คอลัมน์ : รายงานพิเศษ
ท่าทีของกลุ่มเครือข่ายนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตยและสันติวิธี (คปส.) นำโดย รศ.ดร.วรพล พรหมิกบุตร อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.เสถียร วิพรมหา จากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และชมรมนักกฎหมายเพื่อประชาชน นำโดย นายคารม พลทะกลาง ที่ออกมาตั้งข้อสังเกตถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และการแสดงความคิดความเห็นสนับสนุน นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เป็นอีกมุมมองหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะเป็นข้อคิดเห็นที่ถูกกลั่นกรอง ผ่านการวิเคราะห์ตามหลักวิชาการ ผ่านข้อเขียนและบทความหลายชิ้นประกอบกัน
บทประมวลสรุปการวิเคราะห์ความขัดแย้งการเมืองปัจจุบัน
วันพุธที่ 10 กันยายน 2551
1.ความขัดแย้งทางการเมืองที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประกาศการต่อต้านขับไล่รัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เป็นความต่อเนื่องของความขัดแย้งระหว่าง “นักการเมืองภาคประชาชน” กับ “นักการเมืองภาคอภิสิทธิ์ชน”
2.ภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 นักการเมืองภาคอภิสิทธิ์ชนใช้ประโยชน์จากอำนาจรัฐประหาร และรัฐธรรมนูญดังกล่าว ในการยึดครองอำนาจตุลาการบางส่วน อำนาจนิติบัญญัติบางส่วน และอำนาจพิเศษขององค์กร (ที่อ้างความเป็น) อิสระตามรัฐธรรมนูญ ในการควบคุมทางการเมืองเหนือประเทศชาติและประชาชน
3.ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป 23 ธันวาคม 2550 นักการเมืองภาคประชาชน (กลุ่มที่ถูกคุกคามโดยอำนาจรัฐประหาร) สามารถชนะการเลือกตั้ง เป็นเสียงส่วนใหญ่ที่ครองอำนาจนิติบัญญัติสายสภาผู้แทนราษฎร และยังประสบความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาลผสม ควบคุมอำนาจบริหารตามครรลองประชาธิปไตย ทำให้กลุ่มนักการเมืองภาคอภิสิทธิ์ชนไม่สามารถควบคุมอำนาจเบ็ดเสร็จในการเมืองไทย พ.ศ.2551 ได้สำเร็จเด็ดขาด
4.“กลุ่มพันธมิตรฯ” (รวมทั้งเครือข่ายองค์กรสื่อสารมวลชน เอ็นจีโอ นักการเมืองอาชีพ และนักวิชาการมหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่ง) ดำเนินการเคลื่อนไหวเป็นเครื่องมือทางการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลผสมข้างต้น โดยกลุ่มพันธมิตรฯ ดังกล่าว พยายามใช้วิธีการก่อสถานการณ์ทางมวลชนและข่าวสารข้อมูล มุ่งหวังผลในการขับไล่รัฐบาลประชาธิปไตยข้างต้นออกจากอำนาจบริหาร (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน “ทำไมข้อเสนอแนะให้นายกรัฐมนตรีลาออก หรือยุบสภา จึงไม่ใช่ทางออกหรือการผ่าทางตันแก้ไขวิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบัน” วันอังคารที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2551) แต่ขบวนการเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลให้ลาออก หรือยุบสภา (ก่อนวันที่ 9 ก.ย. 51) ประสบความล้มเหลวในปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และถูกประณามทั้งในหมู่ประชาชนเสียงส่วนใหญ่ในประเทศ และจากแวดวงสื่อมวลชนต่างประเทศ
5.คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวันที่ 9 กันยายน 2551 ทำให้ นายสมัคร สุนทรเวช ต้องพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงเป็นคำวินิจฉัยที่เป็น “โทษ” ต่อนายสมัครและพรรคพลังประชาชน (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน “นัยของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 9 กันยายน 2551” วันอังคารที่ 9 กันยายน 2551) อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ 2550 บังคับว่าศาลต้องใช้อำนาจตุลาการอย่างยุติธรรม “ตามกฎหมาย” และในพระปรมาภิไธยฯ
ดังนั้นปวงชนชาวไทยผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว สามารถขอให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้แจงว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เช่น คำวินิจฉัยที่ถือว่านายสมัครมีสถานะเข้าข่ายความเป็น “ลูกจ้าง” ตามที่มีผู้ยื่นคำร้องกล่าวหานายสมัครนั้นเป็นการวินิจฉัยตาม “กฎหมาย” ว่าด้วยลูกจ้างฉบับใด หรือเป็นเพียงการสร้างนิยามทางกฎหมายขององค์คณะศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ เป็นต้น หากพบว่าการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่เป็นไปตาม “กฎหมาย” ข้อใดทั้งสิ้น ปวงชนชาวไทยก็อาจพิจารณาดำเนินการให้ตรวจสอบการใช้อำนาจตุลาการในกรณีนี้ได้ ว่าเป็นการใช้อำนาจโดยชอบตามรัฐธรรมนูญหรือไม่
6.สภาวการณ์ขัดแย้งข้างหน้าไม่นานนักจะปรากฏให้เห็นความต่อเนื่องของการขัดขวางไม่ให้พรรคพลังประชาชนจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้สำเร็จ ควบคู่ไปกับความพยายามเปิดทางให้นักการเมืองภาคอภิสิทธิ์ชนสามารถเป็นแกนนำต่อรอง เพื่อเข้าครองอำนาจบริหารประเทศ (ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ) และพรรคพลังประชาชนจะเผชิญปัญหาการยุบพรรคโดยอำนาจตุลาการภิวัตน์เข้มข้นยิ่งขึ้น ควบคู่กับความพยายามของนักการเมืองภาคประชาชนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าปัจจุบัน ผู้วิเคราะห์ยังไม่อาจคาดคะเนผลรูปธรรมของความขัดแย้งดังกล่าวได้ในขณะนี้
ทำไมข้อเสนอแนะให้นายกรัฐมนตรี “ลาออก” หรือ “ยุบสภา” จึงไม่ใช่ “ทางออก” หรือ “การผ่าทางตัน” แก้ไขวิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบัน
(แต่เป็นข้อเสนอแนะที่ขัดต่อหลักการว่าด้วย “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตย)
การยุบสภาหรือลาออกในบริบทความขัดแย้งที่กลุ่ม “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” (และกลุ่มอำนาจที่อยู่เบื้องหลังร่วมมือกัน) สร้างขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จะมีผลเป็นการทำลายหลักการว่าด้วย “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ดังเหตุผลต่อไปนี้
1.รัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช ขึ้นสู่อำนาจบริหารจากการรับรองของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร (อำนาจนิติบัญญัติ) ซึ่งได้รับการเลือกตั้งตามหลักการ “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” และตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2550
2.“พันธมิตรฯ” เป็นองค์กรการเมืองที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือโดย “กลุ่มอำนาจอื่น” ที่ต้องการล้มล้าง “อำนาจบริหาร” ของรัฐบาลในข้อ 1 ข้างต้น เพื่อเปิดช่องทางให้ “กลุ่มอำนาจอื่น” หรือตัวแทนของกลุ่มอำนาจดังกล่าว เข้ายึดกุมอำนาจบริหารต่อไปโดยไม่สนใจผลของการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 และไม่สนใจผลของความเสียหายทางเศรษฐกิจ การเมือง และความรู้สึกนึกคิดของปวงชนชาวไทยที่ใช้อำนาจอธิปไตยของตนในการเลือกตั้งทั่วไปดังกล่าว ทั้งนี้ “พันธมิตรฯ” แสดงตนให้เห็นชัดเจนตามลำดับว่า กลุ่มตนอาจใช้ความรุนแรงและฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรง เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมืองของตนโดยไม่คำนึงถึงหลักนิติธรรมและมนุษยธรรม
3.“กลุ่มอำนาจอื่น” อาจครอบคลุมถึง “พรรคการเมืองฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร” ที่ต้องการ “อำนาจบริหาร” เพิ่มเติมจากอำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งขณะนี้กลุ่มตนก็มีอยู่พอสมควรตามกฎหมาย (แต่ถ้ามีการยุบสภาต่อไป พรรคดังกล่าวก็ไม่จำเป็นต้องรอเวลาอีก 3 ปีครึ่งกว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ หรือถ้านายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง พรรคดังกล่าวก็สามารถเจรจาต่อรองกับพรรคร่วมรัฐบาลเดิมให้ถอนตัวจากการสนับสนุนพรรคพลังประชาชน) ในกรณีนี้ การเสนอให้ยุบสภา หรือลาออก เป็นข้อเสนอที่เห็นแก่ประโยชน์ทางการเมืองของกลุ่มอำนาจตนมากกว่าเห็นแก่ประโยชน์ของประชาชนซึ่งแบกรับ “ภาระต้นทุนสาธารณะ” ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองจากการเลือกตั้งทั่วไปครั้งก่อน และที่จะต้องรับภาระในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไป นอกจากนี้ยังสะท้อนถึงอุดมการณ์ของผู้เสนอแนะที่ไม่เห็นความสำคัญของหลักการว่าด้วย “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” รวมทั้งดูถูกดูแคลนสติปัญญาและวุฒิภาวะของประชาชนเสียงส่วนใหญ่ ที่ลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลชุดปัจจุบัน
4.“กลุ่มอำนาจอื่น” ย่อมหมายความรวมถึง “กลุ่มอำนาจนอกระบอบประชาธิปไตย” ที่อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวทางการเมืองของ “พันธมิตรฯ” และน่าจะเป็นกลุ่มเครือข่ายบุคคลระดับสูงที่อยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ในกรณีความขัดแย้งครั้งใหม่นี้ (พันธมิตรฯ กับรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช) เป็นความพยายามที่จะเข้ายึดกุมอำนาจบริหาร (รัฐบาล) ให้ได้รวบรัดเบ็ดเสร็จ หลังจากประสบความสำเร็จในการยึดกุมอำนาจแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสมาชิก 74 คน (อำนาจนิติบัญญัติ) รวมทั้ง “อำนาจตุลาการ” บางส่วน และ “อำนาจองค์กรอิสระและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ” ตามรัฐธรรมนูญเกือบทั้งหมด โดยอาศัยบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ 2550 ที่พวกตนร่างขึ้นตามอุดมการณ์คณาธิปไตย
5.“กลุ่มอำนาจนอกระบอบประชาธิปไตย” อาจยกระดับการเคลื่อนไหวไปสู่ “ภาวะจลาจลทั่วประเทศ” (หรือ “กลียุค” ตามที่ “พันธมิตรฯ” ระบุถึงในแถลงการณ์ของตนตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ที่ผ่านมา) หากเครือข่ายองค์กรการเมือง วิชาการ และสื่อสารมวลชนของตน ไม่สามารถกดดันให้เกิดการยุบสภาหรือลาออกข้างต้นได้ และอาจหมายถึงการยกระดับการขับเคลื่อนไปสู่ “การเมืองระบบใหม่” ที่เป็นไปตาม “ทฤษฎีการถอดรื้อโครงสร้างสังคมไทย” แบบถึงรากถึงโคน ต่อทุกสถาบันในสังคมไทย ทั้งนี้ นักยุทธศาสตร์การปฏิวัติด้วยวิถีรุนแรงดังกล่าว อาจใช้วิธี “ยืมดาบสนองคืน” กล่าวคือ นักคิดที่อยู่เบื้องหลังกลุ่มอำนาจนอกระบอบประชาธิปไตยดังกล่าว อาจพยายามหาช่องทางกระตุ้นโทสะให้พลังการชุมนุมของปวงชนชาวไทยฝ่ายประชาธิปไตย เคลื่อนเข้าสู่การก่อภาวะจลาจล ต่อสู้กับพลังมวลชนเสียงข้างน้อยของฝ่าย “พันธมิตรฯ” ซึ่งย่อมนำไปสู่ผลลัพธ์ที่สำคัญคือ การทำลายระบอบประชาธิปไตยอย่างรุนแรงนั่นเอง
6.การยุบสภาหรือลาออกตามเสียงเรียกร้องข้างต้น ย่อมเป็นการส่งเสริมอำนาจการเมืองแบบเบ็ดเสร็จของกลุ่มคณาธิปไตย ซึ่งจะทำให้สังคมไทยและปวงชนชาวไทยตกอยู่ในภยันตรายร้ายกาจยิ่งกว่า “ระบอบเผด็จการทหาร” ของไทยในอดีต
นัยของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 9 กันยายน 2551
รศ.ดร.วรพล พรหมิกบุตร
วันที่ 9 กันยายน 2551 เวลา 14.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งกำหนดจะอ่านคำวินิจฉัยกรณีที่สมาชิกวุฒิสภาประเภทแต่งตั้ง (นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ) ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี กระทำผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ กรณีที่นายสมัครเป็นพิธีกรรายการทางโทรทัศน์ “ชิมไปบ่นไป”
ผู้วิเคราะห์คาดการณ์ว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยไปในทางที่เป็นโทษต่อนายสมัคร ทั้งนี้ โดยอาศัยมติเสียงข้างมากแบบไม่เป็นเอกฉันท์ (ขณะนี้เวลา 13.15 น. และศาลยังไม่อ่านคำวินิจฉัย) นอกจากนี้ ผู้วิเคราะห์มีข้อสังเกตดังนี้
1.องค์คณะศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน มีสมาชิกเสียงส่วนใหญ่ที่ได้รับการสรรหาแต่งตั้งโดยอาศัยความเชื่อมโยงกับบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งรองรับการใช้อำนาจแบบคณาธิปไตยของคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และกลุ่มอำนาจดังกล่าวเคยประกาศจุดยืนทำลายโครงสร้างพรรคไทยรักไทย และพรรคการเมืองที่สืบทอดโครงสร้างพรรคไทยรักไทย (คือพรรคพลังประชาชน ที่ขณะนี้ นายสมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรค)
2.กลุ่มพลังการเมืองหลายองค์กร รวมทั้งองค์คณะศาลรัฐธรรมนูญเสียงส่วนใหญ่ดังกล่าว อาจคาดการณ์ได้ชัดเจนก่อนวันอ่านคำวินิจฉัยแล้วว่า ประชาชนจำนวนมาก (ซึ่งอาจขับเคลื่อนกระบวนการ “ประชาภิวัตน์” ต่อต้านอำนาจ “ตุลาการภิวัตน์”) จะบันดาลโทสะ กระด้างกระเดื่อง และต่อต้านคำวินิจฉัยที่เป็น “โทษ” ต่อนายสมัคร และพรรคพลังประชาชน สิ่งซึ่งอาจเกิดขึ้นตามมาคือ การยกระดับการต่อต้านดังกล่าวเป็น “ภาวะกระด้างกระเดื่องของมวลชน” ในวงกว้าง รวมทั้งการยั่วยุอารมณ์มวลชนฝ่ายประชาธิปไตยต่อไปด้วยการแปรเปลี่ยน “ข้อเรียกร้องให้นายสมัครลาออกหรือยุบสภา” ก่อนหน้านี้ ให้เป็น “ข้อเรียกร้องไม่ให้นายสมัครและพรรคพลังประชาชนจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่” ภายหลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ภาวะดังกล่าวหากลุกลามขยายวงกว้างเป็นความรุนแรง ก็อาจนำไปสู่จุดมุ่งหมาย “กลียุค” หรือการจลาจล ที่มีผลล้มล้างรัฐบาลร่วมพรรคพลังประชาชน และยังอาจลุกลามไปสู่การทำลายความมั่นคงทางสังคม และสถาบันสังคมที่สำคัญบางส่วน เพื่อการสถาปนา “ระบบการเมืองใหม่” ตามเจตนารมณ์ของกลุ่มผู้อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ต่อไป ผู้วิเคราะห์เห็นว่า สมมติฐานข้อหลังนี้ยังจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบด้วยความระมัดระวัง
อำนาจและขอบเขตการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ
กับอำนาจการตรวจสอบของการเมืองภาคประชาชน
รศ.ดร.วรพล พรหมิกบุตร
ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็น “เจ้าพนักงานในการยุติธรรมตามกฎหมาย” (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 208 วรรคสาม) ซึ่งมีอิสระในการพิจารณาพิพากษา แต่ “ต้องดำเนินการให้เป็นไปโดยยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์” (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 197)
หากประชาชนหรือผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องรายใดมีข้อสงสัย เช่น (1) ศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการ “ตามกฎหมาย” ใด ในการวินิจฉัย ตีความ พิพากษาว่า นายสมัคร สุนทรเวช เป็น “ลูกจ้าง” ตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 หรือ (2) ในการวินิจฉัยว่า “บันทึกคำแถลงร่วม” กรณีปราสาทเขาพระวิหาร เป็น “สัญญา” ตามกฎหมายใด และทำให้เกิดการสูญเสียอธิปไตยอย่างไร หรือ (3) หากมีมูลเหตุพอเพียงจะสงสัยว่าศาลรัฐธรรมนูญอาจใช้อำนาจเกินเลยขอบเขตของกฎหมาย และขอบเขตที่รัฐธรรมนูญอนุญาตให้ใช้อำนาจ บุคคลที่เสียหายน่าจะสามารถใช้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 275 ให้ไต่สวนการใช้อำนาจตุลาการดังกล่าวได้