอุทานดังๆ ว่า “โอ้...มายก็อด” เพราะผู้อาวุโส ในแวดวงธนาคารหลายท่าน ได้ให้ข้อมูลกับบางกอกทูเดย์ตรงกันว่า...ปัจจุบันมีคนไทยใช้บัตรเครดิตและบัตรเดดิตรวมแล้วประมาณกว่าสิบล้านคน และเมื่อคำนวณจากวันเป็นเดือนจากเดือนเป็นปี...พวกท่านลองคิดดูว่านี่คือ “ความสูญเสีย” ที่มีมูลค่ามากมายมหาศาลเพียงใด เมื่อเร็วๆ นี้ “แก๊งมาเลย์” ได้แอบติดแถบแม่เหล็ก ในช่องเสียบบัตรตู้เอทีเอ็ม และคัดลอกข้อมูลตระเวนกดเงินจากบัญชีเหยื่อ ซึ่งจากปากคำให้การ...พวกเขาบอกว่าสามารถทำให้เสร็จได้เพียงแค่ 3 นาที ครั้งนั้นการโจรกรรมข้อมูลเอทีเอ็ม ได้นำมาสู่การจับกุม นายโก ฟุก ไช อายุ 35 ปี และนายลิม ซี โชว อายุ 34 ปี ทั้งสองสัญชาติมาเลเซีย ถูกจับกุมได้ บริเวณด่านตรวจคนเข้าเมือง อ.สะเดา จ.สงขลา ของกลางที่ยึดได้ประกอบด้วยบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (บัตรเอทีเอ็ม) จำนวน 81 ใบ เครื่องคัดลอกข้อมูลแถบแม่เหล็ก หรือสกิมเมอร์ 3 ชุด กล้องวงจรปิดขนาดเล็ก 3 ชุด แผ่นพลาสติกสำหรับซ่อนกล้องวงจรปิด 6 แผ่น แบตเตอรี่ 5 ก้อน ซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือ 72 อัน โทรศัพท์มือถือ 4 เครื่อง และอุปกรณ์ผลิตบัตรเอทีเอ็มปลอมจำนวนหนึ่ง เรื่องดังกล่าว...เกิดจากการที่มีผู้เสียหายซึ่งใช้บัตรเอทีเอ็มของธนาคารหลายแห่งร้องเรียนว่าถูกคนร้ายลักลอบกดเงินไปจากบัญชีกว่า 100 ราย รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 10 ล้านบาท ในเวลาเพียงไม่กี่เดือน โดยคนร้ายแบ่งหน้าที่กัน อย่างชัดเจน มีทั้งชุดติดตั้งกล้องและอุปกรณ์สกิมเมอร์ ชุดถอนเงินสด และชุดที่เฝ้าสังเกต ก่อนคนร้ายจะจนมุมเจ้าหน้าที่ได้รวบรวมหลักฐาน เช่นภาพถ่ายกล้องวงจรปิดภายในตู้เอทีเอ็ม ประวัติการเดินทางเข้าออกประเทศ ทำให้ทราบชื่อคนร้ายทั้งหมด ก่อนขออนุมัติศาลออกหมายจับกลุ่มคนร้ายได้ยกแก๊ง เทคโนโลยีโจรกรรมรหัสข้อมูลพัฒนาไปไกล...เดิมทีการปลอมแปลงบัตรแต่ละใบใช้เวลานานนับเดือน แต่วันนี้...ใช้เวลาแค่ไม่กี่นาที ไม่มีใครรู้ว่าภัยใกล้ตัวดังกล่าวจะมาถึงตัวเราเมื่อใด...แต่สิ่งหนึ่งที่ทำได้ นั่นคือ การตั้งมั่นอยู่ใน “ความไม่ประมาท” และการรู้จัก “ป้องกันตนเอง” ผู้รู้ในวงการธนาคารแนะนำว่า... หากใครต้องการ “ฝากเงินสด” และต้องการความสะดวกสบายด้วยการทำบัตร ATM ก็ไม่ควรที่จะฝากเงินเกิน 50,000 บาท แต่หากบุคคลใดทำธุรกิจและทำธุรกรรม ซึ่งจำเป็นต้องใช้ธนาคารเป็นสถานที่ “หมุนเงิน” และฝากเงินเป็นแสนเป็นล้าน คนเหล่านั้นควรเบิกเงินสดจาก “สมุดธนาคาร” ไม่จำเป็นต้องใช้บัตร ATM ที่สำคัญเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลายครั้ง...ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่า มักจะเกิดขึ้นกับตู้ ATM ที่อยู่ติดกันมากกว่า 1 ตู้ขึ้นไป ดังนั้น...นี่คือ “คำเตือน” ให้ประชาชนซึ่งใช้บัตร ATM เกิดความระมัดระวัง อย่างไรก็ตาม ผู้ประดิษฐ์ และนำสกิมเมอร์มาใช้สร้างความเดือดร้อนย่อมสมควรถูกจับกุมดำเนินคดี โชคร้ายที่ในขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับบัตรเครดิตโดยตรง นี่อาจเป็นเหตุผลที่ “อาชญากรต่างชาติ” นิยมเข้ามาทำผิดกฎหมายเรื่องบัตรเครดิตในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ดี คดีเกี่ยวกับการฉ้อโกงบัตรเครดิต และบัตรเดบิตที่ขึ้นสู่ศาลขณะนี้ สามารถใช้การวินิจฉัยโดยเทียบเคียงกับกฎหมายที่มีอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น การลักบัตรเครดิต หากเป็นการขโมยบัตรก็เข้าข่ายการลักทรัพย์ซึ่งเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334 จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกินหกพันบาท แต่ในกรณีของการดูดข้อมูลบัตรเครดิตด้วยสกิมเมอร์ศาลฎีกายังไม่ได้วินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานว่าการกระทำดังกล่าว เป็นการลักทรัพย์หรือไม่ การยักยอกบัตรเครดิต มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 การยักยอกบัตรเครดิตเป็นเรื่องที่สร้างปัญหากับธนาคารและเจ้าของบัตรเครดิตเป็นอย่างมาก เนื่องจากเจ้าของบัตรเครดิตไม่อาจทราบได้ว่า...บัตรเครดิตถูกนำไปใช้ จะรู้ก็ต่อเมื่อได้รับใบแจ้งหนี้จากธนาคารให้ไป ชำระเงินที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิต การปลอมบัตร เทียบได้กับการกระทำความผิดในฐานปลอมเอกสารสิทธิ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265 วิธีนี้คนร้ายจะสร้างบัตรปลอมที่มีตัวอักษรนูน และลวดลายเหมือนบัตรจริง จากนั้นนำข้อมูลของบัตรเครดิตจากสกิมเมอร์มาบันทึกลงในแถบแม่เหล็ก ข้อมูลที่บันทึก จะประกอบด้วยหมายเลขบัญชีของผู้ถือบัตร หมายเลขบัตร วันหมดอายุบัตร และ ชุดตัวเลขที่ธนาคารเข้ารหัสไว้ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่ใช้ยืนยันได้ว่าบัตรนั้นเป็นบัตรเครดิตที่ธนาคารออกให้จริงๆ ถูกต้องที่สุดกับคำพูดที่ว่า...ศาสตร์คอมพิวเตอร์ไม่ต่างจากเทคโนโลยีอื่นๆ คือมีทั้งคุณและโทษ ผู้คนมากมาย นำเทคโนโลยีไปใช้เพื่อให้เพื่อนมนุษย์มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มี “ทรชนใจทราม” นำไปใช้เพื่อสร้างความเสียหายเดือดร้อนแก่ผู้อื่น โลกทุกวันนี้เปลี่ยนเปลงไปและเต็มไปด้วยสิ่งที่น่าตื่นเต้นและน่าค้นหา...แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปยิ่งกว่าวิวัฒนาการของโลก นั่นคือ จิตใจที่ชั่วร้ายของมนุษย์เรา