ที่กรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก และหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถาน การณ์ฉุกเฉิน ตาม พรก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ให้สัมภาษณ์ ก่อนเดินทางไปตรวจเยี่ยมพื้นที่ภาคใต้ ถึงการประกาศยกเลิกพรก.ฉุกเฉินว่า ในเรื่องนี้ตนเรียนนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา ธิการ ซึ่งตามที่ได้ประเมินสถานการณ์แล้ว มีความเหมาะสมที่จะยกเลิกการใช้พรก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่กทม. ทั้งนี้เนื่องมาจากผลกระทบในด้านต่าง ๆ มีผลกระทบต่อสังคม จึงน่าจะประกาศยกเลิก
ในส่วนของคณะกรรมการชุดดังกล่าว ได้นำ พรก. ฉุกเฉิน ในแต่ละข้อมาวิเคราะห์ ว่าสามารถดำเนินการได้มากน้อยเพียงใด โดยยึดถือเจตนาของการประกาศ พรก. ดังกล่าว เพื่อมุ่งที่จะทำให้ปัญหาความวุ่นวายที่มีอยู่ในขณะนี้ลดน้อยลง อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการประเมินแล้วว่าการทำตามข้อกำหนดใด ๆ ใน พรก.ฉุกเฉิน น่าจะทำให้ความวุ่นวายตามมามากขึ้น เพราะฉะนั้นในแต่ละข้อกำหนดในบางเรื่องจะเป็นการแจ้งให้สาธารณะชนทราบถึงการที่ไปรวมกัน โดยเฉพาะตาม พรก. ฉุกเฉิน ข้อที่ 1. ที่ระบุว่า ห้ามไม่ให้มีการชุมนุมกันเกิน 5 คน แต่เมื่อมีการไปรวมกันเกิน 5 คน จะเป็นความผิดตามข้อกฎหมาย ก็จะมีการแจ้งสาธารณะชนเช่นนั้น
ต่อข้อถามที่ว่า เมื่อมีการประกาศยกเลิกพรก.ฉุกเฉินแล้วจะมีกฎหมายใดมารองรับหากสถานการณ์บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ได้มีการหารือกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทางทหารก็ประเมินว่ากฎหมายปกติสามารถดูแลสถานการณ์ได้ โดยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจร้องขอและให้ทหารเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานก็น่าจะควบคุมสถานการณ์ที่น่าจะเกิดขึ้นได้ เช่นการปะทะกันของคน 2 กลุ่ม ทั้งนี้หากสถานการณ์มีความรุนแรง การประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉินอีกครั้ง เป็นหน้าที่ของรัฐบาล
เมื่อถามว่า ความคืบหน้าในการเจรจากับกลุ่มพันธมิตรและรัฐบาล พล.อ อนุพงษ์ กล่าวว่า ในปัญหาที่เกิดขึ้น อยากให้สังคมหลีกเลี่ยงการปะทะกันหรือยืนกรานที่จะทำความต้องการของพวกตัวเองอย่างเดียว จึงต้องให้ทางรัฐสภารับผิดชอบ ซึ่งขณะนี้ก็ทราบว่ามีการดำเนินการตามลำดับขั้น แต่จะเป็นอย่างไรก็ต้องทำกันไป
เมื่อถามว่า การเจรจาต้องค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไปใช่หรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ในขณะนี้เรื่องความขัดแย้งดังกล่าวไปอยู่ที่ในเรื่องของรัฐสภาคือการจัดตั้งรัฐบาลมากกว่า ปัจจัยในการที่จะเกิดความวุ่นวายเพิ่มขึ้นหรือลดลง จะขึ้นอยู่ที่การจัดตั้งรัฐบาลมากกว่า จึงทำให้การเจรจาลดความสำคัญลงไป
ต่อข้อถามที่ว่า ในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่งอยากได้นายกรัฐมนตรีแบบใด พล.อ อนุพงษ์ กล่าวว่า ผู้ที่สมควรที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นคนที่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ความขัดแย้งจะต้องหมดไปและมีทางออกของสังคม และทำให้ผ่านวิกฤติในช่วงนี้ไป และช่วยกันรวมสร้างสิ่งดีๆให้กับสังคมรวมทั้งประชาชนด้วย
ต่อข้อถามที่ว่า พรรคพลังประชาชนควรเสนอใครเป็นนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ใครก็ได้ที่ทำให้สถานการณ์และสังคมดีขึ้น ก็น่าจะเหมาะสม
ส่วนแนวทางการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติมีความเหมาะสมหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ตามความคิดส่วนตัว การจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ซึ่งตนคิดว่าน่าจะยากที่จะเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าเกิดขึ้นได้ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดี ทั้งนี้นักการเมืองต้องเสียสละ