สังคมโลกและสังคมไทยกำลังตื่นตัวกับสิ่งที่เรียกว่า เครือยข่ายสังคมออนไลน์(Social media network)โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตประเทศไทยที่ผ่านมา เราได้เห็นถึงบทบาทและอิทธิพลของเครือข่ายออนไลน์ที่มีส่วนอย่างสำคัญในการกำหนดทิศทางทางสังคมและการเมือง
จากการศึกษาของโครงการศึกษาเฝ้าระวังสื่อและพัฒนาการรู้เท่าทันสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคมหรือมีเดีย มอนิเตอร์ ระหว่างวันที่ 12 มีนาคม - 30 พฤษภาคม 2553 ผ่าน 4 กลุ่มช่องทางสื่อใหม่อคือ 1.เว็บเฟซบุ๊ค 2.ทวิตเตอร์ 3.เว็บบอร์ดพันทิป และ 4. การใช้ฟอร์เวิร์ดเมล์ ในหัวข้อ"ปรากฎการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในเครือข่ายสังคมออนไลน์"ทำให้เห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ผลการศึกษา พบว่า มีการใช้สื่อออนไลน์เพื่อสื่อสารทางการเมืองในการโต้ตอบ ต่อสู้ เอาชนะกันทางการเมือง ระหว่างคนชนชั้นกลางและกลุ่มผู้ชุมนุม, ระหว่างผู้สนับสนุนรัฐบาลและผู้ต่อต้าน แม้จะมีเนื้อหาจากฝั่งกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง/นปช. บ้าง แต่ก็พบค่อนข้างน้อย ซึ่งอาจมาจากสาเหตุที่รัฐควบคุม หรือสั่งปิดเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาท ปลุกระดม และหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ใน "เฟซบุ๊ค". พบว่า กว่า 1,300 เว็บไซต์ (ตัวเลข ณ เดือนพฤษภาคม) แบ่งออกเป็น 19 กลุ่ม วัตถุประสงค์ มีทั้งการสนับสนุน/ต่อต้านรัฐบาล - คนเสื้อแดง กลุ่มสันติวิธี หรือกลุ่มล้อเลียนการเมือง
เนื้อหาส่วนมากกว่า 90 % ต่อต้านการกระทำ และไม่สนับสนุนกลุ่มคนเสื้อแดง และบางส่วนได้กลายมาเป็นพื้นที่สอดแนม เฝ้าระวัง การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะเนื้อหาที่เกี่ยวกับสถาบัน และนำเอามาถ่ายทอดต่อในกลุ่มของตน เพื่อแจ้งข่าวสารยังสมาชิก เพื่อรู้ เพื่อประจาณ ประณามและขอให้ช่วยกันลงโทษทางสังคมออนไลน์
ที่สำคัญมีการนำข้อมูลส่วนตัวของบุคคลดังกล่าวไปเผยแพร่ต่อในอีเมล์, เว็บบอร์ด เพื่อให้รับรู้กันในสาธารณะ ซึ่งมีกรณีที่นำไปสู่การจับกุม การไล่ออกจากสถานที่ทำงาน และการไม่คบค้าสมาคม-ปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคนเสื้อแดง(มีการใช้ภาษาที่หยาบคาย รุนแรงและยุยงให้เกิดความเกลียดชัง)
ส่วน"ทวิตเตอร์"นั้น ใช้งานเพื่อติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างเกาะติด ต่อเนื่อง โดยมีนักข่าว/ผู้สื่อข่าวเป็นผู้ทรงอิทธิพลในข่าวสารมากกว่ากลุ่มอื่นๆ
ด้านพื้นที่เว็บบอร์ดสาธารณะในพันทิป ก็มีการตั้งกระตู้หลายพันกระทู้ และกลายเป็นพื้นที่วิวาทกรรมทางความคิดการเมือง วิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอย่างดุดัน แบ่งฝักแบ่งฝ่าย และสะท้อนความเกลียดชัง ผ่านภาษาเชิงเหยียดหยาม ประณาม รวมทั้งเป็นพื้นที่แห่งการตรวจสอบข้อเท็จจริงทางความขัดแย้งทางการเมืองหลายๆ กรณี มีการเชื่อมโยง ระดมข้อมูลข่าวสารจากพลเมืองเน็ตมากมายเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง การใช้ความรู้ ข้อเท็จจริงมาหักล้างซึ่งกันและกันอย่างเสรี
นอกจากนั้น ยังมีการใช้ฟอร์เวิร์ดเมล์ในลักษณะชี้แจง แฉ วิพากษ์วิจารณ์ เบื้องลึกเบื้องหลังเหตุการณ์การชุมนุมของคนกลุ่มเสื้อแดง,พฤติกรรมของพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ในการตีตนเสมอเจ้าหรือการกระทำที่คิดล้มล้างสถาบัน-คดีคอร์รัปชั่นในอดีต, เบื้องหลังความรุนแรงการชุมนุมของคนเสื้อแดง, กลุ่มบุคคล-องค์กร-สื่อเว็บไซต์ ที่เผยแพร่ความคิดล้มสถาบันกษัติรย์
ขณะที่พบว่า ผู้คนที่ใช้สื่อออนไลน์ในเชิงสันติวิธี การหาทางออกและข้อเสนอแนะของวิกฤตปัญหาทางการเมืองนั้นอยู่ในระดับน้อยมาก
ผลการศึกษาดังกล่าวน่าจะขัดแย้งกับเจตนารมณ์ในการจัดตั้งเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ต้องการให้ใช้ไปในทางรังสรรค์สังคมมากกว่าโดยเฉพาะการใช้ในการแบ่งแยก ทำลายล้างและไล่ล่าคนที่เห็นว่า เป็นศัตรูอย่างโหดเหี้ยมด้วยการสืบค้นข้อมูลส่วนตัวเพื่อนำมาเผยแพร่เชื่อมโยงกับอีเมล์และส่งต่อๆ กันเพื่อให้มีลงโทษทางสังคมออนไลน์
ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในช่วงที่ผ่านมา จนมีผลกระทบกับผู้ถูกไล่ล่าในชีวิตจริงถึงขึ้นถูกไล่ออกจากที่ทำงานและไม่สามารถเข้าเรียนต่อในสถานศึกษาได้
ขณะที่ในสหรัฐอเมริกาผู้ที่ถูกไล่ล่า ประจานถึงขนาดฆ่าตัวตาย
ถ้าลักษณะการใช้เครือข่ายออนไลน์ เป็นไปอย่างไร้กติกา ไร้การกำกับดูแล และไร้จิตสำนึก สามารถไล่ล่าผู้คนอย่างโหดเหี้ยมได้อย่างกว้างขวางแล้ว น่าที่จะเรียกเครือข่ายออนไลน์ว่า "แก๊งสเตอร์ มีเดีย เน็ตเวิร์ค" มากกว่า"โซเชียล มีเดีย เน็ตเวิร์ค"