“สมัคร” ทุ่มงบ 7 แสนล้านบาทลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ เดินหน้าสร้างรถไฟฟ้าทั้งระบบ เดินหน้าเพิ่มส่วนต่อขยาย 3 ทิศทาง ได้แก่ “หมอชิต - คลองสี่” “ซอยแบริ่ง – บางปู” และ “สะพานตากสิน – อ้อมน้อย” โยนให้ “มหาดไทย - กทม.” เจรจาเทกโอเวอร์บีทีเอส 3 หมื่นล้านบาท เตรียมลงทุนเฟสแรก 1.9 แสนล้านบาท ผุดโปรเจ็กต์รถไฟฟ้าวงแหวน 100 กิโลเมตรต่อทันที
นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบขนส่งทางรางและระบบขนส่งมวลชน ครั้งที่ 1/2551 ที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงความชัดเจนโดยรัฐบาลจะเดินหน้าโครงการเมกะโปรเจ็กต์ระบบรางลงทุนกว่า 7 แสนล้านบาท
พร้อมทั้งมอบหมายกระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร (กทม.) เจรจากับบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด มหาชน ที่ดำเนินการรถไฟฟ้าบีทีเอส โดยคาดใช้เงิน 3 หมื่นล้านบาทเพื่อเข้าบริหารกิจการเอง ขณะเดียวกันเตรียมส่วนต่อขยายเส้นทางออกไปอีก 3 ทิศทาง (รายละเอียด รายงานพิเศษ หน้า 2)
“เราจะใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่แล้ว และได้สอบถามเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในเรื่องที่จะต่อขยายจากบีทีเอสออกไป โดยฝ่ายที่เกี่ยวข้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องยากเย็น เนื่องจากสัมปทานอยู่ที่ กทม.” นายสมัคร กล่าว และว่า รัฐบาลจะดำเนินการทันทีในโครงการขยายเส้นทางต่อจากโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสทั้ง 3 ทิศทาง คือ จากหมอชิต – สะพานใหม่ – คลองสี่ จากซอยแบริ่ง – ปากน้ำ - บางปู และจากสะพานตากสิน – บางหว้า - อ้อมน้อย ทั้งนี้ ทางรัฐบาลจะเข้าไปซื้อกิจการรถไฟฟ้าบีทีเอสมาดำเนินการเอง
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางซื่อ - บางใหญ่ จะเริ่มเปิดประมูลทันทีเช่นกัน ขณะที่ส่วนต่อขยายเส้นทางโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงจะเข้ามาร่วมมือในโครงข่ายขนส่งมวลชนด้วย โดยจะเป็นเรื่องของรถไฟชานเมือง ที่จะมีรถไฟวิ่งจาก จ.พระนครศรีอยุธยาเข้าบางซื่อ จาก จ.นครปฐมเข้าบางซื่อ และจาก จ.ฉะเชิงเทรา ผ่านหัวหมาก ผ่านสะพานเสาวนีย์ และไปถึงที่บางซื่อ และไปถึงหัวลำโพง
นายกฯ กล่าวต่อว่า ภายในปีนี้ คาดว่าจะขายแบบก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว 3 สาย ได้ ในขณะเดียวกัน โดย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นหน่วยงานที่ดำเนินการรถไฟใต้ดินระยะทาง 20 กิโลเมตร คือ จากบางซื่อถึงหัวลำโพง และจะทำใหถูกต้องตามกฎหมาย
“รัฐบาลจะเอาเงินไปใช้หนี้ โดยรัฐบาลจะถือหุ้น 89% ขณะที่ทางกระทรวงมหาดไทยจะขอเอาอันนี้คืนมา ซึ่งประโยชน์จะเกิดจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว คือ รถไฟฟ้าบีทีเอส 24 กิโลเมตร 3 แฉก มีสถานีมาตรฐาน 21 สถานี สามารถจอดได้ 6 ตู้ เพื่อรับคนจากชานเมืองเข้ามาในเมือง” นายกฯ กล่าว
ส่วนที่ดำเนินการไปแล้ว คือการเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ที่ได้มีการเปิดประมูลไปแล้วจะดำเนินการก่อสร้างภายใน 2 เดือนข้างหน้านี้ จะใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 42 เดือน โดยเป็นรถไฟขนาด 1 เมตร แต่ตัวรถจะเป็นรถโดยสารช่องทางเดิม ทำใหม่รถโดยสารนั้นเป็นรถใหม่สำหรับทางเดิม ซึ่งจะไม่เกี่ยวกับรถไฟ แต่จะใช้ทางรถไฟที่ทำขึ้นมาใหม่
นอกจากนี้ กำลังจะเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงเป็นลำดับต่อไป ทั้งนี้ หลังจากดำเนินการได้ครบทั้ง 4 ทิศทางแล้วในอนาคตจะมีโครงการรถไฟฟ้าวงแหวนระยะทาง 100 กิโลเมตร ตามแนวถนนรัชดาภิเษกขึ้นมาอีกด้วย
นายกฯ ยังระบุเพิ่มเติมถึงงบประมาณลงทุนกว่า 7 แสนกว่าล้านบาท โดยมีระบบนำเงินมาจากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิค) ที่อนุมัติให้กู้ทั้ง 5 โครงการ เป็นเงินกู้ผ่านในประเทศ
ด้าน นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า โครงการลงทุนสร้างรถไฟฟ้าเฟสแรกคงจะใช้เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 1.9 แสนล้านบาท โดยมาจากแหล่งเงินทุนในประเทศ 53% จากการออกพันธบัตรระยะยาว 30 ปี ประเดิมในวงเงิน 5 พันล้านบาทในเดือน เมษายนนี้ หลังจากนั้นจึงพิจารณาวงเงินที่จะออกพันธบัตรในระยะต่อไป หรืออาจจะออกเป็นพันธบัตรออมทรัพย์
ส่วนเงินลงทุนอีก 47% เป็นเงินกู้จากเจบิค จำนวน 8 - 9 หมื่นล้านบาท โดยในวันที่ 30 มีนาคมนี้ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง จะเดินทางไปลงนามในสัญญาเงินกู้และสัญญาค้ำประกัน เพื่อใช้สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง, สายสีน้ำเงิน และสายสีแดง
สำหรับในเฟสที่สองจะใช้เม็ดเงินลงทุนอีก 5.1 แสนล้านบาท แบ่งเป็นแหล่งเงินทุนในประเทศ 40% และเงินกู้จากต่างประเทศอีก 60%