WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Wednesday, September 10, 2008

Young PAD มุกแป้กนศ.เมินร่วมก๊วนพันธมิตร

คอลัมน์ : รายงานพิเศษ

ความพยายามที่ดูเหมือนจะเป็นเฮือกสุดท้ายของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่หวังหลอกเอานิสิต นักศึกษา มาบังหน้า เป็นข้ออ้างเคลื่อนไหวป่วนเมือง ดูจะกลายเป็น “มุกแป้ก” เพราะนักศึกษา 80 สถาบันที่กล่าวอ้าง กลับมีผู้มาร่วมชุมนุมที่สะพานมัฆวานฯ เพียงกว่า 200 คน แม้ว่าจะมีผู้ชุมนุมอีกบางส่วนตามมาสมทบในช่วงค่ำ แต่ก็ล้วนมีแต่พวกไม่กล้าขาดเรียน หรือไม่ก็มีแต่พวกปากกล้าขาสั่น ส่วนที่เป็นกำลังสำคัญจริงๆ กลับพบว่ามีแต่เด็กช่างกล ที่มีการตั้งข้อสงสัยว่ามีความพยายามของผู้ใหญ่ที่จะปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรง

ส่วนบรรดานักศึกษาในสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ เขามีความคิดความอ่านเกินกว่าผู้ใหญ่จะหลอกใช้เป็นเครื่องมือ รวมทั้งรู้จักแยกแยะผิดชอบ ชั่วดี กันอย่างไร ลองฟังดู

เอกรินทร์ ต่วนศิริ
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“ต้องการให้ขบวนการนิสิตและนักศึกษาเข้าไปมีบทบาทในการเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มคนไม่เลือกข้าง ได้พบปะเรียนรู้ทางการเมือง และร่วมหาทางออก ซึ่งจะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้งลงได้

ส่วนข้อเสนอการเมืองใหม่ของกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่เห็นด้วยกับการที่จะให้ ส.ส. มาจากการเลือกตั้ง 30 คน และมาจากการสรรหา 70 คน เพราะถือเป็นการดูถูกประชาชน และผิดหลักการในระบอบประชาธิปไตย”

กรวิทย์ ไชยสุ
นายกองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยแม่โจ้
“นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้จะไม่ร่วมการหยุดเรียนเพื่อกดดันรัฐบาล เนื่องจากมีนโยบายเดินสายกลาง”

มนตรี สิทธิเขต
นักศึกษาภาคพิเศษ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
“การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ส่งผลทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ คือ ทำให้ประชาชนมีความสนใจการเมืองมากขึ้น แต่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวที่ไม่มีขอบเขต เช่น การปิดสนามบิน ที่สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจ”

อุเชนทร์ เชียงเสน
นักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวแทนกลุ่มโดมแดง

“เวลาเรามองความรุนแรงเรามักมองไปที่เจ้าหน้าที่รัฐ แต่ยังมีความรุนแรงอีกแบบคือความรุนแรงจากประชาชน การยึดเอ็นบีทีและทำเนียบรัฐบาลของพันธมิตรฯ ต้องการให้เกิดความรุนแรง เพื่อให้รัฐบาลใช้กำลังในการปราบปราม เพื่อใช้เป็นเงื่อนไขในการโค่นล้มรัฐบาล เพราะคนเหล่านี้รู้ว่าการชุมนุมโดยปกติไม่สามารถล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ จึงต้องดำเนินการให้รัฐผิดพลาดในส่วนนี้

ความขัดแย้งไม่จำเป็นต้องยุติ แต่เราต้องการยุติความรุนแรง เพราะฉะนั้น วันนี้พันธมิตรฯ ต้องให้เจ้าหน้าที่รัฐปลดอาวุธกองกำลังของตัวเอง ตอนนี้แนวโน้มที่ดีคือเจ้าหน้าที่รัฐปลดอาวุธ แล้วเหลือเพียงโล่และกระบอง ที่ผ่านมา พันธมิตรฯ อธิบายว่าสิ่งที่ตัวเองทำเป็นอารยะขัดขืน โดยอ้าง อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เหมือนกัน

อารยะขัดขืน คือ การกระทำที่มีลักษณะสาธารณะ เปิดเผย สันติวิธี มีมโนธรรมสำนึก ตั้งใจขัดกฎหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือนโยบายบางอย่างของรัฐ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องยอมรับผลที่เกิดขึ้นจากกฎหมายนั้นด้วย เพราะอารยะขัดขืนคือการพยายามเรียกร้องมโนธรรมสำนึกของสังคมให้สงสัยว่า ทำไมคนดีๆ จึงตั้งใจละเมิดกฎหมาย ให้สังคมสงสัยว่ามีสิ่งผิดปกติในสังคมการเมืองแน่ๆ

เพราะฉะนั้นอยากเรียกร้องให้ผู้นำพันธมิตรฯ ที่ตั้งใจละเมิดกฎหมาย เรียกร้องมโนธรรมสำนึกจากสังคมโดยการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ไม่ใช่ชอบหรือไม่ชอบนายสมัคร แต่ไม่ควรให้พันธมิตรฯ เอาเงื่อนไขความรุนแรง เอาชีวิตผู้คนเป็นตัวประกัน เพื่อบีบให้รัฐบาลลาออก

สิ่งที่สำคัญที่สุดในการต่อสู้ทางการเมืองคือ การโน้มนำให้คนอื่นเห็นด้วยกับตัวเอง โดยการถกเถียงกันอย่างมีเหตุผล ไม่ใช่การเข้าไปอยู่ในทำเนียบรัฐบาลแล้วใช้เงื่อนไขความรุนแรงมาบีบบังคับให้คนอื่นยอมรับ”

ทศพล เชี่ยวชาญประพันธ์

บัณฑิตเหรียญทองรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
“ไม่มีหลักประกันใดเลยที่แกนนำพันธมิตรฯ จะรับประกันว่านายกฯ ไม่ต้องมาจากสภาผู้แทนราษฎร ที่พูดมาว่าต้องสู้คือเพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตยนั้น ความจริงทางออกคือ พันธมิตรฯ หมดความชอบธรรมแล้ว หาทางกลับบ้านได้แล้ว”

นิตินัย วงศ์สังข์
นายกองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม
รองประธานสมาพันธ์ราชภัฏแห่งประเทศไทยภาคเหนือ
“ไม่เห็นด้วยกับการหยุดเรียนเพื่อร่วมประท้วงรัฐบาลกับกลุ่มพันธมิตรฯ เพราะว่าท่าทีกลุ่มพันธมิตรฯ เรียกร้องมากเกินไป”

นุจณี ศรีปิยะพันธุ์
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
“โดยส่วนตัวแล้วมองว่าการหยุดเรียนเพื่อไปประท้วงนั้นเป็นเรื่องไร้สาระ และไม่จำเป็น ซึ่งหากหยุดเรียนแล้วจะส่งผลกระทบต่อการเรียนของตนเอง ส่วนการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองควรจะเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบมากกว่า แต่การประท้วงถือว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคลของแต่ละคน สำหรับตัวเองแล้วมองว่าไม่จำเป็นที่จะต้องหยุดเรียนเพื่อไปร่วมประท้วงแต่อย่างใด”

ภูวนาถ ทรัพย์กร
คณะบริหารการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
“การที่มีนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่สามารถแสดงออกได้ รวมถึงการหยุดเรียน แต่ในส่วนตัวคิดว่าหากหยุดเรียนในช่วงนี้จะส่งผลเสียต่อตนเอง เนื่องจากใกล้ช่วงสอบ ซึ่งจะทำให้เรียนไม่รู้เรื่องและขาดโอกาสที่จะได้รับความรู้ที่ค่อนข้างจะเข้มข้นในช่วงนี้ ซึ่งจากการสอบถามเพื่อนนักศึกษาก็เห็นเช่นเดียวกันว่า ไม่สามารถที่จะหยุดเรียนได้ เพราะเรามีหน้าที่เรียนหนังสือ ให้สมกับที่พ่อแม่เสียเงินทองส่งเสียให้เราได้มีการศึกษา ดังนั้นเราเองก็ต้องเรียนอย่างเต็มที่”

พิทวัส ว่องไวรุด
ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
"ในฐานะตัวแทนกลุ่มพลังนักศึกษา มอ. ไม่เห็นด้วยในการนัดหยุดเรียน เพราะการแสดงออกทางการเมืองต้องไม่กระทบต่อหน้าที่ของนักศึกษา เนื่องจากสามารถนำเวลาว่างจากการเรียนมาดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ โดยไม่ต้องให้กระทบการเรียน แต่การตัดสินใจปฏิบัติตามหรือไม่ เป็นสิทธิส่วนบุคคล เนื่องจากในส่วนของนักศึกษามีการแยกการเคลื่อนไหวหลายกลุ่ม จึงไม่มีมติเป็นทางการต่อประเด็นดังกล่าว โดยขอให้เป็นดุลพินิจของนักศึกษารายบุคคล"

กิตติ อินทรีย์
นายกองค์การบริหารนักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
“การเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักศึกษาถือว่าเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ แต่ไม่เห็นด้วยที่จะหยุดเรียนเพื่อร่วมชุมนุมทางการเมือง เพราะเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม และอาจมีผลกระทบต่อการเรียน”

วีรยุทธ ไชยพร
นายกองค์การบริหารนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
“นักศึกษาสามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองได้เช่นกัน เพราะถือว่าเป็นสิทธิ และมองว่านักศึกษาที่เคลื่อนไหวกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอาจไม่ใช่นักศึกษาที่เป็นแกนนำ และคงมีกลุ่มบุคคลอยู่เบื้องหลัง ส่วนเรื่องการเมืองใหม่ 70 : 30 ตามที่กลุ่มพันธมิตรฯ เสนอนั้น ไม่เห็นด้วย เพราะไม่ใช่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง”

แถลงการณ์ สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เรื่อง แนวทางและข้อเสนอแนะต่อสถานการณ์ไม่ปกติในปัจจุบัน

เนื่องด้วยสถานการณ์ในปัจจุบันเกิดเหตุการณ์ไม่สงบ มีการใช้ความรุนแรง ตลอดจนเกิดความไม่เข้าใจกันในหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะนำไปสู่ความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทางสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตระหนักถึงความสำคัญและผลกระทบของเหตุการณ์ดังกล่าว จึงมีแนวทางและข้อเสนอแนะ ดังนี้

1. สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่สนับสนุนการกระทำที่มีแนวโน้มส่อไปในทางยั่วยุ หรือก่อให้เกิดความรุนแรง ไม่ว่าจากฝ่ายใดก็ตาม

2.สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสนับสนุนให้ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิสิต และนักศึกษา ไม่เพิกเฉยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตระหนักถึงข้อเท็จจริง และตัดสินใจด้วยวิจารณญาณของตนเอง โดยคำนึงถึงผลกระทบและประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นที่ตั้ง

3.สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอสนับสนุนให้สื่อมวลชนทุกแขนงเสนอข่าวด้วยข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและเที่ยงธรรม

4.สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอสนับสนุนให้ทุกฝ่ายได้ใช้เหตุผลในการกระทำการสิ่งต่างๆ ด้วยความสุภาพและสร้างสรรค์

5.สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกร้องให้การดำเนินการต่างๆ ของทุกฝ่ายต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ทั้งนี้ การแสดงความคิดเห็นต่างๆ ของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคล มิได้เป็นมติจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแต่อย่างใด โดยถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลอันพึงมีและกระทำได้ โดยต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และระเบียบของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อนึ่ง สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหน่วยงานภายใต้สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันประกอบด้วยสมาชิกซึ่งเป็นตัวแทนจากนิสิตคณะต่างๆ ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีเจตนารมณ์เพื่อเป็นตัวแทนของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการแสดงสิทธิและความคิดเห็นต่างๆ ของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
8 กันยายน 2551