คอลัมน์ : ประชาทรรศน์วิชาการ
เหตุการณ์ที่กองกำลังซึ่งเรียกว่าการ์ดพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เผชิญหน้ากับกลุ่มแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ลงเอยด้วยการไล่ทุบตีและยิงบาดเจ็บหลายคน บางคนมีอาการเข้าขั้นโคม่า นายณรงศักดิ์ กรอบไธสง เสียชีวิตนั้น บอกเล่าความจริงหลายประเด็นที่จะกล่าวต่อไปนี้
1.ประชาชนตกเป็นเหยื่อ มีคนบาดเจ็บล้มตายเช่นเดียวกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองหลายครั้งที่ผ่านมา โดยผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมต่างก็น่าจะรู้และได้ยินว่าการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 นั้น เป็นสิทธิที่ทำได้ และได้รับการคุ้มครอง หมายความว่า ไม่ว่าใครก็จะไม่บาดเจ็บล้มตายจากการชุมนุม หากการชุมนุนนั้นปราศจากอาวุธ แต่การชุมนุมครั้งนี้มีความจริงตรงกันข้ามกับมาตรา 63 อย่างไม่ต้องสงสัย กระทั่งประชาชนหลายชีวิตพลาดโอกาสจะได้รับการคุ้มครองไปแล้ว จึงมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อคุ้มครองไม่ให้เกิดกรณีเช่นนั้นขึ้นอีก เป็นมาตรการหรือเครื่องมือกันกลุ่มผู้ขัดแย้ง 2 กลุ่มให้ออกจากกัน
กลุ่มหนึ่งชุมนุมอยู่ในทำเนียบรัฐบาลต่อไป อีกกลุ่มชุมนุมอยู่ใน จ.สมุทรปราการ แล้วย้ายมานนทบุรี มีผู้เปรียบเปรยว่า ท่านผู้บัญชาการทหารบกคือกรรมการห้ามมวย ไล่นักมวยเข้ามุมอย่างเดียว ไม่มีการสับมือให้ชกต่อ และไม่ได้ริบเครื่องทุ่นแรงของนักมวย ไม่ว่าจะเป็นไม้คมแฝก ไม้หน้าสามตอกตะปู ไม้เบสบอล ไม้ตีกอล์ฟ หนังสติ๊ก เหล็กปลายแหลม มีด ฯลฯ หลายชิ้นเป็นอุปกรณ์กีฬา แต่กลับพกพามาในที่ชุมนุม ซึ่งเป็นเรื่องประหลาดมาก เพราะไม่พบว่ามีการแข่งขันกีฬาประเภทใดเลยตั้งแต่เริ่มการชุมนุมมา
ท่านผู้มีจิตศรัทธาบริจาคอุปกรณ์กีฬาเหล่านั้นคงไม่ทราบว่าท่านได้ร่วมสนับสนุนให้เกิดความรุนแรงขึ้นแล้ว เป็นการสร้างบาปละเมิดศีลข้อปาณาติบาต แม้ว่าไม่ได้ลงมือทำด้วยตนเองก็ตาม รวมทั้งการโน้มน้าวชักจูงกระตุ้นเร้าให้คนโกรธเกลียดคว้าอาวุธมีดไม้ไล่ทุบตีผู้อื่น ซึ่งผิดหลักการอหิงสาที่แปลว่าการไม่เบียดเบียนทำร้ายกัน ผิดหลักสันติวิธีที่แปลว่าวิธีต่อสู้อย่างสงบ ทั้งยังผิดกฎหมายอาญาและกฎหมายรัฐธรรมนูญ ผิดหลักอารยะขัดขืนเพราะไม่ยอมรับการลงโทษตามกฎหมาย ไม่ยอมรับกฎเกณฑ์ทั้งหมด กลายเป็นว่านึกจะทำอะไรก็ทำอย่างอิสระเสรีไร้ขอบเขต สร้างแบบแผนบรรทัดฐานพฤติกรรมที่ไร้ระเบียบ
อารยะขัดขืนดังกล่าวมีความหมายเท่ากับว่าทำอะไรก็ได้ไม่มีความผิด ไม่ต้องรับผิดชอบ เป็นแนวความคิดหรือลัทธิที่มีมานานก่อนพุทธศาสนาจะถือกำเนิดกว่า 2,500 ปี ที่เรียกว่า “อกิริยวาท” เจ้าลัทธิสำนักนี้ชื่อปูรณะ ซึ่งมีความเชื่อว่า ไม่ว่าจะฆ่ามนุษย์และสัตว์ ลักทรัพย์ คดโกง ปล้นสะดม ละเมิดภรรยาผู้อื่น พูดจาโกหกพกลม ด่าว่ายุยงส่อเสียดให้แตกแยก ฯลฯ บรรดาการกระทำที่ละเมิดสิทธิผู้อื่นทั้งหมดถือว่าไม่ได้ทำ คือคนที่ทำนั้นไม่ได้ทำ ใครทำก็ไม่รู้ ซึ่งไปกันได้กับอีกลัทธิหนึ่งที่บอกว่า ความดีบริสุทธิ์สะอาดและความเลวสกปรกเลอะเทอะของผู้คนไม่มีสาเหตุ ไม่มีปัจจัย ทุกคนดีเองและเลวเอง คือปฏิเสธเหตุที่มาของทุกเรื่องราว ที่เรียกว่า “อเหตุกวาท” เจ้าลัทธิสำนักนี้ชื่อ มักขลิ แต่อีกลัทธิหนึ่งปฏิเสธผล บอกว่าการทำบุญให้ทาน บูชากราบไหว้ การทำความดีทั้งหลายไม่มีผลอะไรเลย และเมื่อร่างกายแตกดับสิ้นชีพก็คือสาบสูญ ไม่มีความดีติดตัวติดตนไปด้วยเลยแม้แต่น้อย เรียกกันว่า “นัตถิกวาท” เจ้าลัทธิสำนักนี้ชื่อ อชิตะ
ลัทธิทั้งสามที่ว่ามานี้ล้วนแล้วแต่เป็นความเห็นที่ผิด (มิจฉาทิฐิ) ไม่ว่าจะพิจารณาแง่มุมไหนก็มองไม่เห็นว่าจะสร้างสรรค์สังคมให้พัฒนาถาวรสงบสุขได้เลย มีแต่จะรบราฆ่าฟันละเมิดสิทธิผู้คนอย่างเลือดเย็น ไร้ความเมตตาปรานี มองเห็นคนไม่ใช่คน ทำอะไรลงไปก็บอกไม่ได้ทำ หรือทำได้ไม่ผิด ไม่มีเหตุ (กฎเกณฑ์) ไม่มีผล (สิ่งที่จะเกิดตามมา) ไม่ตระหนักในคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มุ่งแต่จะเหยียบย่ำทำลายกันและกันไม่สิ้นสุด เพราะมีความเชื่ออย่างผิดๆ และไม่ยอมรับฟังผู้อื่น ดึงดันไปในแนวทางของตนอย่างไม่ใคร่ครวญ ตรวจสอบ ไม่รู้ผิดไม่รู้ถูก ไม่รู้เหตุไม่รู้ผล ไม่รู้อะไรทั้งนั้น
2.เกิดความรุนแรงถึงขีดสุด การทุบตีทำร้ายจนบาดเจ็บและเสียชีวิตนั้น บอกความจริงได้อย่างไม่ต้องสงสัยว่า ความรุนแรงได้ก่อตัวขึ้นมาจนถึงขีดสุดแล้ว ซึ่งไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดา แค่เพียงใครบางคนแสดงอาการข่มขู่ผู้อื่น สามีภรรยาตบตีกัน ฯลฯ ก็ถือว่าเป็นความรุนแรงแล้ว แต่นี่เป็นการทำลายชีวิตผู้อื่นเหมือนผักปลา ทุกคนจึงพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ารับไม่ได้ ไม่ชื่นชมยินดีกับการกระทำดังกล่าว ต่างออกมาบอกกล่าวขอให้ยุติความรุนแรง แต่กลับไม่พูดถึงการมอบอุปกรณ์กีฬาเหล่านั้นให้ท่านผู้บัญชาการทหารบก เพราะนั่นคือเครื่องมือส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงที่ชัดเจนที่สุด ทั้งที่ทราบกันดี แต่ก็นิ่งเงียบ ไม่มีใครนำเสนอ ไม่มีการปฏิบัติ ทั้งที่น่าจะประสานเสียงกันว่าสิ่งใดก็ตามที่นำไปสู่ความรุนแรง ทุกฝ่ายต้องยุติทั้งหมด โดยเฉพาะการปลุกระดมขีดเขียนให้คนโกรธแค้นชิงชังกัน มองเห็นฝ่ายตรงข้ามเป็นศัตรู
3.หลักภราดรภาพถูกทำลาย เป็นเรื่องที่เห็นได้ชัดเจน เมื่อมองเห็นฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยว่าเป็นศัตรู ความรู้สึกนึกคิดและสายตาที่เหลือบแลจึงไร้แววแห่งความเป็นพี่เป็นน้องร่วมชาติ ร่วมแผ่นดิน และมีพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวกัน นี่คือความรู้สึกนึกคิดที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง ลุกลามไปถึงการทำลายความเป็นเพื่อน ญาติ สามี-ภรรยา ศิษย์-อาจารย์ ฯลฯ ความมีจิตใจคับแคบ ไม่รับฟังกันและกันก็งอกงาม ต่างฝ่ายต่างมุ่งหน้าตรงดิ่งถลำลึกลงไปในสิ่งที่ตนเองปักใจเชื่อ วิจารณญาณ ความยั้งคิดถูกทำลาย เปิดใจให้ความโกรธเกลียดชิงชัง ความหลง และความหวาดระแวงเข้าครอบครองเป็นฐานบัญชาการความคิดอ่านกระทำการในทุกเรื่อง
ปิดการรับรู้ไม่ดูไม่ฟังเรื่องราวที่จะสั่นคลอนสิ่งที่ตนปักใจเชื่ออยู่นั้นทั้งหมด ต่างฝ่ายต่างปิดประตูตนเองสนิท นั่นแหละคือทางตันโดยแท้ แล้วจะเกิดอะไรขึ้น คำตอบคือ ความเสียหายที่กระทบคนทั้งประเทศ ไม่มีใครได้อะไรจากความขัดแย้ง มีแต่เสียกับเสีย และจะต้องเสียใจไปตลอดชีวิต ที่ได้ช่วยกันสร้างอนุสาวรีย์แห่งความแตกแยกให้เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งบนแผ่นดินนี้ เหมือนไม่เคยเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ว่าความพินาศย่อยยับของชาติเกิดจากอะไร
4.สิทธิเสรีภาพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ถูกทำลาย เป็นที่ยอมรับกันในสังคมที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยทั่วไปว่า ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน ได้รับการคุ้มครองดูแลโดยกฎหมายเสมอหน้ากัน การที่ผู้ใดจะรวมตัวชุมนุมเรียกร้องหรือแสดงความคิดเห็นใดๆ นั้นเป็นเรื่องที่กฎหมายรัฐธรรมนูญอนุญาตและให้การคุ้มครอง ทุกคนมีสิทธิ์ทำได้เท่าเทียมกัน รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ดูแลอำนวยความสะดวกให้การชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ไม่เป็นการจำกัดหวงห้ามสิทธิของกลุ่มอื่นๆ ที่คิดเห็นไม่ตรงกัน ใครจะถืออาวุธเข้าไปทุบตียับยั้งฝ่ายตรงข้ามด้วยความโกรธแค้นชิงชัง หรือหวาดระแวงนั้น เป็นความผิดทั้งทางอาญาและละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ
การคุกคามทำร้ายผู้ที่ไม่เห็นด้วยนั้นเป็นเรื่องที่ไม่น่าปรารถนา ไม่มีใครยอมรับได้ แต่เพราะเหตุใด เมื่อมีการชุมนุม การปะทะทำร้ายกันจึงเกิดขึ้น เหมือนกับว่าหลักการชุมนุมโดยสงบเป็นเพียงข้ออ้างที่ไม่เคยอยู่ในใจผู้คน จึงไม่มีความคิดคำนึงยับยั้งที่มากพอจะยุติการทำร้ายคนไทยด้วยกันได้ การปลุกเร้าอารมณ์ที่จะนำไปสู่การทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามดูเหมือนจะกลายเป็นเนื้อหาหลัก ละเลยการให้ความเข้าใจที่ถูกต้องในกฎเกณฑ์กติกาการชุมนุม ความเข้าในประเด็นเรื่องราวที่กำลังเรียกร้อง หรือแนวความคิดเรื่องระบอบการเมืองใหม่ที่ต้องการนำเสนอต่อสังคม
แนวทางการต่อสู้ของกลุ่มที่เรียกว่า อหิงสา สันติวิธี เหล่านี้คืออะไรกันแน่ เพราะถ้าเข้าใจหลักการร่วมกันดีแล้ว วิธีการย่อมจะต้องสอดคล้องเดินไปในแนวทางสันติเช่นกัน สามารถควบคุมทิศทางการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่เรียกว่าการ์ด หรือฝ่ายรักษาความปลอดภัยของแต่ละฝ่ายได้ ไม่ปล่อยให้ออกมาเคลื่อนไหวก่อความรุนแรงอย่างเช่นที่เกิดขึ้น
การเคลื่อนไหวส่วนใหญ่ในประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยมายาวนานเข้มแข็ง มักเป็นเรื่องการกดดันให้รัฐบาลรับผิดชอบในเรื่องที่ประชาชนเดือดร้อน ซึ่งไม่ใช่การโค่นล้มระบบรัฐสภาเพื่อสร้างระบบการเมืองใหม่ เมื่อเห็นว่ารัฐบาลทุจริตคดโกงก็ต้องดำเนินการตรวจสอบถอดถอนออกจากอำนาจไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ เมื่อไม่พอใจขั้นตอนในกฎหมายรัฐธรรมนูญก็ต้องเคลื่อนไหวให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมไปตามขั้นตอนของระบบ ที่คิดว่าจะทำให้สามารถตรวจสอบคัดสรรคนมาเป็นรัฐบาลได้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้ได้นักการเมืองที่ดี ได้รัฐบาลที่เป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง
ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปการเมืองกันภายในระบบ ไม่ใช่การโค่นล้มระบบการเมืองทิ้งทั้งหมด แล้วมาตั้งต้นนับหนึ่งใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะยอมรับได้ และปฏิบัติไม่ได้โดยกฎหมายที่มีอยู่ โดยเฉพาะกฎหมายรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลเสนอให้แก้ ฝ่ายค้านและกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่ยอมให้แก้ ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้จะปฏิรูปปฏิวัติการเมืองได้อย่างไร ใครคือผู้ที่จะมีความชอบธรรมในการปฏิรูปการเมือง เพราะไม่มีใครเชื่อถือใคร ไม่มีใครเชื่อฟังใครเอาเสียเลย ระบบการเมืองใหม่ควรจะเป็นอย่างไรก็ยังไม่มีความกระจ่างชัด กลุ่มพันธมิตรฯ เองก็ไม่มีคำตอบในเรื่องนี้ จะเดินไปทางไหนอย่างไรก็ไม่มีใครรู้ แล้วมานั่งรำพึงรำพันว่าทางตัน ทั้งที่ทางไม่ตันแต่ไม่มองและไม่ก้าวเดิน
5.เกิดความสับสนขัดแย้งไปทั่ว เริ่มตั้งแต่ไม่รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก สิ่งที่เคยเข้าใจว่าถูกกลับกลายเป็นผิด สิ่งที่เข้าใจว่าผิดกลับกลายเป็นถูก อหิงสา แต่ทำไมด่าทอก้าวร้าวรุนแรง กระตุ้นโทสะ สันติวิธี แต่ทำไมทุบตียิงแทงถึงตาย อารยะขัดขืนต่อกฎกติกาทั้งหลาย การเมืองภาคประชาชนต้องเป็นฝ่ายกำหนดระบบการเมืองอย่างไรก็ได้อย่างนั้นหรือ สิทธิเสรีภาพมีขอบเขตหรือไม่เพียงใด ขณะนี้รัฐบาลทุจริตคอร์รัปชั่นจะนำพาประเทศชาติล่มจมจริงหรือไม่ ใครพูดจริงใครพูดเท็จ สื่อมวลชนถูกกล่าวหาว่าไม่เป็นกลางจริงหรือ เป็นต้น อะไรคือความจริง จะฟังใครเชื่อใครดี นี่คือความสับสนขัดแย้งในใจผู้คน
ท่ามกลางความขัดแย้งสับสนเช่นนี้ คงไม่มีวิธีอื่นใดนอกจาก
1.ยุติการเผชิญหน้าลงอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะอยู่ในระหว่างประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือยกเลิกไปแล้วก็ตาม เพราะการปลุกปั่นบ่มเพาะความโกรธแค้นยังคงคุกรุ่นด้วยกันทุกฝ่าย ยากที่จะยับยั้งไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้นอีก
2.นำเอาสิ่งที่รู้สึกสับสนมาค้นหาคำตอบ ให้เวลาตนเองได้ทำความเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลาที่ผ่านมากว่า 2 ปี บรรดาคำถามทั้งหลายที่อยู่ในใจนั้น มีวิธีค้นหาความจริงได้อย่างไร โดยไม่ถูดบิดเบือนให้คลาดเคลื่อน ใครจะเป็นผู้เปิดเผยความจริงโดยไม่ปิดบังบิดเบือนเอนเอียง หรือตัวเราเองจะใช้วิจารณญาณอย่างอิสระเพื่อเข้าถึงความเป็นจริงได้อย่างไร โดยไม่ด่วนปักใจเชื่อ
3.การเมืองใหม่ของกลุ่มพันธมิตรฯ คืออะไร กลุ่มพันธมิตรฯ ควรมีเวลานั่งคิดไตร่ตรองแล้วนำเสนอให้ชัดเจนกว่านี้ ไม่ควรเปิดประเด็นให้เป็นคำถามที่ไร้คำตอบอย่างที่เป็นอยู่ ถ้าสรุปได้แล้วว่านี่คือเป้าหมายของการเคลื่อนไหวต่อสู้ที่แท้จริง และถ้าไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งคิดขึ้นได้เมื่อไม่กี่วันกี่เดือนมานี้ พันธมิตรฯ ก็น่าจะมีรายละเอียดที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม และจะดำเนินการอย่างไร ภายใต้กฎเกณฑ์เดิมที่มีอยู่ ซึ่งไม่อาจลบทิ้งลงไปได้อย่างง่ายดาย ถ้าไม่ฉีกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ทิ้งเสียก่อน
4.สังคมควรใช้โอกาสนี้สร้างการเรียนรู้เรื่องระบบการเมืองให้กว้างขวาง เพราะสถานการณ์ที่เป็นอยู่บ่งชี้ชัดเจนแล้วว่า ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ความไม่เข้าใจหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน จิตใจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ตัวนักการเมืองเลว หรือระบบการเมืองเลว จะแยกแยะให้ออกแล้วแก้ไขให้ถูกเรื่องถูกประเด็นได้อย่างไร หรือไม่เชื่อมั่นในระบบการเลือกตั้ง จะขอเปลี่ยนแปลงเป็นแต่งตั้งทั้งหมด หรือแต่งตั้ง 70-80 เลือกตั้งผู้แทน 30-20 เปอร์เซ็นต์ เหล่านี้นั้น เป็นประเด็นทางการเมืองที่สร้างปัญหาให้บ้านเมืองมาโดยตลอด การพัฒนาประเทศทุกด้านหยุดชะงักล้มลุกคลุกคลาน ก็เพราะปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่สืบเนื่องมาจากความไม่เข้าใจนี่เอง สถานการณ์ขณะนี้คือข้อสอบที่ยากมาก ต้องตีโจทย์และตอบคำถามให้ได้ ทุกฝ่ายจะต้องตรวจสอบตนเองว่าได้มีส่วนทำให้เรื่องการเมืองถูกเข้าใจอย่างสับสนหรือไม่ แต่ละฝ่ายวางบทบาทกันอย่างไร สนับสนุนหรือทำลายประชาธิปไตย
ประชาชนคนไทยจำเป็นต้องมีเวลาศึกษาพูดคุยกันให้จริงจังกว้างขวาง เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้เสนอความเห็นให้เต็มที่ ความเข้าใจร่วมกันอย่างกว้างขวางเท่านั้นคือปัจจัยหลักของการยุติปัญหา และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแนวทางสันติได้ ไม่ใช่การเคลื่อนไหวบีบบังคับเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง เพราะจะดูเป็นการใช้กำลังเข้ายื้อแย่งอย่างไร้กฎเกณฑ์ไม่ต่างกับการปฏิวัติโดยทหาร ซึ่งนานาอารยประเทศไม่ยอมรับ ไม่ว่าจะมีข้ออ้างอย่างไรก็ตาม
คนเราเมื่อยังไม่หมดสิ้นกิเลสตัณหาย่อมมีโอกาสคิดผิดทำผิดกันได้ แต่ใช่ว่าจะไม่สามารถหันกลับมาทบทวนเพื่อเริ่มต้นกันใหม่ เพราะเมื่อคิดถูก แม้จะมีชีวิตอยู่เพียงเสี้ยววินาทีก็นับว่าประเสริฐ เพราะได้เริ่มต้นถูก ได้หยุดยั้งความวิบัติเสียหายลงแล้ว
จะเชื่อหรือไม่ ไม่มีใครบังคับ แต่ความเสียหายถึงชีวิตได้เกิดขึ้นแล้วจริงๆ ไม่มีใครบิดเบือนสร้างเรื่อง คำถามคือจะทำอย่างไรกับความจริง
สังคมไทยได้อะไรจากความจริง หรือว่ายังไม่พบความจริงกันเลย
โดย ส. แสงธรรม