ที่มา ไทยรัฐ
ต้องเอาใจลูกค้าหม่องสุดๆให้บริการ"ภาษาพม่า"ผ่านตู้เอทีเอ็ม คนไทยไปกดเงินต่างตกใจ
เพราะมีให้บริการทุกตู้ทั่วเมือง.....
เมื่อวันที่ 8 ส.ค.ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่าไปใช้บริการตู้เอทีเอ็มในตัวเมือง สมุทรสาครแล้ว
รู้สึกแปลกใจ ที่หน้าจอทำรายการมีภาษาพม่ากำกับอยู่ด้วย
ผู้สื่อข่าวเดินทางไปตรวจสอบข้อเท็จจริง
โดยตระเวนสำรวจตู้เอทีเอ็มทุกธนาคารทั่วเมืองสมุทรสาคร
ปรากฏว่าตู้ เอทีเอ็มของธนาคารกสิกรไทย
มีภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาพม่าเพิ่มขึ้นมาอีกภาษา
ส่วนตู้เอทีเอ็มของธนาคารอื่นไม่มีภาษาพม่าให้บริการแต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวนำนายแดง อายุ 44 ปี แรงงานชาวพม่ามาทำรายการให้ดู
เพื่อตรวจสอบข้อความขั้นตอน
การทำรายการของตู้เอทีเอ็ม
พบว่าหลังสอดบัตรเอทีเอ็มเข้าไปในเครื่องแล้วจะมีข้อความว่า
ยินดีต้อนรับขึ้นเป็นภาษาไทยกับภาษาอังกฤษ
ตามด้วยข้อความให้ใส่รหัสของบัตร จากนั้น
จะมีข้อความเป็นภาษาไทยตีคู่กับภาษาพม่า
และตามด้วยภาษาอังกฤษทุกขั้นตอน
ไม่ว่าจะเป็นการกดเงินสด โอนเงิน จ่ายค่าสาธารณูปโภคต่างๆ
รวมทั้งสอบถามยอดเงินด้วย
ด้านผู้นำชุมชนคนหนึ่ง ในตำบลท่าจีน กล่าวว่า
ตามที่รัฐบาลเปิดให้ทำบัตร ทำให้แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่
มีบัตรถูกต้องตามกฎหมาย
แต่ก็มีแรงงานอีกส่วนหนึ่งที่แฝงตัวหลบหนีเข้ามาก็มีบ้าง คนที่มีบัตรส่วนใหญ่
จะอยู่แบบสบายใจ แต่ก็มีบางคนที่ไม่มีบัตรแต่อยากจะทำบัตร
ซึ่งรัฐบาลยังไม่เปิดโอกาสให้ทำ
ทำให้แรงงานต่างด้าวคนใหม่ที่หลบหนีเข้ามาต้องอยู่กันแบบหลบๆซ่อนๆ
ดังนั้น จึงอยากให้ทางการ
เปิดทำบัตรให้แรงงานต่างด้าวเพื่อนำเงินเข้ารัฐดีกว่า
ส่วน พ.ต.ต.สมชาย ขอค้า สวป.สภ.เมืองสมุทรสาคร เผยว่า สำหรับแรงงานต่างด้าว
ในจังหวัดสมุทรสาครที่ต่อใบอนุญาตทำงานมีทั้งสิ้น 124,454 คน กับแรงงาน
ที่พิสูจน์สัญชาติ (MOU) อีก 9,001 คน รวมทั้งสิ้น 133,455 คน
และแรงงานไม่ขึ้นทะเบียนอีกนับหมื่นคน
ตามที่รัฐบาลและจังหวัดสมุทรสาคร ได้ผ่อนผันแรงงานต่างด้าวให้มีการจดทะเบียน
และสามารถประกอบอาชีพในประเภทต่างๆ ได้ 11 กิจการนั่นคือ
ประมง เกษตรกรรม โรงอิฐ เหมืองแร่ โรงสีข้าว โรงน้ำแข็ง
การขนถ่ายสินค้าทางน้ำ การก่อสร้าง รับใช้ในบ้าน กิจการต่อเนื่องประมงและอื่นๆ
แต่ต้องระบุ ตำรวจได้กวดขันจับกุมผู้ที่ทำงานนอกเหนือจากนี้อย่างต่อเนื่อง
แต่ก็กวาดล้าง ไม่หมด
เพราะมีแรงงานที่หลบหนีเข้าเมืองจำนวนมาก
ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า สำหรับพื้นที่ จ.สมุทรสาคร เป็นจังหวัดชายทะเล
ตั้งอยู่ตอนล่างของภาคกลางมีเนื้อที่ประมาณ 872 ตารางกิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพฯประมาณ 30 กม. ประชากรส่วนใหญ่ประกอบกิจการประมง
และการเกษตร อุตสาหกรรมหลักได้แก่อุตสาหกรรมด้านการผลิต
โดยเฉพาะการผลิตแปรรูปอาหารเพื่อการส่งออก
มีสถานประกอบการประมาณ 6,320 แห่ง
ทำให้มีแรงงานต่างด้าวตามชุมชนต่างๆถึง 26 ชุมชน อาทิ
ชุมชนเกาะสมุทร ชุมชนบ้านท่าจีน ชุมชนท่าทราย ชุมชนท่าฉลอม
ชุมชนวัดโกรกกราก และชุมชนวิลล่า
แต่ละชุมชนมีแรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่ตั้งแต่ 1,000-10,000 คน.