โอว! ไม่น่าเชื่อ ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง “จรัญ ภักดีธนากุล” หนึ่งในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เพิ่งชี้ขาดนายกฯ สมัคร ไปหมาดๆ กลับพบว่ารับจ้างสอนหนังสืออยู่หลายมหา’ลัย แถมยังจัดรายการวิทยุ ทั้งที่รธน.มาตรา 207 กำหนดสเปกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไว้ไม่ต่างจากนายกรัฐมนตรี “นักวิชาการ-นักกฎหมาย” จี้ออกมาชี้แจงให้ประชาชนหายกังขา และทางที่ดีควรลาออกเสียก่อนที่จะถูกประชาชนเข้าชื่อไล่
การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญให้นายสมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากการไปจัดรายการชิมไปบ่นไป ตามความเกห็นของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน นั้น ได้กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ ที่ฮือฮาอย่างยิ่งสำหรับกระบวนการยุติธรรมของไทย
ขณะเดียวกันบนบรรทัดฐานเดียวกันก็ได้ถูกย้อนเป็นคำถามกลับไปที่ตุลาการรัฐธรรมนูญบางคน โดยเฉพาะนายจรัญ ภักดีธนากุล ซึ่งเป็นอาจารย์พิเศษสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง และเชื่อได้ว่ายังคงสอนอยู่ในปัจจุบัน ทั้งที่ตำแหน่งตุลาการ ก็มีการห้ามความเป็นลูกจ้างไว้เช่นเดียวกัน
ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าการเป็นอาจารย์สอนพิเศษตามมหาวิทยาลัยต่างๆ จะต้องเป็นหลักฐานที่แสดงถึงการปฏิบัติจริงภายหลังการดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หลักฐานทั้งหมดถือว่าสำคัญมาก เพราะในกฎหมายรัฐธรรมนูญ ได้ระบุไว้อยู่หนึ่งข้อที่รัดกุมมาก ว่าห้ามไม่ให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประกอบอาชีพอิสระอื่นใดทั้งสิ้น
ทั้งนี้จากการที่ได้ฟังคำชี้แจงจากผู้สื่อข่าว และพอทราบมาว่านายจรัญ ได้ดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์พิเศษสอนในมหาวิทยาลัยอยู่หลายแห่ง ซึ่งขอกล่าวก่อนว่าหากแค่มีชื่อเป็นอาจารย์พิเศษที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ อาจจะมีการโต้แย้งได้ว่า ตัวนายจรัญได้ลาออกมานานแล้ว แค่มีชื่อเฉยๆ มหาวิทยาลัยอาจไม่ได้ลบชื่อออก ดังนั้นจะกลายเป็นขอโต้แย้งได้
แต่เท่าที่ทราบข้อมูลการสอนของนายจรัญ พบว่ายังคงสอนหนังสืออยู่ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ หลักสูตรปริญญาโท ทุกวันเสาร์ในภาคการศึกษานี้ด้วย ทั้งนี้ หลังจากดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ก็คงต้องใช้มาตรฐานเดียวกันกับที่ตัวเองเป็นคนตัดสินนายสมัคร
“ในกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ การกระทำหน้าที่ต้องกระทำหน้าที่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอย่างเดียวเท่านั้น เพราะการที่รับเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาให้นักศึกษานั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าจะต้องได้รับเงิน หรือค่าจ้างสอน”
กรณีดังกล่าว ไม่จำเป็นต้องมีการยื่นคำร้อง แต่สามารถเข้าชื่อถอดถอนได้เลย ถึงอย่างไรเห็นว่าก่อนที่จะมีการเข้าชื่อถอดถอน ซึ่งอาจจะดูเป็นเรื่องราว ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือนายจรัญเอง จะต้องนึกถึงได้เสียก่อนว่า ตัวเองดำรงตำแหน่งนี้แล้วยังทำอะไรขัดรัฐธรรมนูญอยู่หรือไม่ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนี้ต้องมีความน่าเชื่อถือ และสามารถอธิบายได้
ดังนั้น นายจรัญควรจะออกมาอธิบายต่อสังคม ถึงแม้จะมาแสดงความรับผิดชอบโดยการลาออก ก็เห็นว่าไม่มีผลอะไร เพราะว่าถึงแม้ไม่ลาออกแต่บทลงโทษสูงสุดในกรณีกระทำการขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ ถือให้ผู้นั้นต้องพ้นจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่ ทั้งนี้ ยังไม่สามารถกลับเข้ามารับตำแหน่งเดิมได้อีก เนื่องจากตำแหน่งศาลรัฐธรรมนูญมีกฎหมายว่าให้ดำรงได้แค่วาระเดียว ส่วนต่อจากนี้นายจรัญจะไปดำรงตำแหน่งหน้าที่การงานอื่นใด ก็ต้องขึ้นอยู่กับกฎระเบียบนั้นๆ แล้ว
นายยงเกียรติ อดิเศรษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและคดี คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่าบรรทัดฐานของศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากนี้ก็ถือว่ามีผลต่อหลายๆ คดี เพราะโดยหลักแล้วศาลรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นคำตัดสินที่สูงสุด นับจากนี้ไปก็คงต้องยึดเป็นบรรทัดฐาน และเกิดเป็นมาตรฐานเดียวกันของสังคมแล้ว
อนึ่ง จากการตรวจสอบพบว่า นายจรัญ ภักดีธนากุล มีชื่อเป็นอาจารย์พิเศษ และยังสอนหนังสืออย่ในหลายสถาบัน คือที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต วิชาที่สอน LAW 312 กฎหมายลักษณะพยาน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ วิชาที่สอน 300-306 กฎหมายลักษณะพยานหลักฐาน
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิชาที่สอน 0801236 พยาน และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต และยังจัดรายการเวทีความคิด วิทยุเอฟเอ็ม 96.5 เมกะเฮิรตซ์ เวลา 20.00-21.00 น.
ซึ่งรายชื่ออาจารย์พิเศษดังกล่าวสามารถเข้าไปดูได้ในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ อาทิ http://law.hcu.ac.th/personal.htm , http://www.viphavadeecenter.com/news_detail.php?id=86 , http://www.thaicounsel.com/aboutUs.htm , http://eportfolio.hu.ac.th/law/index.php?option=com_content&task=category§ionid=9&id=54&Itemid=82 , http://member.rsu-lawonline.com/content.php?ct_id=72 , http://radio.mcot.net/fm965/__programView.php?cliptype=25 , http://www.tsu.ac.th/law/lawtsu/person.php?cId=2 และ http://www.dpu.ac.th/graduate/llm/page.php?id=2076