ที่มา ไทยรัฐ กรณีที่จู่ๆผู้บริหารการบินไทยก็ออกมาแถลง จับมือตกลงจัดตั้ง สายการบินไทย ไทเกอร์ แอร์เวย์ส เป็นสายการบินต้นทุนต่ำ หรือโลว์คอสต์ร่วมกับประเทศสิงคโปร์ ลงนามในบันทึกข้อตกลงเป็นที่เรียบร้อย ตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา หมัดเหล็ก
ทะแม่งชอบกล
ที่พูดอย่างนี้เพราะแม้แต่คุณโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคมเองยังงงเป็นไก่ตาแตก ไม่รู้ถึงข้อตกลงที่เกิดขึ้น เพราะคุณปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย รายงานมาแค่วาจา จำเป็นต้องมีการพัฒนาการบริการเชิงพาณิชย์ เพื่อให้การบินไทยเป็นสายการบินระดับพรีเมียม
ฟังดูดี
แต่ต้องตั้งคำถามกับคุณปิยสวัสดิ์ ตั้งคำถามถึงบอร์ดการบินไทยที่ลุกลี้ลุกลนอนุมัติกันโดยอ้างแค่เหตุผลพัฒนาด้านบริการ หรือมีเหตุผลอื่นแอบแฝงอยู่ด้วยหรือไม่ ทั้งๆที่สายการบินโลว์คอสต์ที่ให้บริการอยู่ในตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นนกแอร์ แอร์เอเชีย วันทูโก ประสบปัญหามากมาย แทบจะเอาตัวไม่รอด
ปัญหาก็มาจากการบินไทยนี่แหละ
แม้แต่สายการบินแห่งชาติอย่างสายการบินไทยเอง ยังขาดทุนบักโกรก นี่ขนาดเป็นธุรกิจที่ผูกขาด เป็นธุรกิจการบินในรูปแบบบริษัทมหาชนที่ไม่แตกต่างจากรัฐวิสาหกิจ เพราะมีกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่อยู่ รัฐบาลสามารถที่จะให้การสนับสนุนได้อย่างเต็มที่
ยังบริหารขาดทุน
ไม่ต้องไปพูดถึงฝีมือของผู้บริหาร จะเป็นแค่ราคาคุย ก็เป็นอีกเรื่อง แต่อะไรก็ตามที่ไม่ชอบมาพากลก็ไม่สมควรกระทำ ให้ กระทบต่อการบริหารงานหลัก
มีการประชุมกรรมการบริหารเพื่อพิจารณาเรื่องนี้อย่างฉุกละหุก ในวันหยุดราชการ ทั้งๆที่ไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วนฉุกเฉิน ขั้นตอนการดำเนินการก็มีพิรุธซะแล้ว
นี่ถ้าเป็นรัฐบาลสมัยก่อนๆ รัฐบาลจะถูกข้อครหาว่าขายสมบัติชาติทันที เอาแค่ยุคโน้นบริษัทชินวัตรเข้ามาดำเนินการในรูปแบบธุรกิจระหว่างเอกชนกับเอกชนแท้ๆ ยังโยงโดนตีซะน่วม
แต่นี่รัฐบาลเอาซะเอง
คนที่จะต้องตอบคำถามเรื่องนี้นอกจาก ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทยที่ไปลงนามในเอ็มโอยูแล้ว กรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง และนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็จะต้องมีคำตอบเช่นเดียวกัน เพราะเมื่อโยงใยตัวเชื่อมดูแล้ว
ปัดสวะไม่พ้นตัว
เรื่องในการบินไทยคงไม่จบลงแค่นี้ ปัจจุบันการบินไทยไม่ต่างจากแดนสนธยา หลังจากที่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาดูแลไม่นานไม่อยากจะทวงถามกฎเหล็ก 9 ข้อให้เมื่อยตุ้ม เพราะไม่เคยมีอยู่ในโลกของความเป็นจริง.