* การันตีเหมาะสุดบนสถานการณ์ขัดแย้ง
“นักวิชาการ-นักกฎหมาย” ออกโรงหนุน “สมัคร” กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง หลังวิเคราะห์สถานการณ์บ้านเมืองและผลกระทบรอบด้านแล้วเชื่อยังมีความเหมาะสมมากที่สุด พร้อมคัดค้านแนวคิดนักวิชาการนอกแถว ที่เสนองดใช้ รธน. มาตรา 171 เปิดช่องคนนอกเป็นนายกรัฐมนตรี ชี้บ้านเมืองต้องเดินไปตามกฎเกณฑ์กติกา ยอมรับ “อภิสิทธิ์” มีสิทธิ์เป็นนายกฯ ได้ แต่ต้องมั่นใจว่าจะสามารถบริหารบ้านเมืองในสภาพปริ่มน้ำ แถมยังต้องตอบคำถามสังคมให้ชัดว่าเป็นนอมินีพันธมิตรฯ หรือไม่ ด้านพรรคร่วมรัฐบาลยังยืนยันเหนียวแน่น ไม่ร่วมสังฆกรรม ปชป.
* ย้อนถาม “อภิสิทธิ์” เป็นนอมินีพธม.หรือไม่?
คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่มีผลให้ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ต้องพ้นจากตำแหน่งและจะต้องมีการเลือกนายกรัฐมนตรี คนใหม่เข้ามาทำหน้าที่หัวหน้ารัฐบาลนั้น ได้กลายเป็นประเด็นที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากหลายๆ ฝ่าย
โดยที่เสียง ส.ส. นักวิชาการ และประชาชนส่วนใหญ่ ยังคงสนับสนุนให้นายสมัครกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เนื่องจากถือว่านายสมัครมาจากเสียงประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นความต้องการของประชาชน ที่ใช้สิทธิเลือกตั้งเข้ามาตามวิถีทางประชาธิปไตย
ที่สำคัญนายสมัครยังมีคุณสมบัติเหมาะสมในสถานการณ์บ้านเมืองที่วุ่นวายเช่นนี้ และในกระแสที่คนบางกลุ่มพยายามหยิบยกเอาประเด็นเบื้องสูงมาทำลายฝ่ายที่คิดแตกต่าง ตัวนายสมัครเองก็เป็นคนที่มีภาพของความจงรักภักดีอย่างชัดเจน จนไม่มีใครสามารถกล่าวหาได้
กลุ่มนักวิชาการหนุน “สมัคร” นายกฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อตอนสายวันที่ 10 กันยายน ที่ผ่านมา กลุ่มเครือข่ายนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตยสันติวิธี (คปส.) นำโดย รศ.ดร.วรพล พรหมิกบุตร อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.เสถียร วิพรมหา จากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และชมรมนักกฎหมายเพื่อประชาชน นำโดย นายคารม พลทะกลาง ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายวิทยา บุรณศิริ ประธานผู้ประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) และ นายอภิสิทธิ์ เวชาชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนพรรคร่วมรัฐบาลชุดเดิมที่มี นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชชน เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญต่อไป
ทั้งนี้ คปส. และ ชมรมนักกฎหมายเพื่อประชาชน ได้แนบบทประมวลสรุปการวิเคราะห์ความขัดแย้งการเมืองปัจจุบัน ข้อสังเกตทางนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และสังคมวิทยาการเมือง ประกอบ พร้อมบทความทางวิชาการวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อเป็นการสนับสนุนข้อเสนอแนะในข้างต้น
รศ.ดร.วรพล กล่าวว่า ตนมีความเป็นห่วงอย่างยิ่งกับกรณีที่ นักวิชาการบางคนแนะนำให้มีการงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา คือมาตรา 171 เพื่อนำคนนอกเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่เป็นไปตามระบอบของรัฐธรรมนูญ และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ ซึ่งในวันนี้ใครก็ตามที่จะมานั่งเก้าอี้นายกฯ ควรอย่างยิ่งที่ต้องมาตามระบบของข้อกฎหมาย
ปชป.ต้องเคลียร์นอมินีพธม.หรือเปล่า?
ด้าน ผศ.เสถียร วิพรมหา อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย กล่าวถึงความพยายามในเรื่องรัฐบาลแห่งชาติว่า การที่นายอภิสิทธิ์จะมาดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปนั้นก็อาจจะมีความเป็นไปได้ แต่ต้องคำนึงถึงกลไก 2 ประการดังต่อไปนี้ ประการแรก เมื่อมีการจับมือกับพรรคการเมืองที่เหลือแล้ว มีคะแนนเสียงห่างจากพรรคพลังประชาชนมากน้อยเพียงใด ซึ่งเท่าที่ทราบคะแนนเสียงได้ 246 เสียงซึ่งก็ถือว่าก็ปริ่มน้ำ
ประการต่อมา นัยทางการเมืองระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ กับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มีความเหมาะสมหรือไม่ ต้องสามารถตอบโจทย์สังคมได้หรือไม่ว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นนอมินีของกลุ่มพันธมิตรฯ
“อยากฝากความถึงนายอภิสิทธิ์ว่า นายอภิสิทธิ์ต้องแสดงเจตนารมณ์ และเจตนากรรม ให้ชัดเจนมากกว่านี้ แสดงให้ชัดและต้องเปิดเผยธาตุแท้ของความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงได้หรือไม่ ว่าเป็นนอมินีพันธมิตรฯหรือเปล่า ตรงนี้ต้องตอบให้ชัดเจนก่อนที่จะมาแข่งเป็นนายกรัฐมนตรี “ ผศ.เสถียร กล่าว
ขณะที่ นายคารม ตัวแทนชมรมนักกฎหมาย ระบุว่า การยื่นหนังสือในครั้งนี้เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ประธานสภาฯ และประธานวิปรัฐบาล เดินทางมารับหนังสือด้วยตนเอง โดยทั้งสองกล่าวยืนยันเป็นแนวทางเดียวกันว่า เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวที่กลุ่มนักวิชาการได้ทำการเสนอแนะไป เนื่องจากปัญหาทางการเมืองก็จำเป็นที่จะต้องแก้ด้วยวิถีทางการเมือง ซึ่งประธานวิปรัฐบาลกล่าวย้ำว่าการเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น ถึงอย่างไรก็เป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทางชมรมเองไม่ได้เจาะจงว่านายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้หนึ่งผู้ใด ขอเพียงอย่างเดียวว่าจะต้องเป็นไปตามระบบรัฐธรรมนูญ
พปช.ประชุมย้ำชัดสนับสนุน “สมัคร”
ด้านพรรคพลังประชาชนวันเดียวกันนี้ได้มีการประชุม ส.ส. ของพรรค โดยหลังการประชุม นายสงวน พงษ์มณี ส.ส.ลำพูน พรรคพลังประชาชน ให้สัมภาษณ์ว่า ส.ส. แต่ละกลุ่มได้มายืนยันในการเสนอชื่อ นายสมัคร สุนทรเวช ให้ได้รับโหวตเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป เนื่องจากเห็นว่าในสถานการณ์ขณะนี้ไม่มีใครเหมาะสมอีกแล้ว ซึ่ง ส.ส. เห็นพ้องกันทั้งหมด
ส่วนการที่มองว่าหากมีการเสนอชื่อนายสมัครอีกครั้งสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็จะยืดเยื้อออกไปไม่มีวันจบสิ้นนั้นเรื่องนี้ทางพรรคเห็นว่าแม้จะเสนอชื่อใครก็ตามกลุ่มพันธมิตรฯ ก็จะยังชุมนุมต่อไปอีก ดังนั้นชื่อของนายสมัครก็ยังมีความเหมาะสมในสถานการณ์ปัจจุบัน
กรณีที่ นายไพจิตร ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พรรคพลังประชาชนยอมรับว่าทางแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ได้ติดต่อพูดคุยกับกลุ่มอีสานพัฒนาเพื่อร่วมมือกันจัดตั้งรัฐบาลนั้น นายสงวน กล่าวว่า ตนคิดว่าเป็นความพยามสร้างบทบาทของกลุ่มและของตนเองมากกว่า เข้าใจทุกคน เข้าใจความคิด แต่ความคิดอาจจะมีความแตกต่างกัน บางคนก็อาจจะสร้างสถานการณ์ของตัวเองขึ้นมา แต่คิดว่าเมื่อพรรคมีมติออกมาอย่างนี้แล้วก็ต้องปฏิบัติตาม
ใครมาเป็นนายกฯ ก็โดนต้านอยู่ดี
ด้าน นายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ขณะนี้จากการตรวจสอบและสอบถาม ส.ส. ของพรรคไม่ว่าถามด้วยตัวเองหรือสอบถามทางโทรศัพท์ ทุกคนยืนยันเสนอชื่อของนายสมัครเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ส่วนการที่มี ส.ส. อีสานบางส่วนไม่เห็นด้วยกับการเสนอชื่อนายสมัครเพราะเกรงว่าวิกฤติการเมืองจะไม่ยุตินั้น เรื่องนี้คงต้องทำความเข้าใจกันต่อไป เพราะตอนนี้ความจริงแล้วเรื่องเพิ่งจะเกิดขึ้นทำให้แต่ละฝ่ายแต่ละคนก็ต่างแนวคิดกันไปเล็กๆ น้อยๆ ดังนั้นเพื่อประคับประคองรัฐบาลชุดนี้ให้อยู่ได้ต่อไปก็ต้องทำความเข้าใจกับสมาชิกพรรคกันต่อไป
ส่วนที่มีการปล่อยข่าวว่าทางพรรคประชาธิปัตย์ยื่นข้อเสนอขอเสียงจาก ส.ส. พรรคพลังประชาชนบางกลุ่ม ให้ช่วยสนับสนุน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์นายกฯ และจะมีการจ่ายเงินให้ 25-30 ล้านบาท และให้ตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยนั้น นายอนุสรณ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้มีการพูดคุยกันในที่ประชุมภาค ของพรรควันนี้ ยืนยันไม่เคยได้ยินเรื่องนี้ และไม่มีการคุยเรื่องเงิน เรื่องทองอะไรทั้งสิ้นแต่วันนี้เป็นการมายืนยันในการสนับสนุนนายสมัครเป็นนายกฯ อีกครั้ง แต่ ส.ส. ที่ไม่มายืนยันก็ได้มีการโทร.ไปสอบถามแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะเป็นคนอื่นอย่าง นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รมว.ยุติธรรม ได้หรือไม่ นายอนุสรณ์ กล่าวว่า “ทุกคนลงมติเป็นอย่างนี้แล้วมันก็เป็นอย่างนี้”
เมื่อถามว่าได้มีการประเมินแรงต้านหรือไม่หากยังเสนอนายสมัครเป็นนายกฯ นายอนุสรณ์ กล่าวว่า เรื่องแรงต้านนั้นแม้จะเสนอใครเข้ามาก็โดนต้านหมด
6พรรคร่วมยืนยันหนุนนายกฯพปช.
ด้าน นายวิทยา บุรณศิริ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล กล่าวภายหลังการประชุมวิปรัฐบาลวันนี้ว่าเป็นการเตรียมความพร้อมในการประชุมสภา เพราะการประชุมในวันพุธและวันพฤหัสบดี มีวาระอยู่แล้ว ส่วนวันศุกร์ที่ 12 กันยายน เวลา 9.30 น. ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้กำหนดให้มีการประชุมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งในที่ประชุมวันนี้ไม่ได้วางตัวว่าใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้พรรคพลังประชาชนจะต้องมีมติว่าจะเสนอใครขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี และแต่ละพรรคจะต้องเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมประชุม
เมื่อถามว่าในที่ประชุมวิปได้มีการสอบถามสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลที่เข้าร่วมประชุมด้วยหรือไม่ว่ายังสนับสนุนพรรคพลังประชาชนอยู่หรือไม่ นายวิทยากล่าวว่า ในวันนี้มาเข้าร่วมประชุมครบทุกพรรค ไม่มีใครคิดเป็นอย่างอื่น คิดว่าไม่น่ามีปัญหา ทั้งนี้พรรคพลังประชาชนยังเป็นพรรคที่มีเสียงข้างมากอยู่ในสภา ฉะนั้นทิศทางในการกำหนดแนวทางพรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องมาร่วมประชุมหารือกัน
ถก “บรรหาร” ยืนยันให้การสนับสนุน
วันเดียวกันนี้มีรายงานว่าแกนนำพรรคพลังประชาชนได้เข้าหารือกับ นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย ถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชาชน กล่าวว่า ตนเองต้องเดินทางไปเข้าพบ นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย เพื่อหารือร่วมกับ ส.ส. จากพรรคร่วมรัฐบาล เรื่องการเสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และแนวทางที่จะทำงานร่วมกันต่อไป ก่อนที่จะมีการเลือกนายกรัฐมนตรีในรัฐสภา ในวันศุกร์ที่ 12 กันยายนนี้
นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน กล่าวถึงกรณีมีข่าวเสนอชื่อตนเป็นนายกรัฐมนตรีว่า รู้สึกขอบคุณแต่คงเป็นความเข้าใจผิด เพราะบังเอิญชื่อมีอักษร “ส.” เหมือนกัน ส่วนพรรคพลังประชาชนจะเสนอชื่อใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่นั้นขึ้นอยู่กับมติของพรรค โดยส่วนตัวเห็นว่า นายสมัคร สุนทรเวช ยังคงเป็นบุคคลที่มีความเหมาะสมที่สุด พร้อมกันนี้ยังปฏิเสธกรณีที่แกนนำพรรคพลังประชาชนเดินทางไปพบ นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย จะเป็นการแสดงให้เห็นว่าพรรคไม่สนับสนุนให้นายสมัครเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะไม่มีการพูดคุยเรื่องดังกล่าวและนายบรรหารก็ให้เกียรติพรรคพลังประชาชน
คนอีสานเปิดเวทีหนุน “สมัคร” รีเทิร์น
ส่วนทางด้าน จ.ขอนแก่น ที่หน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองขอนแก่น ได้มีกลุ่มพลังมวลชนจากอำเภอต่างๆ ใน จ.ขอนแก่น ประกอบด้วย ชมรมผู้รักประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น ชมรมต่อต้านพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น สมาคมข้าราชการครู จ.ขอนแก่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จ.ขอนแก่น สมัชชาเกษตรกร จ.ขอนแก่น ประมาณ 2,000 คน ได้พากันชุมนุมชูป้ายสนับสนุนนายสมัครเป็นนายกรัฐมนตรี อาทิ “ชาวขอนแก่น 1.2 ล้านคน เลือกพรรคพลังประชาชน ทุกคะแนนเสียงยังสนับสนุนนายสมัครเป็นนายกรัฐมนตรี” “คนขอนแก่นไม่ต้องการใครเป็นนายกฯ นอกจากนายสมัคร” “คนขอนแก่นต้องการให้นายสมัครกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ” และป้ายประณามกลุ่มพันธมิตรฯ อาทิ “พันธมิตรฯ พวกมารนอกรีต นอกประชาธิปไตย” ได้เดินทางมาร่วมชุมนุมสนับสนุน นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี และกล่าวโจมตีศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมกับแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยมี นายสงกรานต์ นุแปงถา ประธานชมรมผู้รักประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น เป็นแกนนำ
จากนั้น ได้เดินขบวนไปที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น เพื่ออ่านคำแถลงการณ์และยื่นต่อ นายกฤษเพชร ศรีปาน รอง ผวจ.ขอนแก่น พร้อมทั้งเผาหุ่นโลงศพศาลรัฐธรรมนูญ หุ่นนายสนธิ ลิ้มทองกุล หุ่น พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และหุ่น นายสมเกียรติ พงษ์ ไพบูลย์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำพันธมิตรฯ ท่ามกลางสายฝน
เช่นเดียวกับที่ จ.นครพนม กลุ่มปกป้องประชาธิปไตย ได้ทยอยกันมาร่วมชุมนุมในเวทีอเนกประสงค์ของสวนชมโขงในเขตเทศบาลเมืองนครพนม และผลัดกันขึ้นเวทีปราศรัยโดยเนื้อหาหลักๆ จะเป็นการให้กำลังใจ นายสมัคร สุนทรเวช ให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง
สื่อนอกขำกลิ้งข่าว “สมัคร” ตกเก้าอี้
นักวิชาการด้านกฎหมายสหรัฐฮากลิ้ง สมัครหลุดเก้าอี้นายกฯ เพราะทำกับข้าวออกโทรทัศน์ โดยสำนักข่าวต่างประเทศรายงานสถานการณ์การเมืองในประเทศไทย โดยระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้ นายสมัคร สุนทรเวช ทำผิดรัฐธรรมนูญ จากการจัดรายการชิมไปบ่นไป ส่งผลให้ขาดคุณสมบัติ ต้องพ้นจากตำแหน่ง พร้อมกับคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ และพรรคพลังประชาชนประกาศจะเสนอชื่อและลงมติเลือกนายสมัครกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง
ศ.ชาร์ลส์ ไรช์ อดีตอาจารย์ด้านกฎหมายของมหาวิทยาลัยเยล ในเมืองนิวเฮเวน มลรัฐคอนเนคติกัต ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำของสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาให้ความเห็นต่อกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญของไทยมีคำตัดสินให้ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ต้องพ้นจากตำแหน่ง โดยมองว่า เป็นเรื่องที่น่าขบขันที่สุดเท่าที่เขาเคยเห็นมาในกระบวนการยุติธรรมทั่วโลก ที่ศาลรัฐธรรมนูญของไทยมีคำตัดสินให้นายสมัครต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจากถูกระบุว่า กระทำการอันขัดต่อรัฐธรรมนูญ ด้วยการเป็นพิธีกรรายการทำอาหารทางโทรทัศน์ ขณะที่อยู่ในตำแหน่ง
ศ.ไรช์ แสดงความข้องใจว่า เพราะเหตุใด นายกรัฐมนตรีของไทย ซึ่งได้รับการเลือกตั้งมาด้วยเสียงข้างมากของประชาชนอย่างถูกต้องชอบธรรม กลับมีอันต้องหลุดจากตำแหน่ง เพียงเพราะเรื่องที่เล็กน้อยและไร้สาระเช่นนี้ ซึ่งตนมองว่าเป็นเรื่องที่น่าขบขันที่สุด ตั้งแต่ตนอยู่ในแวดวงกฎหมายมา
"สมัคร" เก็บตัวหลังพ้นนายกรัฐมนตรี
ผู้สื่อข่าวที่ติดตามความเคลื่อนไหวของ นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี รายงานว่า หลังจากที่นายสมัคร เดินทางกลับจาก จ.อุดรธานี ตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 กันยายน หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษาให้ขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี ล่าสุดจนถึงขณะนี้ นายสมัครยังเก็บตัวเงียบอยู่ภายในบ้านพักย่านนวมินทร์ 81 โดยบรรยากาศหน้าบ้านเงียบเป็นปกติ ไม่มีรายงานว่าสมาชิกพรรคพลังประชาชนเข้าพบแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี ต่อมาในตอนเช้าวันที่ 10 กันยายน นายสมัครได้ออกไปจ่ายตลาด และไปทำบุญเป็นการส่วนตัว และเดินทางกลับเข้าบ้านพักในเวลา 09.20 น. โดยมีรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเช้านายสมัครได้ออกจากบ้านไปซื้ออาหาร และไปทำบุญตามปกติ โดย นายธีระพล นพรัมภา อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ในบ้านพักกับนายกรัฐมนตรีด้วย
นายธีระพล เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้มีข่าวว่านายสมัครไปพักค้างที่อื่นไม่เป็นความจริง เพราะตลอดทั้งคืนที่เมื่อวานนี้นายสมัครกลับเข้าบ้านเวลาประมาณ 3 ทุ่มกว่า อยู่บ้านทั้งคืน ส่วนเรื่องนายสมัครจะกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่ อยากให้ไปสอบถามตัวนายสมัครเอง พร้อมเปิดเผยว่า ตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา นายสมัครพักผ่อนด้วยความสบายใจ ไม่เครียด