กกต. 13 มี.ค.- กกต. เห็นต่าง คดีนอมินี "สุเมธ" เผยอาจมีกฎหมายเทียบเคียงมาประกอบได้ ขณะที่ "สดศรี" ตำหนิ ไม่ควรนำผลมาเปิดเผย ระบุ กกต. ต้องเป็นกลาง ไม่ควรเข้าข้างฝ่ายใด หรือชี้นำทางการเมือง
นายสุเมธ อุปนิสากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านการมีส่วนร่วม กล่าวถึงผลสรุปของคณะอนุกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีพรรคพลังประชาชนเป็นนอมินีของพรรคไทยรักไทย ว่า เรื่องดังกล่าวไม่มีกฎหมายเอาผิดได้ แต่คิดว่ามีกฎหมายบางมาตราที่สามารถเทียบเคียงมาประกอบได้ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำไมจึงต้องสอบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย เพราะหากลงมติอะไรไป อาจเป็นผลร้ายต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ อาจจะให้นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา โฆษกส่วนตัว มายื่นหนังสือชี้แจงแทนก็ได้
“แต่ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการด้วยว่าจะเห็นอย่างไร หากคณะกรรมการพอใจเท่านั้น และ พ.ต.ท.ทักษิณ พอใจที่จะทำเช่นนั้น ก็ทำได้ เท่ากับว่าเราได้ขอให้ท่านมาให้การแล้ว เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่คดีอาญา และบางทีการให้การทางหนังสือ อาจละเอียดกว่ามาให้การด้วยตัวเองก็ได้ หาก พ.ต.ท.ทักษิณ ทำหนังสือชี้แจงมาแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องขยายเวลา หรือเรียกเอกสารเพิ่ม ถือว่ามีเท่าใดเอาเท่านั้น” นายสุเมธ กล่าว
ด้านนางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า ผลสรุปเรื่องนอมินีถือเป็นความลับทางราชการ ไม่สมควรที่จะเปิดเผย เพราะ กกต. ยังไม่ได้วินิจฉัย อย่างไรก็ตาม เห็นว่าเมื่อกฎหมายไม่ได้ระบุเรื่องนอมินีไว้ จะไปเทียบเคียงกฎหมายที่ใกล้เคียงคงไม่ได้ เพราะกฎหมายที่ใกล้เคียงก็ไม่ได้เขียนเรื่องนอมินีไว้ และเมื่อไม่มีกฎหมายว่าไว้ เราจะไปพยายามดึงกฎหมายต่างประเทศมาบอกว่า นอมินีเป็นความผิดคงไม่ได้ ดังนั้น อย่าพยายามใช้กระแสในเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง
“กกต. ต้องเป็นกลาง ไม่ควรเข้าข้างฝ่ายใด ซึ่งขณะนี้มี 2 ขั้วอำนาจ คือ อำนาจเก่าและอำนาจใหม่ และการพยายามเปิดเผยข้อมูลเพื่อชี้นำ ไม่น่าเป็นการกระทำของ กกต. และอนุกรรมการฯ เพราะเราต้องไม่มีคำว่าฝ่ายไหน กกต.ต้องยึดตัวบทกฎหมายเป็นหลัก ไม่มีอคติในพรรคการเมืองใด ๆ ทั้งสิ้น” นางสดศรี กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อไม่มีกฎหมายระบุเรื่องนอมินี ก็ไม่สามารถเอาผิดได้ใช่หรือไม่ นางสดศรี กล่าวว่า ถ้าจะเอาผิดก็ต้องแก้กฎหมาย ส่วนจะมีการยกคำร้องหรือไม่ เป็นอีกประเด็นหนึ่ง หากเรื่องนี้ไม่เอาเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็ไม่มีเรื่องที่ยากต่อการตัดสินใจ หรือยากในการวินิจฉัย และว่า “หากจะยัดเยียดให้ผิด ก็ทำได้ทั้งนั้น แต่ขอถามว่า เราสมควรจะมีการเลือกตั้งซ้ำไปซ้ำมา และกินเงินภาษีประชาชนเป็นจำนวนมากอย่างนั้นหรือไม่ การเลือกตั้งแต่ละครั้งใช้งบประมาณจำนวนมาก การที่จะล้มระบบประชาธิปไตยโดยการใช้ข้อกฎหมาย หรือใช้ข้อกฎหมายที่เทียบเคียงมาล้มพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง และใช้อคติเข้ามา คิดว่าไม่ใช่หน้าที่ของ กกต. และไม่ใช่วิสัยที่ กกต. พึงกระทำ” .-สำนักข่าวไทย
อัพเดตเมื่อ 2008-03-13 15:34:09