แม้พรรคประชาธิปัตย์จะพยายามปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มพันธมิตรประชาชน เพื่อประชาธิปไตย
แต่ดูเหมือนจะไม่ค่อยมีใครเชื่อ
เพราะการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ในช่วงก่อนที่ทหารจะฉีกรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะที่สวนลุมพินี สนามหลวง ลานพระบรมรูปทรงม้า และหน้าทำเนียบรัฐบาล มีคนของพรรคประชาธิปัตย์เข้าไปเกี่ยวข้องทุกครั้ง
บางคนเข้าไปเป็นแกนนำ บางคนเข้าไปร่วมเคลื่อนไหวอย่างออกหน้าออกตา
บางครั้งก็ปรากฏเงาร่างคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช บางแห่งอาจมีน.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตที่ปรึกนายกรัฐมนตรี สมัยที่ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล
ยังไม่นับแกนนำพันธมิตรฯ ที่พากันลงสมัครส.ส.ในนามพรรคนี้อย่างคึกคัก
เช่น นายประพันธ์ คูณมี นายสำราญ รอดเพชร นายบุญยอด สุขถิ่นไทย นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ และนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ เป็นต้น
มีเพียงนายไชยวัฒน์เท่านั้น ที่ถูกกดดันจนต้องลาออกไป เพราะแกนนำกลัวจะพังกันทั้งพรรค กรณียื่นฟ้องศาลให้การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเป็นโมฆะ
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค ถึงขนาดด่าไล่หลังว่าคนที่ไม่มีวินัยอยู่ในพรรคนี้ไม่ได้
สำหรับนายสมเกียรติ ส.ส.สัดส่วน กลุ่ม 5 พรรคประชาธิปัตย์ ถึงวันนี้ก็ยังไปร่วมแถลงข่าวกับแกนนำพันธมิตรฯ ทุกครั้ง
หนแรกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าก็ทำขึงขังดี บอกจะเรียกมาชี้แจง
พอนายสุเทพ และนายถาวร เสนเนียม ออกมาป้องบอกสมาชิกพรรคสามารถดำเนินการในนามส่วนตัวได้ เรื่องก็เงียบไป
แต่ในเมื่อนายสมเกียรติเป็นคนของพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นส.ส.ด้วย จึงมีหน้าที่ต้องแสดงบทบาทและจุดยืนของตัวเอง
จะเล่นนอกสภาหรือในสภาก็เอาให้ชัด
นายสมเกียรติตอบในประเด็นนี้ว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นสถาบัน ให้เกียรติคนที่มีแนวคิดแตกต่าง ซึ่งตนก็รู้ว่าการทำหน้าที่ไหนควรดำรงสถานะอะไร และได้ชี้แจงทั้งด้วยวาจาและลายลักษณ์อักษรต่อหัวหน้าพรรคแล้ว
แว้งใส่คนที่ถามด้วยวาทกรรมอันหรูหราสไตล์ประชาธิปัตย์ว่า "ขอให้สื่อมวลชนที่รับฟังคำพูดจากคนที่เป็นนอมินีทุนนิยมสามานย์เลิกถามคำถามพวกนี้ได้แล้ว"
จริงๆ แล้ว นายสมเกียรติไม่สามารถปฏิเสธจะตอบคำถามเรื่องนี้ โดยใช้ข้ออ้างดังกล่าวไม่ได้
เพราะวันนี้ นายสมเกียรติเป็นนักการเมืองแล้วเต็มตัว
ขณะเดียวกันพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ก็ต้องบอกประชาชนเช่นกันว่าสิ่งที่นายสมเกียรติบอกว่าชี้แจงด้วยวาจาและลายลักษณ์อักษรนั้นคืออะไร
หรือจะรอชี้แจงทางเอเอสทีวี ตามที่สื่อขาใหญ่บอกจะแบ่งเวลาให้