คอลัมน์ : ละครชีวิต
กรณีที่ นายอดิศร เพียงเกษ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย เปิดตัวหนังสือ "กรงขังที่ 111" รวบรวมข้อเขียนที่เคยตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ประชาทรรศน์ ที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค
นายอดิศรเปรียบคนบ้านเลขที่ 111 เป็นเหมือน “นักโทษการเมือง” ที่ไม่ต่างอะไรกับนางออง ซาน ซูจี นักต่อสู้ ผู้นำพรรคฝ่ายค้านในพม่า ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่า “คนดี” ที่มีความสามารถหลายคนต้องยุติการบริหารชาติบ้านเมืองไป
ถือเป็นโอกาสและจังหวะดีที่นายอดิศรกล่าวถึง ออง ซาน ซูจี เพราะมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจและทั่วโลกกำลังเฝ้าติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
เนื่องจากผู้นำการต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าที่ขณะนี้ยังอยู่ภายใต้การควบคุมตัวในบ้านพัก ได้ปฏิเสธที่จะพบแพทย์ประจำตัวเพื่อรับการตรวจร่างกาย และไม่ยอมรับประทานอาหาร เป็นการแสดงความไม่พอใจที่รัฐบาลดำเนินการปฏิรูประบอบประชาธิปไตยอย่างล่าช้า
นางออง ซาน ซูจี เป็นบุคคลที่ประชาชนชาวพม่าเลือกให้เป็นตัวแทนอย่างแท้จริง ภายหลังเหตุจลาจลนองเลือดเมื่อวันที่ 8/08/1988 ในพม่า หรือที่เรียกกันว่า “8888” นั้น พม่าเข้ากวาดล้างเครือข่ายนักศึกษาแทบเกลี้ยงประเทศ
หลังจากพรรคเอ็นแอลดีของเธอชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในปี 1990 ทหารพม่าก็ปฏิเสธการเลือกตั้ง และจับเธอขังไว้ในบ้าน เป็นเส้นทางการต่อสู้ทางการเมืองที่น่าหดหู่ สะเทือนใจชาวโลก
การต่อสู้ที่ยาวนานเช่นนี้ ดำเนินมาถึงมาช่วงที่เธออายุ 63 ปีแล้ว โดยแหล่งข่าวระบุว่าเธอไม่พอใจรัฐบาลทหารพม่าอย่างถึงที่สุด
เรื่องราวของนางออง ซาน ซูจี เป็นที่น่าหยิบยกมาศึกษาอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมืองไทยเวลานี้ที่กำลังถูกท้าทายระบอบประชาธิปไตย
โดนท้าทายโดยกลุ่มอันธพาลที่อ้างตัวว่าทำเพื่อประชาธิปไตย แต่กลับเรียกร้องการเมืองใหม่แบบ 70 : 30
บทความที่วิเคราะห์ได้โดนใจเกี่ยวกับประชาธิปไตยเมืองไทย จากนิตยสาร The Economist ฉบับล่าสุดระบุว่า พวกประท้วงในเมืองไทยเป็นการรวมตัวอย่างน่าขยะแขยงของพวกนักธุรกิจ นายพล ที่ต่อต้านความเจริญก้าวหน้า พวกเขาไม่ได้เรียกร้องการเลือกตั้งครั้งใหม่
แต่พวกเขาเรียกร้อง "การเมืองใหม่" ซึ่งโดยแท้จริงแล้วมันคือการหวนกลับไปสู่การปกครองในระบอบเผด็จการแบบเก่า ที่สมาชิกรัฐสภาเกือบทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งและให้อำนาจกับกองทัพเข้ามาก้าวก่ายได้ทุกเมื่อ
พวกประท้วงกล่าวหาว่า ประชาชนตามชนบทที่ชื่นชอบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ นายสมัคร สุนทรเวช ไร้การศึกษาอย่างมากเกินกว่าที่จะเลือกตั้งได้อย่างมีเหตุผล
พวกเขามองข้ามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเลือกตั้งไปข้อหนึ่งซึ่งยากที่จะรับฟัง นายกรัฐมนตรีทั้งสองคนนี้มีนโยบายที่ได้รับความนิยมอย่างแท้จริง เช่น นโยบายประกันสุขภาพ และเงินกู้
รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอาจถูกบังคับให้ลาออกเพื่อให้นักปลุกระดมของพันธมิตรฯ สงบลง มันอาจเกิดขึ้นเพื่อแบ่งอำนาจให้กับพรรคฝ่ายค้านที่ไม่สมควรจะได้รับตำแหน่งอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งพวกเขาแสดงความเป็นผู้นำออกมาน้อยมากในระหว่างที่พวกเขากำลังรออำนาจหยิบยื่นใส่จานของพวกเขา
หรืออาจจะเป็นเหมือนบังกลาเทศ ที่พวกแกนนำประชาชนเป็นเครื่องอำพรางการปกครองแบบเผด็จการทหาร
แม้รัฐบาลจะประนีประนอมทุกอย่าง แต่แกนนำของพันธมิตรฯ ก็คงจะไม่หยุดจนกว่าแนวคิดทางการเมืองที่ไม่เป็น “ประชาธิปไตย” จะบรรลุ
ด้วยเหตุนี้ พวกประท้วงจึงอันตรายยิ่งกว่าพวกก่อรัฐประหารในปี 2006 ที่อย่างน้อยพวกเขาก็ยังสัญญาว่าจะคืนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และภายหลังการกดดันอย่างหนัก พวกเขาก็ทำตามสัญญา
ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ยุคที่แตกต่างไปจากยุคมืดที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่ากำลังง่อนแง่นภายใต้การปกครองของเผด็จการทหารที่แยกตัวโดดเดี่ยวและโหดเหี้ยมรุนแรง
มิตรประเทศต่างๆ ของไทยควรจะพูดให้ชัดเจนว่าการโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะเป็นการก้าวถอยหลังเหมือนที่พม่าได้พบ
ประเทศไทยอาจจะต้องเจอกับมาตรการลงโทษ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เห็นความไม่สงบผ่านโทรทัศน์ เช่น การปิดสนามบิน อาจจะบอยคอตประเทศไทยด้วยวิธีของพวกเขาเอง
บทวิเคราะห์ต่างๆ เหล่านี้ คนไทยต้องนำไปคิด เพราะเป็นความจริงที่สื่อมวลชนไทยไม่กล้านำเสนอ
เพียงเพราะกลัวอำนาจเผด็จการ ซึ่งถ้ากลัวแบบนี้ก็ไม่รู้ว่าประเทศไทยจะก้าวหน้าไปได้แค่ไหน
วันนี้คนรุ่นใหม่ต้องลุกขึ้นมาสู้เพื่อประชาธิปไตย และสนับสนุนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง !
ลวดหนาม