คอลัมน์ : ฮอตสกู๊ป
พลันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ คุณสมัคร สุนทรเวช ต้องพ้นตำแหน่งเพราะเหตุไปทำกับข้าวออกรายการโทรทัศน์ด้วยข้อหาว่ากระทำผิด ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 267 ที่ว่านายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์การที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใดมิได้
จากการอ่านคำวินิจฉัยที่มีความยาวเกือบ 45 นาที ที่ผลัดกันอ่านอย่างตะกุกตะกัก ไม่มีคำควบกล้ำชนิดที่อาจารย์ภาษาไทยแทบจะกลั้นใจตายไปเสียให้รู้แล้วรู้รอด หลายคนโห่ร้องด้วยความยินดี หลายคนตกใจในผลของคำวินิจฉัยที่กระทำด้วยความรวดเร็วเป็นพิเศษ (ขอย้ำว่าเป็นพิเศษจริงๆ) และยิ่งเมื่อดูเหตุผลประกอบคำวินิจฉัยแล้วแทบไม่น่าเชื่อว่าเป็นคำอธิบายของศาลที่ได้คำวินิจฉัยถือเป็นที่สุด ไม่มีผู้ใดสามารถอุทธรณ์หรือฎีกาได้อีกแล้ว
สำนักข่าวหลายๆ ประเทศให้ความเห็นว่าค่อนข้างแปลกใจต่อเหตุผลของคำวินิจฉัยเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็น CNN หรือ Yahoo แม้แต่สำนักข่าว INN ของไทยเราก็รายงานข่าวทางเอสเอ็มเอสว่า “นักกฎหมายอเมริกันบอกโคตรฮา นายกฯ ไทยทำกับข้าวจนหลุดตำแหน่ง ขำที่สุดในโลก”
อย่างไรก็ตามเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาแล้ว เราก็ต้องยอมรับ เพราะไม่เช่นนั้นสังคมจะหาข้อยุติไม่ได้ แต่แน่นอนว่าการวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงวิชาการโดยสุจริตย่อมสามารถที่จะกระทำ ได้ ทั้งนี้ เพื่อความเจริญงอกงามทางวิชาการนั่นเอง
ในคำอธิบายตอนแรกที่เท้าความว่า ศาลได้นำเอาจริยธรรมมาตีความเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญว่าไม่ต้องการให้เกิดการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์สาธารณะนั้น ผมเห็นด้วย แต่การที่บอกว่าไม่ควรตีความตามประมวลกฎหมายแพ่งฯ กฎหมายแรงงานฯ หรือประมวลรัษฎากรฯ แต่กลับนำคำนิยามในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานมาใช้แทนนั้น ผมไม่เห็นด้วย
ที่ผมไม่เห็นด้วยกับการตีความเช่นนี้ก็เพราะว่าศาลรัฐธรรมนูญควรตีความอย่างจำกัด เพราะเป็นการตีความที่มีผลเป็นโทษต่อผู้ที่ได้รับผลแห่งการตีความ และการตีความนั้นควรที่จะต้องตีความตามความเข้าใจของวิญญูชนทั่วไปที่ เข้าใจตามหลักกฎหมายแพ่งฯ กฎหมายแรงงานฯ และประมวลรัษฎากรฯ ว่าลูกจ้างคือผู้ที่ได้รับค่าตอบแทนเป็นประจำ และในกรณีนี้คุณสมัคร (ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วไม่ชอบแกเลย) เมื่อเห็นว่ามีปัญหา ก็ได้หยุดการกระทำดังกล่าวแล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเจตนาว่ามิได้จงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ เหตุแห่งการฟ้องคดีก็น่าจะหมดไปแล้ว
แม้จะไม่ถือว่าเหตุแห่งการฟ้องคดีหมดไปแต่ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จแล้ว ต้องได้รับการลงโทษให้พ้นตำแหน่งไป แต่ทว่าก็ยังสามารถกลับมาดำรงตำแหน่งใหม่ได้อีกอยู่ดี (ถ้าไม่เจอแรงต้านเสียก่อน) ซึ่งหากมองในแง่ของความศักดิ์สิทธิ์ของการบังคับใช้กฎหมายแล้วแทบจะไม่มีความศักดิ์สิทธิ์เลย การวางบรรทัดฐานเช่นนี้ย่อมที่จะสร้างความยุ่งยากตามมาต่อผู้ที่ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีอีกมากมาย อาทิ การไปเป็นอาจารย์หรือผู้บรรยายพิเศษในมหาวิทยาลัยเอกชน หรือการเป็นเป็นคอลัมนิสต์หรือนักเขียนโดยไม่ว่าจะใช้ชื่อจริงหรือนามแฝงก็ตาม ย่อมเข้าข่ายการเป็นลูกจ้างตามที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความกรณีคุณสมัครทั้งสิ้น
ส่วนคำอธิบายที่ว่าคุณสมัครมีพิรุธส่อแสดงว่าเป็นการสร้างหลักฐานย้อนหลังเพื่อปกปิดข้อเท็จจริง (ซึ่งก็อาจเป็นจริงตามคำอธิบายนั้น) ซึ่งผมก็ค่อนข้างแปลกใจว่าโดยทั่วไปแล้วศาลก็มักจะใช้ว่า “ฟังไม่ขึ้น” หรือ “รับฟังไม่ได้” ฯลฯ แต่ถึงขนาดวินิจฉัยว่าเป็นการสร้างหลักฐานย้อนหลังก็ควรจะต้องมีการดำเนินคดีตามมาแล้วล่ะครับ
คำ วินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่มาตรา 216 วรรคห้า ของรัฐธรรมนูญ จะบัญญัติไว้ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ ก็จริงอยู่ แต่การยอมรับนับถือในเหตุผลของคำวินิจฉัยนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถอธิบายให้แก่วิญญูชนทั่วไปให้การยอมรับมากน้อยแค่ไหน เพียงใด นั่นเอง
ชำนาญ จันทร์เรือง
ที่มาประชาไท